Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
'พุทธะ'อยู่ที่ไหน?
[สั่งพิมพ์]
โดย:
oustayutt
เวลา:
2014-2-20 16:55
ชื่อกระทู้:
'พุทธะ'อยู่ที่ไหน?
'พุทธะ'อยู่ที่ไหน? : วิปัสสนาบนหน้าข่าวโดยพระชาย วรธัมโม
สมัยที่ผู้เขียนบวชใหม่ๆ อยู่วัดบ้านๆ ไม่ได้เป็นวัดปฏิบัติที่เคร่งครัดอะไร ฉันวันละสองมื้อ ก่อนฉันมีการสวดบทพิจารณาอาหารเป็นภาษาบาลี ก็สวดไปแบบไม่เข้าใจ พอไปเจอหนังสือที่มีบทแปลเป็นภาษาไทยก็เข้าใจมากขึ้น รู้สึกว่าตนเองปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัดตรงเป้าหมาย แล้วมองพระเณรรูปอื่นว่าคงไม่รู้ว่าบทพิจารณาอาหารมีความหมายว่าอย่างไร พระเณรเหล่านั้นคงเข้าไม่ถึงคำสอนเหมือนเรา
วัดที่จำพรรษาฉันวันละสองมื้อไปตามอัตภาพ ต่อมามีโอกาสไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปค้างแรมวัดป่า ฉันมื้อเดียว กลับมาวัดแล้วรู้สึกว่าเราฉันสองมื้อมากเกินไป น่าจะลดลงเหลือเพียงมื้อเดียวจะได้ดูเป็นพระขึ้นมาหน่อย ฉันมากๆ ไม่ดูเป็นพระเลย
พอไปเจอพระที่ทำ ‘เนสัชชิกังคะ’ คือ การถือไม่นอนเป็นวัตร ก็เอาอย่างบ้างเพราะเห็นเป็นของแปลกใหม่ และคิดว่าการนอนมากๆ ทำให้ดูไม่เป็นพระเพราะเอาแต่นอน
ต่อมาไปเจอการ ‘อดอาหาร’ ในทางพุทธถือเป็นความเพียรอย่างหนึ่ง ก็เอากะเขาบ้าง เขาบอกว่าเป็นเรื่องดีกับสุขภาพเพราะเป็นการล้างพิษไปด้วยในตัว
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปเพราะอยากได้อะไรที่สูงขึ้นๆ แต่การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ยิ่งเราปฏิบัติด้วยความอยากมากเท่าไรกลับได้ในสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยึดติด’ ขึ้นมาแทน เพราะเราปฏิบัติด้วย ‘จิตที่ปรุงแต่ง’ จิตที่ปรุงแต่งจะนำไปสู่การเข้าถึงแก่นได้อย่างไร เพราะการเข้าถึงแก่นหมายถึง ‘การหยุดปรุงแต่ง’
ตอนที่ฉันมื้อเดียว เรายึดติดว่าตัวเราเป็นพระดี เราคิดว่าการฉันมื้อเดียวเป็นรูปแบบการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพระ แล้วมองพระที่ฉันมากกว่าหนึ่งมื้อว่าเป็นพระที่ไม่เคร่งครัดไม่เอาใจใส่ในเรื่องการปฏิบัติ
ตอนที่เราทำความเพียร ‘เนสัชชิกังคะ’ เราก็สนุกไปกับการไม่นอน แต่ร่างกายบอกว่าไม่ไหวแล้ว ในที่สุดก็พบกับความอ่อนเพลีย มีอาการตาแดง ลิ้นสากลิ้นชาฉันข้าวไม่ลง
เมื่อเราอดอาหารเพราะอยากได้ตบะ อยากได้ความเพียรเหมือนกับพระเกจิดังๆ ที่ท่านปฏิบัติกัน แต่สิ่งที่ได้คือความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากความหิวโหย
มองย้อนกลับไปก็เป็นเรื่องตลกที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าถึงธรรม เข้าถึงการปฏิบัติ ต้องการทำตัวเองให้ดูเป็นพระที่ดีมีภูมิธรรมที่สูงขึ้น หลายวิธีการนำไปสู่การยกตนข่มท่านว่าตนเองเป็นพระปฏิบัติแต่รูปอื่นไม่ใช่ ทำให้เข้าใจต่อมาถึงความสุดโต่งบางอย่าง
เมื่อสุดโต่งมากขึ้นก็เหมือนกับความสุดโต่งนั้นกระเด้งกลับ ทำให้เกิดปัญญาเห็นทุกข์จากการประพฤติปฏิบัติที่สุดโต่งจนเกินไป แต่การทดลองทำอะไรที่เกินพอดีหรือ ‘เยอะเกินไป’ กลับกลายเป็นประสบการณ์ตรงที่นักปฏิบัติธรรมควรผ่านการทดลองปฏิบัติบนแนวทางนี้ดู จะได้รู้ว่าทางสุดโต่ง ‘อัตตกิลมถานุโยค’ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีลักษณะเป็นอย่างไร
ทุกวันนี้พุทธศาสนาที่สืบทอดกันมาอาจมีลักษณะบางอย่างคล้าย ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ เราไม่ต้องคิดมากเพราะคัมภีร์บอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เราต้องลำบาก เป็นการกระทำที่สุดโต่งเกินไป ไมได้ทำให้เกิดสติปัญญา ภิกษุไม่ควรปฏิบัติตามทางสุดโต่งสายนั้น
ถ้าเราเชื่อตามนั้นเรากำลังพลาดโอกาสดีๆ ที่จะได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งด้วยตนเองว่าเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงตรัสเช่นนั้น การมองเห็นอัตตกิลมถานุโยคควรเป็นสิ่งที่แต่ละคนมองเห็นด้วยตาตนเอง มิใช่เชื่อเอาอย่างง่ายดายจากคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมา
