Baan Jompra

ชื่อกระทู้: วันสำคัญ [สั่งพิมพ์]

โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:46
ชื่อกระทู้: วันสำคัญ
วันจักรี ตรงกับ วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ มหาจักรีบรมราชวงศ์
ความสำคัญ
วันจักรี หมายถึง วันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานครทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ
เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงของไทย มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ (ร.๑ – ร.๔) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมสักการะ โดยเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และ พระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ ( ร.๑ - ร.๔ ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่าเป็น “วันจักรี”


โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:47
มาฆบูชา: หลักธรรมทางพุทธศาสนา “ทำดี ละเว้นชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
ความสำคัญของวันมาฆบูชา ตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า “มาฆปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” (จาตุร แปลว่า ๔ องค์ แปลว่า ส่วน สันนิบาต แปลว่า ประชุม) หมายถึง “การประชุมด้วยองค์ ๔” ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ ๑) เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ๒) เป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓) พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และ ๔) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ โดย พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แก่พระสงฆ์เหล่านี้เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ซึ่งหัวใจของพระพุทธศาสนาดังกล่าวก็คือหลักคำสอนที่ให้พุทธศาสนิกชนได้ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” หรือ ศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าในฐานะที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ ได้ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อให้ใกล้ชิดเข้าถึงสังคมและประชาชน จึงได้จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๕๔ ขึ้น สำหรับปีนี้วันมาฆบูชาจะตรงกับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้พุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญความดี ร่วมกันทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยส่วนกลาง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสถานที่จัดงาน ๓ แห่ง คือ มณฑลพิธีสวนลุมพินี ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔วัดสระเกศ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ และวัดยานนาวา วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ส่วนภูมิภาค จัด ณ วัดหรือศาสนสถานที่สำคัญตามที่จังหวัดกำหนด กิจกรรมในงานประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียน การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การเล่านิทาน การร้องเพลง การตอบปัญหาธรรมะ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ การสาธิตมารยาทไทย การสาธิตงานฝีมือด้านศิลปกรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา เช่น การทำบาตรของชาวชุมชนบ้านบาตร กิจกรรมหมอภาษา กิจกรรมร้อยด้วยรักทักสมาธิ กิจกรรมพิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว การออกร้านจำหน่ายหนังสือธรรมะ สำหรับพิธีเปิดงานวันมาฆบูชาจะมีขึ้นในวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๑๕ น. ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ โดยพระพรหมสุธี กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้กล่าวว่าปีนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษที่กระทรวงวัฒนธรรมจะถ่ายทอดสดพิธีเวียนเทียนของพุทธศาสนิกชน เนื่องในวันมาฆบูชา ณ เจดีย์พุทธคยา เมืองคยา สาธารณรัฐอินเดีย ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๙.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาดังกล่าว คือ ทำดี ละเว้นชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มาประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม เกิดความปรองดองสามัคคี ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดสันติสุข และมีความเจริญก้าวหน้าสืบไป




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:48
วันยุทธหัตถี
วันยุทธหัตถี ” หรือที่เรียกว่า “ วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อ วันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อัน ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “ วันยุทธหัตถี ” (แทนวันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจาก นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้
ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สอง ในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และ ครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี ดังนั้น ในโอกาส ครบรอบ ๔๑๕ ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถี จนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอด ระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและ พระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:48
อาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมา ยุ ๙ พรรษา ก็ต้องไป เป็นตัวประกันที่หงสาวดี อยู่ ๖ ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดา เพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดี ตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ ๒๔ พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจน ตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก ๒ กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะ ตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา ๑๕ ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึง เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ ๓๗ พรรษา ก็ ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จ ยกทัพไป ตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี

ในหนังสือ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง ๑๘ อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง

จากพระราชประวัติโดยสังเขปข้างต้น คงจะทำให้เด็กๆเยาวชน และเราได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทยยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนให้พวกเราที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:51
วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เดือนธันวาคม ปีพระพุทธศักราช 2531สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ขึ้น โดยถือเอา วันที่ 17พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็น "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช"
ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึง ความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความคิดว่าควรที่จะเป็น วันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะเป็นการเหมาะสมกว่า ซึ่งวันนั้นตรงกับวัน ศุกร์ที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2376 ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีพระพุทธศักราช 2532 ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว
ดังนั้นวันที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2533 จึงเป็น "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช" วันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
นับแต่นั้นมาจังหวัดสุโขทัย และทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดให้มี งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีต่อประชาชนชาวไทย กิจกรรมหลักประกอบด้วย พิธีสักการะ บวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขบวนแห่ และพิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ โดยสถานที่จัดงานของจังหวัดสุโขทัย คือ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนสถานที่จัดงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ณ บริเวณลานพ่อขุน และหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือพ่อขุนรามราช ชื่อ"รามราช" พบในจารึกวัดศรีชุมว่า "ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อพ่อขุนรามราชปรา(ช)ญ์รู้ธรรม" รวมทั้งพบในจารึก และเอกสารอื่นๆอีกหลายแห่งว่า "พญารามราช" อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ อธิบายคำว่า "ราม" (จากชื่อพญารามราช) น่าจะมาจาก "อุตตโมราม" ซึ่งแปลว่า "พระรามผู้ยิ่งใหญ่" ที่ทรงเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าองค์ต่อไปจากพระเมตไตรย ดังที่กล่าวถึงใน "โสตตัตถกีมหานิทาน" เพราะในช่วงเวลานั้นต่างให้ความสำคัญแก่พระอนาคตพุทธเจ้าโดยเฉพาะ (เอกสารวิจัยเรื่อง "การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ : จารึกพ่อขุนรามคำแหง" : ๒๕๓๑)แต่ชื่อ "รามคำแหง" พบเพียงครั้งเดียวในจารึกพ่อขุนรามคำแหง และไม่พบในที่อื่นๆอีกเลยทุกวันนี้ชื่อ "รามคำแหง" เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกว่า "รามราช" จึงขอเรียกตามความนิยมว่า "พ่อขุนรามคำแหง"
ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพจากเมืองสุโขทัยไปป้องกันเมืองตาก โดยมีพระรามราชโอรสซึ่งมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษาไปด้วย การรบของทั้งสองฝ่ายได้ทำยุทธหัตถี (การรบบนหลังช้าง) ในตอนแรกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ช้างที่ประทับของพระองค์สู้กำลังข้าศึกไม่ได้ พระรามได้รีบไสช้างเข้าไปช่วย และสู้รบกับขุนสามชนจนได้ชัยชนะ ความกล้าหาญของพระรามใน ครั้งนี้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามให้เป็น "รามคำแหง" ซึ่งหมายถึง รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ หลังจากศึกครั้งนี้เข้าใจว่าฐานะทางการเมืองของสุโขทัยมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น และคงมีการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตสุโขทัยให้กว้างขวางออก
ภายหลังที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สิ้นพระชนม์พ่อขุนบานเมืองราชโอรสองค์ใหญ่ ได้ขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัยสืบต่อมา ในสมัยนี้สุโขทัยได้ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการทำสงครามกับเมืองต่างๆเช่นเดียวกับสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดยมีพระอนุชาคือพ่อขุนรามคำแหงเป็นแม่ทัพ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้าง ได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู" เมื่อพ่อขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา การที่พระองค์เป็นกษัตริย์นักรบ และนักปกครองที่มีความสามารถ อาณาเขตในสมัยของพระองค์จึงได้แผ่ขยายกว้างไกล จนได้รับการเทิดพระเกียรติด้วยพระนามว่า "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ในภายหลัง ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเขตแดนสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไว้ว่า "ทางทิศเหนือ มีเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว ถึงเมืองหลวงพระบาง ทิศตะวันออกมี เมืองสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา ถึงเมืองเวียงจันทร์ ทางทิศตะวันตกมีเมืองฉอด เมืองหงสาวดี จนสุดชายฝั่งทะเล ทางทิศใต้มี เมืองคณฑี เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช จนสุดชายฝั่งทะเล" จะเห็นว่าในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงฯนี้




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:51
อาณาจักรสุโขทัยได้ครอบครองเมืองในลุ่มแม่น้ำ ปิง ยม น่าน และป่าสักได้ทั้งหมด อันเป็นการรวบรวมเมืองบ้านพี่เมืองน้อง ซึ่งเคยอยู่ใต้ครอบครองของราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมให้เป็นแว่นแคว้นเดียวกัน และขยายอาณาเขตไปยังดินแดนห่างไกลออกไป

จากเอกสารของจีน ได้กล่าวถึงการขยายอาณาเขตของพ่อขุนรามคำแหงฯไปยังดินแดนทางใต้ว่า ในปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ตีได้เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองในแหลมมลายู ตลอดจนยะโฮร์ และต่อมาตีได้กัมพูชา และจากพงศาวดารเหนือได้กล่าวถึงพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือมะกะโท ผู้เป็นราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งต่อมาได้ครองเมืองมอญ แสดงถึงการขยายอาณาเขตของพระองค์ไปทางตะวันตก ได้หัวเมืองมอญด้วยสันติวิธี อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของการยอมรับอำนาจและความเข้มแข็งของศูนย์กลางอำนาจทีเมืองสุโขทัยอันเป็นผลจากการสะสมกำลังคนที่ได้จากการทำสงครามแล้วกวาดต้อนผู้คน และแรงงานจากเมืองต่างๆ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ก่อนรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงฯ นอกจากนั้นเนื่องจากพระองค์มีสัมพันธไมตรี

กับเมืองใหญ่ๆใกล้เคียงได้แก่ พ่อขุนเม็งราย(มังราย)แห่งอาณาจักรล้านนา และพระยางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ซึ่งได้ทำข้อตกลงที่จะช่วยเหลือกันและกันเมื่อถูกรุกรานจากอาณาจักรอื่น ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นช่วงสมัยที่สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ซึ่งนอกจากการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตแล้ว ความรุ่งเรืองของสุโขทัยอาจเนื่องมาจากการที่สุโขทัยตั้งอยู่ในเส้นทางทางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ และเมื่อการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น สุโขทัยซึ่งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สามารถค้าขายติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆได้โดยรอบ โดยมีเส้นทางการเดินทางไปทางเหนือถึงลุ่มแม่น้ำโขง ทางตะวันตกมีเส้นทางติดต่อกับเมืองพุกามและหัวเมืองมอญ ซึ่งสามารถออกทะเลเบงกอลติดต่อกับลังกา และอินเดียใต้ ส่วนทางใต้มีเส้นทางเดินทางผ่านลุ่มแม่น้ำปิง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านนครศรีธรรมราชออกสู่ทะเล สันนิษฐานว่าสุโขทัยอาจเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแบบกองคาราวาน และสุโขทัยเองอาจจะค้าของป่า และแร่ธาตุสำคัญ นอกจากนั้นสุโขทัยยังยอมเป็นเมืองผ่านทางการค้า โดยอนุญาตให้พ่อค้าเอาลินค้าไปค้าขายแลกเปลี่ยนได้โดยไม่เก็บภาษีผ่านด่าน เป็นการส่งเสริมให้มีคนมาค้าขายที่สุโขทัยเพิ่มขึ้น ดังมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า" จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนจากที่ต่างๆโยกย้ายเข้ามาสู่ดินแดนในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทั้งมากาว ลาวแลไทย เมืองใต้หล้าฟ้า ฏ...ไทยชาวอู ชาวของ มาออก"

