Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ~ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ~ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:38
ชื่อกระทู้: ~ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ~
[attach]5164[/attach]

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



หัวข้อ

๏ พระประวัติในเบื้องต้น
๏ ทรงบรรพชา
๏ ทรงอุปสมบท
๏ พระศาสนกิจและสมณศักดิ์
๏ สมเด็จพระญาณสังวรรูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
๏ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
๏ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
๏ พระศาสนกิจในต่างประเทศ
๏ การสาธารณูปการ
๏ การสาธารณสงเคราะห์
๏ พระนิพนธ์
๏ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
๏ ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน
๏ ชีวิตและปฏิปทาแบบอย่าง                                                                                       



โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:39


๏ พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี

มีพระนามเดิมว่า “เจริญ คชวัตร” พระนามฉายาว่า “สุวฑฺฒโน”
ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๗๕
ตรงกับวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ (รัตนโกสินทรศก ๑๓๒)
เวลาประมาณ ๑๐ ทุ่ม มีเศษ (หรือเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ นาฬิกาเศษ
แห่งวันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ตามที่นับแบบปัจจุบัน)
ณ บ้านวัดเหนือ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๕๐๘)

บรรพชนของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย
กล่าวคือ มาจาก ๔ ทิศทาง

พระชนกนั้นมีเชื้อสายมาจากกรุงเก่าทางหนึ่ง จากปักษ์ใต้ทางหนึ่ง

ส่วนพระชนนีมีมีเชื้อสายมาจากญวนทางหนึ่ง จากจีนทางหนึ่ง

นายน้อย คชวัตร เป็นบุตรนายเล็ก และ นางแดงอิ่ม
เป็นหลานปู่หลานย่าหลวงพิพิธภักดี และนางจีน

ตามที่เล่ามานั้น หลวงพิพิธภักดี เป็นชาวกรุงเก่า
เข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ
ได้ออกไปเป็นผู้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองไชยา คราวหนึ่ง
และเป็นผู้หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปคุมเชลยที่เมืองพระตะบองคราวหนึ่ง

หลวงพิพิธภักดี ไปได้ภริยาชาวเมืองไชยา ๒ คน
ชื่อ ทับ คนหนึ่ง ชื่อ นุ่น คนหนึ่ง
และได้ภริยาชาวเมืองพุมเรียง ๑ คน ชื่อ แต้ม

ต่อมาเมื่อครั้งพวกแขกยกเข้ามาตีเมืองไทร
เมืองตรัง เมืองสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาศรีพิพัฒน์
(ทัด ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔)
เป็นแม่ทัพยกออกไปปราบปราม

หลวงพิพิธภักดี ได้ไปในราชการทัพครั้งนั้นด้วย
และไปได้ภริยา ชื่อ จีน ซึ่งเป็นธิดาของพระยาปลัดเมืองตะกั่วทุ่ง (สน)
เป็นหลานสาวพระตะกั่วทุ่ง  
หรือ พระยาโลหภูมิพิสัย (ขุนดำ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช)

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:40
มีเรื่องราวดังที่เขียนไว้ในจดหมายหลวงอดุมสมบัติว่า

หลวงพิพิธภักดี ได้พาจีน
ภริยาจากตะกั่วทุ่งมาตั้งครอบครัวอยู่ในกรุงเทพฯ
ได้รับภริยาเดิม ชื่อ แต้ม จากพุมเรียงมาอยู่ด้วย
(ส่วนภริยาชาวเมืองไชยาอีก ๒ คน ได้ถึงแก่กรรมก่อน)

เวลานั้น พี่ชายของ หลวงพิพิธภักดี
เป็นที่พระพิชัยสงคราม เจ้าเมืองศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี
และ พระยาประสิทธิสงคราม (จำ) เจ้าเมืองกาญจนบุรีครั้งนั้น
ก็เป็นอาของหลวงพิพิธภักดี
ต่อมาหลวงพิพิธภักดีพาภริยาทั้ง ๒
ไปตั้งครอบครัวอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี เล่ากันมาว่า

หลวงพิพิธภักดี เป็นคนดุ
เมื่อรับราชการเป็นผู้ช่วยราชการเมืองไชยา
เคยเฆี่ยนนักโทษตายทั้งคา
เป็นเหตุให้หลวงพิพิธภักดีสลดใจลาออกจากราชการ

แต่บางคนบอกเล่าว่า

ต้องออกจากราชการเพราะความขึ้น
เรื่องที่เกี่ยวกับจีนหลานสาวพระตะกั่วทุ่ง
เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีนั้นแล้ว
พระพิชัยสงคราม ผู้พี่ชาย จะให้เขารับราชการอีก
หลวงพิพิธภักดี ไม่ยอมรับ สมัครทำนาอาชีพ


นายน้อย คชวัตร พระชนก


นายน้อย คชวัตร เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก
ตรงกับวันที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๗
ได้เรียนหนังสือ ตลอดจนถึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ ๒ พรรษา
ในสำนัก พระครูสิงคบุรคณาจารย์ (สุด)
เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)
ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน

พระครูสิงคบุรคณาจารย์ เป็นบุตรคนเล็กของหลวงพิพิธภักดี
และ นางจีน เป็นอาคนเล็กของ นายน้อย คชวัตร เอง
เมื่อลาสิกขาแล้วได้เข้ารับราชการ

เริ่มตั้งแต่เป็นเสมียนสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เมืองกาญจนบุรี
และได้แต่งงานกับ นางกิมน้อย เมื่ออายุ ๒๗ ปี

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:40

นางกิมน้อย คชวัตร พระชนนี


นางกิมน้อย คชวัตร มาจากบรรพชนทางญวนและจีน
บรรพชนสายญวนนั้นเข้ามาในเมืองไทย รัชกาลที่ ๓
เมื่อครั้ง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ยกทัพไปปราบจลาจลเมืองญวน ได้ครอบครัวญวนส่งเข้ามาถวาย

รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ญวนพวกที่นับถือพระพุทธศาสนาไปอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี
เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๒ เพื่อรักษาป้อมเมือง

ส่วนพวกที่นับถือคริสต์ศาสนา
ให้ไปรวมอยู่กับพวกญวนเข้ารีตที่ตำบลสามเสน ในกรุงเทพฯ

พวกญวนที่ไปตั้งครอบครัวอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีในครั้งนั้น
ได้สร้างวัดญวนขึ้นที่เมืองกาญจนบุรีวัดหนึ่ง ชื่อ วัดครั๊นถ่อตื่อ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดถาวรวราราม”
บรรพชนสายญวนของนางกิมน้อยเป็นพวกที่เรียกว่า “ญวนครัว”
ที่เข้ามาเมืองไทยในครั้งนั้น

ส่วนบรรพชนสายจีนนั้น ตามที่เล่ามาว่า
ได้โดยสารเรือสำเภามาจากเมืองจีน
เรือมาแตกก่อนจะถึงฝั่งเมืองไทย  
แต่ก็รอดชีวิตมาขึ้นฝั่งเมืองไทยได้
และได้ไปตั้งหลักฐานทำการค้าอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี

นางกิมน้อย คชวัตร
เป็นบุตรของนางเฮงเล็ก แซ่ตัน (สายจีน) และนายทองคำ (สายญวน)
เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ
ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๙
ที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

มีชื่อเรียกเมื่อเป็นเด็กว่า “กิมน้อย” แปลว่าเข็มน้อย
คำว่า “กิม” เป็นคำญวณ แปลว่าเข็ม
แต่งงานกับนายน้อย คชวัตร เมื่ออายุ ๒๕ ปี
และใช้ชื่อเมื่อแต่งงานแล้ว
ตามที่พบในสมุดบันทึกของนายน้อย คชวัตร ว่า “แดงแก้ว”
แต่ต่อมาใช้ชื่อว่า “กิมน้อย” หรือ “น้อย” ตลอดมา
นางกิมน้อย คชวัตร พูดญวนได้
และอ่านเขียนภาษาไทยได้เล็กน้อย

ตามประวัติการรับราชการ นายน้อย คชวัตร
ได้เป็นเสมียนอำเภอเมืองกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕
จนเป็นผู้ที่รั้งปลัดขวา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ต่อมาได้ไปตรวจราชการท้องที่
กลับมาป่วยเป็นไข้อย่างแรง
ต้องลาออกจากราชการคราวหนึ่ง
หายป่วยแล้วจึงกลับเข้ารับราชการใหม่

และได้ให้กำเนิดบุตรคนโต
คือ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
เป็นปลัดขวาอำเภอวังขนายในปีต่อมา
ได้สมัครเป็นสมาชิกเสือป่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:41

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)



ในศกนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงซ้อมรบเสือป่าที่บ้านโป่งและนครปฐม
ก็ได้มีโอกาสไปร่วมซ้อมรบด้วย

และในศกเดียวกันนั้นเอง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)  

ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ขณะประทับที่ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)
ได้โปรดให้ชาวบ้าน ข้าราชการ นำบุตรหลานเล็กเข้าเฝ้า

ในวันหนึ่ง นายน้อย คชวัตร ก็ได้นำบุตรคนโต อายุ ๒ ขวบ
คือ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เข้าเฝ้าด้วยในโอกาสนั้น

ต่อมา นายน้อย คชวัตร
ได้ย้ายไปเป็นปลัดอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ได้ไปป่วยเป็นโรคเนื้อร้ายงอกขึ้น
เมื่ออาการมากได้กลับมารักษาตัวที่บ้านจังหวัดกาญจนบุรี
และได้ถึงแก่กรรมเมื่อมีอายุได้เพียง ๓๘ ปี
ทิ้งบุตร ๓ คน ซึ่งมีอายุน้อยๆ ให้อยู่ในความอุปการะของภริยา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น
ป้าเฮ้ง ผู้เป็นพี่หญิงของนางกิมน้อย
ได้ขอไปเลี้ยงตั้งแต่เล็กๆ  และได้อยู่กับป้าเรื่อยมา

แม้เมื่อ นางกิมน้อย ต้องย้ายไปอยู่จังหวัดสมุทรสงคราม
ก็หาได้นำเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปด้วยไม่
เพราะเกรงใจป้าซึ่งรัก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาก
ป้าเลี้ยงเจ้าพระคุณสมเด็จด้วยความทะนุถนอม
เอาใจจนใครๆ พากันว่าเลี้ยงตามใจเกินไป
จะทำให้เสียเด็กภายหลัง แต่ป้าก็เถียงว่าไม่เสีย

เมื่อทรงพระเยาว์ก่อนที่จะทรงบรรพชาเป็นสามเณรนั้น
คนภายนอกมักจะเห็นว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ทรงมีร่างกายอ่อนแอ ขี้อาย เจ็บป่วยอยู่เสมอ

คราวหนึ่งป่วยถึงกับผู้ใหญ่คิดว่าไม่หาย
และบนว่าถ้าหายจะให้บวชแก้บน
ข้อนี้เป็นเหตุหนึ่งทำให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรในเวลาต่อมา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ทรงมีพระนิสัยทางพระแสดงออกตั้งแต่ทรงพระเยาว์
คือชอบเล่นเป็นพระ ทำคัมภีร์เทศน์เล็ก พัดยศเล็ก


(ตามที่เห็นคือพัดพระครูของท่านพระครูอดุลยสมณิจครั้งนั้น)
เก็บหินมาทำภูเขา มีถ้ำ ทำเจดีย์เล็กบนยอดเขา
เล่นทอดกฐินผ้าป่า เล่นทิ้งกระจาด
และทำรูปยมบาลเล็กด้วยกระดาษแบบพิธีทิ้งกระจาดที่วัดญวน

