Baan Jompra

ชื่อกระทู้: วันแห่งพระรัตนตรัยครบองค์ 3 “วันอาสาฬหบูชา” [สั่งพิมพ์]

โดย: รามเทพ    เวลา: 2013-10-28 07:45
ชื่อกระทู้: วันแห่งพระรัตนตรัยครบองค์ 3 “วันอาสาฬหบูชา”
          วันอาสาฬหบูชา   ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ๑ วัน  เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่า  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
          ในเมื่อวันนี้ของทุกๆ ปี เวียนมาถึงพุทธศาสนิกชน จึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และ พุทธศาสนิกชนในที่บางแห่ง ยังตั้งชื่อวันอาสาฬหบูชานี้ว่า "วันพระสงฆ์"
       อาสาฬหะ คือ เดือน ๘ อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ความสำคัญ ของวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ มีอยู่อย่างไร จะได้นำพุทธประวัติตอนหนึ่งมาเล่าต่อไปนี้   นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ประทับเสวยวิ มุตติสุขในบริเวณโพธิมัณฑ์นั้น ตลอด ๗ สัปดาห์ คือ
  สัปดาห์ที่ ๑   คงประทับอยู่ที่ควงไม้อสัตถะอันเป็นไม้มหาโพธิ์ เพราะเป็นที่ตรัสรู้ ทรงใช้ เวลาพิจรณาปฏิจจสมุปปาทธรรมทบทวนอยู่ตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๒   เสด็จไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ประทับยืนกลางแจ้งเพ่งดูไม้มหาโพธิ์โดย ไม่กระพริบพระเนตรอยู่ในที่แห่งเดียวจนตลอด ๗ วัน ที่ที่ประทับยืนนั้นปรากฎเรียกในภายหลังว่า "อนิสิมสสเจดีย์"
สัปดาห์ที่ ๓   เสด็จไปประทับอยู่ในที่กึ่งกลางระหว่างอนิมิสสเจดีย์ กับต้นมหาโพธิ์แล้วทรง จงกรมอยู่ ณ ที่ตรงนั้นตลอด ๗ วัน ซึ่งต่อมาเรียกที่ตรงนั้นว่า "จงกรมเจดีย์"
  สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพของต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิ ธรรมอยู่ตลอด ๗ วัน ที่ประทับขัดสมาธิเพชร ต่อมาเรียกว่า"รัตนฆรเจดีย์"
  สัปดาห์ที่ ๕   เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นมหาโพธิ์ประทับ ที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธ อยู่ ตลอด ๗ วัน ในระหว่างนั้น ทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามในเรื่องความเป็นพราหมณ์
  สัปดาห์ที่ ๖  เสด็จไปทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้จิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ ตลอด ๗ วัน ฝนตกพรำตลอดเวลา พญานาคมาวงขดล้อมพระองค์ และแผ่พังพานบังฝนให้พระองค์ ทรงเปล่งพระอุทานสรรเสริญความสงัด และความไม่เบียดเบียนกันว่าเป็นสุขในโลก
  สัปดาห์ที่ ๗  เสด็จย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้เกดเสวยวิมุตติ สุขตลอด ๗ วัน มีพาณิช ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เดินทางจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่  จึงนำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน  ซึ่งเป็นเสบียงกรังของตนเข้าไปถวายพระองค์ทรงรับเสวยเสร็จแล้ว  สองพาณิชก็ประกาศตนเป็นอุบาสก  นับเป็นอุบาสกคู่แรกในประวัติกาล ทรงพิจารณาสัตว์โลกเมื่อล่วงสัปดาห์ที่ ๗ แล้ว   พระองค์เสด็จกลับมาประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธอีก ทรงคำนึงว่า   ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จีงท้อพระทัยที่สอนสัตว์   แต่อาศัยพระกรุณาเป็นที่ตั้ง ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมี ตอนนี้แสดงถึงบุคคล ๔ เหล่า เปรียบกับดอกบัว ๔ ประเภท คือ


ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ อุบาสกคู่แรกในประวัติกาล
๑. อุคฆติตัญญู
      
ได้แก่ ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สอนสั่ง สอนเปรียบเทียบ เหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานในเมื่อได้รับแสงพระอาทิตย์ในวันนั้น
๒. วิปัจจิตัญญู
      
ได้แก่ ผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านขยายความย่อให้พิสดารออกไปเปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอ ระดับน้ำ จักบานในวันรุ่งขี้น
๓. เนยยะ
      