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต (สันนิษฐานว่าประมาณปี พ.ศ. ๑๘๔๒) พระยาเลอไทยพระราชโอรสของพระองค์ได้ครองราชสมบัติ พระยาเลอไทยทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน มุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง แผ่ขยายออกไปจากเดิมมากขึ้น การศึกษาพระธรรม และภาษาบาลีได้เริ่มขึ้น และเจริญก้าวหน้า พระองค์ทรงฝักใฝ่ในทางธรรมมาก และทรงมีความรู้ทางปรัชญาอย่างสูง ลูกเจ้าลูกขุนจึงถวายพระนามว่า "พระมหาธรรมราชา" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระองค์ครองราชย์นาน ๔๐ ปี เมื่อสิ้นรัชกาล พระยางัวนำถมได้ครองราชย์สืบต่อมา
เมื่อพระยางั่วนำถมทรงทำพิธีราชาภิเษกแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งพระยาลิไทย (พระราชโอรสของพระยาเลอไทย) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ไปปกครองเมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองที่ถือว่ารัชทายาทแห่งราชบัลลังก์จะพึงครอบครองก่อนที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลนี้ได้มีการปราบปรามเมืองต่างๆที่แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชกาลพระยาเลอไทย แต่ไม่สำเร็จ ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขความเสื่อมโทรม และความแตกแยกภายใน ตอนปลายรัชกาลพระยางัวนำถมสวรรคตลงโดยกระทันหันในปี พ.ศ. ๑๘๙๐ ทำให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงสุโขทัย พระยาลิไทยองค์รัชทายาทจึงยกกำลังจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้าเมืองสุโขทัย แล้วจับศัตรูที่คบคิดชิงราชสมบัติประหารชีวิตเสียทั้งหมด แล้วเสด็จขึ้นครองเมืองสุโขทัยในปีนั้น
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:52
๑๖ มกราคม “ร่วมรำลึกถึงพระคุณของครู..ผู้ให้แสงสว่างแก่เด็ก”
แม้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีจะก้าวไกล มีสื่อการเรียนการสอนที่ไร้พรมแดน เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้จากอินเตอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เด็กรับรู้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่จะถูกเสมอไป เพราะในโลกของการสื่อสารยังมีสื่อที่ไม่สร้างสรรค์อีกเป็นจำนวนมากที่เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดี
ครู จึงถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทและมีความสำคัญมากที่สุดในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ให้สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดี ตลอดจนให้ความรู้และคอยอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์เติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากฝากลูกไว้กับครูที่ดี เก่ง และไว้ใจได้
เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและให้ความสำคัญกับครู ในฐานะบุคคลที่สร้างอนาคตของชาติ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปี เป็น วันครู และจัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่ระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการที่เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล โดยให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา มีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู การออกข้อบังคับหน้าที่ วินัย และจรรยาบรรณของครู รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ และส่งเสริมฐานะให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการกำหนดนโยบายทางการศึกษาและวิชาการศึกษาให้แก่กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และยังได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ โดยมีข้อความตอนหนึ่งที่น่าสนใจว่า “เนื่องจากครูเป็นผู้มีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่า สำหรับคนทั่วไปถ้า วันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลงปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวคิดประกอบกับความเห็นของครูที่แสดงออกกับสื่อมวลชนที่เรียกร้องให้มีวันครู เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน จึงได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ และได้มีมติเห็นชอบให้มีวันครู เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ตลอดจนการส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ ให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็น วันครู โดยให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้นักเรียนและครูได้หยุดในวันดังกล่าว
นอกจากนี้ยังได้กำหนด จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ดังนี้
๑. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
เห็นได้ว่า ครูเปรียบเสมือนแสงสว่างที่คอยนำทางให้เด็กได้ก้าวเดินไปในทางที่ถูกต้อง โดยการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ พร้อมทั้งอบรมบ่มนิสัยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน หรือลูกศิษย์ทั้งหลายได้รำลึกถึงพระคุณของครู ด้วยการกลับไปเยี่ยมเยียนท่าน หรือส่งบัตรอวยพรให้แก่ท่าน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีต่อสังคม ให้เหมือนกับที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่เรา จนเราสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประกอบอาชีพที่สุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:53
วันเด็กแห่งชาติ
วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ
สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติของประเทศไทยจัดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการไทยได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้
ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
คำขวัญวันเด็ก





โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:53
ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ของเด็กจึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคิด สำหรับเด็ก นายกรัฐมนตรี ในสมัยต่อ ๆ มา จึงได้ถือปฎิบัติสืบต่อมาดังต่อไปนี้

พ.ศ.2499 - จอมพล ป.พิบูลสงคราม - จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

พ.ศ.2502 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

พ.ศ.2503 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

พ.ศ.2504 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

พ.ศ.2505 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

พ.ศ.2506 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด

พ.ศ.2507 - งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

พ.ศ.2508 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี

พ.ศ.2509 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

พ.ศ.2510 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย

พ.ศ.2511 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง

พ.ศ.2512 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

พ.ศ.2513 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส

พ.ศ.2514 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

พ.ศ.2515 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ

พ.ศ.2516 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

พ.ศ.2517 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง

พ.ศ.2518 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี

พ.ศ.2519 - หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง
จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้

พ.ศ.2520 - นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย

พ.ศ.2521 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

พ.ศ.2522 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ

พ.ศ.2523 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ.2524 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม

พ.ศ.2525 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ.2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม

พ.ศ.2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา

พ.ศ.2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

พ.ศ.2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ.2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

พ.ศ.2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม

พ.ศ.2536 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2537 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2538 - นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

พ.ศ.2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

พ.ศ.2541 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ.2542 - นายชวน หลีกภัย ขยัน - ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ.2543 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ.2544 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ.2545 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

พ.ศ.2546 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

พ.ศ.2547 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน

พ.ศ.2548 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

พ.ศ.2549 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

พ.ศ.2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

พ.ศ.2551 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

พ.ศ.2552 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

พ.ศ.2553 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม

พ.ศ.2554 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:55
วันขึ้นปีใหม่
ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถีอเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี
ต่อมาได้ถือว่าวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติและยึดถือมาจนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย
เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ต่างก็ถือเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้วก้ควรจะใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปี เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่างๆ จึงกำหนดให้ถือเอาวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา เป็นผลให้ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขาดไป ๓ เดือน และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติ ให้ทางราชการ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หยุดงานที่เคยทำประจำ ๒ วัน คือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม วันสิ้นปีเก่า และ วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
ธรรมเนียมไทยแต่เดิมมา ก่อนวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั่วบริเวณ และตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามตามกำลังความสามารถ ในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากทำบุญตักบาตรหรือทำกุศลอื่นๆ ตามอัธยาศัยแล้ว ผู้น้อยนิยมไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรท่านให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองสืบไป

ประเพณีใหม่ที่เข้ามาสู่คนไทยในโอกาสนี้คือ การส่งบัตรอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตรที่สนิทสนมกัน เป็นการแสดงออกแห่งไมตรีจิตระหว่างกัน นับเป็นการประยุกต์นำวัฒนธรรมอื่นที่เหมาะสมมาใช้ในสังคมไทย ถือเป็นความเจริญทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันขึ้นปีใหม่?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:56
วันพระเจ้าตากสินมหาราช


โดยทั่วไป ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ” นั้น นอกเหนือไปจากความเก่งกล้า สามารถในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการรบแล้ว บุคคลผู้นั้นยังต้องเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี และมีคุณธรรมประจำใจ พูดง่ายๆว่าต้องเป็นคน “เก่งและดี” จึงจะได้รับการเคารพยกย่อง และเป็นผู้ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างมิรู้ลืมเลือน

               ในบรรดาพระมหากษัตริย์ของไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับการเทิดทูน และเคารพบูชาจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงเพราะพระปรีชาสามารถในการรบที่กอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความกตัญญูและเสียสละต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมือนเหมือน อีกด้วย

               ตามพระราชประวัติ เราจะทราบได้ว่าทรงมีกำเนิดเป็นเพียงสามัญชน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน กล่าวคือบิดาเป็นจีนชื่อ นายไหฮอง ส่วนมารดาเป็นไทยชื่อ นางนกเอี้ยง ทรงเข้ารับราชการมาแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อเนื่องมาจนรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ อันเป็นเวลาที่กรุงศรีอยุธยาได้เสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ และพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ รักษาการเจ้าเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้น ได้ใช้เวลาเพียง ๗ เดือนกอบกู้เอกราชเป็นผลสำเร็จ และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนยังนิยมเรียกพระองค์ในตำแหน่งเดิมว่า“พระเจ้าตากสิน”

                การที่พระเจ้าตากสินมารับราชการงานเมือง ทั้งๆที่บิดาของท่านเป็นพ่อค้า หากจะคิดว่าเป็นเพราะพระองค์หวังให้เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลแล้ว อย่างน้อยพระองค์ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะทรงสามารถทำความดีความชอบได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมาโดยตลอด แต่หลังจากเสียกรุงแล้ว แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่พระองค์ก็ยังคงเป็นสามัญชนคนธรรมดา มิได้มีเชื้อพระวงศ์หรือเกี่ยวข้องอันใดกับพระมหากษัตริย์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย เหตุใดพระองค์จึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อกอบกู้แผ่นดินไทย คงมิใช่เพราะทรงมักใหญ่ใฝ่สูงหรือคิดจะตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แต่แรก แต่เชื่อว่าด้วยบุคลิก ตลอดจนพระปรีชาสามารถที่โดดเด่น กอปรกับน้ำพระทัยอันห้าวหาญ และความรัก ความกตัญญูต่อแผ่นดินบ้านเกิด จึงทำให้พระองค์ท่านได้รับการยอมรับจากเหล่าอาณาประชาราษฎร์ จนสามารถรวบรวมอาณาจักรได้เป็นปึกแผ่นภายในระยะเวลาเพียง ๓ ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ ๑๕ ปี มิได้ทรงสุขสบายเลย ทรงต้องตรากตรำทำศึกสงครามเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินไทยมาโดยตลอด หากมิได้มีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความเสียสละแล้ว คงยากที่คนธรรมดาสามัญคนหนึ่งจะทำได้ เพราะไหนจะต้องทำศึกกับคนไทยด้วยกันเอง ไหนจะต้องรบกับพม่า ข้อสำคัญ ยังต้องเหนื่อยยากในการหาเงินทองมาบริหารจัดการฟื้นฟูบ้านเมืองให้คืนสภาพ ด้วย อันที่จริง หากจะศึกษาบุคลิกลักษณะของพระองค์จากพระราชประวัติแล้ว จะเห็นได้ว่าทรงมีคุณลักษณะที่โดดเด่นหลายประการ อาทิ

                ด้านพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาภาษาจีน ญวนและแขก จนสามารถตรัสทั้งสามภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้ยังทรงฉลาด รอบรู้ด้านขนบธรรมเนียม และภารกิจต่างๆเป็นอย่างดี จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้ทำงานต่าง พระเนตรพระกรรณ โดยโปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกระทรวงมหาดไทย กรมวัง และศาลหลวง ครั้นมาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ยังได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัว เมืองฝ่ายเหนือ ทำความดีความชอบได้เลื่อนเป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก และเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาตากแทน และต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียกรุง
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:57
  ด้านการรบทัพจับศึก เมื่อมังมหานรธา แม่ทัพพม่ายกมาตีปักษ์ใต้ และตีเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี กรุงศรีอยุธยาก็ได้ส่งพระยาโกษาธิบดีและพระองค์คือพระยาตากในขณะนั้น ไปรักษาเมืองและสามารถตีพม่าจนถอยร่นไปได้ และต่อมาเมื่อพม่ายกมาตีไทยอีก พระยาตากก็ได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ (จึงได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ) ครั้นต่อมา เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียทีแก่พม่าแน่แล้ว เพราะผู้นำอ่อนแอ ไม่นำพาต่อราชการบ้านเมือง พระองค์จึงตัดสินใจรวบรวบสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปเพื่อ เตรียมกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ใช้เวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็สามารถประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ จากนั้นยังต้องยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ เพื่อรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่น และตลอดรัชสมัยของพระองค์ยังต้องต่อสู้กับพม่าที่จะมาช่วงชิงอาณาจักรคืนอีก ถึง ๙ ครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ทำการรบเพื่อขยายอาณาจักรอีกหลายครั้ง เป็นผลให้ไทยได้ประเทศราชคืนมาหลายแห่งเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น กัมพูชา หลวงพระบาง จำปาศักดิ์และเวียงจันทร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์เก่งด้านการรบเพียงไร และต้องเป็นนักวางแผนยุทธวิธีที่ดีด้วย จึงสามารถเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ตลอดมา

               ด้านความเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด จะเห็นได้จากตอนที่จะบุกตีเมืองจันทบุรี ได้ให้ทหารหุงหาอาหารรับประทานแล้ว มีรับสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงเสีย และมีบัญชาว่าหากเข้าเมืองไม่ได้วันนี้ ก็ต้องอดตายกันหมด ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงช้างนำเข้าชนประตูเมืองจนพังทลาย และบุกเข้ายึดจันทบุรีได้สำเร็จในคืนนั้น หรือแม้แต่ตอนตัดสินพระทัยฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงฯก็เช่นกัน หากมัวละล้าละลัง ไม่คิดให้เด็ดขาดแล้ว ก็อาจถูกจับเป็นเชลยหรือสิ้นชีพไปแต่ครั้งนั้นแล้ว

               ด้านความกตัญญู แม้พระเจ้าเอกทัศน์จะเป็นผู้นำที่อ่อนแอและเป็นต้นเหตุให้เสียกรุง แต่พระเจ้าตากสินก็เคยรับราชการกับพระเจ้าเอกทัศน์มาก่อน เมื่อพระองค์สามารถขับไล่พม่าและประกาศอิสรภาพได้แล้ว ก็ได้โปรดให้ขุดพระศพสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์มาแห่แหนและทำการถวายพระเพลิงให้

