Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
~ นอกเหตุเหนือผล ~
[สั่งพิมพ์]
โดย:
kit007
เวลา:
2014-2-14 12:28
ชื่อกระทู้:
~ นอกเหตุเหนือผล ~
คำสอนของพระบางอย่างเราฟังดูแล้ว ไม่ค่อยจะเข้าใจเลย บางสทีคิดว่ามันน่าจะเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ก็เลยไม่ทำ ความเป็นจริงนั้นคำพูดของพระมีเหตุผลทุกอย่างครั้งแรกที่อาตมาไม่นั่งหลับตา แล้วก็ไม่เชื่อเหมือนกัน ไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไรจากการหลับตาไปหมดนอกจากนั้นก็ไปเดินจงกรม เดินไปจากต้นไม้ต้นนี้ไปต้นนั้น เดินไปเดินมาก็ขี้เกียจเดินทำไม? กลับไปกลับมาไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนี้มันก็คิดไป
แต่ความจริงการเดินจงกรมนี้ มีประโยชน์มาก การนั่งสมาธินี้ก็มีประโยชน์มากแต่จริตของคนเราบางคนแรงไปในการเดินจงกรม บางคนแรงในการนั่ง จริตของท่านเป็นปนเปกันอยู่แต่เราจะทิ้งกันไม่ได้ จะนั่งสมาธิอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะเดินจงกรมอย่างเดียวก็ไม่ได้
พระกรรมฐานท่านสอนว่า อิริยาบถสี่ การยืนการเดิน การนั่ง การนอน คนเราอาศัยอิริยาบถอย่างนี้อยู่แล้วแต่ว่ามันจะแรงการยืน การเดิน การนั่ง หรือการนอน แต่มันจะเร็วหรือช้ามันก็ค่อยๆเข้าไปในตัวของมัน
อย่างวันหนึ่งเราเดินกี่ชั่วโมง นั่งกี่ชั่วโมง นอนกี่ชั่วโมง แต่เท่าไรก็ช่างมันเถอะจับจุดมันเข้าก็เป็นการยืนการเดิน การนั่ง การนอนเสมอ การยืนเดินนั่งนอนนี้ให้เสมอกันท่านบอกไว้ในธรรมะ การปฏิบัติให้ปฏิบัติสม่ำเสมอกัน ให้อิริยาบถเสมอกัน อิริยาบถคืออะไร?คือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มันเสมอกัน เอ! คิดไม่ออก ให้มันเสมอนี้มันก็คงจะว่านอน๒ ชั่วโมง ก็ยืน ๒ ชั่วโมง นั่งก็ ๒ ชั่วโมง คงจะเป็นอย่างนั้นกระมัง
อาตมาก็มาลองทำดูเหมือนกัน โอ๊ะ! มันไปไม่ไหว ไปไม่ไหวแน่นอนเลย จะยืนก็ให้๒ ชั่วโมงหรือนั่งก็ให้ ๒ ชั่วโมง เดินก็ ๒ ชั่วโมง นอนก็ ๒ชั่วโมง เรียกว่าอิริยาบถเสมอกันอย่างนี้เราฟังผิด ฟังตามแบบนี้ มันผิด อิริยาบถเสมอกัน ท่านพูดถึงจิตของเราความรู้สึกของเราเท่านั้น ไม่ใช่ท่านพูดทั่วไป คือทำจิตของเราให้มันเกิดปัญญาแล้วให้มันมีปัญญา ให้มันสว่าง
ความรู้สึก หรือปัญญาของเรานั้น แม้เราจะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่งนอนก็รู้อยู่เสมอ เข้าใจอยู่เสมอในอารมณ์ต่างๆ แม้ฉันจะยืนอยู่ก็ช่าง จะนั่งหรือเดินก็ช่างฉันจะรู้อารมณ์อยู่เสมอไป ว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมันจะเป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เท่านั้นแหละ
คำพูดอย่างนี้ก็เป็นไป ความรู้สึกความรู้อย่างนั้นก็เป็นไป จิตใจก็น้อมเข้าไปอย่างนั้นเมื่อถูกอารมณ์เมื่อไรก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้นจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มันมีความเห็นอยู่อย่างนั้น แม้ว่ามันจะรัก หรือจะเกลียดมันก็ยังไม่ทิ้งปฏิปทาของมันรู้ของมันอยู่
