Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ~ หลวงพ่อกัสสปมุนี วัดปิปผลิวนาราม ~ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 18:59
ชื่อกระทู้: ~ หลวงพ่อกัสสปมุนี วัดปิปผลิวนาราม ~
หลวงพ่อกัสสปมุนี

[attach]495[/attach]
วัดปิปผลิวนาราม อ.บ้ายค่าย จ.ระยอง

ประวัติ

ท่านเป็นชาวกรุงเทพฯ ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนฝรั่ง พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว
ทำงานกรมสรรพสามิต จนได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี แต่ท่านไม่ขอรับ
เพราะเริ่มมีดวงตาเห็นธรรมและเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย จนลาออกจากราชการ

ต่อมาท่านได้บวชเพื่อแสวงธรรม เมื่ออายุ 52 ปีในสำนักสมเด็จพระวันรัต วัดโพธิ์ ท่าเตียน

ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ต่อมาสมเด็จพระวันรัตได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระราชสังวราภิมนฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ตลอดชีวิตในสมณเพศของหลวงพ่อ ท่านได้สมาทานธุดงควัตร ๔ ข้อมาตลอด คือ ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ครองจีวรชุดเดียว (จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเก่าหรือชำรุด) เป็นวัตร รับบิณฑบาตเป็นวัตรและอยู่ป่าเป็นวัตร จนกระทั่งท่านมรณภาพครับ

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 19:08
[attach]496[/attach]
ท่านเป็นผู้ฝักใฝ่ในการบำเพ็ญภาวนา
ผลแห่งการเจริญสมาธิภานาอยู่เนืองนิตย์ ทำให้ท่านระลึกอดีตชาติได้
ว่าเป็นท่านจุลกัสสปะ (1 ใน 7 ดาบส สกุลกัสสปะ สมัยพุทธกาล),
เป็นเม่งตี่ฮ่องเต้ กษัตริย์ผู้ริเริ่มนำพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนราว พ.ศ.600
ที่สุด ท่านได้ละสังขารไป เมื่อ วันพฤหัสที่ 11 สิงหาคม 2531

หลวงพ่อกัสสปมุนีเกิดที่กรุงเทพมหานคร มีนามก่อนบวชเป็นพระภิกษุว่า “ประจงวาศ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ประยุทธิ วรวุธิ” นามสกุล “อาภรณ์ศิริ” บิดาของหลวงพ่อคือ “พระยาหิรรัชฏพิบูลย์ (ประวัติ อาภรณ์ศิริ) มารดานาม “นางพาหิรรัชฏพิบูลย์ (เผื่อน อาภรณ์ศิริ)”

หลวงพ่อมีพี่น้องสามคนครับ คนโตชื่อ“ประไพวงศ์” คนเล็กชื่อ “ประสาทศิลป์” ส่วนหลวงพ่อเป็นคนกลาง ในชีวิตของหลวงพ่อก่อนบวชท่านสมรส “นางประชุมศรี อาภรณ์ศิริ” มีบุตรชาย ๒ คนและบุตรี ๒ คน



โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 19:08
เรื่องราวในชีวิตของหลวงพ่อเป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ

ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเป็นอยู่สุขสบายและมีตำแหน่งหน้าที่การงานชั้นสูงแต่กลับละทิ้งอย่างไม่ยี่หระ โดยเดินทางเข้าสู่ถนนชีวิตสายพระพุทธศาสนา การฝึกปฏิบัติธรรมอย่างมุ่งมั่นและมั่นคง ได้สร้างศรัทธาให้กับผู้ที่ได้พบเห็น

นอกจากนี้ในชีวิตของท่านที่น่าแปลกใจคือท่านไม่เคยเข้าศึกษาวิชาอาคมจากสำนักใดๆเลย แต่ก็สามารถเรียกศรัทธาได้จากผู้คนด้วยวัตถุมงคลที่มีความขลังแบบไม่จำกัด และที่สร้างศรัทธาได้แบบคาตาชาวต่างชาติคือ

“การใช้พลังจิตช่วยขบวนรถไฟให้เคลื่อนที่ไปจอดยังสถานีที่มีความชันในประเทศอินเดีย”

ย้อนหลังไปในสมัยที่หลวงพ่อกัสสปมุนีได้เดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย คุณเอื้อ บัวสรวง หนึ่งในผู้ติดตามได้เล่าถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่า...

ในการเดินทางครั้งนั้นมีอุปสรรคเกิดขึ้นกับคณะของเรา ในตอนเช้ามืดวันหนึ่งตู้นอนรถไฟที่เราเช่าไว้สำหรับคณะของเรา ณ สถานีรถไฟแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย ถูกจอดทิ้งไว้อยู่ห่างจากตัวสถานี ๒๐ เส้นและเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข็นมาไว้ที่ใกล้ๆสถานีเพื่อใช้ประกอบกิจส่วนตัว เมื่อไปขอร้องให้เจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟช่วยเข็นก็พบว่าทั้งสถานีมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียงสองคน

หมู่คณะจึงลงมติว่า”ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ด้วยการระดมแรงงานคนหนุ่มและแรงงานพระสงฆ์ที่ร่วมคณะอีก ๕-๖ รูปเพื่อช่วยกันเข็นรถไฟตู้นอนไปไว้ในสถานี แต่เนื่องจากสถานีตั้งอยู่บนเนิน การใช้แรงงานดังกล่าวจึงไม่ประสบความสำเร็จ เข็นเท่าไรก็ไม่ขยับ

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 19:11
คุณเอื้อจึงได้ลองอาราธนาหลวงพ่อกัสสปมุนีด้วยสำเนียงที่เป็นเชิงเล่นว่า

“ช่วยที หลวงพ่อ ช่วยที หลวงพ่อ”

หลวงพ่อท่านตอบว่า

“ก็ลองดูยังได้”

ว่าแล้วหลวงพ่อกัสสปมุนีจึงได้ใช้ไม้เท้ายาวราว ๑.๕๐ เมตรยกชูขึ้นไปในอากาศแล้วก็ส่งหัวไม้เท้ามาที่คุณเอื้อ จากนั้นท่านจึงได้ตั้งท่าเดินนำหน้า คุณเอื้อจึงรีบคว้าไม้เท้าที่ท่านส่งมาทันที คุณเอื้อได้บันทึกถึงเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า

“ทันใดนั้น ผมรู้สึกราวกับถูกไฟฟ้าดูด หรือเหมือนผมไปจับสายไฟฟ้าแบตเตอรี่รถยนต์ แล้วรถไฟก็เคลื่อนตามหลวงพ่อกัสสปมุนีไป ผมยังได้ร้องขอให้พระอาจารย์วิริยังค์ช่วยด้วย ท่านอาจารย์วิริยังค์ตอบว่าไม่ได้ศึกษามาทางนี้”

เหตุการณ์ดังกล่าวจบลงตรงที่รถตู้นอนได้มาจอดที่ชานชาลาสถานีอย่างเรียบร้อย ซึ่งการที่หลวงพ่อกัสสปมุนีสามารถทำให้ตู้นอนรถไฟเคลื่อนที่จากที่ต่ำผ่านเนินสูงได้นั้น หลายความเห็นมีความเชื่อตรงกันว่า

“เป็นผลมาจากอำนาจฌานสมาบัติที่หลวงพ่อได้บำเพ็ญเพียรมา”