ด้านน้ำพระทัยที่กว้างขวางและเมตตา กล่าวกันว่าพระเจ้าตากสินนั้น แม้จะยกทัพไปปราบปรามหรือตีเมืองใด หากเจ้าเมืองมาสวามิภักดิ์ ก็มักจะแต่งตั้งให้ครองเมืองหรือให้การสนับสนุนส่งเสริม มิได้ทำร้ายหรือเข่นฆ่าให้ตาย ยกเว้นจะแข็งข้อหรือตั้งต้นเป็นศัตรู แต่กระนั้นก็มิได้ทำร้ายไปถึงลูกเมียหรือญาติพี่น้องของผู้นั้น และเมื่อครั้นอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าได้ทำนายทายทักว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือเจ้าพระยาจักรีในขณะนั้นจะได้เป็นพระ มหากษัตริย์ต่อไปในอนาคต หากพระเจ้าตากสินจะไม่เปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยที่หนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็อาจจะคิดระแวง หาทางกลั่นแกล้ง หรือกำจัดเจ้าพระยาจักรีเสียตอนนั้นก็ได้ แต่พระองค์ก็มิได้กระทำเช่นนั้น

                ที่กล่าวมาข้างต้น ดูจะเป็นภาคบู๊ของพระองค์ท่าน แต่จริงๆแล้ว ในภาคบุ๋นพระองค์ก็มีพระปรีชาสามารถไม่น้อย ทรงรักกวีนิพนธ์ และแม้จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่แทบจะทรงไม่ว่างเว้นจากการรบ แต่ก็ปรากฏว่าได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ที่ เรียกว่า รามเกียรติ์ ฉบับกรุงธนบุรี ไว้ด้วย ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในการเล่นละครหลวงในงานฉลองต่างๆ

               จากบุคลิกลักษณะบางส่วนของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกมานี้ เราคงจะได้เห็นและซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถ และพระคุณงามความดีต่างๆของพระองค์ท่านชัดเจนยิ่งขึ้น หากไม่มีพระองค์ที่ทรงเสียสละเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินแม่แล้ว เราลูกหลานไทยคงจะไม่มีบ้านเมืองที่สุขสบายดังเช่นทุกวันนี้

               ดังนั้น เนื่องในวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ท่าน ในวันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี ที่เรียกว่า “วันพระเจ้าตากสิน” สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการไปร่วมวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ หรือจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในวันนี้

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันพระเจ้าตากสินมหาราช-2?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:58
วันรัฐธรรมนูญ : วันประวัติศาสตร์ของไทย
คอลัมน์ร้อยเรื่องวันสำคัญฉบับเดือนธันวาคมนี้ นอกจากวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทยแล้ว วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี ก็นับว่าเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ นับเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับแรก” ให้แก่ปวงชนชาวไทย และพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหตุการณ์นั้นนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการปกครองของไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมายาวนานถึง ๗๐๐ กว่าปี (คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย คือ เป็นทั้งผู้ออกกฎหมายบริหารบ้านเมือง และตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง ส่วนพวกขุนนาง ข้าราชการ เป็นเพียงกลไกที่ปฏิบัติไปตามพระบรมราชโองการเท่านั้น) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องมาจาก
๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้วยพระองค์ทรง ปลดข้าราชการออกเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
๓. อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
๔. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี ได้แก่ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎร
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไป จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติจากคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
นอกจากนี้ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังนี้ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
แม้ว่าลักษณะการปกครองจะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ยังเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อกันไปในราชวงศ์ ดังนั้น การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติในการออกกฎหมายต่างๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงจะมีผลบังคับใช้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 15:58
จนกระทั่งวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการที่ต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองแบบระบอบรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

และนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ นับเฉพาะฉบับที่สำคัญมี ๑๘ ฉบับด้วยกัน คือ

๑. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐

๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ประกาศและบังคับใช้วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

๗. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒

๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑

๙. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

๑๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

๑๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

๑๒. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐

๑๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

๑๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

๑๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

๑๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

จากการที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง ๑๘ ฉบับด้วยกัน ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยมีความอ่อนแอในเรื่องของประชาธิปไตยอย่างมาก เห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เหตุการณ์ในช่วงนั้นประชาชนไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดเรื่องการเมือง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบที่มีความรุนแรงถึงขั้นก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ทำให้ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นสยามเมืองยิ้มในสายตาชาวต่างประเทศ กลายเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องระมัดระวังตัวเมื่อเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากถูกลดอันดับความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นคงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก

ดังนั้น เนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิต โดยปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย มีความสามัคคีและประนีประนอม ตลอดจนมีจิตสำนึกสาธารณะและยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาความแตกแยกในสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น สังคมไทยก็จะเข้มแข็งเป็นสังคมแห่งสันติสุขอย่างแน่นอน

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันรัฐธรรมนูญ-วันประวัติศาสตร์ของไทย?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:00
วันพ่อแห่งชาติ
พระราชประวัติโดยสังเขป ของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” และ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”
..........เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาซูเซสท์ สหรัฐอเมริกา (เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่นั่น) เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระนามในชั้นเดิม “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” พระองค์มีพระโสทรเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และพระโสทรบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
๒. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
..........เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อเสด็จมาครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกประชวร และสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเจริญพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา ๙ เดือน
..........พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษาได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จฯ ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเนื่องจากสมเด็จพระโสทรบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง ควรจะต้องประทับอยู่ประเทศที่มีอากาศดี พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระปิตุลา) ทรงแนะนำให้ไปประทับในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ที่นั่นพระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาต่อตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (ECOLE MIREMONT) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐาธิราช ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นู เวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโสทรบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งก็ยังคงประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมืองพุยยี่ ติดกับเมืองโลซานน์และทรงตั้งชื่อพระตำหนักที่ประทับว่า “วิลล่า วัฒนา”
..........พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาเยือนประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ได้ประทับอยู่ประมาณ ๒ เดือน โดยประทับรวมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต แล้วเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ
พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทรงไรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จากโรงเรียนยิมนาสคลาซีค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์
วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
..........จนกระทั่งวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกระทันหันที่พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงได้รับการอัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน ครั้งนี้ได้ประทับอยู่ประเทศไทยเพียง ๙ เดือน เนื่องจากยังมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยเดิม แต่ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
..........ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
..........ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม ในการพระราชพิธีราชาภิเษก สมรสนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
..........วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และในโอกาสนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี"




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:01
..........หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาพระองค์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ โรงพยาบาลมองซัวชีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔

..........เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เองสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์คือ

..........สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ เสด็จพระราชมภพเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ต่อมาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิดลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

..........สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐

..........สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สมภพเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

..........พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในะหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็มีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระบรมราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร

..........ครั้งนั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในปีเดียวกันนั้นเอง และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตจนปัจจุบัน

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันพ่อแห่งชาติ?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:04
วันสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี คือ วันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งนับเป็นวันที่สำคัญยิ่งของพสกนิกรชาวไทยอีกวันหนึ่ง เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยและประเทศไทยของเรา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงพระราชสมภพตรงกับวันเสาร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ และทรงมีพระกนิษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา รวม ๘ พระองค์
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระองค์ได้ทรงศึกษาทางอักษรศาสตร์และศิลปะศาสตร์อื่นๆ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมชนกนาถ) และพระอาจารย์ รวมทั้งนักกวีหลายท่าน เช่น พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนู อิศรางกูร) และหม่อมเจ้าประภากร
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ขณะมีพระชันษาได้ ๙ พรรษา ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศ พระบรมเชษฐาธิราช ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งรัชทายาท ได้สิ้นพระชนม์ลง พระองค์จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทแทน
ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปศึกษา ณ ทวีปยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๕ พระองค์ทรงรอบรู้ทั้งวิชาการฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการฝ่ายทหาร มียศเป็นนายพลเอกตำแหน่งจเรทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กด้วย พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในพระอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี เป็นจินตกวีและปาฐกชั้นเยี่ยม ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือดีๆ ไว้มากมายทั้งบทประพันธ์และร้อยแก้ว เป็นที่เลื่องลือปรากฏแก่ประชาชน และได้รับพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งข้าราชการทั้งหลายได้พร้อมกันอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๓๐ พรรษา
สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ การวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ทรงสร้างดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองขึ้นแห่งแรกในพระราชวังดุสิต เพื่อฝึกอบรมเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารเสนาบดีให้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยอย่างจริงจังที่จะทรงนำการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในประเทศไทย ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ในภายหน้าเมื่อนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศสำเร็จกลับมาแล้วจะสามารถเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศได้ โดยพระองค์มิได้ทรงหวงพระราชอำนาจไว้เลย




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:05
การจัดตั้งกองเสือป่า พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ เสือป่า เพื่อเป็นการฝึกอบรมคนไทยให้ฉลาดรอบรู้วิชาการทหารและวิธีการช่วยรบทำให้มีใจกล้าหาญ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมาก

การปกครองประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีสมรภูมิอยู่ในทวีปยุโรป ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมัน โดยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร ส่งทหารไทยไปร่วมรบ ณ ประเทศฝรั่งเศส ผลที่สุดได้เป็นฝ่ายชนะสงคราม ทำให้ประเทศไทยได้รับการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบต่างประเทศได้เป็นอันมาก

ด้านการศึกษา ในสมัยของพระองค์ทรงแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ สาย คือ สายสามัญ ศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาที่เปลี่ยนความรู้พื้นฐานทั่วไป และสายวิสามัญ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพโดยเฉพาะ โดยได้ทำการขยายการศึกษาออกไปในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตามแบบอังกฤษแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงจัดตั้งคลังออมสิน ซึ่งปัจจุบันก็คือ ธนาคารออมสิน เพื่อฝึกให้ราษฎรรู้จักประหยัดเก็บสะสมทรัพย์ และเป็นที่ให้ราษฎรนำเงินมาฝากเพื่อความปลอดภัย

ด้านการสาธารณสุขและสาธารณูปโภค ทรงขยายกิจการสาธารณสุขไปทั่วประเทศและทรงส่งเสริมการแพทย์สมัยปัจจุบันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงให้จัดการประปา การไฟฟ้าให้กว้างขวางแพร่หลาย

ด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระอรรถกถาพระสุตตันตปิฎกจนจบ และพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับธรรมะ รวมทั้งมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก

ด้านศิลปวิทยาและวรรณกรรมต่างๆ พระองค์ทรงมีพระทัยรักวิชาการด้านศิลปวิทยาและวรรณกรรมอย่างมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาและบำรุงรักษาโบราณวัตถุของชาติ ทรงส่งเสริมนาฏศิลป์และดุริยางค์ไทย ทรงตั้งกรมโขนหลวงขึ้น นอกจากนี้ พระองค์เป็นนักปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไครซเชิช ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “สงครามราชสมบัติโปลันด์” เป็นภาษาอังกฤษ เป็นบทประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องเป็นอันมาก นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้มากมาย ที่สำคัญๆ เช่น ปลุกใจเสือป่า เสียสละ พระร่วง ท้าวแสนปม มัทนะพาธา ธรรมาธรรมะสงคราม และเวนิสวาณิช เป็นต้น พระองค์ยังทรงดำเนินการปลุกใจประชาชนชาวไทยให้รักชาติและกล้าหาญด้วยการทรงแสดงปาฐกาและพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่เสมอๆ

ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร แพทย์ชาวอเมริกัน นายแพทย์เมนเดลสัน ผู้ถวายการผ่าตัด รายงานว่า ทรงพระประชวรพระอันตะ (ลำไส้) พับพระกระยาหารผ่านไปไม่ได้ ทำให้พระอาการกำเริบในวันต่อมาจนเกิดเป็นพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร มีพระอาการซึม และขณะเดียวกันในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีก็มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี และรุ่งขึ้นเวลา ๗ นาฬิกา พระอาการประชวรหนักมากจนคณะแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาได้แล้ว ตอนดึกของคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จสวรรคต สิริรวมพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ท่ามกลางความอาลัยรักของพสกนิกรของพระองค์

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมรูปของพระองค์ ณ ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ สวนลุมพินี ที่พระองค์ทรงวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศไทยของเราให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศจวบจนปัจจุบันนี้

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:06
วันลอยกระทง
“ ลอยกระทง ” เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆกัน สำหรับในปีนี้ วันลอยกระทงตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ประเพณีลอยกระทง มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่าก็มีการลอยกระทงคล้ายๆกับบ้านเรา จะต่างกันบ้างก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทงก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมมาบอกเล่าให้ทราบกันดังต่อไปนี้
ทำไมถึงลอยกระทง
การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา นอกจากนี้ ก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์/ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทงอาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหลเพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้วจึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำ ว่าได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่าการลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษและขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดีที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือเพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อนเรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวงตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป
ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอกก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “ แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน ” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน
ตำนานและความเชื่อ
จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้
เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวน/หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลายจึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:07
ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา ๓ เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัทพากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทงเพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีปเพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาดลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรามักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ ทีปาวลี ” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่าเมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการรับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน ๑๒ หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราชจึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาคก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้เป็นที่นับถือของชาวพม่าและชาวพายัพของไทยมาก

เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า เกิดอหิวาต์ระบาดที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิมและหงสาวดีเป็นเวลา ๖ ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำเพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าวจะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า(การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหฺมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืนและมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆคล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทงที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆแวมๆคล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)

เรื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน ทางตอนเหนือเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึมและขมุกขมัวให้เห็นขลังเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุด เทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่างเพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ ( ปั่งจุ๊ยเต็ง ) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม

จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญูระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้าหรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชนได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง

ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่มีคุณค่าในเรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว ประเพณีนี้ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสานาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญก็ถือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆแห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองไปด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาคงจะทำให้ท่านได้รู้จักคุณค่า สาระและเรื่องราวเกี่ยวกับ “ ประเพณีลอยกระทง ” มากขึ้น และหวังว่า “ ลอยกระทง ” ปีนี้ นอกจากความสนุกสนานแล้ว คงจะมีความหมายแก่ท่านทั้งหลายเพิ่มขึ้นด้วย

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันลอยกระทง-2?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:09
วันปิยมหาราช

วันที่ ๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติและกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ “พระปิยมหาราช” อันมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กับสมเด็จพระเทพ ศิรินทรา พระบรมราชินี พระองค์ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐา ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กระพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี โดยทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่างๆ หลังจากนั้น พระบรมชนกนาถทรงจ้างครูซึ่งเป็นชาวต่างประเทศโดยตรงมาสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากทรงเห็นว่าต่อไปในอนาคตจะจำเป็นอย่างมาก และพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนวิชาการในด้านต่างๆ อาทิ วิชารัฐศาสตร์ด้วยพระองค์เองด้วย

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ได้พร้อมกันถวายพระราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา ขุนนางผู้ใหญ่จึงแต่งตั้งเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ อาทิ ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป ด้านการปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี ๖ กระทรวง และได้เพิ่มอีก ๔ กระทรวง รวมเป็น ๑๐ กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกและให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล ด้านการศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนด้านสาธารณูปโภค ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นด้วยทรงอยากให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรกด้วย ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ในสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:09
พระราชกรณียกิจอีกประการที่สำคัญยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การเลิกทาส พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเลิกทาสให้เป็นไทตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว พระองค์ได้ทำการปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่ายเพื่อหาวิธีไม่ให้มีเหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาสและเจ้าของทาส ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๑๗ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไทโดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว

นอกจากนี้ การเสด็จประพาสต้น ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับทางรถไฟหรือไม่ก็ทางเรือ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สิริรวมพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย สมกับพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ซึ่งแปลความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราชที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยแสดงความจงรักภักดี ด้วยการสมัครสมานสามัคคี เนื่องจากประเทศไทยของเราตอนนี้กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ทำให้พี่น้องชาวไทยในบางพื้นที่ของประเทศประสบความเดือนร้อนจากภัยน้ำท่วม ในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่บ้านเมืองประสบปัญหา เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงพัฒนาประเทศและปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยให้มีความเป็นเอกราชมาจนถึงปัจจุบันนี้  

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันปิยมหาราช?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:10
วันสารทไทย
เมื่อเอ่ยถึง “ สารทไทย ” คนปัจจุบันอาจจะรู้สึกห่างเหิน ด้วยว่าคนสมัยนี้จะเคยชินกับเทศกาลของต่างประเทศอย่าง วันวาเลนไทน์ วันฮาโลวีน หรือวันสารทจีนมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้รู้จักวันสำคัญของไทยอีกวันหนึ่ง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับวันนี้มาบอกต่อเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
คำว่า “ สารทไทย ” หมายถึง เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบของไทย จะตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า “ สารท ” ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ ( งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล ) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบ กึ่งกลางปี ” พูดง่ายๆก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
ส่วน สารทเดือนสิบ อันหมายถึงการทำบุญเดือนสิบ หรือวันสารทไทยของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูสารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน ๑๐ ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน ๙




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:11
ส่วนประเพณีสารทเดือนสิบ ที่รู้จักกันดี ก็คือที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคติความเชื่อที่ว่า ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีผู้มีบาปกรรมต้องได้รับโทษเป็นเปรตอยู่อบายภูมิ ปีหนึ่งๆยมบาลก็จะปล่อยให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพื่อรับส่วนกุศลปีละครั้ง ในวันบุญสารท คือแรม ๑๔ และ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ และเมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ต้องกลับไปรับโทษตามเดิม บรรดาผีเปรตเหล่านี้ หากไม่มีใครทำบุญให้ ตอนเดินทางกลับก็จะอดอยาก และก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลที่เพิกเฉยไม่ทำบุญให้ ดังนั้น จึงเกิดมีการทำบุญสารทดังกล่าวเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยในวันแรม ๑๔ ค่ำ จะมีการจัดหมฺรับ ( อ่านว่า หมับ หมายถึงสำรับ ) ในหมฺรับจะมีอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง พร้อมขนม ๕ อย่างที่ถือว่าจะขาดไม่ได้คือ ขนมพอง คือหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่อยลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์ และ ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย สำรับดังกล่าวนี้ คนนครฯ มักตกแต่งเป็นรูปแบบต่างๆตามที่เห็นว่าสวยงาม แต่ต้องมียอดสูงแหลมไว้เสมอ การถวายหมฺรับหรือสำรับแด่พระสงฆ์ มักใช้วิธีจับสลากที่เรียกว่า “ สลากภัต ” นั่นเอง เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะมีพิธียกหมฺรับตายาย คือ การนำอาหารไปไว้ตามใต้ต้นไม้หรือกำแพงวัดสำหรับผีไม่มีญาติ เมื่อพระสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลเสร็จ เด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็จะวิ่งกรูไปแย่งชิงอาหารในหมฺรับที่วางไว้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า “ ชิงเปรต ” ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน

อนึ่ง ขนมที่นิยมทำกันในช่วงนี้ นอกจากกระยาสารทที่มักทำเฉพาะเทศกาลสารทแล้ว ก็ยังมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งแม้จะเรียกต่างกัน แต่ปัจจุบันจะหมายรวมๆกันไป ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อเริ่มแรกข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส และข้าวทิพย์นั้นมีที่มาและกรรมวิธีทำที่ต่างกัน กล่าวคือ

ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่ามหาการ น้องชื่อจุลการ มีไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด

ส่วน ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไป แก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

สำหรับ ข้าวทิพย์ จะหมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด ( หากทำแบบโบราณ ) แต่โดยหลักๆก็มี ๙ อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “ สุริยกานต์ ” เป็นต้น

จากพิธีกรรมในการปรุงที่มีความพิเศษ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าข้าวมธุปายาสหรือที่เรียกว่าข้าวทิพย์หรือข้าวยาคูนี้ เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้กินพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดี และเป็นมงคลแก่ชีวิตนี้เอง ข้าวนี้จึงมีชื่ออื่นๆเรียกอีกว่า เข้า ( ข้าว ) พระเจ้าหลวงบ้าง เข้า ( ข้าว ) บ่ทุกข์บ่ยากบ้าง เพราะถือว่ากินแล้วทำให้หายจากความทุกข์ยากลำบากต่างๆได้ ข้อสำคัญทำให้มีการ กวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีในเทศกาลสำคัญ ๆ อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการ งานพิธีพุทธาภิเษก เป็นต้น ซึ่งภาคใต้สมัยก่อนยังนิยมทำในงานบวชนาค และช่วงวันขึ้น ๑๓ - ๑๔ ค่ำเดือน ๓ ต่อเนื่องกับวันมาฆบูชาด้วยแต่มักจะเรียกกันว่า ข้าวยาคูมากกว่าข้าวมธุปายาส

กล่าวโดยสรุป วันสารทไทย ก็คือ ประเพณีทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณไปด้วย โดยขนมที่นิยมใช้ทำบุญในช่วงนี้ คือ กระยาสารท ข้าวยาคู หรือข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส นั่นเอง

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสารทไทย?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:13
วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
วันอาสาฬหบูชา
       วันอาสาฬหบูชา หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน อาสาฬหะ คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (ประมาณเดือนกรกฎาคม
หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังในปีที่มีอธิกมาส (เดือน ๘ มี ๒ เดือน) ซึ่งมีการบูชาเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นวันสำคัญ
ในพระพุทธศาสนา ตรงกับวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นเทศนากัณฑ์แรก

ความสำคัญ
วันอาสาฬหาบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) มีเหตุการณ์ สำคัญเกิดขึ้น สรุปได้ ๔ ประการ คือ
๑ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
๒ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและฤาษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขอบวช
๓ เป็นวันแรกที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลก คือ ฤาษีโกณฑัญญะ ได้บวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔ เป็นวันแรกที่มีพระรัตนะตรัยครบบริบูรณ์
วันเข้าพรรษา
วัน เข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ฤดูฝนมีกำหนด ๓ เดือน ตามพระวินัยบัญญัตและไม่ไปค้างแรมที่อื่น โดยทั่วไป เรียกกันว่า จำพรรษา
ความสำคัญ
ชาวไทย ได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับ จะได้จำพรรษาอยู่ตลอด ๓ เดือน สำหรับเทียนพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้เพื่อนำเทียน เข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัดตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตนนับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะ ได้ประพฤติปฏิบัติตนในวิถีชีวิต ของชาวพุทธให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ขอ เชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ณ วัดใกล้บ้านพร้อมทั้งขอเชิญชวนเข้าร่วมพิธีหล่อเทียนและถวายต้นเทียนพรรษาใน ช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา

กรมการศาสนา ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญความดีและลด ละ เลิก อบายมุข เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา พาครอบครัวเข้าวัดร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
- ทำบุญตักบาตร
- ไปวัดปฏิบัติธรรม
- สมาทานศีล รักษาศีล
- ฟังเทศน สนทนาธรรม
- ทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา
- ถวายภัตตาหารเช้า-เพล
- ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน
- บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง
- ประกอบพิธีเวียนเทียน

การเวียนเทียนแนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
การ เวียนเทียนเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา
การเวียนเทียนเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวม เพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้พบเห็นทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น

การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
๑. อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
๒. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
๓. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม
๔. ควรเดินทางมาถึงวัดหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียนก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
๕. เมื่อ เดินทางถึงวัดควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยเพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับ ขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรกจากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธี เวียนเทียน
๖. เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุย หยอกล้อ วิ่งเล่น หรือกระทำภารกิจ


ผลที่ได้รับจากการประกอบพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
พุทธ ศาสนิกชนได้ร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนากับสมาชิกในครอบครัว อย่างอบอุ่น โดยใช้หลักธรรม ทางพระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจให้เกิดความสุขสงบ ร่มเย็น เป็นผลให้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสามัคคีและสันติสุขอย่างยั่งยืน  


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:23
วันคล้ายวันสถาปนา คณะลูกเสือแห่งชาติ
“ วชิราวุธ พระมงกุฎเกล้า เจ้าประชา ก่อกำเนิดลูกเสือมา ข้าฯ เลื่อมใส
พวกเราลูกเสือเชื้อชาติไทย เทิดเกียรติพระองค์ไว้ด้วยภักดี
ลูกเสือรำลึก นึกถึงพระคุณ ปฏิญาณรักกษัตริย์ ชาติ ศาสน์ศรี
มาเถิดลูกเสือ สร้างความดี เพื่อศักดิ์ศรีลูกเสือไทย ดังใจปอง ”
(เพลง “ วชิราวุธรำลึก ” )