ถ้าหากว่ามาเพ่งถึงจิตให้เป็นปฏิปทา ให้สม่ำเสมอกัน ความสม่ำเสมอกัน คือมันปล่อยวางเสมอกันเมื่อหากว่ามันได้อารมณ์ทดีตามสมมติของเขา มันก็ยังไม่ลืมตัวของมัน เมื่อมันรู้อารมณ์ที่ชั่วมันก็ยังไม่ลืมตัวของมันมันไม่หลงในความชั่ว มันไม่หลงในความดี สมมติทั้งหลายเหล่านี้มันจะตรงไปของมันอยู่เรื่อยๆ อิริยาบถนี้เอาเสมอได้ ถ้ามันยังไม่เสมอจัดให้มันเสมอได้
ถ้าพูดถึงภายในไม่พูดถึงภายนอก พูดถึงเรื่องจิตใจ พูดถึงความรู้สึก ถ้าหากว่าอิริยาบถจิตใจสม่ำเสมอกันจะถูกสรรเสริญมันก็อยู่แค่นั้น จะถูกนินทามันก็อยู่แค่นั้น มันไม่วิ่งขึ้นมันไม่วิ่งลง มันอยู่อย่างนี้ ก็เพราะอะไร? มันรู้อันตราย รู้อุปสรรค ในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เห็นโทษเห็นโทษในการสรรเสริญ เห็นโทษในการนินทาเสมอกันแล้ว เรียกว่ามันเสมอกันแล้วนั้นอย่างนี้ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าทางในมองดูด้านใน ไม่มองดูด้านนอก
อารมณ์ทั้งหลายนั้นนะ ถ้าหากว่าเราได้อารมณ์ที่ดี จิตของเรามันก็ดีด้วยได้อารมณ์ที่ไม่ดีจิตของเราก็ไม่ดีไม่ชอบ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่าอิริยาบถมันไม่สม่ำเสมอกันแล้วมันสม่ำเสมอแต่ว่ามันรู้อารมณ์ ว่ามันยึดดีก็รู้ ยึดชั่วก็รู้จักแค่นี้ก็นับว่าดีแล้วอิริยาบถนี้มันสม่ำเสมอแต่มันยังวางไม่ได้ แต่ว่ามันรู้สม่ำเสมอ ยึดความดีก็รู้จักยึดความชั่วก็รู้จัก ความยึดเช่นนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่หนทาง ก็รู้อยู่เข้าใจอย่างนี้แต่ว่ามันทำยังไม่ได้เต็มที่ ยังไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่มันรู้ว่า ถ้าจะปล่อยวางตรงนี้มันจะสงบ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-2-14 12:28
ปล่อยวางจากสิ่งทั้งปวง
แล้วเมื่อเราพยายามทำไปๆ เห็นโทษในอารมณ์ที่ว่า มันชอบใจหรือว่ามันไม่ชอบใจหรือเห็นโทษในสรรเสริญ เห็นโทษในการนินทา สม่ำเสมอกันอยู่ นั้นแหละ ไม่มีอะไรแปลกกันนินทาก็สม่ำเสมอกันสรรเสริญมันก็สม่ำเสมอกันเมื่อพูดถึงจิตคนเราในโลกนี้ ถ้านินทาละก็ไม่ได้บีบหัวใจเรา ถ้าถูกสรรเสริญมันแช่มชื่นสบายมันเป็นอย่างนี้ตามธรรมชาติของมัน เมื่อมันรู้ตามความเป็นจริงเสียแล้วว่าอารมณ์ที่เขานินทานั้นมันก็มีโทษอารมณ์ที่เขาสรรเสริญนั้นมันก็มีโทษ ติดในสรรเสริญมันก็มีโทษ ติดในการนินทามันก็มีโทษมันเป็นโทษทั้งหมดทั้งนั้น ถ้าเราไปหมายมั่นมันอย่างนั้น
เมื่อความรู้อย่างนี้เกิดขึ้นมา เราก็จะรู้สึกอารมณ์ถ้าไปหมายมั่นมันก็เป็นทุกข์จริงๆมันทุกข์ให้เห็น ถ้าไปยึดดียึดชั่วมันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา แล้วก็มาเห็นโทษนั้นว่าความยึดทั้งหลายนั้นมันเป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์เพราะชั่วก็ตะครุบ ดีก็ตะครุบ ทำไมจึงเห็นโทษมัน? เพราะเราเคยยึดมั่นมันมาเคยตะครุบมันมาอย่างนี้ จึงเห็นโทษ มันไม่มีสุข ทีนี้ก็หาทางปล่อยมัน จะปล่อยมันไปตรงไหนหนอ?