ได้แก่ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรม วิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ แต่จะโผล่แล้วบานขี้นในวันต่อๆ ไป
๔. ปทปรมะ
     
ได้แก่ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่อง แล้วก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือน ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับเปือกตม รังแต่จะเป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบคนเหมือนกับดอกบัว 4 ประเภท
        เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอน ทรงนึกถึงผู้ที่ควรโปรดก่อนคือ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ท่านเหล่านี้ก็หาบุญไม่เสียแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ปัญจวัคคีย์ จีงทรงตัดสินพระทัยว่า ควรโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วก็เสด็จออกเดินไปจากควงไม้ไทรนั้น มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี การที่เสด็จเดินทางจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสีเช่นนี้ แสดงให้เห็น เพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าเป็นการตั้งพระทัยแน่วแน่ ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรกอย่างแทัจริง
        หนทางระหว่างตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้น ในปัจจุบัน ถ้าไปทางรถไฟก็เป็นเวลา ๗-๘ ชั่วโมง การเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า อาจใช้เวลาตั้งหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็นขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะนั้นเองพระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่แห่งปัจจวัคคีย์  

        พอเสด็จเข้าราวป่าพวกปัญจจวัคคีย์นั้นได้เห็นจึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ และไม่รับบาตรจีวรจะตั้งไว้ให้เพียงอาสนะเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าพระองค์ กลายเป็นคนมีความมักมากหมดความเพียรเสียแล้ว พอพระองค์เสด็จถึง ต่างก็พูดกับพระองค์โดยไม่เคารพ พระองค์ตรัสห้าม และทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้แล้วจะแสดงธรรมสั่งสอนให้ ฟังพราหมณ์ทั้ง ๕ ก็พากันคัดค้าน ลำเลิกด้วยถ้อยคำต่างๆ
      ที่สุดพระองค์จึงทรงแจงเตือนให้รำลึกว่า พระองค์เคยกล่าวเช่นนี้มาในหนหลังบ้างหรือ? พราหมณ์ทั้ง๕ ระลึกได้ ต่างก็สงบตั้งใจฟังธรรมทันที  ค่ำวันนั้น พระองค์ประทับแรมอยู่กับพราหมณ์ทั้ง ๕ รุ่งขี้นวันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ พระองค์ทรงเริ่มแสดงธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์นั้น
ใจความสำคัญของปฐมเทศนา
ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ
ก. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง
      เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
         
๑. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
       ๒. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
      ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลางซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
             ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
             ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
             ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
             ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
             ๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
             ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
             ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
             ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


ข. อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
             ๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
             ๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ
             ๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
             ๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น

      ชี้ให้เห็นโดยปริวรรตและอาการต่างๆ ว่า เมื่อรู้แล้วอาจยืนยันได้ว่า ตรัสรู้โดยชอบถึงความ หลุดพ้นและสุดชาติสุดภพแน่นอน ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณไปตามจนเกิด "ธรรมจักษุ" คือดวงตาเห็นธรรมขึ้นทางปัญญาพระองค์ทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า "อัญญสิๆ""อัญญสิๆ"(โกณฑัญญะรู้แล้วๆ) เพราะพระองค์ทรงอุทานนี้ภายหลังท่าน โกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า "อัญญาโกณฑัญญะ"   แต่นั้นก็ทูลขอบรรพชาพระองค์ประทานอนุญาตด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์
การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
      พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติ ในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน
       กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา ๑ สัปดาห์ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัดช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิตโดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน นำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ
      
      ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยทำวัตรค่ำแล้ว สวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ ต่อจากนั้นให้พระสังฆเถระ แสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแล้ว ให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนจบแล้ว ให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัยให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา ๒๔.๐๐ น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย
             เมื่อวันอาสาฬหบูชาซึ่งตรงในวันเดียวกันได้เวียนมาบรรจบอีก ครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญอาสาฬหบูชาเดือน ๘ ของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ
             ๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี)
             ๒. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
             ๓. พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)

          สรุปว่าพิธีกรรมที่กระทำในวันนี้โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิต นี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด



อ้างอิง
-  http://www.dhammajak.net
-  http://www.dhammathai.org
-  ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญไทย (เสฐียรโกเศศ และ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ,๒๕๔๑ : ๓๙-๕๙)

ข้อมูลจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/56912
โดย: sriyan3    เวลา: 2013-10-28 08:55
สาธุ ขอบคุณคร้าบ
โดย: Sornpraram    เวลา: 2013-10-29 08:52

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-14 07:56
ขอบคุณครับ





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2