เมื่อทรงเจ็บป่วยขึ้นผู้ใหญ่ต้องนำรูปยมบาลไปเผาทิ้งเสีย
ในคราวที่ป้าต้องตื่นแต่เช้ามืดออกไปทำงาน
ก็ต้องให้เทียนไว้สำหรับจุดที่นั่งเล่นพราะไม่ยอมนอน

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:42

ด้านหน้าวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เข้าโรงเรียนประถมศึกษาเมื่อพระชนมายุได้ ๘ ขวบ
ที่ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน
และโรงเรียนในครั้งนั้นก็คือศาลาวัดนั่นเอง ทรงเรียนจนจบชั้นสูงสุด
คือประถมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งเท่ากับจบประถมศึกษาเมื่อครั้งกระนั้น
ถ้าจะเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาก็ต้องย้ายไปเข้า
โรงเรียนมัธยมวัดชัยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้)
ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี

แต่ครูโรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม
ชวนให้ไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งจะเปิดสอนต่อไปที่
โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ซึ่งเท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ ๑
และจะเปิดชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ซึ่งเท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ต่อไปอีก
แต่ไม่มีภาษาอังกฤษเท่านั้น
จึงตกลงเรียนที่ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ต่อไป
มีเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันหลายคนย้ายไปเรียนชั้นมัธยมที่
โรงเรียนมัธยมวัดชัยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) แล้วมาต่อที่กรุงเทพฯ

ในระหว่างเป็นนักเรียนได้สมัครเป็นอนุกาชาด
และเป็นลูกเสือได้เรียนวิชาลูกเสือ สอบได้เป็นลูกเสือเอก

ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ฝึกซ้อมรบลูกเสืออย่างหนัก
โดยฝึกรบอย่างทหารใช้พลองแทนปืน
เพราะมีกำหนดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงซ้อมรบเสือป่าที่บ้านโป่งและนครปฐม
และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ลูกเสือจากกาญจนบุรีเข้าร่วมการซ้อมรบด้วย
แต่ก็ได้เสด็จสวรรคตในศกนั้นเอง
จึงเป็นอันเลิกเรื่องการซ้อมรบเสือป่าลูกเสือ

ขณะเป็นนักเรียนอยู่นั้นเคยรับเสด็จเจ้านายหลายครั้ง
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข
เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช

ได้เสด็จประพาสจังหวัดกาญจนบุรี
และได้เสด็จเยี่ยม โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ครั้งหนึ่ง


สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:42

เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร


๏ ทรงบรรพชา

ในต้นพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙
จะมีน้าออกบวชเป็นพระภิกษุที่ วัดเทวสังฆาราม  ๒ คน   
พระชนนีและป้าจึงชวนให้บวชเป็นสามเณรแก้บนเสียให้เสร็จ   
จึงตกลงพระทัยบวชเป็นสามเณรในศกนั้น เมื่อพระชนมายุเข้า ๑๔ ปี   

โดยมี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์)
(สุดท้ายได้เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมงคลรังษี)
เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)
ที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดเหนือ” เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูนิวิฐสมาจารย์ (สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ)
(สุดท้ายได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณสมาจาร)
เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว)
ที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดหนองบัว” เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

บรรพชาแล้วจำพรรษาอยู่ที่ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)


พระครูอดุลยสมณกิจ (ดี พุทฺธโชติ) พระอุปัชฌาย์
(สุดท้ายได้เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพมงคลรังษี)
เมื่อครั้งทรงบรรพชาและทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม



ก่อนที่ทรงบรรพชาเป็นสามเณรนั้น   
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่เคยอยู่วัด   
ไม่คุ้นเคยกับหลวงพ่อและพระทุกองค์   
เป็นแต่ไปเรียนหนังสือในวัด  
ไปบำเพ็ญกุศลตามเทศกาลต่างๆ ในวัด  

เคยพาป้าไปฟังเทศน์ตอนค่ำพรรษาหนึ่ง
มีเทศน์ชาดกติดต่อกันทุกคืนภายในพรรษา  
ติดพระทัยเร่งป้าให้ไปฟังนิทานทุกคืน   
ถ้าเป็นเทศน์ธรรมะฟังไม่เข้าใจก็เร่งให้กลับ   

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้อยู่กับป้าไม่เคยแยก   
นอกจากไปแรมคืนเมือเป็นลูกเสือบางครั้งเท่านั้น   
คืนวันสุดท้ายก่อนจะทรงบรรพชาเป็นสามเณร ป้าพูดว่า

“คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่จะอยู่ด้วยกัน”

ซึ่งก็เป็นความจริง   ได้แยกจากกันตั้งแต่วันนั้นมา   
จนอวสานแห่งชีวิตของป้า (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗)

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:43

พระอุโบสถวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี


พรรษาแรกแห่งชีวิตพรหมจรรย์หมดไปด้วยการท่องสามเณรสิกขา
ทำวัตรสวดมนต์ต่างๆ กับทำอุปัชฌายวัตร ยังมิได้เริ่มศีกษานักธรรม

พระครูอดุลยสมณกิจ หรือหลวงพ่อวัดเหนือ (หลวงพ่อดี พุทฺธโชติ)  
ได้ต่อเทศน์กัณฑ์อริยทรัพย์ ๗ ประการ แบบต่อหนังสือค่ำให้กัณฑ์หนึ่ง
คือเมื่อเข้าไปทำอุปัชฌายวัตรทุกคืน
ท่านอ่านนำให้ท่องตามทีละวรรค คืนละตอนจนจำได้ทั้งกัณฑ์
แล้วให้ขึ้นเทศน์ปากเปล่าแก่พุทธบริษัทในคืนวันพระคืนหนึ่ง

ครั้นวันออกพรรษาแล้วก็ยังเพลินอยู่ หลวงพ่อจึงชักชวนให้ไปเรียนภาษาบาลี
ที่ วัดเสนหา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
เพื่อที่ว่าต่อไปจะได้กลับมาสอนที่ วัดเทวสังฆาราม
ท่านว่าจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้


ศาสนสถานภายในบริเวณวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี


ครั้นสามเณรและผู้เป็นญาติโยมยินยอมแล้ว
หลวงพ่อจึงนำ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปฝากไว้กับ
พระครูสังวรวินัย (อาจ ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดเสนหา
เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:44

เมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เริ่มเรียนไวยากรณ์ที่วัดเสนหา ในพรรษาศกนั้น
อาจารย์ผู้สอนเป็นพระเปรียญมาจาก วัดมกุฏกษัตริยาราม  
ออกพรรษาแล้ว อาจารย์เห็นว่าจะทรงเจริญก้าวหน้าในการเรียน  
จึงชักชวนให้ไปอยู่ที่ วัดมกุฏกษัตริยาราม  
และได้ติดต่อฝากฝังทางวัด  ให้ทางวัดจัดกุฏิเตรียมสำหรับที่อยู่
และแจ้งว่ามีนิตยภัตบำรุงของเจ้าของกุฏิด้วย

จึงได้หารือเรื่องนี้กับหลวงพ่อ  แต่ท่านไม่เห็นด้วย  
เพราะท่านคิดจะนำไปฝากให้เรียนต่อที่วัดบวรนิเวศวิหารอยู่  
จึงเป็นอันงดไม่ได้ไปอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม


ส่วน พระครูสังวรวินัย (อาจ ชุตินฺธโร) นั้น  
ได้อาพาธเป็นวัณโรคถึงแก่มรณภาพในเวลาต่อมา
พระปลัดห้อย (ต่อมาเป็นพระครูสังวรวินัย)  เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา  

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม
เรียนแปลธรรมบทปี พ.ศ. ๒๔๗๒  อีกพรรษาหนึ่ง  
ออกพรรษาแล้วกลับไปพัก วัดเทวสังฆาราม เตรียมเข้ากรุงเทพฯ
เพราะหลวงพ่อได้เข้ามากราบเรียนฝาก
เจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร (พระยศในขณะนั้น)
หรือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(สุจิตฺโต ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์)
ในกาลต่อมา และท่านได้กรุณารับไว้แล้ว


เจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  ในกาลต่อมา



เจ้าพระคุณสมเด็จฯ  มีโอกาสได้เห็น เจ้าพระคุณสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
เป็นครั้งแรกที่วัดเสนหา เมื่อเสด็จออกไปแสดงธรรมเทศนา  
ในงานพระราชทานเพลิงศพ   พระครูสังวรวินัย (อาจ ชุตินฺธโร)

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:45
หลวงพ่อได้นำ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
มาฝาก เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๒  ก็ได้ทรงพระเมตตารับไว้
และทรงมอบให้อยู่ในความปกครองดูแลของ
พระครูพุทธมนต์ปรีชา  (เฉลิม โรจนศิริ ป.ธ. ๓ ต่อมาลาสิกขา)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับประทานพระฉายา  
จากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ว่า “สุวฑฺฒโณ”
ได้ปฏิบัติทุกอย่างตามกฎกติกาของวัดบวรนิเวศวิหาร
เช่น ซ้อมสวดมนต์ได้จบหลักสูตรของวัด

ในปีแรกที่มาอยู่ วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม  สอบได้ตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๗๒  พระชนมายุ ๑๗ สอบได้นักธรรมตรี
พ.ศ. ๒๔๗๓ พระชนมายุ ๑๘ สอบได้นักธรรมโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๕ พระชนมายุ ๒๐  สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินหลวง วัดบวรนิเวศวิหาร  
ขณะนั้น มีการพระราชทานผ้าไตรแก่พระภิกษุสามเณรเปรียญทั้งวัด

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นสามเณรเปรียญรูปเดียวในศกนั้น
ที่ได้เข้ารับพระราชทานผ้าไตรจากพระราชหัตถ์


ปีต่อจากนั้นก็งด
มีเหลือแต่ไตรสดัปกรณ์เพียง ๑๐ ไตร จนกระทั่งปัจจุบัน


พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:46

เมื่อครั้งทรงเป็นพระมหาเจริญ สุวฑฺฒโน ทรงถ่ายภาพร่วมกับพระภิกษุสามเณร
วัดเทวสังฆราราม จ.กาญจนบุรี (แถวนั่ง องค์ที่ ๓ จากขวา)



๏ ทรงอุปสมบท

เมื่อ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาอยู่ วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒  
ก็มิได้มาบวชแปลงใหม่เป็นสามเณรธรรมยุต  
เพราะหลวงพ่อมีความประสงค์จะให้กลับมาบวช
อยู่ช่วยท่านสอนพระปริยัติธรรมที่ วัดเทวสังฆาราม  

ครั้นพระชนมายุครบอุปสมบทได้ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงกลับมาอุปสมบทที่ วัดเทวสังฆาราม  
เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖  
ตรงกับวันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ  เดือน ๗ ปีระกา


พระครูอดุลยสมณกิจ (ดี พุทฺธโชติ)  พระอุปัชฌาย์
เมื่อครั้งทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม



โดยมี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์)
เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) เป็นพระอุปัชฌาย์  
(สุดท้ายเลื่อนขึ้นเป็น พระเทพมงคลรังษี ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)