ในทางพุทธศาสนาท่านว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นแต่เราฟังไม่จบไม่ตลอด ที่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นนั้นคือว่าท่านให้ยึดอยู่แต่อย่าให้มั่นเช่นอย่างนี้ อย่างไฟฉายนี่น่ะ นี่คืออะไร ไปยึดมันมาแล้วก็ดู พอรู้ว่าเป็นไฟฉายแล้วก็วางมันอย่าไปมั่นยึดแบบนี้ ถ้าหากว่าเราไปยึด เราจะทำได้ไหม? จะเดินจงกรมก็ไม่ได้จะทำอะไรก็ไม่ได้ต้องยึดเสียก่อน
ครั้งแรกจะว่ามันเป็นตัณหาก็ได้ แต่ว่าต่อไปมันจะเป็นบารมี อย่างเช่นท่านชาคโรจะมาวัดป่าพง ก็ต้องอยากมาก่อน ถ้าไม่รู้สึกว่าอยากมาก็ไม่ได้มา โยมทั้งหลายก็เหมือนกันก็มีความอยากนั่นแหละจึงได้มานี้จึงมาด้วยความอยาก เมื่อมีความอยากขึ้นมาท่านก็ว่าอย่ายึดมั่นคือมาแล้วก็กลับ อย่างที่สงสัยว่านี่อะไร แล้วก็ยึดขึ้นมาเออ มันเป็นไฟฉายนะ นี่น่ะแล้วก็วางมัน นี้เรียกว่ายึดแต่ไม่ให้มั่น ปล่อยวางรู้แล้วปล่อยวาง พูดง่ายๆก็ว่ารู้แล้วปล่อยวาง จับมาดูรู้แล้วปล่อยวาง
อันนี้เขาสมมติว่ามันดี อันนี้เขาสมมติว่ามันไม่ดีรู้แล้วก็ปล่อยทั้งดีทั้งชั่ว แต่ว่าการปล่อยนี้ไม่ได้ทำด้วยความโง่ ไม่ได้ยึดด้วยความโง่ ให้ยึดด้วยปัญญาอย่างนี้อันนี้อิริยาบถนี้เสมอได้ต้องเสมอได้อย่างนี้ คือจิตมันเป็น ทำจิตให้รู้ ทำจิตให้เกิดปัญญา เมื่อจิตมีปัญญาแล้วอะไรมันจะเหนือไปกว่านั้นอีกเล่าถ้าหากจะยึดมา มันก็ยึดไม่มีโทษยึดขึ้นมาแต่ไม่มั่น ยึดดูแล้วรู้แล้วก็วาง
อารมณ์เกิดมาทางหู อันนี้เรารู้โลกเขาว่ามันดีแล้วมันก็วาง โลกเขาว่ามันไม่ดีมันก็วาง มันรู้ดีรู้ชั่ว คนที่ไม่รู้ดี รู้ชั่ว ไปยึดทั้งดีทั้งชั่วแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้นคนรู้ดีรู้ชั่ว ไม่ได้ยึดในความดี ไม่ได้ยึดในความชั่ว คนที่ยึดในความดีความชั่วนั่นคือคนไม่รู้ดีรู้ชั่ว และคำที่ว่า เราทำอะไร ตลอดที่ว่าเราอยู่ไปนี้ เราอยู่เพื่อประโยชน์อะไรเราทำงานอนี้เราทำเพื่อต้องการอะไร แต่โลกเขาว่าทำงานอันนี้เพราะต้องการอันนั้นเขาว่าเป็นคนมีเหตุผล แต่พระท่านสอนยิ่งไปกว่านั้นอีก ท่านว่าทำงานอันนี้ทำไปแต่ไม่ต้องการอะไรทำไมไม่ต้องการอะไร? โลกเขาต้องทำงานอันนี้เพื่อต้องการอันนั้น ทำงานอันนั้นเพื่อต้องการอันนี้นี่เป็นเหตุผลอย่างชาวโลกเขา
พระพุทธองค์ท่านทรงสอนว่า ทำงานเพื่อทำงาน ไม่ต้องการอะไร ถ้าคนเราทำงานเพื่อต้องการอะไรก็เป็นทุกข์ ลองดูก็ได้ พอนั่งปั๊บก็ต้องการความสงบ ก็นั่งอยู่นั่นแหละ กัดฟันเป็นทุกข์แล้วนั่นลองคิดดูซิ มันละเอียดกว่ากันอย่างนี้ คือทำแล้วปล่อยวางๆ อย่างเช่นพราหมณ์เขาบูชายันต์เขาต้องการสิ่งที่เขาปรารถนานั้นอยู่ การกระทำเช่นนั้นของพราหมณ์นั้นก็ยังไม่พ้นทุกข์เพราะเขามีความปรารถนาจึงทำ ทำแล้วก็ทุกข์ เพราะทำด้วยความปรารถนา