และเมื่อมีลูกศิษย์ถามว่าหลวงพ่อสามารถทำได้อย่างไร ท่านตอบว่า     

“ใช้การรวมพลังเข้ามาเป็นหนึ่งและออกเดินนำหน้าทันทีไม่เหลียวหลัง ไม่ใช่ อิทธิวิธี (อภิญญา)หากแต่เป็นการใช้ อาโลกกสิณ (ความว่าง)”

ครับนี่คือตัวอย่างที่แสดงถึงบารมีของหลวงพ่อ อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความศรัทธาขึ้นในหมู่คณะ โดยมีความมหัศจรรย์ของพลังจิตเป็นแรงหนุน ซึ่งผมเชื่อว่าอย่างน้อยมันก็เป็นการบอกให้เพื่อนๆทราบว่า

“ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่จะได้มันมาโดยง่าย”

ในชีวิตของหลวงพ่อกัสสปมุนี ท่านได้อนุโลมให้สร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นอนุสติน้อมนำคนที่ยังต้องการสิ่งยึดมั่นทางจิตใจ

สิ่งที่น่าสังเกตุคือ “ตัวยันต์” ที่ท่านได้นำมาไว้ด้านหลังขององค์พระ

จะว่าไปแล้ว ตัวยันต์ดังกล่าวถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงพ่อเลยครับ พบเห็นที่ไหนไม่ผิดฝาผิดตัวแน่นอน

จากความรู้ส่วนตัวที่ได้สะสมมาพบว่าในรูปแบบของตัวยันต์ดูอย่างไรก็ไม่อาจเข้าใจได้ครับ เมื่อสอบถามจากบรรดาลูกศิษย์จึงทราบว่าตัวยันต์ดังกล่าวหลวงพ่อท่านได้จากนิมิตในขณะที่ท่านนั่งสมาธิ คุณสมบัติทราบเพียงแต่ว่า “ครอบจักรวาล”


โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 19:12
[attach]497[/attach]

พระยันต์นี้ชื่อว่า “พุทธเกษตร”

พุทธะ หมายถึง ผู้รู้

เกษตร เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ที่อยู่ ที่ตั้ง

ชะรอยหรือว่านี่คือ “ปริศนาธรรม” ด้วยเหตุผลที่ว่าจักรวาลนี้ไม่ว่ามันจะกว้างใหญ่แค่ไหน มันก็ยังมีที่ตั้งของมัน แน่นอนครับเมื่อมีที่ตั้ง มันก็ต้องดำรงอยู่ และดับไปในที่สุด เพียงแต่คนที่จะทราบก็คือ “พุทธะ” เท่านั้น

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุทั้งหลายกำลังเดินกันอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงกอบใบไม้ที่มีมากมายเกลื่อนกลาดอยู่ขึ้นมากำมือหนึ่งและทรงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

“ใบไม้ในกำมือนี้มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับใบไม้หมดทั้งป่า”

ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า

“ใบไม้ทั้งป่ามีอยู่มากกว่ากันมากจนมิอาจนำมาเปรียบเทียบได้”

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“เรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องที่จำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอนและนำมาปฏิบัติ อันได้แก่ "เรื่องการดับทุกข์" นั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว”

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:04
ที่มาของวัด  

หลวงพ่อกัสสปมุนี เป็นคนกรุงเทพฯ ท่านบวชเมื่ออายุ ๕๒ ปี เมื่อบวชแล้วท่านได้ไปฝากตัวอยู่กับพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ สมเด็จพระวันรัต (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) อยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) เมื่อบวชได้พรรษาเดียว ท่านได้ออกธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียรภาวนาบนยอดเขาภูกระดึงในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๗ หลวงพ่อออกเดินทางจากที่พัก ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยตั้งใจว่าจะเดินทางเข้าจันทบุรี แล้วเข้าอำเภอไพลิน เลยเข้าเขมร

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๗ นายเชาว์ ชาญกล และนายเยื้อน กับเพื่อนอีกสองคน ได้นิมนต์หลวงพ่อให้ไปพักอยู่ที่ไร่อ้อยของเขาที่ในป่า อำเภอบ้านค่าย เพื่อเป็นศิริมงคล หลวงพ่อได้บันทึกไว้ว่า “ความจริงอาตมาไม่เคยรู้จักอำเภอบ้านค่ายและป่าในท้องถิ่นนี้ และไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าในท้องถิ่นป่านี้เขาปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังกัน เมื่อเขานิมนต์ขอร้องด้วยความศรัทธา ให้ไปพักอยู่ในไร่ของเขาเพื่อเป็นศิริมงคล และเราก็เป็นพระจาริกธุดงค์อยู่แล้ว ก็เห็นเป็นการสมควรที่จะรับคำนิมนต์ของเขา จึงตัดสินใจให้เขาพาเข้าไร่อ้อยในป่าบ้านค่าย โดยปราศจากการลังเล”
ขณะนั้นบริเวณไร่ยังเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยไข้มาเลเรีย เส้นทางทุรกันดาร ชาวบ้านปลูกอ้อยเป็นดงสูงท่วมหัว

หลวงพ่อพักในกุฏิไม้ระกำที่คนงานช่วยกันปลูกให้ชั่วคราว เช้าวันที่ ๔ ของการพักอาศัย หลวงพ่อได้รับนิมนต์ฉันเช้าจากคุณไพโรจน์ ติยะวานิช (เสี่ยไซ) เจ้าของโรงงานน้ำตาลและผู้สร้างโรงเรียนคลองขนุน เสร็จแล้วจะลากลับ แต่คุณไพโรจน์ได้ยั้งเอาไว้และกล่าวว่า
“ผมใคร่ขอความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อบางอย่าง คือ ในป่านี้ไม่มีวัดเลยครับ คนงานจะทำบุญใส่บาตรก็ไม่มีโอกาสจะทำ เอาข้าวของแกงกับออกไปทำที่วัดนอกป่า ข้าวแกงก็พอดีบูดเสีย ขอหลวงพ่อได้ช่วยชี้เอาในป่านี้ที่ใดที่หนึ่ง ผมจะสร้างวัดให้หลวงพ่อได้อยู่บำเพ็ญ หลวงพ่อโปรดมองพิจารณาดู ถ้าชอบใจป่าแห่งใดตรงหน้าออกไปนี่
ชี้เอาเลยครับ ผมจะสร้างให้”
หลวงพ่อชี้เลือกที่ป่าที่เป็นมงคล ลักษณะเหมือนช้างหมอบซึ่งอยู่ข้างหลังบ้านคุณศิริ ทองประจักษ์ นายช่างใหญ่โรงไฟฟ้า

หลวงพ่อพักอยู่ที่ไร่อ้อยของนายเชาว์และนายเยื้อนจนครบ ๗ วัน จึงเดินทางกลับวัดโพธิ์ และหลังจากออกพรรษา ท่านได้เดินทางจาริกไปประเทศอินเดีย
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ หลวงพ่อพำนักที่เมืองฤาษีเกษ ประเทศอินเดีย
เดือนเมษายน ๒๕๐๘ หลวงพ่อได้รับโทรเลขจากคุณไพโรจน์ว่าได้เริ่มดำเนินการแผ้วถางที่เพื่อสร้างวัดแล้ว
กลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๘ หลวงพ่อเดินทางกลับเมืองไทยและเข้าไปที่ป่าโรงงานน้ำตาลบ้านค่าย คุณไพโรจน์ได้สร้างกุฏิมุงจากเล็กๆ ๒ หลัง โรงครัว ๑ หลัง ทำเป็นโรงฉันภัตตาหารไปในตัว ศาลาสวดมนต์กำลังสร้าง
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๐๘ หลวงพ่อได้กราบลาเจ้าประคุณสมเด็จพระอุปัชฌาย์ เข้ามาอยู่ประจำที่บ้านค่าย หลวงพ่อบันทึกไว้ว่า
“กุฏิยังไม่เสร็จดี ประตูยังต้องใช้พิงปิดไว้ ยังไม่ได้ใส่บานพับ เพราะเหตุที่ประตูกุฏิยังไม่เสร็จ ตอนคืนวันหนึ่งจำวัดถึงตี ๒ ได้ยินเสียงลมหายใจฟืดฟาด ผงกศีรษะขึ้นดูก็เห็นหมีตัวเขื่องตัวหนึ่ง กำลังเอาจมูกแหย่มาที่ช่องประตู ครู่หนึ่งก็ลงจากกุฏิไป”