พระครูนิวิฐสมาจารย์ (สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ)  
เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
(สุดท้ายเลื่อนขึ้นเป็น พระโสภณสมาจาร ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓)

พระปลัดหรุง เสี่ยงฉี เจ้าอาวาสวัดทุ่งเสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
(ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙)

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:47

พระครูนิวิฐสมาจารย์ (เหรียญ สุวณฺณโชติ) พระกรรมวาจาจารย์
เมื่อครั้งทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม



เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
แล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา
แล้วกลับมาพำนักที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้ทรงทำทัฬหีกรรม (อุปสมบทซ้ำ) เป็นธรรมยุตอีกครั้งหนึ่ง
ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น  
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖
(ขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นต้นปี)
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา
ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร


โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(สุจิตฺโต ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์)
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นที่  
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

พระรัตนธัชมุนี (อิสฺสรญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์)
ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

มีพระนามฉายาว่า “สุวฑฺฒโน” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้เจริญดียิ่ง


พระปลัดหรุง เสี่ยงฉี พระอนุสาวนาจารย์
เมื่อครั้งทรงอุปสมบท ณ วัดเทวสังฆาราม



แม้มาอุปสมบทอยู่ วัดบวรนิเวศวิหาร แล้ว
ก็ยังเวียนไปมาช่วยหลวงพ่อสอนพระปริยัติธรรมที่ วัดเทวสังฆาราม อยู่อีก ๒ ปี
ระหว่าง ๓ ปีแรก  ที่ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุนี้  สอบได้ทุกปี คือ

พ.ศ. ๒๔๗๖ พระชนมายุ ๒๑ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๗ พระชนมายุ ๒๒ สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๘ พระชนมายุ ๒๓ สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สอบเป็นพระเปรียญ
สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร เรื่อยมาทุกประโยค
เว้นแต่แต่ประโยค ป.ธ. ๗ สอบในนามสำนักเรียน วัดมกุฏกษัตริยาราม

เพราะเจ้าหน้าที่ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ทำตกบัญชีขอเข้าสอบ  
จึงไปเที่ยวแสวงหาว่าสำนักเรียนไหน
ส่งชื่อนักเรียนขอเข้าสอบประโยค ป.ธ. ๗ แต่สลละสิทธิ์ไม่สอบ
และทาง วัดมกุฏกษัตริยราม อนุญาตให้เข้าสอบในสำนักเรียนนั้นได้  
โดยเลขที่ของผู้ที่สมัครไว้แต่ไม่สอบนั้น
จึงกลายเป็นพระ สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม ไปประโยคหนึ่ง

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:47

พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) พระกรรมวาจาจารย์
เมื่อครั้งทรงอุปสมบทซ้ำ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เรียนภาษาอังกฤษและสันสกฤต  
กับ ท่านสวามีสัตยานันทบุรี ปราชญ์ชาวอินเดีย อยู่ประมาณ ๒ ปี
ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๗๘ ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

แต่การเรียนไม่ค่อยสะดวกนัก
เพราะต้องเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมบ้าง บาลีบ้าง ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
และต้องช่วยทำงานอย่างอื่นๆ อีก
เมื่อเวลาสอนมาตรงกับเวลาเรียน ก็ต้องงดการเรียนไปทำการสอน

ในด้านพระปริยัติธรรมได้ทรงสอบบาลีต่อขึ้นไปอีก ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๘๑ พระชนมายุ ๒๘ สอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๒ พระชนมายุ ๒๙ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค



ทัศนียภาพภายในวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:48

เมื่อครั้งทรงเป็นพระเปรียญ


๏ พระศาสนกิจและสมณศักดิ์

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเริ่มรับภาระทางวัด
และทางการศึกษาตั้งแต่ยังเป็นพระเปรียญตรี เปรียญโท
คือเป็น ครูสอนพระปริยัติธรรม นักธรรมบ้าง บาลีบ้าง

และเมื่อมีวิทยะฐานะเข้าเกณฑ์เป็นกรรมการตรวจนักธรรมและบาลี
ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการตรวจและบาลีแห่งสนามหลวง เรื่อยมา
ตั้งแต่นักธรรมชั้นตรีถึงชั้นเอก
ตั้งแต่ประโยค ป.ธ. ๓ ถึง ประโยค ป.ธ. ๙
ได้ทรงรับภาระทางคณะสง์และการพระศาสนาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับคือ

• พ.ศ. ๒๔๘๔

เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง
(ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔)
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ฉบับนี้ได้เลิกใช้
เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แทน

เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย
ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๖๐
แห่งพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
และเป็น ผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร


เมื่อครั้งทรงเป็นพระเปรียญ


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:49
• พ.ศ. ๒๔๘๘

เป็นพระวินัยชั้นอุทธรณ์
เป็น กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

• พ.ศ. ๒๔๘๙

เป็นเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เป็นอาจารย์บรรยายวิชาพระสูตร และพระอภิธรรม
ในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

• พ.ศ. ๒๔๙๐

พระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโศภณคณาภรณ์
(มีความหมายว่า ผู้เป็นอาภรณ์หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม)
ซึ่งเป็นพระราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นรูปแรก
และเป็น กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะที่พระโศภณคณาภรณ์


• พ.ศ. ๒๔๙๓

เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย

• พ.ศ. ๒๔๙๓

เป็น กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว

• พ.ศ. ๒๔๙๔

เป็น กรรมการอำนวยการมหามกูฏราชวิทยาลัย
กรรมการแผนกตำราของมหามกุฏฯ


• พ.ศ ๒๔๙๕

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
และเป็นผู้ร่วมในคณะฑูตพิเศษที่มหามกุฏราชวิทยาลัย
ส่งไปร่วมฉลองพระบรมสารีริกธาตุและพระอัครสาวกธาตุ
ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

• พ.ศ. ๒๔๙๖

เป็นกรรมการตรวจชำระคัมภีร์ฎีกา

• พ.ศ. ๒๔๙๗

เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทถาวร
และเป็นผู้ร่วมในคณะพระเถระแห่งคณะสงฆ์ไทยไปร่วมประชุมสมัยที่ ๒
แห่ง ฉัฏฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ กรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า

• พ.ศ. ๒๔๙๘

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:50

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร



• พ.ศ. ๒๔๙๙

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชอุปัธยาจารย์
ของ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
ทรงเลือกพระองค์เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระโศภณคณาภรณ์
ให้เป็น “พระอภิบาล” (พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙

และในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้น
ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์
(มีความหมายว่า ผู้มีธรรมเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ)
ซึ่งเป็นพระราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นรูปแรก
และรักษาการวินัยธรชั้นฎีกา


เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมวราภรณ์


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:51









เมื่อครั้งทรงเป็น “พระอภิบาล” ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน  
ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:51

ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดเทวสังฆาราม
เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมวราภรณ์



• พ.ศ. ๒๕๐๐

เป็น กรรมการพิจารณาร่างระเบียบบริหารวัดธรรมยุต
และได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์

• พ.ศ. ๒๕๐๑

เป็น กรรมการคณะธรรมยุต
และเป็น กรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)

• พ.ศ. ๒๕๐๓

เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองสั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุต
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
องค์การหนึ่งๆ มีสังฆมนตรีสองรูป
สำหรับฝ่ายมหานิกายหนึ่งรูป สำหรับฝ่ายธรรมยุตหนึ่งรูป
และเป็นกรรมการดำเนินการสร้างธรรมสภา (แต่โครงการนี้ได้หยุดชะงักไป)


เมื่อครั้งทรงเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครองฯ
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่พระธรรมวราภรณ์



• พ.ศ. ๒๕๐๔

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง
(คือรองเจ้าคณะใหญ่ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ) ที่ พระสาสนโสภณ
(มีความหมายว่า ผู้งามในพระศาสนาหรือผู้ยังพระศาสนาให้งาม)

เป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ลำดับที่ ๖ สืบต่อจากพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
เป็น ผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็น ประธานกรรมการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

เป็น กรรมการโครงการเชิดชูและบำรุงพระพุทธศาสนา โดยตำแหน่ง
เป็น ผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตทุกภาคทั่วราชอาณาจักร

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:52
• พ.ศ. ๒๕๐๖

เป็น พระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๐๕ มีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
กล่าวคือ ยกเลิกพระราชบัญญัติคณสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
แล้วให้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แทน
ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ กำหนดให้มหาเถรสมาคม (มส.)
มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน บริหารปกครองคณะสงฆ์
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
นับเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรก
ซึ่งประกอบไปด้วยพระมหาเถระทั้งหมด ๘ รูป คือ

(๑) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ
ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖  (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๕๐๘)

(๒) สมเด็จพระมหาวีระวงศ์  (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ (สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔)

(๓) สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ (สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖)  

(๔) พระธรรมปัญญาบดี (วน ฐิติญาโณ) วัดอรุณราชวราราม
ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐)

(๕) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  
ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ (สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑)

(๖) พระสาสนโสภณ (เจริญ  สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร  
คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ

(๗) พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี อินฺทโชโต) วัดอนงคาราม
(มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑)

(๘) พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) วัดสัมพันธวงศ์  
(มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐) ครั้นถึงเดือนพฤษาคม ศกเดียวกัน (พ.ศ. ๒๕๐๖)
ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์


อนึ่ง กรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกนี้
ได้ประชุมกันครั้งแรก ณ พระอุโบสถวัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม
ทุกสมัยตั้งแต่เริ่มต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม  แผนกบาลี
และเป็น อนุกรรมการพิจารณาร่างกฎมหาเถรสมาคม ตลอดมาทุกสมัย


เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะที่พระสาสนโสภณ
และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:53
• พ.ศ. ๒๕๐๗

เป็น อนุกรรมการพิจารณาร่างระเบียบการเดินทางไปต่างประเทศ
ของพระภิกษุสามเณร

เป็น ผู้ถวายพระธรรมเทศนา “พระมงคลวิเสสกถา” (วิเศษกถา)
ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลปัจจุบัน
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗

พระมงคลวิเสสกถา เป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่ง เริ่มมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔
ซึ่งพรรณนาพระราชจรรยาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์
จะได้ทรงพระปัจจเวขณ์ (คือพิจารณา) ถึงแล้ว เกิดพระปีติปราโมทย์แล้ว
ทรงบำเพ็ญราชธรรมนั้นยิ่งๆ เป็นการอุปถัมภ์พระราชจรรยาให้ถาวรไพบูลย์
พระเถระที่จะรับหน้าที่ถวายในครั้งนั้น สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ปัจจุบัน การถวายพระมงคลวิเสสกถาเป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช
หรือพระเถระรูปใดรูปหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมอบหมาย

• พ.ศ. ๒๕๐๙

เป็น ประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
และในฐานะที่เป็นประธานกรรมการอำนวยการพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อพิจารณาเพิ่มการศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
กำหนดให้หลักสูตรพระธรรมทูตรวมอยู่ด้วย
เพราะผู้ที่มารับการศึกษาอบรมพระธรรมฑูตนั้น
ได้ผ่านการศึกษาขั้นปริญญาตรีของสองมหาวิทยาลัยสงฆ์มาแล้ว

ทั้งเป็นการช่วยให้พระที่ต้องการจะศึกษาต่อปริญญาโท
ไม่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ  
เป็นการช่วยประหยัดการใช้จ่ายของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

และในโอกาสเดียวกันก็ได้เสนอมหาเถรสมาคม
ให้รับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์
คือสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในวัดบวรนิเวศวิหาร
และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์


ผลปรากฏว่า ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
คณะสงฆ์ก็ได้รับรองสองมหาวิทยาลัยสงฆ์
เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์นับว่าเป็นครั้งแรก
ที่ทำให้สองมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าวมาแล้ว
เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์

สำหรับข้อพิจารณาเพิ่มการศึกษาขั้นปริญญาโทของคณะสงฆ์ขึ้น
แม้ว่าโครงการนี้จะยังไม่สำเร็จตามโครงการในขณะนั้น
แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
ก็ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทขึ้นเป็นผลสำเร็จ

นับว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงมีพระคุณูปการ
แก่การศึกษาของคณะสงฆ์ในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง


• พ.ศ. ๒๕๑๐

เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาเรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาประจำปี ๒๕๑๑
เป็นประธานอนุกรรมการพิจาณาร่างระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยวิธีการปฏิบัติในการปลูกสร้างอากาศในที่ดินของวัดซึ่งที่ผู้เช่าอยู่

เป็นประธานอนุกรรมการพิจาณาหลักเกณฑ์ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟ
ให้พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา
และเป็นอนุกรรมการพิจาณณาแก้ไขข้อขัดข้องในระหว่างวัดกับผู้เช่า (พ.ว.ช.)