ครั้งแรกเราทำก็ปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้น ทำไปๆ ทำจนกว่าที่เรียกว่าไม่ปรารถนาอะไรแล้วทำเพื่อปล่อยวางมันอยู่ลึกซึ้งอย่างนี้ คนเราปฏิบัติธรรมเพื่อต้องการอะไร?เพื่อต้องการพระนิพพานนั่นแหละ จะไม่ได้พระนิพพาน ความต้องการอันนี้เพื่อให้มีความสงบมันก็เป็นธรรมดาแต่ว่าไม่ถูกเหมือนกัน จะทำอะไรก็ไม่ต้องคิดว่าจะต้องการอะไรทั้งสิ้นไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นแล้วมันจะเป็นอย่างไร ก็ไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นอะไรมันก็ทุกข์เท่านั้นแหละ
โดย:
kit007
เวลา:
2014-2-14 12:29
ทำจิตให้ว่าง
การทำงานไม่ให้เป็นอะไรนั้นเรียกว่า ทำจิตให้ว่างแต่การกระทำมีอยู่ ความว่างนี้พูดให้คนฟังไม่รู้เรื่องแต่คนทำไปจะรู้จักความว่างนี้ว่ามันประโยชน์ ไม่ใช่ว่ามันว่างในสิ่งที่มันไม่มีมันว่างในสิ่งที่มันมีอยู่ เช่นไฟฉายนี้นะมันไม่ว่าง แต่เราเห็นไฟฉายนี้มันว่างว่างก็เพราะมีไฟฉายนี้ ไฟฉายนี้เป็นเหตุให้มีว่าง ไม่ใช่ว่างขณะนั้นมองดูไม่มีอะไรไม่ใช่อย่างนั้น คนฟังความว่าง ก็ไม่ค่อยออกเหมือนกัน ไม่ค่อยจะรู้จักอย่างนั้นต้องเข้าใจความว่างในของที่มีอยู่ ไม่ใช่ความว่างในของที่ไม่มีลองอย่างนี้ซิ นี่ถ้าหากว่าใครยังมีความปรารถนาอยู่อย่างพราหมณ์ที่บูชายันต์ที่พราหมณ์บูชายันต์ ก็เพราะเขาต้องการอะไรอันใดอันหนึ่งอยู่ เหมือนกันกับที่โยมมาถึงที่กราบพระหลวงพ่อผมขอรดน้ำมนต์ ทำไม?รดทำไม? ต้องการกินดีอยู่ดี ไม่เจ็บไม่ไข้นั่นแหละมันไม่พ้นทุกข์แล้ว ถ้ามันต้องการอย่างนั้น ทำอันนี้เพื่อต้องการอันนั้น ทำอันนั้นเพื่อต้องการอันนี้
นอกเหตุเหนือผล
ในทางพุทธศาสาให้ทำเพื่อไม่ต้องการอะไร ถ้ามีเพื่ออะไรมันไม่หมด ทางโลกทำอะไรเรียกว่ามันมีเหตุผลพระพุทธองค์ท่านทรงสอนว่าให้"นอกเหตุเหนือผล"ไม่ว่าจะทำอะไร ปัญญาของท่านให้นอกเหตุเหนือผล ให้นอกเกิดเหนือตายนอกสุขเหนือทุกข์ ลองคิดตามไปซิลองพิจารณาไปตาม คนเราเคยอยู่ในบ้าน พอหนีจากบ้านไปไม่มีที่อยู่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเรามันเคยอยู่ในภพ อยู่ในความยึดมั่นถือมั่นเป็นภพ ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เรียกว่าไม่รู้ว่าจะทำอะไรเหมือนอย่างคนส่วนมากไม่อยากไปพระนิพพานเพราะกลัว เพราะเห็นไม่มีอะไร ดูหลังคากับพื้นนี่ที่สุดข้างบนคือหลังคา ที่สุดข้างล่างคือพื้น อันนั้นมันเป็นภพข้างบน อันนี้เป็นภพข้างล่างระยะที่ภพทั้งสองนี้มันต่อกัน มันว่างๆคนไม่รู้จัก เหมือนที่ว่างระหว่างหลังคากับพื้นเห็นมันว่างๆก็ไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน ต้องไปอยู่บนหลังคา หรือไม่งั้นก็ที่พื้นข้างล่าง