คำว่า “ ลูกเสือ ” ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Scout” ใช้เรียกผู้ที่เป็นลูกเสือ ซึ่งมีความหมาย มาจาก S ย่อมาจาก Sincerity แปลว่า ความจริงใจ C ย่อมมาจาก Courtesy แปลว่า ความสุภาพอ่อนโยน O ย่อ มาจาก Obedience แปลว่า การเชื่อฟัง U ย่อมาจาก Unity แปลว่า ความเป็นใจเดียวกัน T ย่อมาจาก Thrity แปลว่า ความประหยัด
การจัดตั้งกองลูกเสือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ให้ข้าราชการพลเรือนเข้ารับการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นทางด้านจิตใจให้เป็นผู้ที่มีความรักชาติ มีมนุษยธรรม และความเสียสละ
ต่อมาเมื่อกิจการเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงแล้ว พระองค์มีพระราชดำริว่า บุตรของเสือป่าก็ควรจะได้รับการฝึกอบรม ให้เป็นพลเมืองดีตั้งแต่เยาว์วัย ดังนั้นจึงมีพระบรมราชโองการ ณ วันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง นับเป็นประเทศที่ ๓ ของโลก รองจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นนานาชาติในยุโรปก็จัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ทำให้ลูกเสือกลายเป็นองค์กรสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก ด้วยการใช้กฎ ๑๐ ประการของลูกเสือเป็นสื่อผูกมิตรไมตรี ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนาใดทั้งสิ้น โดยถือว่าลูกเสือทั่วโลกล้วนเป็นพี่น้องกัน
กฎ ๑๐ ข้อของลูกเสือ
ข้อ ๑ ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
ข้อ ๒ ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
ข้อ ๓ ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
ข้อ ๔ ลูกเสือเป็นมิตรของทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
ข้อ ๕ ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
ข้อ ๖ ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
ข้อ ๗ ลูกเสือต้องเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
ข้อ ๘ ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
ข้อ ๙ ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
ข้อ ๑๐ ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:23
เมื่อมีการตั้งกองลูกเสือกองแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ วชิราวุธวิทยาลัย) ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นกองลูกเสือในพระองค์เรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑ หรือ กองลูกเสือหลวง ได้ทำพิธีเข้าประจำกองเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๔ โดยพระราชทานคติพจน์ ให้แก่คณะลูกเสือว่า “ เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ” ผู้ที่เป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ นาย ชัพพ์ บุญนาค

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ คณะลูกเสือไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลกเป็นกลุ่มแรก มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม ๓๑ ประเทศ และถือว่าเป็นสมาชิกผู้ริเริ่มจัดตั้งคณะลูกเสือโลก ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ส่งผู้แทนไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ ๒ ณ ประเทศเดนมาร์ก โดยมีพระยาภะรตราชา เป็นหัวหน้าคณะ และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้กิจกรรมลูกเสือไทย เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้มีการขยายตัวทั่วราชอาณาจักร พระองค์ทรงวางรากฐานการลูกเสือไว้อย่างดี เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดใดก็โปรดเกล้าฯให้ลูกเสือจังหวัดนั้น ๆ เข้าพิธีประจำกองและพระราชทานธงประจำกองด้วย และพระองค์จะร่วมฝึกเดินทางไกลรวมทั้งทำการซ้อมรบร่วมกับลูกเสือ – เสือป่าอยู่เสมอ โดยมีลูกเสือและเสือป่าในจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วย จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต การซ้อมรบจึงได้เลิก ปัจจุบันลูกเสือได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน อาทิ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้พระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง “ หัวใจนักรบ ” เพื่อส่งเสริมกิจการลูกเสือ และได้ทรงแต่งบทประพันธ์ซึ่งคณะลูกเสือแห่งชาติได้นำมาเป็นบทเพลงหลายเพลง เช่น เพลงสยามมานุสติ บทเพลงรักชาติบ้านเมือง และเพลงไทยรวมกำลังตั้งมั่น เป็นต้น นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริ จัดตั้งกองลูกเสือหญิง ที่เรียกว่า “ เนตรนารี ” และจะจัดให้มีงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ แต่งานทั้งสองอย่างยังไม่ทันเสร็จสิ้น พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นครั้งแรก ในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ จากนั้นจึงได้จัดให้มีการอบรมลูกเสืออีกหลายรุ่นกระทั่งถึงปีพ.ศ.๒๔๗๕ เป็นปีสุดท้าย

ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๘ – ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นช่วงก่อนพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนถึง ต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกี่ยวกับกิจการลูกเสือมากมาย เช่น ได้มีการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีกองลูกเสืออยู่ในสังกัดกรมพลศึกษา มีการประกาศใช้ตรา ประจำคณะลูกเสือ และกฎลูกเสือ ๑๐ ข้อ มีการเปิดอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ซึ่งเรียกในทางราชการว่า การฝึกอบรม วิชาพลศึกษา (ว่าด้วยลูกเสือ) ประจำปีพ.ศ.๒๔๗๘ ใช้เวลาอบรม ๑ เดือน มีการประกาศตั้งกองลูกเสือสมุทรเสนา ในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ ได้มีการประกาศใช้หลักสูตรลูกเสือเสนา และลูกเสือสมุทรเสนา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ กำหนดลักษณะธงประจำกองของคณะลูกเสือแห่งชาติ และลูกเสือสมุทรเสนา และในปี พ.ศ.๒๔๘๒ มีประกาศใช้ พระราชบัญญัติลูกเสือ ให้ตั้งสภากรรมการกลางลูกเสือแห่งชาติ จังหวัดลูกเสือ อำเภอลูกเสือ และแบ่งลูกเสือออกเป็น ๒ เหล่า คือ ลูกเสือเสนา และลูกเสือสมุทรเสนา

ปลายรัชกาลที่ ๘ ประเทศอยู่ในระหว่างสงคราม (ช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๒ – ๒๔๘๙) การลูกเสือค่อนข้างซบเซา อันเนื่องมาจากสงคราม ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยฝึกการใช้อาวุธแบบทหาร ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นให้การสนับสนุน ต่อมาในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ กิจการลูกเสือเริ่มกลับมาเจริญก้าวหน้าขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๖ แล้วตราพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๔๙๐ ขึ้นแทน

ใน ปีพ.ศ. ๒๔๙๖ ได้ก่อสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ ขึ้นที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นค่ายลูกเสือที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน และในปีพ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีการเปิดอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง ชั้นความรู้เบื้องต้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามหลักสูตรกิลเวลล์ปาร์ค และได้มีการจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกขึ้นเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ในปีพ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรองชั้นวูดแบดจ์ครั้งแรก ณ ตำหนักอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี

กิจการลูกเสือได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนต่อมาได้มีการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ที่บ้านเหล่ากอหก ตำบลแสงพา กิ่งอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย และได้รับความสำเร็จอย่างสูง ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๕

ในสมัยเริ่มแรกของกิจการลูกเสือในประเทศไทย กิจกรรมต่าง ๆ ของลูกเสือที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการได้เลื่องลือไปยังนานาชาติว่า “ พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง ” ถึงกับกองลูกเสือที่ ๘ ของประเทศอังกฤษได้มีหนังสือขอพระราชทาน นามกองลูกเสือนี้ว่า “ กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ” ( The King of Siam Own Boy Scout Group ) พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ ลูกเสือกองนี้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเป็นสัญลักษณ์

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงทำนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ทั้ง ในด้านการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม และการศาล ด้วยพระปรีชาสามารถของ พระองค์ ประชาชนจึงพร้อมใจถวายพระราชสามัญญานามว่า “ พระมหาธีรราชเจ้า ” เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ มีพระชนมายุ ๔๖ พรรษา คณะลูกเสือแห่งชาติได้ร่วมกับ คณะลูกเสือทั่วราชอาณาจักร สร้างพระบรมรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานไว้ ณ หน้าค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นพระราชานุสรณ์ และได้กำหนดให้ วันที่ ๑ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “ วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ” หรือ “ วันลูกเสือ ”

คำปฏิญาณของลูกเสือ

“ ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ

ข้อ ๒ ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ ๓ ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ ”

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันคล้ายวันสถาปนา-คณะลูกเสือแห่งชาติ?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:30
วันสุนทรภู่


วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร(สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลองที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก

ความเป็นมา
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุป คือ

๑. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฎแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
๒. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ในการนี้รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก

ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่

ประวัติ
สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตามสันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวง อยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด บิดาออกไปบวชที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิมส่วนมารดากลับเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระธิดาในกรมฯ นั้น

ในปฐมวัยสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลังและได้อาศัยอยู่กับมารดา สุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอน นิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว ๒๐ ปี ในระยะนี้ได้ลอบรักกับหญิงสาวชาววังชื่อ "จันทร์" จึงต้องเวรจำทั้งชายหญิง เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตจึงพ้นโทษ ต่อมาจึงได้แม่จันทร์เป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันไม่นานก็เกิดระหองระแหงคงเป็นเพราะสุนทรภู่เมาสุราอยู่เป็นนิตย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารักราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด ระยะนี้สุนทรภู่ได้หญิงชาวบางกอกน้อยที่ชื่อ นิ่ม เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษเพราะความสามารถในทางกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่น ๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหารต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวร สิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ ๑๐ พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง ๒ พรรษาก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้อุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และรับราชการต่อมาได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี

ผลงาน
หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฎเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบัน คือ
๑. ประเภทนิราศ
นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง) นิราศอิเหนา นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร
๒. ประเภทนิทาน
เรื่องโคบุตร เรื่องพระอภัยมณี เรื่องพระไชยสุริยา เรื่องลักษณวงศ์ เรื่องสิงหไกรภพ
๓. ประเภทสุภาษิต
สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท สุภาษิตสอนหญิง
๔. ประเภทบทละคร
เรื่องอภัยณุราช
๕. ประเภทบทเสภา
เรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องพระราชพงศาวดาร
๖. ประเภทบทเห่กล่อม
เห่จับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilovethaiculture/index.php/2013-07-01-03-11-16/2013-08-07-06-43-42/item/วันสุนทรภู่?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:32
วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย คือ การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วยบุคคลสองกลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ และกลุ่มนายทหารในประเทศไทย เนื่องจากบุคคลทั้งสองกลุ่มมีพื้นฐานการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน จากการได้ไปศึกษาวิชาชีพจากประเทศตะวันตก ทำให้ใกล้ชิดกับการปกครองของประเทศที่ตนไปศึกษา ซึ่งก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ จึงมีความคิดว่าตนควรจะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
สำหรับความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น มุ่งหวังที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ (ซึ่งจากที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๗) ได้กำหนดไว้ ๓ ข้อด้วยกัน คือ
ประการแรก ได้วางรากฐานประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และปฏิเสธการสถาปนาสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด
ประการที่สอง กำหนดการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการยึดอำนาจ เพื่อเปลี่ยนจาก สมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบบที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การจลาจลนองเลือด ให้งดเว้นการทำทารุณใดๆ ทั้งสิ้น
ประการที่สาม ให้ตั้งอยู่ในสัจจะ เสียสละเพื่อประเทศชาติ เว้นการหาประโยชน์สร้างตนเองโดยเด็ดขาด
จากนั้นคณะราษฎรยังได้ประกาศนโยบายการปกครองที่จะพึงกระทำ คือ จะต้องจัดวางโครงการโดยอาศัยหลักวิชาการ ซึ่งหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้จะมีอยู่ว่า
๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังที่กล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรนั้น สามารถกระทำได้สำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อและความเสียหายแก่บ้านเมืองเกิดขึ้น และด้วยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว พระองค์จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
นับว่าเป็นเวลากว่า ๗๘ ปีแล้ว ที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ ให้แก่ประชาชนชาวไทยได้มีสิทธิปกครองตนเอง เนื่องในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยตระหนักในหน้าที่ของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการรักษาสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่อนุชนรุ่นหลังให้เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความมั่นคงต่อไป


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:37
วันพืชมงคล
วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ
พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี ๒ พิธี รวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลนั้นจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเองเป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนสมัยกรุงสุโขทัย แต่จะมอบอาญาสิทธิให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์และจะทรงจำศีลเงียบ ๓ วัน ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
  สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์คู่กันกับการยืนชิงช้าและมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นแต่เมื่อมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร สถานที่ประกอบพิธีในตอนแรกๆ จึงไม่ตายตัว แล้วแต่จะทรงกำหนดให้ เช่นในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ อยู่ แต่ใคร่จะได้ทอดพระเนตรพิธีแรกนาขวัญ จึงต้องย้ายไปทำกันที่ในทุ่งหลังวัดอรุณฯ นั่นเอง พอถึงรัชกาลที่ ๓ ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ในรัชกาลที่ ๔ เคยย้ายไปทำกันที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี เป็นเพราะในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ต่อมาในคราวหลังๆ นี้ ได้ย้ายไปทำกันที่ "ทุ่งส้มป่อย"เกือบเป็นประจำ ( ทุ่งส้มป่อย : บริเวณทุ่งกว้างริมถนนซังฮี้ หรือถนนราชวิถีในปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังดุสิตและวังพญาไท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อไว้เป็นเนื้อที่ ๓๙๕ ไร่ แล้วโปรดให้จัดสร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่งโดยใช้เงินพระคลังข้างที่ พร้อมทั้งนำชื่อพระตำหนักเดิมจากวังปารุสกวันมาพระราชทานเป็นชื่อพระตำหนักใหม่พร้อมเติมสร้อย รโหฐาน ลงไป รวมเป็น "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" )
           ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่ง ว่า " การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมั่นในการที่จะทำนาเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตรายคือ น้ำฝน น้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆจะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิและมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นสวัสดิมงคลซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นทรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด"
ดังนั้นจึงพอจะสรุปความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีพืชมงคลฯ นี้ได้ว่าพิธีแรกนามุ่งหมายที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาแต่ช้านานสืบมาจนปัจจุบันยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ส่วนพิธีกรรมนอกเหนือจากการทำให้เป็นตัวอย่างตามที่ทรงจำแนกไว้ ๓ อย่าง ๒ อย่างแรกที่ว่า "อาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง" นั้น ทรงหมายถึง พิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ที่กระทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ว่า"บูชาเซ่นทรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง" นั้น ทรงหมายถึงพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่นๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามเหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วก็ว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขปัจจุบันทรงมีพระราชกระแสให้มีการปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด
เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้น พระยาแรกนาได้แก่อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตำแหน่ง ส่วนเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการพลเรือนหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับชั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชน ในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ หรือบุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณชาติ ที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆรวม ๔๐ อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนี่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้




โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:37
อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัยนี้เป็นวันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้มีการจัดงานวันเกษตรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

ในสังคมกสิกรรมทุกสังคมมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้าเกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารและเทพเจ้าเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดจนธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นหลักปฏิบัติที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอาหารอุดมสมบูรณ์ เกิดสวัสดิมงคลและความปลอดภัยมั่นคงแก่ชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งที่เกี่ยวข้องเช่นพิธีบูชาเทพธิดาโพสวเทวีอีดีมีสเตอร์ของชาวกรีกโบราณ พิธีไหว้ฟ้าดินของชาวจีน พิธีสู่ขวัญแม่โพสพของชาวอินโดนีเซีย พิธีเชิญขวัญข้าวโพดของชาวอินเดียนแดง เป็นต้น สำหรับคนไทยที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับข้าวมาแต่โบราณ ข้าวเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเลือดเนื้อของคนไทยมาแต่โบราณ การทำนาเพื่อผลิตข้าวนั้นมีขั้นตอนงานหลายขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการปลูกข้าว จะต้องมีการเตรียมปรับดินในนา ถ้าเป็นการปลูกข้าวนาดำต้องมีแปลงตกกล้า ก่อนเริ่มทำแปลงตกกล้าหรือหว่าน ต้องมีการไถดะ ไถแปรหรือมีไถคราดด้วย เมื่อเริ่มหว่านหรือถอนกล้าปักดำไปแล้ว ต้องรอจนข้าวเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้จึงเริ่มเกี่ยวข้าว เมื่อได้ข้าวแล้ว ต้องขนไปลานนวดข้าว มีการนวดข้าว ซึ่งปัจจุบันส่วนมากใช้เครื่องจักร จากนั้นขนข้าวขึ้นยุ้ง หรือมีพ่อค้ามาซื้อถึงที่ จากกระบวนการผลิตข้าวดังกล่าวก่อให้เกิดความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และคติชาวบ้านที่เกี่ยวกับข้าวหลายอย่างในวัฒนธรรมของไทย   

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันพืชมงคล?category_id=351
โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:55
วันสตรีสากล
วันสตรีสากล (International Women’s Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ผู้หญิงจากทั่วโลกที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านจริยธรรม ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง จะได้มาร่วมเฉลิมฉลองถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และในหลายๆ ประเทศยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดประจำปีอีกด้วย
          ความเป็นมาของวันสตรีสากลเริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ใน เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ที่ไม่ต่างอะไรจากทาสนิโกรในเงื้อมมือคนผิวขาว เพราะต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิด ส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก
ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน (Clara Zetkin ) ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมัน ลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชัวโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน
อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วม ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล
อ้างอิง http://www.lib.ru.ac.th/journal/mar/mar08-WomanDay.html


ผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล
คลาร่า เซทกิ้น (CLARA ZETKIN) ค.ศ.1857-1933
คลาร่า เซทกิ้น ได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล เป็นผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล
นักการเมืองหญิงสายมาร์คซิสต์ ชาวเยอรมัน เป็นผู้ริเริ่มวันสตรีสากล ชื่อเดิมชื่อ คลาร่า ไอนส์เนอร์ เกิดที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเมืองไลป์ซิก และพบรักกับเพื่อนนักศึกษาชาวรัสเซียนามว่า ออพซิป เซทกิ้น ต่อมา มีบุตร 2 คน และเป็นหม้ายในปี ค.ศ.1889
ในปี ค.ศ.1884 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic party) ต่อมาพรรคโดนยุบ และคลาร่าได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
ค.ศ.1907 คลาร่าได้กลับสู่เยอรมันดินแดนมาตุภูมิ พร้อมกับการก่อตั้ง กลุ่มนักสังคมนิยมหญิง และได้ริเริ่มในการเสนอให้กําหนดวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีให้เป็นวันสตรีสากล
ค.ศ.1914 ในขณะที่ประเทศเยอรมันกําลังทําสงครามโลกครั้งที่ 1 คลาร่า ได้ร่วมมือกับ โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามกลุ่ม สปาร์ตาซิสต์ ( *กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (spatarcist) เป็นกลุ่มกรรมกรในเยอรมันที่ประท้วงรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ในการทําสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยความคิดที่ว่า ทหารที่ส่งไปรบก็คือ ประชาชน สงครามเป็นการกระทําที่สนองตัณหาของรัฐบาล แต่ประชาชนมีแต่ต้องสูญเสีย)
ค.ศ.1918 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และได้เป็นผู้แทนในสภาไรซ์สตัก (สภาผู้แทนของเยอรมันยุคนั้น)
ค.ศ.1920-1932 สุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของคลาร่าในสภาเยอรมัน คลาร่าได้กล่าวโจมตี อดอฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง และเรียกร้องหาแนวร่วมที่จะช่วยกันต่อต้านพรรคนาซีเยอรมัน ซึ่งกําลังมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองเยอรมัน
ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันได้ ประสบความสําเร็จในการยึดอํานาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ และให้อํานาจทุกอย่างขึ้นอยู่กับท่านฟูเร่อร์ (ผู้นํา) คลาร่าจึงเป็นหนึ่งในนักการเมืองสายความคิดสังคมนิยม ที่ถูกกวาดล้าง จนต้อง
ลี้ภัยการเมืองไปใช้ชีวิตที่รัสเซีย และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนี้

องค์กรในสหประชาชาติที่ทําหน้าที่พิทักษ์สิทธิสตรี
(1) คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (UNCSW) มีหน้าที่กําหนดแนวทางการยกระดับสถานภาพสตรี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และด้านการศึกษา
(2) คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) มีหน้าที่ตรวจสอบว่าประเทศภาคีอนุสัญญาฯปฏิบัติตามข้อกําหนดของอนุสัญญาฯ หรือไม่
- แผนกเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ทําหน้าที่เป็นสํานักงานเลขานุการ ดําเนินการวิจัยและทํางานสนับสนุนองค์กรทั้งสองข้างต้น
- กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ทําหน้าที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการผสานสตรีในกระบวนการพัฒนา ด้วยวิธีการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมรายได้ขนาดย่อม
- สถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าของสตรี(INSTRAW) เป็นแหล่งให้เงินทุนอุดหนุน และมีหน้าที่ทําวิจัยเพื่อยกระดับวิธีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนา

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสตรีสากล?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:55
วันนักประดิษฐ์
เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา และได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้กังหันน้ำชัยพัฒนายังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์เด่นจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
ประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีสภาพเสื่อมลงเรื่อย ๆ รวมถึงน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์เครื่องกลสำหรับบำบัดน้ำเสียขึ้นหลายชิ้น เช่น ชัยพัฒนาซุปเปอร์ฟองแอร์ เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา และชัยพัฒนาไฮโดรเป็นต้น แต่ชิ้นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด อีกทั้งเป็นชิ้นแรกที่ทรงได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาได้แก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบหมุนช้า เป็นแบบทุ่นลอย มีใบพัดขับเคลื่อนน้ำหมุนรอบเป็นวงกลม สำหรับขับเคลื่อนน้ำ และวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายเป็นฝอยเพื่อให้น้ำได้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง เป็นผลให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายผสมกับน้ำได้เร็วและในช่วงที่น้ำกระจายขึ้นมานั้นจะทำให้เกิดฟองอากาศจมลงไป เป็นการถ่ายเทอากาศ ได้อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเติมอากาศลงในน้ำและทำให้เกิดการหมุนเวียนมากขึ้น จากการทดสอบพบว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาสามารถถ่ายเทออกซิเจนได้ถึง 0.9 กิโลกรัมของออกซิเจนต่อแรงม้าต่อชั่วโมง
        ด้วยพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ นอกจากนี้การที่ทางรัฐบาลได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดความร่วมมือกันในวงการนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย และนักประดิษฐ์มากขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประดิษฐ์สิ่งของ เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาชาติในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
        งานวันนักประดิษฐ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ณ ศูนย์การค้าเวิลเทรดเซ็นเตอร์ โดยความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และได้จัดต่อมาเป็นประจำทุกปี
กิจกรรมวันนักประดิษฐ์
          1. จัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานการประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. จัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันนักประดิษฐ์?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 16:59
วันสหกรณ์แห่งชาติ
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีดินฟ้าอากาศเหมาะแก่การเกษตร อาชีพส่วนใหญ่ของพลเมืองคือการประกอบการเกษตรสาขาต่าง ๆ การผลิตในสมัยก่อน ๆ ผู้ผลิตคนหนึ่ง ๆ ผลิตเพียงแต่เลี้ยงครอบครัว มิได้มุ่งหวังเพื่อขาย ส่วนสินค้าที่ผลิตไม่ได้ก็เอาสินค้าที่ผลิตได้ไปแลกเปลี่ยน ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น การพาญิชย์ที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางก็เจริญขึ้น การเอาของมาแลกกันก็น้อยลง ในขณะเดี๋ยวกันประชากรก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นความต้องการสินค้าอุปโภคของประชากรจึงปริมาณสูงขึ้นด้วย
           ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตข้าวพอเลี้ยงครอบครัวเท่านั้นไม่ได้ ต้องผลิตให้มากขึ้นเพื่อขายเอาเงินเพื่อซื้อสินค้า เมื่อมีการผลิตข้าวมากขึ้นก็ต้องใช้ปัจจัยทุนในการผลิตมากขึ้นด้วย ถ้าผู้ผลิตรายใดไม่มีปัจัยทุน ก็ต้องกู้ยืมจากธนบดี ในอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อผลิตข้าวได้แล้วก็นำไปขายเพื่อชำระหนี้ การชำระหนี้ดังกล่าวจะดำเนินไปด้วยดีก็ต่อเมื่อมีการผลิตข้าวได้ผลดี แต่ระบบการผลิตข้าวในสมัยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศทั้งนั้น กล่าวคือถ้าปีใดฝนตกตามฤดูกาล และมีปริมาณน้ำฝนพอเหมาะแก่ความต้องการ การผลิตข้าวก็ได้ผลดี แต่ถ้าปีใดสภาพดินฟ้าอากาศไม่ดี ผลผลิตที่ได้จะลดน้อยลง มีผลทำให้การบริโภคไม่เพียงพอ และไม่มีข้าวสำหรับชำระหนี้ด้วย และต้องมีการจำนองที่นาและทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้ด้วย ในที่สุดก็ไม่มีที่ดินในการทำมาหากินเป็นของตนเอง
           สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้เป็นมูลเหตุแห่งความดำริของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยครั้งแรกมีผู้ดำริที่จะจัดตั้งธนาคารเกษตรขึ้นที่ส่วนกลางและมีสาขาตามภูมิภาค เพื่อให้เครดิตแก่เกษตรกรโดยตรง แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก็พบปัญหาการชำระหนี้ไม่ได้ตามสัญญา การตั้งธนาคารเกษตรเลยไม่ประสบความสำเร็จ
          จากนั้นพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาท เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุลเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำริที่จะนำสหกรณ์มาใช้ การสหกรณ์จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงได้ทรงมอบให้ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ซึ่งพระราชวรวงศ์ เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้เริ่มชักนำสหกรณ์เข้ามาสู่ประเทศไทย
          การเริ่มจัดตั้งสหกรณ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงศึกษาพิจารณาประเภทสหกรณ์ซึ่งมีอยู่ในต่างประเทศ เพื่อเลือกสรรนำมาใช้ในประเทศไทย ในที่สุดได้เห็นว่าสหกรณ์หาทุน (สหกรณ์เครดิตแบบไรพ์ไฟเซน) เหมาะที่สุดสำหรับชนบทไทย