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:05
[attach]498[/attach]
กุฏิ ฉฬภิญญา

ต่อมาคุณไพโรจน์สร้างกุฏิตึกให้หลวงพ่อ ๑ หลัง หลวงพ่อให้ชื่อว่า “ฉฬภิญญา”
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ก่อนถึงเดือนเมษายน หลวงพ่อได้คำนึงถึงการทดแทนการอุปการคุณของคุณไพโรจน์และคุณนายประไพ ติยะวานิช จึงเข้า “สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ” (แปลว่าความดับเวทนาและความจำ ผู้ที่บรรลุมรรคผลตั้งแต่ชั้นอนาคามีเป็นต้นไปจึงสามารถเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติได้) ปิดกุฏิในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๑๐ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน  


ไฟไหม้ศาลาสวดมนต์

พ.ศ. ๒๕๑๑ ก่อนเข้าพรรษา คณะเจ้าหน้าที่ของโรงน้ำตาล นำเทียนพรรษาต้นใหญ่ขนาดกลางมาถวายเนื่องในวันเข้าพรรษา โยมสำเภาเข้าใจว่าเทียนพรรษาต้องจุดทิ้งไว้ทั้งกลางวันกลางคืน หลวงพ่อก็ไม่ทราบเพราะกำลังอยู่ในระหว่างเข้าเจโตสมาธิ เริ่มตั้งแต่คืนวันเข้าพรรษาเป็นเวลา ๕ คืน ๕ วัน ในวันที่ ๔ ของการเข้าเจโตสมาธิ เทียนพรรษาล้ม ทำให้ไฟไหม้ศาลาสวดมนต์ โต๊ะหมู่บูชาและพระพุทธรูปสามองค์ไฟไหม้หมด พระประธานคงเหลือบางส่วน พวกศิษย์ชาวบ้านให้ฉายาว่า “หลวงพ่อเฉย” หลวงพ่อนำไปไว้ที่โคนต้นโพธิ์ พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งไม่เป็นอะไรเลย คงครบบริบูรณ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในหอสวดมนต์ (องค์ดำ)

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:05
สร้างศาลาสวดมนต์หลังใหม่

หลวงพ่อตั้งปณิธานไว้แน่วแน่ว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่สุดท้ายแห่งชีวิตสมณะ และจะทิ้งร่างไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ จึงตั้งใจจะสร้างศาลาสวดมนต์ใหม่ หลังจากออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๑๑ แต่ไม่รู้จะไปหาปัจจัยจากที่ไหนมาก่อสร้าง ในคืนวันที่ ๔ หลังจากศาลาถูกไฟไหม้ หลวงพ่อกำลังนั่งเข้าสมาธิภายในกุฏิ จนถึงเกือบตี ๒ ได้ยินเสียงใสเป็นเสียงผู้หญิงบอกว่า “ท่านสร้างก็แล้วกัน โยมจะหาให้” ท่านมองออกไปนอกกลด..... “เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง นุ่งห่มสีชมพู นั่งพับเข่าราบ ทั้งๆในกุฏิมืดสนิท แต่ก็เห็นท่านผู้นี้อย่างกระจ่างชัดเหมือนมีรัศมี สายตาอันดำขลับดูเหมือนจะมองทะลุเข้ามาภายในกลด ลักษณะรูปร่างขนาดสาวอายุ ๑๘ ทรงเครื่องสีชมพูดูแพรวพราวไปทั้งร่าง การทรงตัวนั่งตรง คุกเข่าราบ สองมือวางไว้บนตัก แววตาใบหน้าอิ่มละไม ดูงามไปทุกส่วนไม่มีที่ติ” ... หลวงพ่อกล่าวคำอนุโมทนา ท่านก็ค่อยๆเลือนหายไป

หลวงพ่อได้ปัจจัยประเดิมเพื่อสร้างศาลาจากคุณโยมแม่ของหลวงพ่อ หนึ่งหมื่นบาท จากนั้นหลวงพ่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ บอกบุญผู้มีจิตศรัทธา ได้เงิน ๘๐,๐๐๐ บาท ช่างก่อสร้างประมาณว่าค่าก่อสร้าง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณสองเดือน รูปทรงของศาลามีช่อฟ้า ๓ ตัว ๓ มุข หลวงพ่อทำพิธียกช่อฟ้าเอง ภายใต้ที่นั่งสวดมนต์ทำเป็นถังน้ำคอนกรีตผูกเหล็ก จุน้ำได้ประมาณ ๕ พันปีบ หน้าต่างทำเป็นบานเกล็ดกระจก หลวงพ่อสร้างเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑

ในหอสวดมนต์ที่สร้างเสร็จ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานพระนามว่า พระพุทธโคดมเทวะปฏิมา ส่วนพระประธานองค์นอกบนอาสนะสงฆ์พระนามว่า พระตถาคตเทพนิมิต หลวงพ่อเล่าว่า.... “นึกถึงพระประธานสององค์ให้นึกขัน คือตอนนั้นพระประธานหลวงพ่อพุทธโคดมเทวะปฏิมา อยู่ที่บ้านช่างหล่อฝั่งธนบุรี ส่วนพระประธานองค์นอก หลวงพ่อตถาคตเทพนิมิต อยู่ที่วัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท เวลาที่จะนิมนต์เชิญมาอยู่ที่วัด อาตมามัวยุ่งเป็นธุระกับพระตถาคตเทพนิมิต ที่ศาลาวัดธาตุทอง ส่วนหลวงพ่อพุทธโคดมเทวะปฏิมาได้มอบให้ศิษย์ ๒ คนเป็นธุระ ให้ขึ้นรถโฟล์คตู้ ขณะที่อาตมากำลังจะยกหลวงพ่อตถาคตเทพนิมิตอยู่นั้น พระผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของวัดธาตุทอง ก็เข้ามาบอกว่า มีโทรศัพท์มาจากบ้านช่างหล่อธนบุรี อาตมาก็ไปรับสาย เสียงบอกมาว่า “หลวงพ่อครับ พระประธานไม่ยอมขึ้นรถครับ นิมนต์หลวงพ่อมาช่วยกำกับที”

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:05
อาตมา (หลวงพ่อกัสสปมุนี) วางหูโทรศัพท์แล้ว กลับมามอบหมายให้ศิษย์สองคน และคนของวัดธาตุทอง ให้ช่วยกันนำพระปฏิมาขึ้นรถบรรทุกปิกอั๊พ แล้วให้คอยอยู่ก่อน จนกว่าจะนำพระทางฝั่งธนบุรีมาพร้อมกันที่วัดธาตุทอง อาตมาไปถึงบ้านช่างหล่อเกือบ ๑๑.๐๐ น. นายช่างหล่อรีบรายงานว่า “ศักดิ์สิทธิ์จริงครับหลวงพ่อ คนช่วยกันตั้ง ๔ – ๕ คน ท่านก็ไม่ยอมเขยื้อน หลวงพ่อช่วยอนุเคราะห์หน่อย”