ที่ๆไม่มีอยู่นั่นแหละมันว่าง เหมือนกับที่ไม่มีภพนั่นแหละ ก็เรียกว่ามันว่างตัดเยื่อใยออกเสียมันก็ว่างพอบอกว่าพระนิพพานคือความว่าง ถอยหลังเลยไม่ไปกลัวกลัว จะไม่ได้เห็นลูก กลัวจะไม่ได้เห็นหลาน กลัวจะไม่ได้เห็นอะไรทั้งนั้นอย่างที่เวลาพระท่านให้พรญาติโยมว่า อายุ วรรณโณ สุขขัง พลัง โยมก็ดีใจสาธุเพราะชอบมันจะได้อายุหลายๆ วรรณะผ่องใส มีความสุขมากๆ มีพลังหลายๆ คนชอบใจ ถ้าจะพูดว่าไม่มีอะไรแล้วเลิกเลย ไม่ต้องเอาแล้ว
คนมันติดอยู่ในภพอย่างนั้น บอกไปตรงนั้น ไม่ไปไม่มีที่อยู่แล้ว อายุ วรรณโณสุขขัง พลัง เออดีแล้วอายุให้ยืนยาว วรรณโณให้มีวรรณะ ผิวพรรรณสวยงามให้มีความสุขมากๆให้มีอายุยืนๆ คนอายุยืนๆมีผิวพรรณดีมีไหม เคยมีไหม? คนอายุหลายๆมีพลังมากๆมีไหม?คนอายุมากๆมีความสุขมากๆมีไหม? พอให้พรว่า อายุ วรรณโณ สุขขัง พลัง ดีใจสาธุกันทั้งนั้นทั้งศาลาเลยนี่แหละมันติดอยู่ในภพนี้ เหมือนอย่างพราหมณ์บูชายันต์ ที่ทำพิธีบูชายันต์เพราะต้องการสิ่งที่เขาปรารถนา
การที่เรามาปฏิบัตินี้ไม่ต้องบูชายันต์ คือไม่ต้องการอะไร ถ้าต้องการอะไรมันก็ยังมีอะไรอยู่ถ้าไม่ต้องการอะไรมันก็สงบ จบเรื่องของมัน แต่พูดให้ฟังอย่างนี้ ก็คงไม่ค่อยสบายใจอีกแล้วเพราะอยากจะเกิดกันอีกทั้งนั้น
โดย:
kit007
เวลา:
2014-2-14 12:29
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ควรเข้าไปใกล้พระให้มาก ดูการปฏิบัติของท่านการเข้าไปใกล้พระ ก็คือใกล้พระพุทธเจ้า คือใกล้ธรรมะของท่านนั้นแหละ พระ-พุทธเจ้าตรัสว่า"อานนท์ให้ท่านทำให้มาก ให้ท่านเจริญให้มาก ใครเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นเรา"
พระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหนล่ะ เราก็นึกว่าพระ-พุทธเจ้าเสด็จมาโปรด แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปแล้วแต่พระพุทธเจ้าคือธรรมะ คือสัจจธรรม บางคนชอบพูดว่า ถ้าเราเกิดทันพระพุทธเจ้าเราก็จะได้ไปพระนิพพานเหมือนกัน นี่แหละความโง่มันหลุดออกมาอย่างนั้น พระพุทธเจ้ายังมีอยู่ทุกวันนี้ใครว่าพระพุทธเจ้านิพพาน พระพุทธเจ้าคือสัจจธรรม สัจจธรรมมันจะจริงอยู่อย่างนั้นใครจะเกิดมา ก็มีอยู่อย่างนั้น ใครจะตายไปก็มีอยู่อย่างนั้น