            ระยะแรก การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้นในปี พ.ศ. 2459 การจัดตั้งสหกรณ์ในระยะแรกจึงดำเนินไปอย่างช้า ๆ จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่เริ่มนำสหกรณ์เข้ามาในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ขึ้นมาเพียง 81 สมาคมเท่านั้น ซึ่งจัดตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรีและอยุธยา โดยมีเงินทุนให้กู้ยืมเพียง 300,000 บาทเศษ เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าสหกรณ์เป็นสิ่งที่สามารถจัดทำได้สำเร็จ จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้นและจัดหาทุนมาให้กู้ยืมมากขึ้น หลังจากนั้น 5 ปี ได้มีการขยายสาขาออกไปได้อีก 7 จังหวัด
           เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การสหกรณ์จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพยร์ สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง เมื่อปี พ.ศ. 2495
            ระยะอยู่ตัว หลังจากปี พ.ศ. 2497 อัตราการขยายตัวของสหกรณ์ลดลงเนื่องจาก เป็นระยะที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสหกรณ์มาก่อน จนไม่สามารถจะดูแลให้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันกระทรวงสกหรณ์ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ
           การเปลี่ยนแปลงของสหกรณ์คือมีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีผลทำให้กรมสหกรณ์ทีดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เพียงกรมเดียว ส่วนกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ยังคงอยู่ในฐานะเดิม เพราะงานตรวจสอบบัญชีเป็นงานอิสระ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ขึ้นกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2515

           สหกรณ์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กำหนดสหกรณ์ออกเป็น 6 ประเภท คือ
            1. สหกรณ์ร้านค้า
2. สหกรณ์ประมง
3. สหกรณ์การเกษตร
4. สหกรณ์บริการ
5. สหกรณ์นิคม
6. สหกรณ์ออมทรัพย์

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสหกรณ์แห่งชาติ?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 17:00
วันศิลปินแห่งชาติ
ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๕๒๗ เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนัก งานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา

ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า

อนึ่ง จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นำศิลปินเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติศิลปิน แห่งชาติว่า "ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมาย แสดงอารยะธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของ ท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาผล งานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติโดยส่วนรวมต่อไป"

การจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการ ไว้ ๕ ข้อ ได้แก่
จัดทำทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ
- สรรหาศิลปินเพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ
- จัดตั้งกองทุน (มูลนิธิ) สวัสดิการเพื่อศิลปิน
- สนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน
- อนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ ความสามารถของศิลปิน
โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันศิลปินแห่งชาติ"
คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
๑) เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
๒) เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
๓) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
๔) เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
๕) เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
๖) เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
๗) เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

การจำแนกสาขาศิลปะของโครงการศิลปินแห่งชาติ
๑) สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังต่อไปนี้
ก. จิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียนสีและภาพลายเส้น
ข. ประติมากรรม หมายถึง งานปั้นและแกะสลัก
ค. ภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ โลหะ ฯลฯ
ง. ภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่เสนอด้วยสื่อและกรรมวิธีต่างๆ
จ. สื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธีและเทคนิคต่างๆอย่างอิสระ
๒) สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (Architecture) หมายถึง งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
๓) สาขาวรรณศิลป์ (Literature) หมายถึง บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
๔) สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่
ก. การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น โนห์รา ชาตรี ฯลฯ ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) รำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) ฟ้อน (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) เซิ้ง (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) หุ่น เช่น หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้องหรือบทละครรำ (เพื่อการแสดง)

ข. การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทย และดนตรีสากล
- นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องมือ
- นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับในการแสดงต่างๆ และสามารถแหล่ทำนองต่างๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)
- นักประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ ทั้งทางร้องและทางดนตรี
- ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น
- ผู้ผลิตเครื่องดนตรี

ค. การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ

ลักษณะและความหมายเข็มศิลปินแห่งชาติ
ลักษณะของเข็ม

เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่องอ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งขอบเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคทาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์เชื่อมประสานระหว่างกัน

ความหมาย
แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในสาขาทัศนศิลป์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็ม เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันศิลปินแห่งชาติ?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 17:01
วันตรุษจีน
ตำนานวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า "ตรุษจีน"
การไหว้เจ้า
การไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ
· ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย
· ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
· ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์
· ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย”
· ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”
ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว บางบ้านอาจมีวันไหว้พิเศษกับเจ้าบางองค์ที่นับถือศรัทธา คือ
· ไหว้เทพยดาฟ้าดิน เช่น การไหว้วันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่า “ทีกงแซ” หรือ “ทีตี่แซ” ก็ได้ ตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ของจีน
· ไหว้อาเนี้ยแซ คือ ไหว้วันเกิดเจ้าแม่กวนอิม ปีหนึ่งมี 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 เดือน 2, วันที่ 19 เดือน 6 และวันที่ 19 เดือน 9
· ไหว้แป๊ะกงแซ ตรงกับวันที่ 14 เดือน 3
· ไหว้เทพยดาผืนดิน คือ ไหว้โท้วตี่ซิ้ง ตรงกับวันที่ 29 เดือน 3
· ไหว้อาพั้ว “อาพั้ว” คือ พ่อซื้อแม่ซื้อผู้คุ้มครองเด็ก วันเกิดอาพั้ว หรือ “อาพั้วแซ” ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
· ไหว้เจ้าเตา ไหว้วันที่ 24 เดือน 12 เรียกว่า “ไหว้เจ๊าซิ้ง”
การไหว้เจ้าพิเศษนี้ แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละบ้านและแล้วแต่ความจำเป็น เช่น ถ้าที่บ้านไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องไปไหว้อาพั้ว หรือถ้าที่บ้านไม่ได้ทำนาทำไร่ก็ไม่มีที่ และไม่มีความจำเป็นต้องไหว้โท้วตี่วิ้ง หรือเทพยดาผืนดิน
เมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด
การจัดของไหว้
· ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพงและหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”
· ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้
ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว
· ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี
· องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม
· สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
· กล้วย มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล

ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ถั่วดำ และเชื้อแป้ง (ยีสต์) โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมยให้การไหว้เจ้านี้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง
แต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้าน ต้องใช้ข้าวสารหรือทราย มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อถูกความชื้น เช่น ฝนหรือน้ำค้าง จะทำให้แข็งตัวแล้วปักธูปไม่ลง
เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการปิดท้ายรายการ                    

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันตรุษจีน?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 17:04
วันขึ้นปีใหม่ และการนับวันเดือนปีทางจันทรคติ
วันที่ ๑ มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับแบบสากล ที่เหมือนกันทุกประเทศในปัจจุบัน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ปี” ว่าหมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว ๓๖๕ วัน : เวลา ๑๒ เดือนตามสุริยคติ
ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้บอกถึงความเป็นมาของวันปีใหม่สรุปได้ว่า ครั้งโบราณการนับวันขึ้นปีใหม่ของแต่ละชาติ จะกำหนดขึ้นตามความนิยมและความคิดเห็นของชนชาตินั้นๆ มิได้เป็นวันเดียวกันเช่นปัจจุบัน ในส่วนของไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น ๔ ระยะคือ เริ่มแรกตามจารีตของไทยแต่โบราณได้ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เหมือนหลายๆชาติที่ถือว่าฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ด้วยว่าคนสมัยก่อนเห็นว่าฤดูหนาว เป็นช่วงผ่านพ้นจากฤดูฝนอันมืดครึ้ม สว่างเหมือนเวลาเช้า ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงที่สว่างเหมือนเวลากลางวัน และฤดูฝนเป็นเวลามืดหม่นคล้ายกลางคืน เขาจึงนับฤดูเหมันต์หรือซึ่งมักตรงกับเดือนอ้ายที่สว่างเหมือนเวลาเช้าเป็นต้นปี นับช่วงฤดูร้อนเป็นกลางปีและฤดูฝนเป็นปลายปี ต่อมาในระยะที่สอง เราได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ คือราวช่วงสงกรานต์ อันเป็นการเปลี่ยนจารีตไปตามคติพราหมณ์ที่นับวันตามจันทรคติ โดยใช้ปีนักษัตรและการเปลี่ยนจุลศักราชเป็นเกณฑ์ ระยะที่สาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เราก็ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายนอันเป็นนับวันทางสุริยคติ ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๒ ระยะที่สี่ คือในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม คือวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งมีเหตุผลว่าวันดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยการคำนวณด้วยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และเป็นที่นิยมใช้กันมากว่าสองพันปี อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา หรือการเมืองของชาติใด แต่สอดคล้องกับจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณที่ใช้ฤดูหนาวเป็นต้นปี ดังนั้น เราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา (ปีพ.ศ. ๒๔๘๓ เราจึงมีแค่ ๙ เดือนและปี ๒๔๘๔ มี ๑๒ เดือน จากนั้นปีต่อๆมาก็มีปีละ ๑๒ เดือนตามปรกติ)
อนึ่ง การนับวันเดือนปีแบบโบราณ ที่เรียกว่า “จันทรคติ” (ซึ่งเรียกวันขึ้น /วันแรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ฯลฯ ) นี้อาจารย์สมบัติ จำปาเงินได้กล่าวในหนังสือ”ประทีปความรู้คู่ไทย” ว่าเป็นการนับวันเดือนปีโดยถือการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นหลัก โดยปีที่มี ๓๕๔วันเรียกว่า “ปีจันทรคติปรกติ” แต่ถ้าปีไหนเป็น “ปีอธิกวาร” ก็จะมี ๓๕๕ วัน และถ้าปีไหนเป็น “ปีอธิกมาส” คือมีเดือนแปดสองหน ก็จะมี ๓๘๔ วัน การที่มีอธิกวารวารและอธิกมาส (อธิก อ่านว่า อะทิกกะ แปลว่า เกิน/เพิ่ม และวาร คือ วัน มาสคือเดือน) เพิ่มขึ้นในบางปีนั้น เป็นการชดเชยวันที่ขาดหายไป ด้วยว่าเมื่อเรานับวันตามสุริยคติในเวลาต่อมา (คือการนับวันเดือนปี ตามระยะเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งรอบหนึ่งๆจะใช้เวลา ๓๖๕ วัน ๕ ชม. ๔๙ นาที) ก็จะทำให้ปีสุริยคติและปีทางจันทรคติต่างกันถึงปีละ ๑๐-๑๐ วันเศษ ซึ่งหากไม่มีการชดเชยเพิ่มวันและเดือนทางจันทรคติแล้ว นานไปก็จะทำให้การนับวันเดือนปีคลาดเคลื่อนผิดไป ดังสมัยโรมัน เมื่อจูเลียส ซีซาร์เรืองอำนาจ ปรากฏว่าการนับวันเดือนปีทางจันทรคติได้คลาดไปจากความเป็นจริงถึง ๓ เดือน ฤดูกาลแทนที่จะเป็นฤดูหนาวกลับยังเป็นฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งผิดจากสภาพความเป็นจริง จูเลียส ซีซาร์ จึงให้ยกเลิกการนับตามจันทรคติและหันมาใช้การนับทางสุริยคติแทน โดยมีการคำนวณขยายปีออกไป ให้ระยะเดือนและฤดูตรงกับความเป็นจริง คือให้มี ๓๖๕ กับ ๑/๔ วัน แต่เพื่อความสะดวกแก่การนับ จึงกำหนดใหม่ให้ปีปรกติมี ๓๖๕ วัน ซึ่งขาดไป ๖ ชม.หรือ ๑/๔ วัน พอครบ ๔ ปี ก็เพิ่มอีกวัน เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน ซึ่งปีนั้นจะมี ๓๖๖ วัน ซึ่งการนับวันเดือนเช่นนี้ เป็นการนับตามปฏิทินระบบซีซาร์ที่ประกาศใช้เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๔๙๗ โดยได้กำหนดให้เดือนต่างๆมี ๓๑ และ ๓๐ วันสลับกันไป เว้นแต่เดือนกุมภาพันธ์มี ๒๙ วันแต่ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน จึงเพิ่มเป็น ๓๐ วัน ครั้นสมัยจักรพรรดิออกุสตุสก็ได้มีการปรับปรุงปฏิทินใหม่เรียกว่าแบบยูเลียน กำหนดให้เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันและมีวันเพิ่มอีก ๕ วันเรียกอธิกวาร ลดกุมภาพันธ์เหลือ ๒๘ วัน ปีไหนเป็นปีอธิกสุรทินจึงมี ๒๙ วัน และไปเพิ่มวันในเดือนสิงหาคม จาก ๓๐ วันเป็น ๓๑ วัน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็มีข้อบกพร่องที่ทำให้วันเวลาผิดไปจากความเป็นจริง คือทุก ๑๒๘ ปี วันจะเกินจริงไป ๑ วัน ซึ่งหากปล่อยนานไป วันเวลาก็จะผิดมากขึ้นแน่นอน ดังนั้น ในปีพ.ศ. ๒๑๒๕ สันตะปาปา เกรกอรี่ที่ ๓๓ แห่งโรม ก็ได้ประกาศเลิกใช้ปฏิทินแบบยูเลี่ยน และให้มาใช้แบบเกรกอเรียนแทน โดยกำหนดเพิ่มจากปฏิทินยูเลี่ยนว่าหากปีใดตรงกับปีศตวรรษ เช่น ค.ศ. ๑๗๐๐ ๑๘๐๐ ฯลฯ ห้ามมิให้เป็นปีอธิกสุรทิน ยกเว้นว่าปีนั้นจะหารด้วย ๔๐๐ ลงตัว เช่น ๑๖๐๐ ๒๐๐๐ ๒๔๐๐ ฯลฯ จึงจะให้เป็นปีอธิกสุรทินเหมือนเดิม ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ทำให้วัน เดือนปี แม้จะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าสามพันปี จึงจะผิดไป ๑ วัน ดังนั้น ปฏิทินเกรกอเรียนจึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแม้เราจะใช้ปฏิทินทางสุริยคติ แต่ก็ยังใช้การนับทางจันทรคติควบคู่ไปด้วย
การนับทางจันทรคติที่ถือการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ๑๒ ครั้ง ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีนั้น รอบหนึ่งๆจะใช้เวลา ๒๙ วันครึ่ง ดังนั้นในเวลา ๑ เดือน หากนับเพียง ๒๙ วัน เวลาก็จะขาดไป ๑๒ ชม. แต่หากนับ ๓๐ วันก็จะเกินไป ๑๒ ชม. ดังนั้น เขาจึงนับ ๕๙ วันเป็นสองเดือนโดยให้นับเดือนคี่มี ๒๙ วัน ส่วนเดือนคู่มี ๓๐ วัน แต่ละเดือนจะแบ่งเป็น ๒ ปักษ์ๆละ ๑๕ วันเรียกวันข้างขึ้นและข้างแรม (เดือนคี่นี้บางทีก็เรียกว่า เดือนขาด ได้แก่ เดือน ๑ , ๓,๕, ๗, ๙และ ๑๑ เป็นเดือนที่มีวันข้างขึ้น ๑๕ วัน แต่วันข้างแรมมีเพียง ๑๔ วันคือมีเพียงแรม ๑๔ ค่ำเท่านั้น ส่วนเดือนคู่หรือเดือนเต็มได้แก่ เดือน ๒, ๔, ๖, ๘ ,๑๐ และ ๑๒ คือ มีวันข้างขึ้นและวันข้างแรมอย่างละ ๑๕ วัน เช่น ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๒ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๒ และแรม ๑ ค่ำเดือน ๒ ถึงแรม ๑๕ค่ำเดือน ๒ เป็นต้น ) ซึ่งการนับทางจันทรคตินี้เมื่อนับวันกันจริงๆแล้ว ปรากฏว่าปีจันทรคติจะมีแค่ ๓๕๔ วันน้อยกว่าวันทางสุริยคติถึง ๑๑ วัน ซึ่งโลกเราก็ยังโคจรไม่ครบรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการเพิ่มอธิกมาส คือเพิ่มเดือนแปดอีกเดือน ที่ชาวบ้านเรียกแปดสองหน ในรอบ ๒-๓ปี ส่วนอธิกวารจะเป็นการเพิ่มวันในเดือน ๗ อีก ๑ วันทำให้เดือน ๗ ปีนั้นเป็นเดือนพิเศษ คือมีวันแรม ๑๕ ค่ำด้วย ซึ่งปรกติเดือนคี่จะมีแค่ ๑๔ ค่ำเท่านั้น การเพิ่มดังกล่าวเป็นการคำนวณเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลที่ปรากฏจริงของโลกนั่นเอง ส่วนการนับทางสุริยคติก็คือการนับวัน เวลาตามวิถีโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ จะบอกเป็นวัน เดือน และปีศักราช เช่น วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือค.ศ. ๒๐๐๕ เป็นต้น
โดยทั่วไป มวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ต่างก็มีความเชื่อที่สอดคล้องกันในเรื่องการขึ้นปีใหม่ว่าเป็นช่วงที่ดีแห่งการเริ่มต้น และการรับสิ่งใหม่ที่มงคลแก่ชีวิตเข้ามา จึงมักมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะคนไทยเรา นอกจากวันที่ ๑ มกราคมอันเป็นปีใหม่แบบสากลแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เรายังถือเป็นวันปีใหม่แบบไทยอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เราได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดีๆถึงปีละ ๒ ครั้ง จึงควรที่คนไทยเราทุกคนจะได้ใช้ฤกษ์ดังกล่าวตั้งจิตอธิษฐานที่จะรักตัวเราเองให้มากขึ้น ด้วยการบำรุงรักษาตัวเราให้ดีทั้งกาย วาจาและใจ และเผื่อแผ่ความรักนี้ไปยังเพื่อนร่วมโลกอื่นๆ เพื่อโลกเราใบนี้จะได้เป็นโลกที่น่าอยู่ต่อไป