อาตมาได้ฟังดังนั้น ก็ขอน้ำเย็นสะอาด ๑ ขัน จากนายช่างหล่อ ยกขึ้นจบหัวอธิษฐานว่า “ขอเดชะพุทธานุภาพแห่งศรัทธาของข้าพเจ้า ตลอดทั้งอานุภาพแห่งทวยเทพทั้งหลายที่แวดล้อมรักษาพระพุทธปฏิมากรนี้ ถ้าข้าพเจ้าจะเจริญในพระศาสนาต่อไป ณ เบื้องหน้าแล้วไซร้ ขอให้การอัญเชิญเคลื่อนพระปฏิมาองค์นี้ ไปสู่สถานสำนักสงฆ์ฯ ที่บ้านค่ายเป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดอุปสรรคทุกประการเทอญ” ว่าแล้วอาตมาก็นำขันน้ำมนต์ หลั่งชะโลมลูบพระพักตร์ และองค์พระปฏิมา นายช่างหล่อ (ลืมชื่อเสียงแล้วจำไม่ได้) ก็พลอยมีศรัทธาเลื่อมใส ทั้งน้องสาวของแกด้วย ขอขันน้ำมนต์ ไปสรงองค์พระปฏิมาด้วย แกบอกว่า แกไม่เคยสรงน้ำพระปฏิมาที่แกรับจ้างหล่อเลย เพิ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของแก อาตมาฟังแล้วก็อนุโมทนา และให้พรแก ทั้งน้องสาวแกด้วย แล้วการยกเคลื่อนองค์พระปฏิมา เข้ารถโฟลค์ตู้ เพียงใช้คน ๓ คน ก็ยกเคลื่อนได้สะดวก

ตอนค่ำคืนนั้น หลังจากยกพระประธานแล้ว อาตมาปิดกุฏิ นั่งเข้าสมาธิในกลด จนถึงเวลาสองยามเศษ น้อมจิตนึกถึงคุณโยมเจ้าแม่อยู่ในใจว่า “คุณโยมเจ้าแม่! อาตมาขอเจริญพร ขอบพระคุณคุณโยม ที่ได้มีจิตเมตตาอนุเคราะห์ ให้กิจของอาตมา ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ กุศลกรรมและบุญบารมีใด ที่อาตมาได้ปฏิบัติบำเพ็ญมา แต่อดีตกาล ตราบจนทุกวันนี้ อาตมาขออุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่คุณโยม ขอคุณโยมเจ้าแม่ จงมีจิตชื่นชม ขออนุโมทนารับส่วนกุศลที่อาตมาได้อุทิศให้นี้ด้วยเทอญ”

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:07
“สาธุ! สาธุ! สาธุ! ดีแล้วเจ้าข้า โยมขออนุโมทนาในคำอุทิศของท่าน” เสียงใสแจ๋ว แผ่วเบาแต่ชัดเจน ดังอยู่ด้านหลังเบื้องขวาของอาตมา เหลียวไปดู เห็นโยมเจ้าแม่องค์เดิมที่เห็นคราวแรก คงนั่งพับเข่าในอิริยาบถเดิม เครื่องทรงสีชมพู งามระยับ ความงาม ความสง่า ทรงอำนาจ ต่างกับคุณโยมวิสาขาที่ภูกระดึง คุณโยมวิสาขานั้นรูปเรือนร่างของท่าน ที่อาตมาเห็นอยู่กลางแจ้งนั้น เหมือนหญิงสาวในวัย ๒ู๔ – ๒๕ ส่วนคุณโยมเจ้าแม่องค์นี้ เหมือนสาวอยู่ในวัย ๑๘ – ๑๙ แต่ดวงตาเท่านั้น ที่มีประกายความแจ่มใสเหมือนกัน อาตมายังมีความรู้สึกในตนเองว่า มีกระแสความคุ้นเคยหนักแน่นขึ้น ดีใจที่ท่านเอ่ยรับอนุโมทนาในส่วนกุศลที่อาตมาได้อุทิศให้ ต่างนั่งนิ่งพิศดูกันอยู่ครู่หนึ่ง ก็นึกขึ้นได้ จึงเอ่ยถามท่านขึ้นว่า

“อาตมาขอโอกาส อาตมาจะเรียกคุณโยมว่าอย่างไร”
ท่านตอบว่า “เรียกโยมว่า จำปากะสุนทรี เจ้าค่ะ” แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า
“ขอให้ท่านจงสถิตย์อยู่ ณ เขาสุนทรีบรรพตนี้ จนตลอดชนมายุของท่าน”
อาตมาก็ถามต่อไปว่า “แล้วอาตมา ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป”
“ท่านก็สร้างสำนักสงฆ์แห่งนี้ ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป” คุณโยมเจ้าแม่ ตอบอย่างหนักแน่น
“อาตมาไม่มีเงิน ไม่มีปัจจัย จะสามารถสร้างวัดในป่า บนเขาได้อย่างไร...”
“ท่านคอยดูไป แล้วจะเห็นเอง” คุณโยมก็พูดทันควันแล้วก็หายวับไป คืนนั้นกว่าจะหลับ เวลาล่วงเข้าตีสองเศษพกความวิตกไปจนหลับว่า “จะสร้างได้อย่างไร”
ในเวลาต่อมา เจ้าแม่จำปากะสุนทรี ได้มาพบหลวงพ่ออีก และชี้กำหนดจุดสถานที่จะก่อสร้าง จุดนี้ๆจะสร้างอะไรก่อนหลัง ตั้งแต่เชิงเขาเรื่อยขึ้นมาจนถึงหลังเขา หลวงพ่อได้ปฏิบัติตามแนวของท่านทุกประการ ทำให้การก่อสร้างทั้งหมดเป็นไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคใดๆ

[attach]499[/attach]


โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:07
สมเด็จพระวันรัตตั้งชื่อวัดปิปผลิวนาราม

๑๙ มีนาคม ๒๕๑๒ เจ้าประคุณสมเด็จพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระวันรัตแห่งวัดโพธิ์ ท่าเตียน (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) ได้ประทานนามวัดจากเดิมที่หลวงพ่อตั้งไว้ว่า “สำนักสงฆ์มหากัสสปภพพนาวันอรัญญิกกาวาส” เป็น “วัดปิปผลิวนาราม” เพื่อเป็นการรักษาประวัติเดิมไว้ (ปิปผลิ เป็นชื่อก่อนบวชของพระมหากัสสปเถระในสมัยพุทธกาล)
  
ศาลาหงษ์ยนต์

สร้างโดย คุณสอาด หงษ์ยนต์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะ รวบรวมปัจจัยได้ ๒ แสนบาทเศษ ใช้เพื่อต้อนรับผู้ที่มาทำบุญ หลวงพ่อได้สร้างตามคำแนะนำของเจ้าแม่จำปากะสุนทรี
  