• พ.ศ. ๒๕๑๑

เป็น ประธานอนุกรรมการพิจารณาโครงการรับการศึกษา
ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์

• พ.ศ. ๒๕๑๒

เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโครงการจัดตั้งโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนกลาง

• พ.ศ. ๒๕๑๔

เป็น ประธานอนุกรรมการพิจารณาร่างกฏมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ


• พ.ศ. ๒๕๑๕

เป็น พระธานกรรมการบริหารงานของสภาการศึกษาของคณะสงฆ์
เป็น รองประธานกรรมการและผู้อำนวยการ
โรงเรียนพระสังฆาธิการคณะธรรมยุต

เป็น เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ (ธรรมยุต)
และเป็น ประธานกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน

• พ.ศ. ๒๕๑๖

เป็น ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:54

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร
(พระรูปฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)



๏ สมเด็จพระญาณสังวรรูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในอภิลักขิตกาลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร”
สมเด็จพระราชาคณะในราชทินนามนี้ มีขึ้นเมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์

คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑
ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในวิปัสสนาคุณ
ของ พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา

จึงทรงอาราธนามาให้ครอง วัดพลับ (คือวัดราชสิทธาราม)
และพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณสังวร”
ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ
สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนนาท
และ บาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

สมัยดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
เป็นพระอุปัชฌาย์ของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓
สมัยทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

และเป็นพระอุปัชฌาย์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔
สมัยทรงผนวชเป็นสามเณร

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่
“สมเด็จพระญาณสังวร” และกล่าวกันว่าท่านนั่งหน้า
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
เสมอในงานราชการเพราะมีพรรษายุกาลมากกว่า


สมเด็จพระสังฆราช (สุก) หรือ “พระสังฆราชไก่เถื่อน”


ครั้นเมื่อ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์แล้ว
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ท่านทรงเป็นที่เลื่องลือมากในทางวิปัสสนาคุณ
โดยเฉพาะทางเมตตาพรหมวิหารคุณ กล่าวกันว่า
สามารถแผ่เมตตาจนทำให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้
จึงเรียกกันทั่วไปว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน”

ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณสังวร”
ซึ่งพระองค์ท่านได้รับพระราชทานเป็นองค์แรก
จึงเป็นที่รู้จักและจำกันได้ติดใจของคนทั่วไป

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:54
หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนา
ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้ว
สมเด็จพระราชาคณะในราชทินนามนี้
ก็มิได้พระราชทานแก่พระเถระรูปใดอีกเลย  
นับแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕
นี่ก็เป็นเวลานานถึง ๑๕๒ ปี


อนึ่งในวโรกาสที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับสถาปนา
เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นี้


คณะชาวจังหวัดกาญจนบุรี
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประธาน
ได้พร้อมใจกันจัดงานสมโภชสุพรรณบัฏ
ในวันที่ ๒๑-๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖
ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี

คณะกรรมการจัดงานได้มีมติให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกในโอกาสอันเป็นมงคลนี้
สำหรับเป็นที่ระลึกบูชาของคณะศิษยานุศิษย์
และผู้เคารพนับถือใน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้น
จำนวน ๒๐,๐๐๐ เหรียญ (สองหมื่นเหรียญ)


เหรียญสมโภชน์พระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ (ด้านหน้า)



ลักษณะเป็นเหรียญทองแดงรมดำ ขนาด ๒.๗-๓ ซ.ม.
ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินสีห์
ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถพระวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร
มีจารึกอักษรขอม มีมุม  มุมๆ ละหนึ่งตัว
อ่าน น ชา ลิ ติ เป็นหัวใจคาพระสิวลี หริอพระฉิมพลี

ใต้รูปพระพุทธชินสีห์มีจารึก

“สมโภชน์พระสมณศักดิ์สมเด็จพระญาณสังวร ๒๒ เมษายน ๒๕๑๖”

สำหรับด้านหลังเป็นคำอำนวยพร
ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้ประพันธ์ขึ้นสำหรับจารึกในเหรียญนี้เป็นพิเศษ  
และมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับประวัติของพระองค์ด้วย ดังนี้

อิสฺวาสุรตนตฺตยํ         

ขอรัตนสาม คือ อิ (อิติปิโส ภควา, สวา (สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม),
สุ (สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ)

รกขตุ ตฺวํ นิรนฺตรํ

จงรักษาท่านชั่วนิรันดร์

โหตุ สวฑฺฒโน สาธุ

จงเป็นผู้เจริญดี เป็นคนดี

สพฺพตฺถ ญาณสํวโร
และจงเป็นผู้สำรวมในญาณ (คือ ความรู้) ทุกเมื่อแล


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:56

เหรียญสมโภชน์พระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ (ด้านหลัง)



คำว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งแปลว่า “ผู้เจริญดียิ่ง”
มาจากนามฉายาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ

คำว่า “ญาณสํวโร” ซึ่งแปลว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้
หรือผู้มีความสำรวมในความรู้อย่างยิ่ง
(“ญาณ” หมายถึง ความรู้ และ “สังวร” หมายถึง สำรวม)
มาจากราชทินนาม “สมเด็จพระญาณสังวร”



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


• พ.ศ. ๒๕๑๖

ในฐานะคณะกรรมการมหาเถรสมาคม
และรองประธานคณะกรรมการคณะธรรมยุต
ทรงได้รับฉันทานุมัติจากคณะกรรมการคณะธรรมยุต
ให้เสด็จไปทรงตรวจการณ์คณะสงฆ์  

และทรงเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม ๙ จังหวัด  
คือจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดขอนแก่น

• พ.ศ. ๒๕๑๗

เป็นคณะกรรมการคณะธรรมยุต  

• พ.ศ. ๒๕๑๘

เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนครูปริยัติธรรม คณะธรรมยุต  

•  พ.ศ. ๒๕๑๙  

เป็นกรรมการคณะมูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์

• พ.ศ.  ๒๕๒๐  

เป็น ประธานอำนวยการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณ์ราชวิทยาลัย

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:57

เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร
ในการทรงผนวช และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



• พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
ในการทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  
เป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัย
ขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร   กรุงเทพฯ
ระหว่างวันที่ ๖-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์

• พ.ศ ๒๕๒๒

เป็นประธานอำนวยการมูลนิธิสิรินธร

• พ.ศ. ๒๕๒๔

ในฐานะ กรรมการมหาเถรสมาคม
และ ประธานกรรมการคณะธรรมยุต
ทรงได้รับฉันทานุมติจากคณะกรรมการคณะธรรมยุต
ให้เสด็จไปทรงตรวจการคณะสงฆ์
และทรงเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในภาคเหนือ รวม ๑๐ จังหวัด

คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดตาก จังหวัดลำปาง
จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย
จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดอุรดิตถ์ และจังหวัดกำแพงเพชร

• พ.ศ. ๒๕๒๕

เป็นผู้ถวาย พระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา (วิเศษกถา)
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และถวายตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


พระรูปสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี




โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:58
• พ.ศ. ๒๕๒๖

เป็น ประธานกรรมการมูลนิธิวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์

• พ.ศ. ๒๕๒๗

เป็น ประธานกรรมการมูลนิธิพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา
เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์

• พ.ศ. ๒๕๒๘

เป็น ผู้อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ในกระบวนพระราชอิสริยยศ สู่ พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง

เป็น รองประธานกรรมการสังคีติการกสงฆ์
ในการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก

เป็น สังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก
ในการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  ๕ รอบ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

จนสำเร็จทันในการพระราชพิธีฉลองเฉลิมพระชนมพรรษา

• พ.ศ. ๒๕๓๐

เป็น พระประธานกรรมการมูลนิธิแผ่นดินธรรม
เป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูจิตใจผู้ติดยาเสพติด

และเป็น พระอุปัชฌาย์ ในวโรกาส
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชูถัมภ์ในการ หม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล
พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
ทรงผนวชสามเณร ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
เมื่อวันอังคารที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา

• พ.ศ. ๒๕๓๑

รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
รักษาการเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดชลบุรี
ทรงเป็น นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
เป็น นายกสภาการศึกษาในมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ


พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 22:59
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-10-25 23:00


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



๏ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ นี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล
สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ
สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง
วชิรญาณวงศวิวัฒ  พุทธะบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร
สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสีอรัณยวาสี


สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  พระอารามหลวง
ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ
คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญฯ


พระนาม และคำแปล

สมเด็จพระญาณสังวร        
สมเด็จ พระผู้มีสังวรธรรม (ธรรมเป็นเครื่องระวัง)
อันประกอบด้วยพระปรีชาญาณ

บรมนริศธรรมนีติภิบาล        
ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในการถวายแนะนำพระธรรม
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    ผู้ทรงเป็นใหญ่อย่างยิ่งในหมู่นรชน

อริยวงศาคตญาณวิมล        
ผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน  
ด้วยพระญาณอันสืบมาแต่วงศ์ของพระอริยะเจ้า

สกลมหาสังฆปริณายก        
ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง

ตรีปิฎกปริยัติธาดา
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือพระไตรปิฎก

วิสุทธจริยาธิสมบัติ
ทรงถึงพร้อมอย่างยิ่งด้วยพระจริยา (ความประพฤติ) อันบริสุทธิ์วิเศษ

สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต        
ปรากฏพระนาม (พระฉายา) ในทางพระสงฆ์ว่า สุวัฑฒนะ

ปาวจนุตตมพิสาร
ทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์
(คำอันเป็นประธานคือพระธรรมวินัยอันสูงสุด)

สุขุมธรรมวิธานธำรง        
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน

วชิรญาณวงศวิวัฒ  
ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

พุทธบริษัทคารวสถาน        
ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท

วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
ทรงมีพระคุณอันเจริญด้วยพระปฏิภาณอันวิจิตร

วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร        
ทรงงดงามด้วยพระศีลจารวัตรอันไพบูลย์