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันขึ้นปีใหม่-และการนับวันเดือนปีทางจันทรคติ?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 17:05
วันอัฎฐมีบูชา
ชาวพุทธทั่วไป ต่างทราบกันดีว่า วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเรียกกันว่า “วันวิสาขบูชา” นั้นเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะในอดีตเมื่อกว่า ๒๕๕๒ ปีล่วงมาแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ ประสูติในคืนเพ็ญกลางเดือน ๖
ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี, ตรัสรู้ในคืนเพ็ญกลางเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี, และปรินิพพานในคืนเพ็ญกลางเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างบำเพ็ญกุศลทุกคืนเพ็ญกลางเดือน ๖ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทั้งสามมาโดยตลอด แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าหลังจากเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วัน มีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร เล่าว่าภายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง ในสวนของเหล่ามัลลกษัตริย์แล้ว พวกมัลลกษัตริย์ก็บูชาพระพุทธสรีระด้วยของหอม ดอกไม้ และดนตรีตลอด ๗ วัน จนวันที่ ๘ ตรงกับ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ พวกเจ้ามัลละจึงสอบถามพระอานนท์ ถึงวิธีปฏิบัติอันสมควรต่อพระสรีระ
พระอานนท์เล่าถึงพระพุทธานุญาตให้จัดการกับพระสรีระดุจเดียวกับที่จัดการพระ บรมศพของพระมหาจักรพรรดิ นั่นคือห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้ ๕๐๐ ชั้น แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด ทางทิศตะวันออกของเมือง
แม้จะพยายามจุดเพลิงเพื่อถวายพระเพลิงอย่างไร เพลิงก็หาได้ติดพระพุทธสรีระไม่ เหล่ามัลลกษัตริย์สอบถามเหตุอัศจรรย์นี้แก่พระอนุรุทธะเถระ ซึ่งได้รับคำตอบว่าเหล่าเทวดาที่ประชุมอยู่ที่นั้นมีประสงค์ให้รอพระมหากัส ปะพร้อมพระสงฆ์จำนวน 500 รูปที่กำลังเดินทางมาให้พร้อมเสียก่อน เทวดาเหล่านั้นล้วนเคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อนทั้งสิ้น

เมื่อพระมหากัสปะซึ่งมีปรกติจาริกอยู่แต่ในป่าเดินทางมาถึง ก็เข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระ คราวนั้นบังเกิดปาฏิหาริย์ พระบาทของพระพุทธสรีระยื่นพ้นผ้าทั้ง ๕๐๐ ชั้นและหีบเหล็กออกมาให้พระมหากัสสปะได้ถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้าย ครั้นแล้วเทวดาก็เนรมิตเพลิงทิพย์ที่ไร้ควัน ไร้เขม่าขึ้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จนเมื่อพระกายไหม้หมดแล้วน้ำทิพย์ก็หลั่งลงมาจากนภากาศดับไฟทิพย์จนหมด พระสรีระก็สูญไป เหลือเพียงผ้า 1 คู่ ที่ใช้หุ้มห่อพระสรีระชั้นในสุดและชั้นนอกสุดกับพระเขี้ยวแก้ว 4 พระรากขวัญ 2 สิ่งทั้ง 7 นี้ ยังคงอยู่ปกติมิได้กระจัดกระจายไป ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่เหลือแตกกระจายออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ประมาณเท่าเมล็ดถั่วแตก
ขนาดกลางประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหักและขนาดเล็กประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด จำนวนทั้งสิ้นถึง 16 ทะนาน เหล่ามัลลกษัตริย์ก็เชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุเข้าไปประดิษฐานในเมือง
บริเวณที่ถวายพระเพลิงพรุทธสรีระนั้น ได้สร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก เรียกว่า มกุฎพันธนเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองโครักขปูร์ รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย
เรื่องราวในวันที่ ๘ หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานลงนี้ เป็นเครื่องเตือนสติชาวพุธได้อย่างดียิ่งว่า แม้แต่พระบรมศาสดาซึ่งทรงบรรลุธรรมขั้นสุด เลิสกว่าผู้ใดในโลกยังดำรงพระองค์อยู่ใต้สภาวะปรกติแห่งโลก นั่นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ควรอย่างยิ่งที่ชาวพุทธจะทำความเข้าใจหลักสัจธรรมข้อนี้ให้ถ่องแท้
ในปัจจุบัน วันอัฎฐมีบูชาหรือการบูชาในวันที่ ๘ นี้ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของไทย อย่างไรก็ตามยังมีหลายภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับวันนี้ โดยจัดให้มีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เป็นกรณีพิเศษ บางสถานที่จัดให้มีการจำลองเหตุการณ์ในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระอีกด้วย โดยเริ่มต้นเป็นครั้งแรกที่พระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์


ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันอัฎฐมีบูชา?category_id=351



โดย: Metha    เวลา: 2013-11-23 17:09
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปราย เรื่อง ปัญหาการใช้ภาษาไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถ และนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทยที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ นอกจากนี้ อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งวันภาษาไทย ก็เพื่อต้องการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้ยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป พร้อมทั้งเผยแพร่ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติและในฐานะภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
เห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย พระองค์ทรงรอบรู้ถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระวิริยะอุตสาหะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ ทำให้วรรณกรรมเรื่องนั้นๆ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักใช้ภาษาไทยกันอย่างผิดเพี้ยน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของคนไทยมาก โดยเฉพาะคนไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศชอบใช้ภาษาฝรั่งคำไทยคำ ทำให้เมื่อสื่อสารออกไปแล้วคนไม่เข้าใจ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องในสังคมอินเตอร์เน็ตที่มักจะใช้คำง่ายๆ และสั้นๆ รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารด้วยจนกลายเป็นค่านิยมไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเด็กไทยก็จะไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของภาษาและอาจทำให้ภาษาไทยวิบัติได้ในอนาคต
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและภาษาไทยถิ่นดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้งดงามยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป ซึ่งได้มีการประกาศผลการคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและภาษาไทยถิ่นดีเด่นไปแล้วเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ดังนี้
ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน ๑๓ คน ได้แก่ พระธรรมโกศาจารย์ (ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร ธมฺมจิตโต), ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร, คุณหญิงคณิตา เลขะกุล, นางชอุ่ม ปัญจพรรค์, นายช่วย พูลเพิ่ม, ศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์มะเนาะ ยูเด็น, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอก เสนีย์ วิลาวรรณ, นายอาจิณ จันทรัมพร
ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน ๑๗ คน ได้แก่ นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, นายธีรภาพ โลหิตกุล, นางสาวนภา หวังในธรรม, นายนิติพงษ์ ห่อนาค, พลตรีประพาศ ศกุนตนาค, นายประภัสสร เสวิกุล, นายปราโมทย์ สัชฌุกร, นายศักดิ์สิริ มีสมสืบ, นายศุ บุญเลี้ยง, นางสินจัย เปล่งพานิช, นาวาอากาศโทสุมาลี วีระวงศ์, นายสัญญา คุณากร, นางอารีย์ นักดนตรีม, นายเอนก นาวิกมูล ชาวต่างประเทศ จำนวน ๒ คน ได้แก่ ศาสนาจารย์ ดร.เอสเธอร์ เวคแมน, นางคริสตี แอนน์ เคนนีย์ บราวน์ฟิลด์
ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน ๙ คน ได้แก่ พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร), ดร.ฉันทัส ทองช่วย, นางสาวนฤมล มั่นวงค์วิโรจน์, นายบุญธรรม เทิดเกียรติชาติ, นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, นายมนัส สุขสาย, นายเมืองดี นนทะธรรม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สนิท บุญฤทธิ์, นายอินตา เลาคำ
รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๙ คน และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะจัดงานมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและภาษาไทยถิ่นดีเด่น ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการและการแสดงของผู้ที่ได้รับเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ การแสดงของศิลปินที่ได้รับรางวัลการประพันธ์คำร้องและการขับร้องเพลงดีเด่น (เพชรในเพลง) และการออกร้านคลินิกหมอภาษา
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักให้คนไทยได้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยและสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรม โทร.๐๒๒๔๗๐๐๒๘ ต่อ ๑๔๑๙
ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... day?category_id=351








ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2