สาเหตุที่ได้มาอยู่บำเพ็ญที่วัดปิปผลิ

ช่วงเที่ยงคืน วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงพ่อได้ถามเจ้าแม่จำปากะสุนทรีว่าเพราะเหตุใดหรือกรรมแห่งชีวิตส่วนใดที่ทำให้ท่านต้องมาอยู่ ณ ป่านี้ และพอใจสภาพของป่านี้
เจ้าแม่ฯตอบว่า “ก็ท่านพี่วิสาขา บนภูกระดึงอย่างไรเล่าท่าน เป็นผู้ส่งท่านให้กลับมาอยู่ ณ สถานที่เก่าดั้งเดิมของท่านแต่ปางก่อน และได้มอบหน้าที่ให้โยม ผู้เป็นน้องสาวของท่าน รับภาระดูแลพิทักษ์ท่านต่อไป”
เมื่อหลวงพ่อถามถึงอายุของเจ้าแม่จำปากะสุนทรี ท่านตอบว่า “อายุของโยม นับด้วยปีของมนุษย์ได้ ๙๖๔๐ ปี โยมเป็นน้องของเจ้าพี่วิสาขา อายุอ่อนกว่าท่าน ๓๖๐ ปีมนุษย์” แล้วเจ้าแม่ฯได้กำชับเตือนหลวงพ่อ อย่านึกท้อถอยเหนื่อยระอา ขอให้ปฏิบัติธรรมและดำเนินการก่อสร้างสำนักสงฆ์ฯ ให้รุ่งเรืองแทนสถานที่เก่าดั้งเดิมต่อไป

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:08
สร้างบันไดลงตีนเขา

หลวงพ่อลงบิณฑบาตทุกวัน ทางลงก็แสนจะลำบาก ต้องระวังกลัวจะออกหัวออกก้อย เพราะเป็นทางน้ำตกจากเขา เต็มไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย กองก่ายซ้อนไม่เสมอกัน เป็นตะปุ่มตะป่ำ ทั้งลื่น และระยะทางลงยาวถึง ๗๘ เมตร หลวงพ่อนึกอยู่ในใจทุกวันที่ลงบิณฑบาตว่า จะต้องทำบันไดให้ได้
เมื่อการสร้างศาลาสวดมนต์เสร็จเรียบร้อย เจ้าแม่จำปากะสุนทรีได้แนะนำให้หลวงพ่อสร้างบันไดลงตีนเขา เพื่อจะได้ลงบิณฑบาตสะดวก ทั้งหลวงพ่อและผู้ติดตาม  
  
ศาลาหอฉัน

ในปี ๒๕๑๖ คุณสงวน พานิชกุล ได้สร้างศาลาหอฉัน ๑ หลัง มูลค่า ๕ หมื่น ๕ พันบาท เป็นโรงครัวและห้องคลัง เก็บสิ่งของชนิดเบา

บันไดขึ้นยอดเขาและพระอุโบสถ

การสร้างบันไดขึ้นยอดเขาและพระอุโบสถ เป็นการก่อสร้างที่ค่อนข้างหนักและเหน็ดเหนื่อย ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่อสร้างบันไดยาว ๙๘ เมตร กว้าง ๒ เมตร รวมขั้นบันได ๓๓๘ ขั้น แบ่งเป็น ๔ ช่วง ใช้เวลาสร้าง ๑ ปีเต็ม

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:08
การสร้างอุโบสถ

หลวงพ่อเคยได้ปีนเขาขึ้นไปสำรวจพื้นที่ด้วยตนเอง เพราะท่านต้องการสร้างอุโบสถไว้บนยอดเขา เนื่องด้วยเป็นที่มงคล มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิด จนไปประจันหน้ากับจ่าฝูงหมูป่า หลวงพ่อต้องยืนนิ่งท่ามกลางความร้อนและฝูงแมลงที่คอยสูบเลือด เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง กว่าหมูป่าจะหันหลังวิ่งกลับเข้าป่าไป แต่ก็คุ้มค่าเพราะได้พบพื้นที่ที่เหมาะสำหรับสร้างอุโบสถและบันไดทางขึ้น
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลาสองยามเศษ หลวงพ่ออยู่ในเจโตสมาธิ ใจก็ครุ่นคิดถึงอุโบสถที่จะสร้าง ว่าควรเป็นแบบไหนดี และแล้วมีภาพนิมิตปรากฏเป็นรูปเรือนปราสาทรางๆ เหมือนหมอกจางๆ ดูไม่ถนัด ในคืนถัดมา หลวงพ่อเข้าสมาธิอีก น้อมใจระลึกถึงภาพปราสาท ตั้งใจจะขอดูให้รู้ชัด ได้ยินเสียงเจ้าแม่จำปากะสุนทรีอยู่นอกกลดว่า “ขอนิมนต์ท่านเพ่งจับให้หนักแน่น มั่นคง อย่าสงสัย เพ่งให้ดี มองดูให้ชัด โยมจะช่วย อย่าลังเล”
หลวงพ่อเพ่งระลึกเรียกรูปนิมิตของเรือนปราสาท จนเห็นชัดเหมือนเรือนปราสาทจริงๆมาตั้งอยู่ข้างหน้า มี ๓ มุข ๕ ยอด สูงตระหง่าน มีความรู้สึกคล้ายๆกับเคยได้อยู่อาศัย นานมาแล้ว เสียงเจ้าแม่จำปากะสุนทรีพูดเบาๆแต่แจ่มใสชัดเจนว่า
“ท่านจงพิจารณาให้ถี่ถ้วน นี่คือมหาปราสาทอันสูงศักดิ์แต่เบื้องบรรพกาล มีนามว่า รัตนดุสิตมหาปราสาท เป็นเรือนแก้ว ที่ท่านได้สถิตอยู่ครองของท่าน ในกัปที่เก้าสิบสอง นับแต่ภัทรกัปนี้ย้อนขึ้นไป มหาปราสาทนี้มีสามมุข เจ็ดประตู ห้ายอด ขอท่านจงดูตามที่โยมบอกนี้ให้ดี ยอดมุขมีสามยอด กลางหลังคามหาปราสาทหนึ่งยอด เป็นยอดที่สูงเสียดฟ้า และยอดท้ายปราสาทอีกหนึ่งยอด มีความยาวตลอดองค์ปราสาทยี่สิบห้าเส้น ความกว้าง สิบห้าเส้น ตรงกลางมุขภายในเป็นที่เสด็จออกว่าราชการและเข้าเฝ้า ตรงกลางปราสาทเป็นท้องพระโรง มีห้องตำหนักนางพระสนมกำนัล จุได้แปดพันคน ตอนท้ายมหาปราสาทเป็นห้องพระบรรทมและที่รโหฐาน มีบานพระแกลสำหรับดูทิวทัศน์อุทยานภายนอก ภายในห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์ มีพระวิสูตรกั้นเป็นชั้นๆ ทอด้วยเส้นไหมทองรูปต่างๆ ขอท่านจงดูลานเฉลียงต่อท้ายมหาปราสาท ท่านจะเห็นสถานที่โล่ง ปูด้วยพื้นแก้วเป็นเงาวับ นั่นเป็นที่เสด็จนั่งเล่นส่วนพระองค์ มีแท่นทิพย์ตั้งอยู่กลางแจ้ง พื้นแท่นเป็นมรกต ผนึกด้วยกรอบทอง ฝังด้วยเม็ดทับทิมแดง ยอดปราสาทมุขมีสามยอด และยอดท้ายปลายยอดเป็นฉัตรเจ็ดชั้น ยอดกลางปลายยอดเป็นนพสูรย์ ขอท่านจงพินิจดูให้ชัด เพ่งดูให้ดี ท่านก็จะจำได้ ท่านจากมหาปราสาทองค์นี้ ท่องเที่ยวไปมาในสังสารวัฏนี้ ถึงแสนล้านปีมนุษย์ ขอท่านจงระลึกและเพ่งดูให้ชัด”
หลวงพ่อพยายามจดจำรายละเอียดของปราสาท ร่างเป็นภาพคร่าวๆ แล้วได้มอบให้คุณพล จุลเสวก นายช่างสถาปนิกชั้นพิเศษ กรมกรมโยธาเทศบาล กทม เป็นผู้เขียนแบบแปลน ใช้เวลาสองปี เขียนเสร็จในพ.ศ. ๒๕๒๒ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
การก่อสร้างเริ่มเดือน ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๒๓ นายช่างคือ คุณสวัสดี ศรีรัตโนภาส ต้องเริ่มโดยหาเส้นทางให้รถแทรกเตอร์ขึ้นบนยอดเขา และสร้างรางรถสาลี่บรรทุกของขึ้นเขา ใช้เครื่องดึงรถขนาด ๒ ตัน พระอุโบสถยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑๕ เมตร ประตูหน้าต่างและหลังคา เป็นสเตนเลสทั้งหมด คนงานประมาณ ๒๖ คน การก่อสร้างไม่ต้องลงเสาเข็ม ใช้ผูกเหล็กเส้นทีเดียว ตัวองค์พระอุโบสถเสร็จเป็นรูป ใช้เวลา ๗ เดือน