การปฏิบัติทุกแนวทางเป็นหนทางนำไปสู่การรู้แจ้ง การได้ลองผิดลองถูกถือเป็นครูที่ดี ในที่สุดเราจะค้นพบด้วยตนเองว่า ‘ทางสายกลาง’ ของเรานั้นอยู่ ณ จุดไหน ระดับไหนเหมาะสมกับตัวเราที่สุด เพราะ ‘ทางสายกลาง’ ของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน หรือถ้าจะนำแนวทางนั้นไปปฏิบัติต่อก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากเราค้นพบว่านี่คือทางสายกลางของเรา และถ้าแนวทางนั้นนำเราไปสู่การสร้างตบะ สร้างความเพียร สร้างบารมี ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนักเพราะหากเราไม่สั่งสมการปฏิบัติกันเลย บารมีจะพอกพูนขึ้นมาได้อย่างไร
การปฏิบัติสุดโต่งที่ผ่านมา ผู้เขียนเองยังได้ ‘ขันติ’ คือ ความอดทน อย่างน้อยก็ทำให้มีความอดทนสูงขึ้นกับความทุกข์ทรมานจากร่างกายนี้ ต่อไปในอนาคตหากเราต้องพบเจอกับโรคภัยไข้เจ็บที่ทุกข์ทรมานเราจะอดทนได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาดูว่าร่างกายของเราสามารถทนทานกับวิธีการปฏิบัติได้มากสุดในระดับไหน เพราะบางคนไม่ประมาณตน อยากได้ความอดทน อยากได้ความเพียรในระดับสูงๆ จนไม่ดูสภาพร่างกายตนเองก็สามารถทำให้เกิดผลร้ายได้เหมือนกัน เรียกว่า 'ปฏิบัติธรรมไม่สมควรกับธรรม' ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
บนหนทางของการปฏิบัติธรรม ประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ ตอนที่ฉันมื้อเดียว ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นพระมากขึ้น ในขณะที่เรามองพระรูปอื่นๆ ว่าไม่เคร่งครัดเหมือนเราและไม่ได้เป็นพระที่ดีเหมือนเรา ตรงนี้เองที่นักปฏิบัติพึงระมัดระวังจิตปรุงแต่งของตนเอง
จิตปรุงแต่งมักแฝงมากับความทะยานอยากในการปฏิบัติ เป็นความคิดปรุงแต่งเป็นตัวเป็นตนว่าฉันสูงกว่า ฉันดีกว่า ฉันเหนือกว่าคนอื่น และอาจจะยึดติดว่าตนเองเวลานี้ฉันมื้อเดียวมีความเป็นพระมากกว่าเมื่อก่อนหน้านี้ที่ฉันสองมื้อทั้งๆ ที่เป็นคนๆ เดียวกัน มันช่างเป็นอัตตาตัวตนที่มีมิติซับซ้อน ทำให้นึกถึงคำสอนของอาจารย์เซนนามว่า ‘ฮวงโป’ (มรณะ พ.ศ.๑๓๙๓) เคยกล่าวไว้ว่า
“ถ้าเธอยังไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า 'จิต นั้น คือ พุทธะ' และถ้าเธอยังยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ ต่อวัตรปฏิบัติต่างๆ และต่อพิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ แนวความคิดของเธอก็ยังผิดพลาด และไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกับการปฏิบัติที่ทำให้จิตหนึ่งหรือพุทธะแท้นั้นปรากฏตัว...
"จิตหนึ่ง นั่นแหละ คือ พุทธะ ไม่มีพุทธอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มแจ้งและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย การใช้จิตของเธอให้ปรุงความคิดความฝันไปต่างๆ นั้น เท่ากับเธอละทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองกับรูปธรรมภายนอกซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก”
โศลกธรรมข้างต้นของท่านฮวงโปกำลังบอกเราว่าทุกคนต่างมีจิตที่เป็น ‘พุทธะ’ กันอยู่แล้ว แต่เรามักเสียเวลาตกลงไปในหลุมพรางของการยึดติดในการปฏิบัติซึ่งเป็นการปรุงแต่งของ ‘อัตตา’ มากกว่าจะตระหนักรู้ถึง ‘จิตเดิมแท้’ ที่มีอยู่แล้ว
ไม่ว่าเราจะฉันมื้อเดียวหรือฉันมากกว่าหนึ่งมื้อ ไม่ว่าเราจะประพฤติวัตรเคร่งครัดด้วยการไม่นอนหรือด้วยการอดอาหาร หรือด้วยการพยายามทำตนให้ลำบากมากไปกว่านี้เราก็ไม่ได้มี ‘พุทธะ’ มากขึ้นหรือน้อยลง เรายังมี ‘พุทธะ’ อยู่เช่นเดิม การประพฤติวัตรเคร่งครัดเหล่านั้นเป็นเพียงหนทางของการฝึกตน
การตระหนักรู้ว่า จิต เรานั้นมีความรู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว มีความสำคัญกว่าใดๆ การปฏิบัติทางสายกลางเป็นการรื้อฟื้นให้เรากลับมาตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เรามีอยู่แล้วต่างหาก
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2