บวรธรรมบพิตร        
ทรงเป็นบพิตร (เป็นเจ้า) ทรงพระธรรมอันประเสริฐ

สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี
ทรงเป็นประธานและอธิบดีผู้เป็นใหญ่ เป็นอิสระของคณะสงฆ์ทั้งปวง

คามวาสีอรัณยวาสี        ทั้งคามวาสีและอรัณยวาสี

สมเด็จพระสังฆราช  ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระอารามหลวง
ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ
คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญฯ


ผู้แปลความพระสุพรรณบัฏ

นายสิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙
นายสุชีพ ปุญญานุภาพ ป.ธ. ๙  ตรวจ
นายแปลก สนธิรักษ์  ป.ธ. ๙  ตรวจ


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:01

พระแท่นเศวตฉัตร ๓ ชั้น
หนึ่งในเครื่องประกอบพระสมณศักดิ์สำคัญที่สมเด็จพระสังฆราช



๏ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเสร็จสิ้นลงในภาคเช้าแล้ว  

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีสถาปนา
สมเด็จพระสังฆราช  ในภาคบ่ายวันเดียวกัน  

เจ้าพนักงานได้เตรียมการตั้งแต่ง  
และตรวจแต่งเครื่องประกอบ
พระราชพิธีในพระอุโบสวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มเติม ดังนี้

บนธรรมาสน์ศิลาหน้าฐานพระเบญจาบุษบก  
ที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  
ประดับตกแต่งด้วยแจกันดอกบัวขาวแซมด้วยดอกหน้าวัว  
ตั้งโต๊ะสลักลายปิดทอง  
ปูด้วยผ้าขาววางพานพระมหาสังฆ์ทักษิณาวัฏ  
พร้อมด้วยเรื่องยศสมณศักดิ์  
ประกอบด้วยพระสุพรรณบัฏวางบนพานแว่นฟ้า  
กลีบบัวครอบด้วยคลุมปักดิ้นทอง

ใบกำกับพระสุพรรณบัฏและใบประกาศพระบรมราชโองการ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวางที่ขอบพานกลับบัว  
พระตราตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช  
วางบนตะลุ่มพุก  พัดยศ ไตร   แพรวางบนตะลุ่มมุก
บาตรพร้อมด้วยฝาและเชิงบาตรรมปัด  

เครื่องถมปัดมี พานพระศรี  
ประกอบด้วยมังสี ๒ ตลับพู่ ๑ จอก ๑ ซองพลู ๑  (พร้อมพลู)  
ขันน้ำพานรองมีจอกคลุมตาดรูปฝาชี
ถาดสรงพระพักตร์ หีบตราพระจักรี (หีบหลังเจียด)
คณโฑ กาทรงกระบอก หม้อลักจั่น
ปิ่นทรงกลม ๔ ชั้น สุพรรณราช สุพรรณศรี

หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่  
พร้อมพระแท่นทรงกราบสำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
และทอดเครื่องนมัสการทองทิศ
สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ

แนวผนังพระอุโบสถด้านใต้  ปูพรมที่สีแดงลาดสุหนี่ทับ
ทอดพระราชอาสน์สำหรับเป็นที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ
พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภค   
มีพานพระขันหมาก พระสุพรรณศรีทองคำลงยา
พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ พระสุพรรณาราช  
พระแสงปืนและพระแสงง้าวด้ามทอง

แถวที่สองหลังพระราชอาสน์ทอดพระราชอาสน์
สำหรับเป็นที่ประทับของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระเก้าอี้เหลืองตัด)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี

แถวที่สามชิดผนังพระอุโบสถ
ตั้งเก้าอี้สำหรับราชเลขาธิการ
เลขาธิการพระราชวังสมุหราชองครักษ์ และผู้ตามเสด็จฯ

หลังพระฉากพระทวารด้านทิศใต้
จัดเก้าอี้เฝ้าฯ เป็น ๓ แถว
ชิดผนังแถวที่ ๑ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน
แถวที่ ๒ สำหรับประธานองคมนตรี และคณะองคมตรี
และแถวที่ ๓ สำหรับนายกรัฐมนตรี
ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา
คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายพลเรือน

แนวผนังพระอุโบสถด้านหนือตรงข้ามที่ประทับ
ตั้งอาสนสงฆ์เก้าอี้ แถวหน้า ๑ ตัว
แถวหลังยกพื้นบุด้วยผ้าขาวสำหรับพระสงฆ์ ๑๓๖ รูป
นั่งเจริญชัยมงคลคาถา

ในแถวอาสนะสงฆ์เก้าอี้  
จัดไว้เป็นที่ประทับสำหรับ สมเด็จพระสังฆราช
พร้อมด้วยโต๊ะเคียงวางพระศรีพานแก้ว
  ขันน้ำพ้นรองแก้ว  และกระโถนไว้พร้อม ๑ ที่
และสำหรับสมเด็จพระราชาคณะ ๕ รูป
พระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป
ต้นอาสนะสงฆ์ติดกับที่ประทับ สมเด็จพระสังฆราช
ทอดเครื่องยศสมณศักดิ์สำหรับ สมเด็จพระสังฆราช  

คือพระแท่นเศวตฉัตร ๓ ชั้น ตกแต่งด้วยแจกันดอกบัวขาว
บนพระแท่นตั้งโต๊ะสลักลายปิดทองปูด้วยผ้าเยียรบับ
และหน้าพระแท่นตั้งโต๊ะเคียง ๒ ตัว  ปูด้วยผ้าเยียรบับเช่นกัน
สำหรับวางเครื่องยศสมณศักดิ์ที่จะได้รับพระราชทาน

กลางพระอุโบสถ ตั้งอาสนะสงฆ์ยกพื้นปูผ้าขาว
และบุรอบด้วยผ้าขาวปิดทองแผ่ลวดฉลุลายดอกลอย  
สำหรับเป็นที่นั่งของสมเด็จพระราชาคณะ
และพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม  
ขณะสดับประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช
แล้วนำพระสงฆ์สวดคาถาสังฆานุโมทนา

ท้ายอาสนะสงฆ์ ตั้งฆ้องชัย และเป็นที่ยืนของชาวพนักงานประโคม

ที่ชานหน้าพระอุโบสถตรงกับพระทวารกลาง
ตั้งเก้าอี้สำหรับบรรพชิตจีนและบรรพชิตญวน
พร้อมด้วยโต๊ะเคียงปูผ้าขาววางพานเรื่องสักการะ
ที่จะถวายแด่ สมเด็จพระสังฆราช

ถัดออกไปทางด้านทิศเหนือและทิศใต้  
และระเบียงพระอุโบสข้างพระทวารด้านทิศใต้  
ตั้งเก้าอี้สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ที่มุมระเบียงพระอุโบสถด้านทิศเหนือ
ตั้งโต๊ะปูผ้าขาววางพานผ้าไตร และตั้งเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์นั่งพัก

ที่ชานหลังพระอุโบสถ  
ตั้งเก้าอี้สำหรับสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ และพระสงฆ์นั่งพัก


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:02


ครั้นใกล้ถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนิน พระบรมวงศานุวงศ์
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี พร้อมด้วย องคมนตรี
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา
นายจำรัส เขมะจารุ ประธานศาลฎีกา
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน
และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ที่ลานนอกกำแพงแก้วพระอุโบสถด้านทิศเหนือ
มีประชาชนรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ข้างทางลาดพระบาทเป็นจำนวนมาก

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๑๕ นาที

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
เสด็จพระราชดำเนินถึงพระอุโบสถประทับ ณ พระเก้าอี้ที่ทอดถวายไว้

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๒๕ นาที

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา
อาราธนาสมเด็จพระราชาคณะ ๕ รูป มี

สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ชุตินฺธโร ฟื้น พรายภู่ ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ธมฺมสาโร วิน ทีปานุเคราะห์ ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระวันรัต (ฐิตธมฺโม จับ สุนทรมาศ ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสโภ อาจ ดวงมาลา ป.ธ. ๘)
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (เขมจารี สนิท ทั่งจันทร ป.ธ. ๙)
อาพาธมิได้มาร่วมในพระราชพิธี

และพระราชาคณะที่เป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป มี

พระพุทธิวงศมุนี (สุวณฺณโชโต สุวรรณ วงศ์เรืองศรี ป.ธ. ๗)
พระพรหมคุณาภรณ์ (อุปเสโณ เกี่ยว โชคชัย ป.ธ. ๙)
พระพรหมมุนี (จนฺทปชฺโชโต สนั่น สรรพสาร ป.ธ. ๙)
พระธรรมวโรดม (ฐานิสฺสโร นิยม จันทนินทร์ ป.ธ. ๙)
พระธรรมปัญญาบดี (วรปุญฺโญ ช่วง สุดประเสริฐ ป.ธ. ๙)
พระธรรมดิลก (ปุญฺญาราโม วิชมัย บุญมาก ป.ธ. ๖)
และพระธรรมบัณฑิต (ถาวโร มานิต ก่อบุญ ป.ธ. ๙)

รวม ๑๓ รูป ขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์เก้าอี้แถวหน้าพระสงฆ์ราชาคณะ

นอกนั้นขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์ยกพื้นแถวหลังโดยลำดับ

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินพร้อม
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร
และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี
ทหารกองรักษาการแต่งเต็มยศถวายความเคารพ

อนึ่งในวันนั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ทรงฉลองพระองค์จักรีเต็มยศ
ทรงสายสะพายราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
สายสร้อยจักรี ประดับดาราราชอิสริยาภรณ์

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๕ นาที

รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวังรับเสด็จ
ตำรวจหลวง ๔ นาย นำเสด็จผ่านเถวทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
รับเสด็จและแซงเสด็จ

เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางลาดพระบาทเข้าสู่พระอุโบสถ
ทรงจุดธุปเทียนท้ายที่นั่งบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
พระสังฆพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว
เสด็จไปที่อาสนสงฆ์ ทรงประเคนผ้าไตรแด่สมเด็จพระราชคณะ ๕ รูป

ส่วนพระราชาคณะที่เป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป
เดินเข้าไปรับพระราชทาน
จากนั้นทรงรับถวายการเคารพของผู้มาเฝ้าฯ
แล้วประทับพระราชอาสน์

สมเด็จพระราชาคณะลงจากอาสนะสงฆ์ไปครองผ้าที่ในพระฉากหลัง
พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ส่วนพระราชาคณะกรรมการมหาเถรสมาคม
ออกจากพระอุโบสถไปครองผ้าที่พระระเบียงข้างพระอุโบสถ
เมื่อครองเสร็จแล้วเข้าไปนั่งยังอาสนะสงฆ์ที่เดิม

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๕๐ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบบพิตร
เสด็จไปทรงจุดธุปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ
บูชาพระรัตนตรัยที่หน้าธรรมาสน์ศิลา
ทรงกราบแล้วประทับพระราชอาสน์

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถมภ์ กรมการศาสนา
นิมนต์สมเด็จพระราชาคณะะทั้ง ๕ รูป
พระราชาคณะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป รวม ๑๓ รูป
ไปนั่งยังแท่นอาสนสงฆ์กลางพระอุโบสถ
หันหน้าสู่องค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

โดยนั่งเรียงเป็น ๓ แถว คือ

แถวแรก (จากขวาไปซ้าย)

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุฒาจารย์

แถวที่ ๒ (จากขวาไปซ้าย)