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:08
วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ตัวอุโบสถเสร็จทาสีรองพื้น ภายในติดดาวเพดาน ไฟช่อ หลวงพ่อหาช่างปั้นภาพผนังนอกพระอุโบสถ เป็นภาพพุทธประวัติด้านละ ๕ ช่อง สองด้านรวม ๑๐ ช่อง เป็นภาพพุทธประวัติ ๑๐ ภาพ จ้างนายสกนธ์ นพนุกูลวิเศษ ให้เขียนภาพผนังโบสถ์ภายใน ๘ ภาพ ภาพใต้ท้องสมุทร (ภาพที่ ๑) ใต้บาดาล (ภาพที่ ๒) ภาพเขาพระสุเมรุ (ภาพที่ ๓) ภาพป่านารีผล (ภาพที่ ๔) ภาพป่าฉิมพลี (ภาพที่ ๕) ภาพสระอโนดาษ (ภาพที่ ๖) ภาพสระโบกขรณี (ภาพที่ ๗) ภาพป่าหิมพานต์ (ภาพที่ ๘) หลวงพ่อบันทึกว่า “ขณะนี้ได้เขียนเสร็จเพียงสองภาพ อีกหกภาพยังคาราคาซัง ไม่ทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะผู้เขียนใจไม่ตรง จึงจำเป็นต้องหาช่างต่อไป ภาพทั้ง ๘ ภาพนี้ เป็นภาพที่อาตมาได้พบเห็นด้วยตาตนเอง ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้ทราบความจริงกันเสียที” หลวงพ่อมรณภาพก่อนที่ผู้เขียนภาพจะได้เริ่มเขียนภาพที่ ๓
พระประธานองค์ใหญ่ภายในพระอุโบสถ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ ปางสมาธิราบ หลวงพ่อถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวาติเทวะศากยะมหามุนี” คุณหญิงอุไรลักษณ์ ชาญกล เป็นผู้สร้าง
พระสาวก ๓ องค์ในพระอุโบสถ ขนาดเท่ากับตัวคน องค์ขวามือพระประธาน นามว่า พระอุบาลี องค์กลาง พระมหากัสสป องค์ซ้าย พระอานนท์ ผู้สร้างคือคุณชวนศรี วีระรัตน์ และคณะโรงพยาบาลวังวโรทัย โดยหลวงพ่อให้คำอธิบายว่า “ถ้าผู้ดูหันหน้าเข้าหาพระประธาน พระสาวกที่นั่งทางขวามือพระประธาน คือท่านพระอุบาลี ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นผู้ชำนาญทางพระวินัย เรียกว่า เอตทัคคะฝ่ายพระวินัย และองค์ทางด้านซ้ายพระประธานคือ ท่านพระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอนุชา ซึ่งพระบรมศาสดาทรงยกย่อง แต่งตั้งท่านไว้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางทรงจำพระพุทธวจนะได้เป็นเยี่ยม เรียกว่า เอตะทัคคะฝ่ายพระสูตร ส่วนองค์กลางคือ ท่านพระมหากัสสป ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ในระยะที่พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านเป็นผู้ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นผู้มีคุณธรรมเสมอพระองค์ ทรงเปลี่ยนสังฆาฏิกับท่านพระมหากัสสป คือทรงประทานสังฆาฏิของพระองค์ให้ท่านพระมหากัสสปครอง แล้วทรงรับสังฆาฏิของท่านพระมหากัสสปมาทรงครอง ท่านพระมหากัสสปได้เป็นประธานในงานพิธีสังคายนาครั้งที่ ๑ พร้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ดังนี้ก็เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า ท่านต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญ แม่นยำทั้งฝ่ายพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ถ้าไม่เป็นเช่นนี้แล้ว การทำสังคายนา ก็จะกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีไม่ได้ ดังที่เราได้เห็นแล้วได้ศึกษาอยู่จนทุกวันนี้ ... เพราะฉะนั้นเพื่อตอบสนองในคุณของท่านทั้งสาม อาตมาจึงได้สร้างปฏิมาของท่าน ไว้เป็นอนุสรณ์”

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:11
เพดานอุโบสถเป็นเพดานโค้งคล้ายโดม และทำเป็นสองชั้น พื้นเพดานทาสีต่างกัน ๓ ตอน คือ ตอนเบื้องหน้าพระประธาน ทาเป็นสีแดงอ่อน หมายถึงรุ่งอรุณ หรืออดีตกาล สีเหลืองตอนกลาง หมายถึงเที่ยงวัน หรือปัจจุบันกาล สีเขียวแก่มืดในตอนท้าย หมายถึงราตรี หรืออนาคตกาล หลวงพ่อบอกว่า “ขอให้ทุกท่านที่แหงนดูเพดานพระอุโบสถ จงใช้ปัญญาพิจารณาและตีความ” ส่วนด้านหลังพระอุโบสถ เป็นลายปูนปั้น แสดงเรื่องชาดกของหลวงพ่อแต่ปางก่อน
เมื่อโบสถ์ใช้บวชได้ หลวงพ่อตั้งใจไว้ว่านาคประเดิมโบสถ์ต้องเป็นนาคที่บวชไม่มีกำหนดสึก ซึ่งก็ได้ใช้ในการบวชพระให้กับเณรซึ่งเปรียบเสมือนลูกของท่าน คือ มหาชาญชัย อภิชาโต ท่านเป็นเณรเปรียญด้วย






ขอขอบพระคุณที่มา...http://www.vimokkhadhamma.com/watpipplaliwanaram.html
                        ...http://www.navaraht.com/forum/forum15/topic18.html

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:12
[attach]500[/attach]

หลวงพ่อกัสสปมุนี มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ อายุ ๗๙ ปี จากวันนั้นจนถึงวันนี้หากหลวงพ่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะต้องมีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี
ปัจจุบันทางวัดยังคงเก็บสรีระของหลวงพ่อเอาไว้ เพราะหลวงพ่อได้เคยกล่าววาจาไว้ว่า
“หลวงพ่อจะอยู่จนอายุ ๑๓๐ ปี แต่ต้องเปลี่ยนธาตุขันธ์”

