ความประมาท คือ ความเลินเล่อ เผลอสติ ไม่สำรวมระวัง กาย วาจา ใจ ส่วนความไม่ประมาทมีวินัยตรงกันข้าม ได้แก่ ความรอบคอบ มีสติคอยกำกับการกระทำ วาจา ใจ
สติ คือ ความระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอจำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมทุกอย่าง ตั้งแต่การทำการงานตามปกติ
หลักคำสอนในเรื่องความไม่ประมาท(ปัจฉิมโอวาท)
" ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย... บัดนี้ เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" มหาปรินิพพานสูตร 10/180
อธิบาย... พระพุทธเจ้าตรัสสอน เรื่องความไม่ประมาท เป็นพระโอวาทสุดท้าย ในที่อื่น ทรงสั่งสอนว่า กุศลธรรมทั้งหมด รวมลงในความไม่ประมาท เหมือนรอยเท้าสตว์เดินดินต่าง ๆ รวมลงในรอยเท้าช้างฉะนั้น ความไม่ประมาท จะเป็นเหตุให้เราเตือนใจ ตามคำสอนที่ทรงเตือนไว้ว่า "วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่" เราจะได้หมั่นพิจารณาดูตน และ หาโอกาสเพิ่มพูนคุณงามความดี ละความชั่วให้ลดน้อยลง ความไม่ประมาทจะเตือนไม่ให้เราลืมตน เห็นเป็นจริงเป็นจังกับชีวิตในโลก ประหนึ่งว่า จะดำรงอยู่ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ ในที่สุด ทุกคนจะต้องจบลงด้วยความตาย ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น ที่ดินที่เรานึกว่าเป็นของเรา แต่ถ้าเราจะกลายเป็นเถ้าถ่าน ฝังเรี่ยรายอยู่บนพื้นดินนั้น หรือ บางที เขาก็จะเก็บไว้ในโกศเล็ก ๆ เหมือนของเด็กเล่น แต่ไม่มีใครอยากจับต้อง ถึงที่สุด เหมือน ๆ กันเช่นนี้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ถือเอาสาระจากชีวิตที่เน่าเปื่อย ไม่มีสาระนี้ ไว้ให้ได้ด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดี บำเพ็ญประโยชน์ท่าน ให้สมบูรณ์เถิด