สัจจธรรมนี้ไม่มีวันสูญไปจากโลกเป็นอย่างนั้น มีอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจะเกิดมาก็มี ไม่เกิดมาก็มีใครจะรู้ก็มี ใครจะไม่รู้ก็มี อันนั้นมันมีอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นจึงว่าให้ใกล้พระพุทธเจ้า เราน้อมเข้ามาน้อมเข้ามา ให้เราเข้าถึงธรรมะเมื่อได้ถึงธรรมะ เราก็ถึงพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นธรรมะเราก็เห็นพระพุทธเจ้าแล้วความสงสัยทั้งหลายก็จะหมดสิ้น เหมือนอย่างครูชู เกิดมาครั้งแรกไม่เป็นครูหรอกเป็นนายชู ต่อมา มาเรียนวิชาของครู สอบได้ ไปบรรจุเป็นครูก็เรียกว่าเป็นครูชูแม้ครูชูจะตายไปแล้ววิชาของครูนี้ก็ยังมีอยู่ไม่หายไปไหน ใครจะไปเรียนวิชาครู ไปสอบได้ก็ได้เป็นครูอยู่วิชาครูนั้นยังอยู่เป็นสัจจธรรมยังมีในโลกเหมือนสัจจธรรมที่ทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่อย่างนั้นดังนั้นใครปฏิบัติไปก็จะเห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็จะเห็นพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้คนไม่เห็นทั้งนั้นแหละมองพระพุทธเจ้าไปตรงไหนก็ไม่รู้ไม่รู้จักแล้วยังพูดว่า ถ้าฉันเกิดพร้อมพระพุทธเจ้าฉันก็คงจะได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน และคงจะได้ตรัสรู้เหมือนกัน พูดออกมาด้วยความโง่นี่ขอให้เข้าใจอันนี้ให้ดี
จิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และการปฏิบัติของเราก็เช่นเดียวกัน อย่าไปเข้าใจว่าออกพรรษาแล้วก็สึกอย่าคิดอย่างนั้น ความคิดชั่ววูบเดียวอาจทำให้ฆ่าคนได้ ในทำนองเดียวกัน ความดีวูบเดียวในขณะจิตเดียวเท่านั้นไปได้เหมือนกันให้เข้าใจอย่างนี้ อย่าไปเข้าใจว่าฉันบวชมานานแล้ว จิตจะภาวนาอย่างไรก็ได้อย่า อย่าคิดอย่างนั้น ความชั่ววูบเดียวเท่านั้นให้ทำกรรมหนักได้โดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน สาวกทุกๆองค์ของท่านที่ได้ปฏิบัติมานานแล้ว เมื่อมันจวบจะถึงที่มันก็ขณะจิตเดียวเท่านั้น
ฉะนั้นอย่าไปประมาทของเล็กๆน้อยๆ จงเพียรพยายามให้หนัก อย่างนั้นถึงได้ว่าให้ไปอยู่กับพระให้เข้าใกล้พระ แล้วให้พิจารณาถึงจะรู้จักพระ ให้เข้าใจดีๆ เอาละ คืนนี้มันจะดึกแล้วกระมังบางคนก็ง่วงนอนแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่เทศน์ให้คนง่วงนอนฟังหรอก ท่านเทศน์ให้คนลืมตาลืมใจฟัง
ที่มา
http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/chahthai/No_Abiding.html
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2