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:13
จะว่าไปแล้วก็มีแรงจูงใจหลายอย่างครับ ที่ทำให้ลูกศิษย์ของหลวงพ่อทุกคนมั่นใจว่าทุกวันนี้หลวงพ่อกัสสปมุนีท่านยังอยู่และคอยดูแลคุ้มครองพวกเขาตลอดเวลา...
โดยเฉพาะกับคนๆนี้ครับ
“ป้าเตียง”
บ้านของป้าเตียงเป็นร้านขายของชำเล็กอยู่หน้าวัด ในชีวิตของป้าเตียงเคารพนับถือหลวงพ่อกัสสปมุนีมากๆ ชนิดเข้าขั้นแฟนพันธ์แท้
เรื่องแบบนี้มีที่มาที่ไปครับ....
หลังจากที่หลวงพ่อกัสสปมุนีได้มรณภาพลง คืนหนึ่งป้าเตียงฝันว่าหลวงพ่อได้มาบอกให้ป้าเตียงเตรียมตัวเอาไว้เพราะจะมีไฟไหม้ ในวันนั้น เวลานั้น ซึ่งในความฝันป้าเตียงขอร้องให้หลวงพ่อช่วยเหลือ
หลวงพ่อตอบว่า....
“จะพยายามเต็มที แต่มันเป็นวิบากกรรมไม่สามารถห้ามกันได้ ยังไงเสียป้าเตียงต้องได้รับผลแน่นอน”
ครั้นพอตื่นจากความฝัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเรื่องที่หลวงพ่อมาบอกคือความจริง ป้าเตียงจึงได้ระดมน้ำสำรองเตรียมตัวไว้เต็มที และในวันดังกล่าวป้าเตียงได้เกณฑ์บรรดาญาติพี่น้องมาคอยเฝ้าบ้าน เฝ้าสวนเต็มอัตราศึก
ผลปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวได้เกิดไฟไหม้สวนข้างเคียงและได้ลุกลามเข้ามาถึงสวนของป้าเตียง ชะรอยว่าป้าเตียงเตรียมความพร้อมตลอดเวลา จึงสามารถสยบพระเพลิงได้อย่างสงบราบคาบ แต่กระนั้นก็ตามต้นไม้ในสวนก็ถูกไฟไหม้ไปบ้างแต่เสียหายไม่มากนัก
คนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า พอรุ่งเช้าพบว่ารอบๆบ้านของป้าเตียงหายไปเรียบเหลือแต่บ้านของป้าเตียงเท่านั้นที่ยังยืนเด่นเป็นสง่ามาตราบจนถึงทุกวันนี้.....
“สังโฆอัปปมาโณ”
คุณของพระสงฆ์หาประมาณมิได้
“เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ”
นี่แหละคือสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อกัสสปมุนีเคยกล่าวไว้ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า...
“หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ด้วยมือเปล่าและบาตรเปล่า สร้างวัดนี้ได้ทั้งหมดก็ด้วยอานิสงฆ์ของลมหายใจเท่านั้น....”
“นะโม อโห โอม กัสสโปมุนิ อะราธะนัง”
ขออภิวาทต่อหลวงพ่อกัสสปมุนี ผู้สงบระงับด้วยความนอบน้อม….สวัสดีครับ

ขอขอบคุณเอกสารอ้างอิง หนังสือปกิณกสารธรรม “อนุสรณ์ ๑๐ ปีแห่งการมรณภาพของหลวงพ่อกัสสปมุนี” หนังสือ “หกเดือนบนภูกระดึงและเมื่อข้าพเจ้ามาพบที่ใหม่”
คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย สำหรับภาพถ่าย เพื่อนต่อกับคำแนะนำ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจครับ

โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:14
เรื่องเล่ารูปถ่ายนิโรธสมาบัติ หลวงพ่อกัสสปมุนี สภาพสวยมาก พิมพ์เล็ก กระดาษเรียบ ขึ้นวาวปรอท ดูง่าย(หายากกว่าพิมพ์ใหญ่ครับ)


1. รูปถ่ายของหลวงพ่อกัสสปมุนีที่อินเดียมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ?

ตอบ เมื่อปี พ.ศ. 2507 หลวงพ่อกัสสปมุนีได้เดินทางไปยังชมพูทวีปหรือประเทศอินเดีย และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานถึง 5 เดือน ตลอดเวลาที่ท่านเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ท่านจะห่มดองหรือห่มลดไหล่ตลอด ในขณะที่พระเถระองค์อื่น ๆ จะห่มคลุมตามพระวินัยบัญญัติว่า เมื่อภิกษุออกนอกบริเวณวัด ต้องห่มคลุมให้เป็นปริมณฑลคือข้างบนจีวรต้องติดคอ ด้านล่างต้องคลุมครึ่งแข้งจึงถูกต้อง แต่การที่หลวงพ่อห่มดองตลอดรายการนั้น ท่านให้เหตุผลว่าชมพูทวีปเป็นดินแดนแห่งพระพุทธองค์ ทุกหนแห่งล้วนแต่เป็นแผ่นดินของพระองค์ที่ทรงจาริกไปแสดงธรรม จึงถือว่าเป็น ‘เขตพุทธาวาส’ ทั้งสิ้น ท่านจึงไม่ห่มคลุม

และทุกแห่งที่ท่านไป นมัสการ ตามพุทธประวัติก็ดี ตามโบราณาจารย์กล่าวอ้างก็ดี ตามที่แขกอินเดียเล่าให้ฟังก็ดี ว่าสถานที่นี้พระพุทธเจ้าทรงกระทำพุทธกิจอย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อท่านยังไม่เชื่อทีเดียว หากท่านลงมือนั่งภาวนา ‘ตรวจสอบ’ ด้วยองค์ท่านเองในที่ทุกแห่ง

กระทั่งจิตท่านเห็นชัดว่า ณ สถานที่นี้พระพุทธองค์ได้ทรงทำกิจดังกล่าวอ้างมาแล้วจริง ๆ ท่านจึงปลงใจเชื่อ และเป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อท่าน ‘พิจารณา’ ด้วยอำนาจฌาน-ญาณ อันสูงยิ่งของท่านแล้ว ปรากฏว่าในทุกสถานที่ล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้น ทุกแห่งแฝงเร้นด้วยพระพุทธบารมีที่ยังคงอบอวลแผ่รัศมีอยู่ทุก ๆ เวลา รอคอยผู้มีบุญญาธิการมานมัสการให้เกิดมหาบุณย์-มหากุศล

ดังนั้นท่านใดที่คิดจะไปหรือไปมาแล้ว...

ก็จงสบายใจและจงอิ่มบุญในใจให้เต็มที่เถิด

ดัง ภาพถ่ายหน้าสถูปที่ถาม หลวงพ่อท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ที่ถ้ำอจันตา ขณะที่ใช้อำนาจจิต ‘ตรวจสอบ’ อยู่นั้น ก็มีฝรั่งคนหนึ่งผ่านมาเห็นท่านเข้า เวลานั้นท่านเปลื้องจีวรและสังฆาฏิออกแล้วคงเหลือเพียงสบงและอังสะ อีกทั้งยังพาดลูกประคำเส้นเบ้อเริ่ม ทำให้ฝรั่งนายนั้นนึกว่าท่านเป็นเณร จึงเกิดความเอ็นดูและทำการบันทึกภาพท่านไว้

ภายหลังฝรั่งก็ได้นำรูป นั้นมาให้ท่านดู ปรากฏว่าท่านไม่พอใจมาก คงเพราะแอบถ่ายโดยไม่ขออนุญาตท่านก่อนประการหนึ่ง และคงเพราะท่านแต่งตัวไม่เรียบร้อยประการหนึ่ง ท่านจึงดุเขา(เพราะท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม) และยึดทั้งรูปทั้งฟิล์มกลับมา

ครั้นกลับเมืองไทยแล้ว คณะศิษย์อยากได้ของที่ระลึกจากท่าน ท่านจึงให้นำฟิล์มนี้ไปอัดออกมาเป็นรูปใบน้อย และยังเมตตาเขียนยันต์วิเศษที่ชื่อว่า ‘ยันต์พุทธเกษตร’ มอบให้ด้วยลายมือท่านเอง (ท่านได้มาเมื่อครั้งไปเที่ยววิเวกภาวนาใน จ.ลพบุรี ยันต์พุทธเกษตรได้ปรากฏขึ้นในนิมิตท่าน ท่านบอกว่ายันต์นี้มีอานุภาพครอบจักรวาล ตามแต่ผู้ใช้จะอธิษฐานให้เป็นไปดังปรารถนา)

ศิษย์ได้นำยันต์พุทธ เกษตรลายมือท่านไปบันทึกเป็นภาพถ่ายใบน้อยออกมาอีก 1 ใบ จากนั้นก็นำรูปหลวงพ่อกับรูปยันต์พุทธเกษตรนี้ประกบเข้าด้วยกัน แล้วนำมาถวายให้ท่านอธิษฐานจิตแจกผู้ศรัทธาในราวปี พ.ศ. 2508 –2509

ต่อ มาเมื่อท่านประสงค์จะตอบแทนคุณของเสี่ยไซ โยมอุปการะเป็นที่ยิ่ง ท่านก็ดำริเข้า ‘สัญญาเวทยิตนิโรธ’ เป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2510 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

และรูปนี้ก็อยู่ในวาระนิโรธสมาบัติด้วย


โดย: kit007    เวลา: 2013-3-30 20:14
หลวง พ่อเคยบอกว่า นิโรธสมาบัตินี้มีอานุภาพมากนัก มิใช่แต่กุฏิของท่านเท่านั้น แต่กำลังแห่งนิโรธยังครอบคลุมไปทั่วภูเขา ‘สุนทรีบรรพต’ อันเป็นที่ตั้งวัด อย่าว่าแต่ของในกุฏิท่านเลย แม้กรวดหินหน้าวัดหากจะหยิบขึ้นมาแล้วตั้งจิตระลึกถึงท่านก็ยังมีอานุภาพได้

อะไรจะขนาดนั้น

เชื่อท่านไหม ?

ถ้า เชื่อ....! รูปใบน้อยและพระเครื่องต่าง ๆ ที่ผ่านการเข้านิโรธจากท่านมาตั้งแต่ปี 2510 กระทั่งท่านละสังขารจากไปในวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2531

จะขลังเพียงไหน !?

ผมยังเดาไม่ถูกเลย

ดัง นั้น ท่านจึงไม่ใคร่แจกรูปนี้ให้ใครง่าย ๆ แม้มีคนขอกันมาก ท่านก็ยังเลือกคนให้ ท่านบอกว่า ของดีต้องให้กับคนดีและนับถือเราจริงเท่านั้น

หากจะมีคนขอเหรียญรุ่น แรกของท่านที่สร้างในปี พ.ศ. 2518 บางทีท่านก็มอบรูปนี้ให้ ครั้นคนนั้นบ่นว่าอยากได้เหรียญต่างหากเล่า ท่านจะบอกดุ ๆ ทันทีว่า

“อะไร ให้ของดีแล้วยังไม่รู้จัก รูปนี่เก่งกว่าเหรียญอีกนะ”

คือคนโบราณเมื่อจะกล่าวชมมงคลวัตถุใด ๆ ว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์เหลือกำลัง ท่านมักใช้วลีว่า ‘เก่ง’ ก็เป็นอันรู้กัน

ฉะนั้น รูปนี้จึงเหลือตกค้างมาจนทุกวันนี้ และมีคนได้รับประสบการณ์มากมายยิ่งกว่าเหรียญเสียอีก ถ้าจะให้เล่า คงต้องนัดเจอกันดีกว่าเพราะยาวมากจนไม่อยากพิมพ์

เล่ามาเสียยืดยาว หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจ ใครที่มีอยู่แล้วก็รีบเอามาใส่ซะ คนที่ยังไม่มีก็ค้นคว้าหาเอาเถิด ของดีสุดยอดอย่างนี้ อย่าให้หลุดมือเลยครับ


โดย: Metha    เวลา: 2013-12-11 18:53

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ

โดย: Nujeab    เวลา: 2014-4-2 15:30
ได้มีโอกาสไปกราบสักการะท่านแล้วครั้งนึง เป็นบุญอย่างยิ่งแล้ว สาธุ สาธุ สาธุ
โดย: kit007    เวลา: 2014-4-2 16:53
Nujeab ตอบกลับเมื่อ 2014-4-2 15:30
ได้มีโอกาสไปกราบสักการะท่านแล้วครั้งนึง เป็นบุญอย่ ...

ไปกับใครมาครับ
โดย: kit007    เวลา: 2014-4-2 16:54
จ๊อ

เดินทางไปนมัสการหลวงปู่กัสสปมุนี

[attach]6981[/attach]

[attach]6982[/attach]

[attach]6983[/attach]


โดย: kit007    เวลา: 2014-4-2 16:55
[attach]6984[/attach]

[attach]6985[/attach]

[attach]6986[/attach]


โดย: Nujeab    เวลา: 2014-4-2 16:56
kit007 ตอบกลับเมื่อ 2014-4-2 16:53
ไปกับใครมาครับ

พาแม่ ครูเจี๊ยบ น้องๆไปครับ เคยเห็นอาจารย์เคยไป เลยอยากไปด้วยครับ
โดย: kit007    เวลา: 2014-4-2 16:56
กองทัพเดินด้วยท้อง

[attach]6987[/attach]

[attach]6988[/attach]




โดย: kit007    เวลา: 2014-4-2 16:58
Sarayut

หลวงพ่อกัสสปมุนี มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ อายุ ๗๙ ปี จากวันนั้นจนถึงวันนี้หากหลวงพ่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะต้องมีอายุประมาณ ๑๐๓ ปี
ปัจจุบันทางวัดยังคงเก็บสรีระของหลวงพ่อเอาไว้ เพราะหลวงพ่อได้เคยกล่าววาจาไว้ว่า
“หลวงพ่อจะอยู่จนอายุ ๑๓๐ ปี แต่ต้องเปลี่ยนธาตุขันธ์”

หลวงปู่กัสสปมุณี ท่านจะอยู่ที่วัดอีก 27 ปี

รีบไปกราบท่าน ก่อนท่านจะเปลี่ยนธาตุขันธ์



โดย: kit007    เวลา: 2014-4-2 16:59
จ๊อ

อโห โอมกัสสปมุณี สาธุ


โดย: Nujeab    เวลา: 2014-4-2 17:03
นับถึงตอนนี้ หลวงปู่ท่านจะอยู่ที่วัดอีก 25 ปีครับ
โดย: wind    เวลา: 2014-4-5 21:31
ต้องไปกราบสักที





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2