พระพุทธพจนวราภรณ์ พระพุทธิวงศมุนี
พระพรหมคุณาภรณ์ พระพรหมมุนี

แถวที่ ๓ (จากขวาไปซ้าย)

พระธรรมวโรดม พระธรรมปัญญาบดี พระธรรมดิลก พระธรรมบัณฑิต

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๕๖ นาที

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาศีล
สมเด็จพระญาณสังวรถวายศีล ทรงศีล จบแล้ว

• เวลา ๑๗ นาฬิกา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานอาลักษณ์
กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรฐมนตรี
อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช
ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้น
ยืนขึ้นเคารพพระบรมราชโองการพร้อมกัน

นายสุรินทร์ ศรีวิทยา ผู้อำนายการกองประกาศิต
ถวายคำนับแล้วออกไปยืนที่หน้าไมไครโฟน
ซึ่งตั้งไว้ที่มุมช่องว่างด้าน
พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง
แล้วอ่านประกาศพระบรมราชโองการ ดังนี้



โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:04

พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่



ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ประกาศ พระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  
มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า  

โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่างลง  
สมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้น
ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเพื่อจักได้บริหารการพระศาสนา   
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕   
และตามระเบียบพระราชประเพณีให้สมบูรณ์สืบไป  

และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของคณะรัฐบาลกับ
ทั้งสังฆทัศนะ ในมหาเถรสมาคมเป็นเอกฉันทมติ

จึงทรงพระราชดำริว่า  

สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระมหาเถระ  
เจริญในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ
สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร  
รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม  
ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน   
ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์ไพศาลแก่พุทธจักร และอาณาจักร  

ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภารตามความพิสดาร
ในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายก
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ นั้นแล้ว  

ครั้นต่อมา สมเด็จพระญาณสังวรฯ  ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหะวิริยาธิคุณ
สมารถรับภารธุระพระพุทธศาสนา  เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย  
ยังการพระศาสนาให้เรียบร้อย และเจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา  

ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๕๐๕  
สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาแต่เริ่มแรก  
เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร  และสมุทรปราการ  

ฝ่ายธรรมยุตเป็นคณะกรรมการคณะธรรมยุต  และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ในการปริยัติศึกษาเป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรศาสนศึกษาของคณะสงฆ์  
เป็นนายกกรรมการและนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย  
เป็นผู้อำนวยการครูพระปริยัติธรรม คณะธรรมยุต

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ  

ได้เป็นประธานดำเนินการ  และประธานกรรมการอุปถัมภ์  
ในการสร้างวัดและพระอุโบสถในต่างประเทศหลายแห่ง  

คือ วัดพุทธรังสี ในนครซิดนีย์  ประเทศออสเตรเลีย  
วัดจากาตาร์ธรรมจักรชัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย  
วัดแคโรไลนาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา  
อุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร  ณ เมืองกีรติปูร นครกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล

ได้ไปดูการพระศาสนาที่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
สิงคโปร์ อินโดนีเซีย  อินเดีย เนปาล หลายวาระ  

เป็นประธานสงฆ์จากประเทศไทยไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมา  
อุโบสถวัดจาการ์ตา วัดธรรมจักรชัย  
ซึ่งเป็นการผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ
เป็นครั้งแรกของวัดพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศนั้น  

บรรพชากุลบุตรชาวอินโดนีเซีย  ณ เมืองสมารัง  
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สังฆเถรวาทอินโดนีเซีย  
ไปบรรพชากุลบุตรศากยะแห่งเนปาล  ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เนปาล  
ไปร่วมประชุมสหพันธ์อาศรมคีตาสากล  ในฐานะแขกพิเศษ ณ ประเทศอินเดีย

ด้านการแสดงและเผยแผ่ธรรม

แสดงธรรมเป็นประจำในวันธรรมสวณะและวันอาทิตย์  
ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายธรรมในการฝึกอบรมในการฝึกปฏิบัติการทางจิต  
ทุกวันพระ และวันหลังวันพระ ณ ตึกสว. ธรรมนิเวศ  
บรรยายธรรมในรายการบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่
ทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต  เป็นประจำทุกวันอาทิตย์  
บรรยายธรรมแก่ชาวต่างประเทศในวันจันทร์  วันพุธ และวันศุกร์  

นอกจากนั้นยังเรียบเรียงหนังสือ
ทั้งที่เป็นตำราประกอบการศึกษา ธรรมกถา ธรรมเทศนา และสารคดีอีกเป็นอันมาก  
เช่นเรื่องหลักพระพุทธศาสนา แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน
สัมมาทิฏฐิ โสฬสปัญหาธรรมบรรยาย พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
ตำนานวัดบวรนิเวศวิหารเล่ม ๒ เป็นต้น  

ทั้งยังให้ริเริ่มแปลหนังสืออธิบายธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ
เพื่อเป็นการเผยแผ่และเป็นคู่มือการศึกษา
พระพุทธศาสนาสำหรับชาวต่างประเทศอีกทางหนึ่ง  

ในด้านสาธารณูปการ  

ได้เป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิต  
ในการก่อสร้างตึก ภปร.  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  
ได้ร่วมกับสภากาชาดไทยสร้างตึกวชิรญาณวงศ์  
และตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร เป็นตึกสงฆ์
และให้ประโยชน์ทางการแพทย์

ในการพระอารามนั้นก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแล  
ระวังรักษาและบูรณะปฏิสังขรณ์  ปูชนียวัตถุสถาน
ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ  ซึ่งทรุดโทรมเสียหาย  
ทั้งในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
ให้ดำรงคงสภาพที่มั่นคงถาวร และเรียบร้อยงดงาม  

ทั้งได้สร้างอาคารขึ้นใหม่อีกหลายหลัง  อาทิ ตึก สว. ธรรมนิเวศ
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

นับว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้มีปรีชาสามารถอย่างยิ่ง  
ในการปกครองทะนุบำรุงพระอารามหลวง
ที่มีความสำคัญให้เจริญรุ่งเรืองสมพระราชประสงค์

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ยังได้เป็นประธานอุปถัมภ์  
การสร้างวัดในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง  
เช่น วัดรัชดาภิเษก  วัดพุมุด จังหวัดกาญจนบุรี,  
วัดวังพุไทร จังหวัดเพชรบุรี, วัดล้านนาสังวราราม จังหวัดเชียงใหม่  เป็นต้น

ที่สำคัญได้เป็นประธานสร้างวัดญาณสังวราราม
ณ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ในเนื้อที่ ๓๖๖ ไร่ ให้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณร
และเป็นประโยชน์เกื้อกูลการพัฒนาอาชีพของประชาชนในถิ่นนั้น  

อุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระอดีตมหาราชผู้ทรงกอบกู้ชาติไทย
และสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์  
ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระบรมราชโอรสธิดาทุกพระองค์
ไปทรงเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมาในพระอุโบสถ
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:05

‘พระรูปเขียนสี’ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


อนึ่งเมื่อคราวทรงพระผนวช และประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  
สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด
และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา  พระมงคลวิเสสกถา  
ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๑๗
และได้ถวายสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชวาสนมหาเถระ
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า  

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ก็เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษานุกาล
รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ  
เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนช้านานมา
ดำรงมั่นในศีลสมาธิปัญญามิได้เสื่อมถอย
มีจริยาวัตรสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส  

เป็นพหุลศรุตบัณฑิตผู้ทรงปรีชาญาณลึกซึ้งแจ่มใส
รอบรู้ในพระไตรปิฎกธรรมวิสารท
สามารถวิจัยวิจารณ์ธรรมนำมาแสดงได้ถูกต้องเที่ยงตรงบริสุทธิ์บริบูรณ์  
เกื้อกูลสงเคราะห์พุทธบริษัทโดยเสมอหน้าเป็นอเนกประการ  

ได้เป็นครูและเป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย
มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล   
เป็นที่เคารพสัการแห่งมวลศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล  
ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล  
เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวรฯ
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช
มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล
สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ
สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง
วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธะบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร
สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสีอรัณยวาสี

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวง
เป็นประธานสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับพระธุระพระพุทธศาสนา
เป็นภาระสั่งสอน  ช่วยระงับอธิกรณ์
และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป  
โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ  ซึ่งพระราชทานนี้  
ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณสุข พล และปฏิภาณ  คุณสารสิริสวัสดิ์  
จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์  ในพระพุทธศาสนาเทอญ

ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป  คือ

พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกยปสาทาภิบาล
สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี
คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑
พระจุลนายก ธรรมนีติสาธกมหาเถราธิการ คณะกิจบรรหารธุรการี
สมุหธิบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑
พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ๑ พระครูพิศาลวินัยวาท ๑ พระครูประสาทพุทธปริตร
พระครูพระปริตร ๑ พระครูประสิทธิพุทธมนต์ พระครูพระปริตร ๑
พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูสรภัญญประกาศ พระครูคู่สวด ๑
พระครูสรนาทวิเศษ พระครูคู่สวด ๑ พระครูนิเทศธรรมจัก ๑
พระครูพิทักษ์ธุรกิจ ๑ พระครูสังฆสิทธิกร ๑ พระครูสมุห ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้
มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพรในพระบวรพุทธศาสนาเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ เป็นปีที่ ๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี

นายสุรินทร์ ศรีวิทยา อ่านจบแล้วถวายคำนับ   
ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้น  
ถวายคำนับพร้อมกันแล้วนั่ง  

เมื่ออ่านประกาศพระบรมราชโองการจบ

• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๑๕ นาที  

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงเลื่อนพระองค์ไปประทับยังอาสนะ
ซึ่งปูลาดด้วยพระสุจหนึ่สีเหลือง   
อันเป็นอาสนะสำหรับสมเด็จพระสังฆราช
ทรงหันพระพักตร์สู่พระกรรมการมหาเถรสมาคม  

• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๑๖ นาที  

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  
นั่งกระหย่งเท้าแล้วสวด “สงฺฆราชฎฺฐปนานุโมทนา” มีความดังนี้


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:06

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร



สุณาตุ เมภนฺเต สงฺโฆ,

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

อิทานิ โข ปเวทิเตน ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส
ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส ปรมราชโองฺการเรน
ญาณสํวโร มหาเถโร สยามรฏฺเฐ สกลมาสงฺฆปริณายโก
สงฺฆราชา ปติฏฺฐาปิโต,

บัดนี้ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการ
แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า  
ทรงพระกรุณาสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีสงฆ์ทั่วสยามรัฐราชอาณาจักรแล้ว

โส มหาราชา ธมฺมิโก ธมฺมราชา อคฺคสาสนูปตฺถมฺภโก,

สมเด็จพระมหาราชเจ้าทรงตั้งอยู่ในธรรม  
ทรงเป็นธรรมราชา ทรงเป็นเอกอัครรณูปถัมภก

รฏฺฐปาลาโรจนญฺเจว มหาเถรสมาคเม สงฺฆทสฺสนญฺจ  
เอกจฺฉนฺาทมเตน สุตาวี สยมฺปิ โยนิโส อุปฺปริกฺขิตฺวา,

ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล
และสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคม โดยเอกฉันทมติแล้ว
ทรงพิจารณาโดยรอบคอบ  แม้ด้วยพระองค์เองด้วย

ราชารมนฺวาย พุทฺธสาสนํ อุปตถมภิตํ
สงฺฆราชฏฺฐปนปฺปกาสนํ กาเรสิ,

ทรงอาศัยพระราชอำนาจให้ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระสังฆราช  เพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา

สาธุ ภนเต สกโล สงฺโฆ อิมญฺจ สงฺฆราชฏฺฐปนํ
อิมญฺจ สงฺฆราชฏฐปิตํ มหาเถรํ อนุโมทตุ สมปสีทตุ,

ข้าแต่ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ทั้งปวง  
จงอนุโมทนาปสาทการ  
ซึ่งการทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  และพระมหาเถระ
ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดังนี้

สาธุ โข ปน สกโล สงฺโฆ สงฺฆราชมหาเถรปฺปธาโน
สมคฺโต เอกจฺฉนฺโท หุตวา,

และขอพระสงฆ์ทั้งปวง
ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราช  ทรงเป็นประธาน  
จงมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นเอกฉันท์

พุทฺธสาสเน สพฺพกรณียํ อนุคฺคณฺหาตุ,

อนุเคราะห์ปฏิบัติกรณียะทั้งปวงในพระพุทธศาสนา

อปิจาหํ ภนฺเต อามนฺเตมิ,

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  อนึ่งข้าพเจ้าขอเชิญชวน

สกโล สงฺโฆ กลฺยาณจิตฺตํ สมนฺนาหริตฺวา ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส
ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส สพฺพวรชยมงฺคลํ,

พระสงฆ์ทั้งปวงจงรวมกัลยาณจิตอธิษฐาน
ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า,

โส มหาราชา สราชินีราปุตฺตธีตุราชวํสโก สามจฺจปริวาโร
สสพฺพวสกนิกโร สุขิโต โหตุ อโรโค นิรุปทฺทโว,

ขอพระองค์จงทรงพระเกษมสำราญ
ปราศจากโรคาพาธอุปัทธวอันตราย
พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา พระราชวงศ์
พร้อมทั้งรัฐบาล  ข้าราชการ ข้าราชบริพารทุกฝ่าย พสกนิกรทุกหมู่ทุกเหล่า,

จิรํ รชฺเช ปติฏฺฐาตุ,

ขอพระองค์จงเสด็จสถิตในพระศิริราชสมบัติตลอดกาลนาน

อิโต ปรํ สงฺโฆ ญาณสํวรสงฺฆราชฏฺฐปิตสฺส
มหาเถรสฺส กลฺยาเณเนว เจตสา อนูโมทนสชฺฌายนํ กโรตุ,

ต่อแต่นี้ ขอพระสงฆ์ได้มีกัลยาณจิต
สวดอนุโมทนาถวายพระมหาเถร
ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าประกาศสถาปนา
เป็นสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ บัดนี้ เทอญ.


จบแล้ว พระสงฆ์ในพิธีมณฑลพนมมือถวายอนุโมทนา
เปล่งวาจา “สาธุการ” พร้อมกันแล้ว


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:07

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร
ในวันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช



• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๐ นาที

สมเด็จพระวันรัต (แทนสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ นำสวด)

พระสงฆ์ทั้งปวงในพิธีมณฑลพนมมือทั้งปวงรับพร้อมกัน ๓ จบ จบแล้ว

• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๑ นาที

นายเสนาะ พ่วงภิญญโญ
รองอธิบดีกรมการศาสนารักษาการแทนอธิบดีกรมการศาสนา
กราบทูลนำเสด็จ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
ไปประทับ ณ อาสนะซึ่งปูลาดไว้ข้างพระท่านเศวตฉัตร  
ที่ต้นอาสนะสงฆ์สังฆมณฑล

สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะกรรมการมหาเถรสมาคม  
ตามไปนั่งที่อาสนะสงฆ์ในลำดับถัดจากสมเด็จพระสังฆราช
  
• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๔ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
เสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตรแด่ สมเด็จพระสังฆราช

ทรงแบพระหัตถ์เหนือพานแก้วรับน้ำนั้นทรงลูบพระเศียร
ขณะนั้นพระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา
โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พรานบันลือสังข์  พนักงานภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์
เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร  ดุริยางค์  
(พิณพาทย์กรมศิลปากรบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย)

พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรชุมนุมในพระอุโบสถเจริญชัยมงคลคาถา
และมีการย่ำระฆังพร้อมด้วยวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อถวายน้ำมหาสังข์ทักษิณาวัฏแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ถวายพระสุพรรณบัฏ  ตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
พัดยศ ไตรแพร เครื่องสมณศักดิ์  รวม ๑๙ รายการ ตามลำดับดังนี้

- พระแท่นเศวตฉัตร ๓ ชั้น

ทอดถวาย ณ ที่ต้นอาสนะสงฆ์  

- พระสุพรรณบัฏ พร้อมด้วยพระบรมราชโองการใหญ่
และใบกำกับการเลื่อนสมณศักดิ์   

นายสุรินทร์ ศรีวิทยา ผู้อำนวยการกองประกาศิต เป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้บนแท่นพระเศวตฉัตร

- พระตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนา
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการศาสนา เป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้บนแท่นพระเศวตฉัตร

- พัดยศ

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้ที่ฐานปักพัดยศ

- ไตรแพร ๑ สำรับ บาตรพร้อมฝาและเชิงบาตร

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้ที่ฐานปักพัดยศ

- พานพระศรีประกอบด้วยมังสี ๒
ตลับพู่ ๑ จอก ๑ ซองพลู ๑ (พร้อมพลู)
ขันน้ำพานรองมีจอกคลุมตาดรูปฝาชี
หีบตราจักรี (หีบหลังเจียด) คณโฑกาทรงกระบอก
หม้อลักจั่นปิ่นโตกลม ๔ ชั้นสุพรรณาราช สุพรรณศรี

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนารับไปตั้ง
ที่โต๊ะข้างพระแท่นเศวตฉัตร โดยลำดับ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ถวายใบปวารณาแทนจตุปัจจัยไทยธรรม
แด่สมเด็จพระราชาคณะที่อาสนะสงฆ์  

พระราชาคณะและสงฆ์นอกนั้นในสังฆมณฑล  
ลงจากอาสนสงฆ์เดินเข้าไปรับพระราชทานตามลำดับ รวม ๑๔๘ รูป
แล้วกลับเขานั่งในอาสนะที่เดิม  
พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถาจบ ดุริยางค์หยุดประโคม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระทับพระราชอาสน์ทรงหลั่งทักษิโณทก  
พระสงฆ์ในสังฆมณฑลถวายอนุโมทนา  
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
ถวายอดิเรกจบแล้ว  

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์  กรมการศาสนา
เชิญพัดยศ  สมเด็จพระสังฆราชไปตั้งที่เบื้องขวา
ที่ประทับ สมเด็จพระสังฆราช ที่แท่นอาสนะสงฆ์กลางพระอุโบสถ
กราบทูลนำเสด็จ สมเด็จพระสังฆราช  ไปประทับที่อาสนะสงฆ์
หันพระพักตร์ออกไปทางพระทวารกลางพระอุโบสถ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายมหานิกาย  
และสมเด็จพระวันรัต พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายธรรมยุต
(แทนสมเด็จพระมหาวีระวงศ์)  
ถวายเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธง ธูปเทียนแพ  ทรงรับไว้แล้ววางไว้  
เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์  กรมการศาสนา เชิญออกไป


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:08

ตราอักษรย่อพระนาม ญสส.


• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๕๐ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ ธูปเทียนแพ พร้อมกระทงดอกไม้ ทรงกราบราบ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประนมพระหัตถ์ถวายอนุโมทนา
เสด็จไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ ธูปเทียนแพ พร้อมกระทงดอกไม้ ทรงกราบราบ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประนมพระหัตถ์ถวายอนุโมทนา เสด็จไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ ธูปเทียนแพ พร้อมกระทงดอกไม้ ทรงกราบราบ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประนมพระหัตถ์ถวายอนุโมทนา เสด็จไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม

อนึ่ง เมื่อจะเสด็จไปถวายเครื่องราชสักการะ
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังลาดพระสุจหนี่ถวายที่พื้นหน้าอาสนะสงฆ์
และเมื่อเสร็จการแล้วถอนออก  และขณะเครื่องสักการะนั้น
ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทลดตัวลงนั่งคุกเข่า

ลำดับจากนั้น นายสัญญา ธรรมศักดิ์  ประธานองคมนตรี
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
นายอุกฤษ มงคลนาวิน  ประธานรัฐสภา
และนายจำรัส เขมะจารุ ประธานศาลฎีกา
เข้าถวายเครื่องสักการะตามลำดับ
  


ตราอักษรย่อพระนาม ญสส.


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:08
• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๕๕ นาที

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
หันพระองค์ไปทรงกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  
แล้วเสด็จลงจากอาสนะสงฆ์  

นายเสนา พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนา
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการศาสนา
นำเสด็จออกจากพระอุโบสถลงทางพระทวารกลาง
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญพัดยศนำเสด็จ
เจ้าหน้าที่กองประกาศิตและเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา
เชิญพระสุพรรณบัฏไตรแพร และเครื่องยศสมณศักดิ์ตามเสด็จ

ณ ที่ระเบียงหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม   
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวน ๑๐ รูป  
และบรรพชิตจีนรวม ๒๐ รูป มีดังนี้

พระคณานัมธรรมวิธานาจารย์ เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย วัดกุศลสมาคร
พระสมณานัมวุฒาจารย์ รองเจ้าคณะใหญ่ วัดถ้าเข้าน้อย
พระครูบริหารอนัมพรต ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่  วัดอนัมนิกายาราม
องสุตบทบวร ปลัดซ้าย วัดสมณานัมบริหาร
องสรพจนสุนทร รองปลัดขวา วัดอุภัยราชบำรุง
องพจนกรโกศล รองปลัดซ้าย วัดเขตร์นาบุญญาราม
องอนนตสรภัญ ผู้ช่วยปลัดขวา วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี
องปลัดวันเดื๊อก คณานุกรม วัดกุศลสมาคร
องใบฏีกาไพศาล คณานุกรม วัดกุศลสมาคร
พระภิกษุจิ้นฟุก วัดสมณานัมบริหาร
พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนเนตา (เย็นเต๊ก)
เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (ซิวแจ๋) ปลัดขวา เจ้าสำนักสงฆ์สุธรรม
หลวงจีนธรรมนาทจีนประพันธ์ (เย็นช้ง) รองปลัดขวา เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เย็น
หลวงจีนธรรมนันท์จีนประภัทธ์ (เย็นเฮ้า) รองปลัดซ้าย  เจ้าอาวาสวัดฉื่อฉาง
หลวงจีนธรรมรักษ์จีนประจิต (เย็นเกา)  ผู้ช่วยปลัดซ้าย วัดโพธิธัตตาราม
หลวงจีนวินัยธร  (เย็นจี่) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนสังฆรักษ์ (เย็นซิม) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
รักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพพุทธาราม  
หลวงจีนสมุห์  (เย็นบุ๊ง) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนใบฎีกา (เย็นงี้) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนเย็นจี่ วัดมังกรกมลาวาส  



หลวงจีนสังฆรักษ์ (เย็นซิม)
หรือพระอาจารย์จีนธรรมนันท์จีนประพัทธ์



จากนั้น สมเด็จพระญาณสังวร   สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
เสด็จออกจากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์ประเทียบ
ที่ประตูเกยหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร

อนึ่ง พระสงฆ์นอกนั้นในสังฆมณฑล  
กลับออกจากพระอุโบสถทางพระทวารด้านท้ายอาสนะสงฆ์

•  เวลา ๑๘ นาฬิกา ๓ นาที  

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ  
เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการหน้าธรรมาสน์ศิลา
แล้วทรงรับการถวายการเคารพของผู้มาเฝ้าฯ
เสด็จออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์
เสด็จไปตามทางลาดพระบาท
ทรงรับพวงมาลัยและเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจากประชาชน  
เสด็จไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง  
ที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษชัยศรี  
กลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

อนึ่งการพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นี้
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย  
และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ได้ถ่ายทอดให้ประชาชนได้ชมและฟังตั้งแต่ต้นจนเสร็จการพระราชพิธี

ในปีเดียวกันนั้น  ได้เสด็จเยี่ยมพระภิกษุสามเณร  
และพุทธศาสนิกชนใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ตามคำกราบทูลอาราธนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้   
ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒


• พ.ศ. ๒๕๓๓

เป็นประธานสงฆ์ในการเจริญพระพุทธมนต์  
พระราชพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปชัยวัฒน์
และพระกริ่งสมเด็จระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี
ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา
และเป็นประธานจุดเทียนชัย  
ทรงนั่งปรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:09

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ พระศาสนกิจในต่างประเทศ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียะต่างๆ
มาแต่ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่  พระสาสนโสภณ
เช่น การจัดให้มีการเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ
จัดให้มีการสอนกรรมฐานแก่ชาวต่างประเทศ
และจัดให้มีการสนทนาธรรมแก่ชาวต่างประเทศเป็นประจำ
(ทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์)

โดย เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ดำเนินการเองร่วมกับพระภิกษุไทย
และพระภิกษุชาวต่างประเทศที่บวชอยู่ วัดบวรนิเวศวิหาร
นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังได้เสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจ
เกี่ยวกับการพระศาสนาในต่างประเทศอีกหลายคราว คือ

• พ.ศ. ๒๕๐๙

ในฐานะประธานกรรมการอำนายการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์
ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ  
เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด
เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

การเสด็จไปประเทศอังกฤษ คราวนี้
ก็เป็นโอกาสให้ได้ดูกิจการพระธรรมทูต
และการพระศาสนาในประเทศนั้น
และในประเทศอิตาลีในขากลับประเทศไทยอีกด้วย

• พ.ศ. ๒๕๑๐

ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม ได้ตามเสด็จ
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
ซึ่งเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ
ตามคำทูลอาราธนาของรัฐบาลศรีลังกา
เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างศาสนิกชนแห่งประเทศทั้งสอง

และเป็นการตอบแทนไมตรีของรัฐบาลไทย
ที่ได้นิมนต์พระมหานายกะของสยามวงศ์นิกายแห่งลังกา
มาเยือนประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

• พ.ศ. ๒๕๑๑

เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาทั่วไป
ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์
ในฐานะประธานสภาการคึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม
พร้อมด้วย พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙)
(สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม)
เลขาธิการสภาการศึกษาฯ ในขณะนั้น

เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้
ผลปรากฏว่าต่อมาได้มีการติดต่อกับหัวหน้าชาวพุทธไปประเทศอินโดนีเซีย
และได้วางโครงการร่วมกันในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น
สุดท้ายหัวหน้าชาวพุทธในประเทศอินโดนีเซียได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย
เจรจากับ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ขอพระธรรมทูตไทยออกไปช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย

กรมการศาสนาร่วมกับสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
จึงได้คัดเลือกพระธรรมทูตไทย ๔ รูป  เสนอ มหาเถรสมาคม
ส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น
พระธรรมทูตชุดแรกออกไปเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
และพระธรรมทูตชุดนี้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในประเทศนี้ถึง ๑๐ ปีเศษ

สำหรับประเทศออกเตรเลียนั้น
ปรากฏว่ามีผู้นับถือและสนใจพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก
มีความประสงค์ให้มีพระสงฆ์อยู่
เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศนั้นด้วย

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในฐานะผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย
จึงได้เสนอเรื่องการจัดตั้งสำนักสงฆ์ไทยในออสเตรเลีย
ต่อคณะกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ก็ได้รับความเห็นชอบ และจัดตั้งสำนักสงฆ์ไทยขึ้นในประเทศนั้น
ในความอุปการะของ มหามกุฏราชวิทยาลัย

และได้จัดส่งพระภิกษุไทยร่วมกับพระภิกษุชาวต่างประเทศ
(ซึ่งบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร) ออกไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นครั้งแรก
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ และต่อมาก็ได้จัดตั้งวัดขึ้น
และประกอบพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘



• พ.ศ. ๒๕๑๓

เสด็จไปประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง
ตามคำอาราธนาของหัวหน้าพระธรรมทูตไทย
และ พระชินรักขิตเถระ หัวหน้าพุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซีย

เพื่อให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวอินโดนีเซีย ๗ คน
พร้อมด้วย พระธรรมโสภณ (สนธิ์ กิจฺจกาโร)
(ภายหลังเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระญาณวโรดม
รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร)

การเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้
เป็นโอกาสให้ได้สังเกตการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่
วัฒนธรรม และความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น

พระขนฺติปาโล ได้บันทึกการเดินทางเล่าถึงสิ่งที่พบเห็น
และข้อคิดเห็นบางประการไว้อย่างน่าสนใจ
หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:10

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


• พ.ศ. ๒๕๑๔

ในฐานะประธานสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
เสด็จไปดูการศาสนาและการศึกษา
ในประเทศปากีสถาน เนปาล และอินเดีย
พร้อมด้วย พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙)
(สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม)
เลขาธิการสภาการศึกษาฯ ในขณะนั้น

ในโอกาสเดียวกัน ก็ได้รับอนุมัติจาก มหาเถรสมาคม
ให้เป็นผู้แทนของคณะสงฆ์ไทยไปเยี่ยมเยียนพระสงฆ์
และวัดพระพุทธศาสนาในประเทศปากีสถานตะวันออก
และนำสาส์นของ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)  
ถึงพุทธศาสนิกชนชาวปากีสถานตะวันออก


สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


พร้อมทั้งนำเอาวัสดุสิ่งของต่างๆ และกัปปิยภัณฑ์จำนวนหนึ่ง
ซึ่งทางคณะสงฆ์ไทยได้จัดหามาไปมอบแก่
พระภิกษุสามเณรและชาวพุทธในประเทศปากีสถานตะวันออก
ที่ประสบวาตภัยครั้งใหญ่ในคราวนั้นด้วย

เมื่อกลับจากการเดินทางครั้งนั้นแล้ว
ก็ได้ทำรายงานเสนอมหาเถรสมาคม
ทำให้คณะสงฆ์ได้ทราบถึงความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ
ซึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลือในการฟื้นฟู

และทำให้คณะสงฆ์เห็นชอบด้วยกับความดำริของคณะสงฆ์เนปาล
ซึ่งจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น
และยินดีสนองความต้องการของคณะสงฆ์เนปาล

ในขั้นแรกนี้สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
ได้เสนอให้ทุนการศึกษาจำนวน ๒ ทุน
สำหรับให้พระภิกษุสามเณรชาวเนปาล
เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ต่อมาคณะสงฆ์เนปาลก็ได้คัดเลือกสามเณร ๒ รูป
ส่งเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยพักอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
เข้าศึกษาที่สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในหลักสูตรพิเศษ ๓ ปี
สำหรับพระภิกษุและสามเณรชาวต่างประเทศ

• พ.ศ. ๒๕๑๘

เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิด วัดพุทธรังษี สแตนมอร์
ณ นครซิดนีย์ รัฐนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด
และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
ระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม-๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘

• พ.ศ. ๒๕๒๐

เสด็จไปบรรพชากุลบุตรชาวอินโดนีเซียจำนวน ๔๓ คน
ณ เมืองสมารัง ประเทศอินโดนีเซีย
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สังฆเถรวาทอินโดนีเซีย
ได้เสด็จไปเยี่ยมชมกิจการพระศาสนา ณ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ขากลับทรงแวะเยี่ยมชมการพระศาสนา ณ ประเทศสิงคโปร์ ด้วย
ระหว่างวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐-๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑

• พ.ศ. ๒๕๒๓

เสด็จไปร่วมประชุม  สหพันธ์คีตาอาศรมสากล
ในฐานะที่ทรงเป็นพระอาคันตุกิเศษ ณ ประเทศอินเดีย

เมื่อทรงเสร็จภารกิจที่ประเทศอินเดียแล้ว
ได้เสด็จไปเยี่ยมชมกิจการพระศาสนา ณ ประเทศเนปาล อีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ในศกเดียวกัน เสด็จไปทรงดูกิจการพระศาสนา
ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรป
ตามคำอาราธนาของบริษัท ศรีกรุงวัฒนา จำกัด

พร้อมด้วย พระธรรมดิลก (ปุญฺญาราโม วิชมัย บุญมาก)
(สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระพรหมมุนี)
ระหว่างวันที่ ๓ เมษายน-๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

• พ.ศ. ๒๕๒๘

เป็นประธานคณะสงฆ์พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก ๑๙ รูป
จากประเทศไทยไปทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ
วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย

เป็นการผูกพัทธสีมาพระอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท
เป็นครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซียนั้น

ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

ในศกเดียวกัน เสด็จพร้อมด้วยคณะสงฆ์จากประเทศไทย
ไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากยะแห่งเนปาล
จำนวน ๗๓ คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เนปาล
ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

• พ.ศ. ๒๕๓๖

เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ
ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
โดยได้เสด็จเยือนเมืองต่างๆ คือ
ปักกิ่ง ซีอาน คุนหมิง และสิบสองปันนา
ระหว่างวันที่ ๒๐ มิถุนายน-๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

นับเป็นการเจริญศาสนสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน
เป็นทางการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง


• พ.ศ. ๒๕๓๘

เสด็จไปทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์
วัดไทยลุมพินี  ณ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล  
ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:11

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


๏  การสาธารณูปการ

นับแต่ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  
ได้ทรงบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด
ตลอดถึงการก่อสร้างถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์
ในที่อื่นๆ ภายนอกวัดบวรนิเวศวิหาร อีกเป็นจำนวนมาก

ถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นใหม่ในวัดบวรนิเวศวิหารคือ

๑. ตึกกวีบรรณาลัย  ห้องสมุดของสภาการศึกษาของสภามหามงกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๒. ตึกวชิรญาณวงศ์  อาคารเรียนของวัดบวรนิเวศ  
๓. ซุ้มปรางที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ บนลานประทักษิณชั้นที่ ๒ ของพระเจดีย์ใหญ่
๔. กุฏิหลวงเจริญฤทธิศาสตร์ ในคณะเหลืองรังษี
๕. กุฏิพระนิกรบดี คณะเขียวรังษี
๖. ตึก ภ.ป.ร. พิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร
๗. กุฏิคุณหญิงจี๊ด สัตยานุรักษ์ ในคณะเหลืองรังษี
๘. กุฏิรามเดชะ ในคณะสูง
๙. ถังน้ำบ่อบาดาล พร้อมติดตั้งนาฬิกาไฟฟ้าและระฆัง ข้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน
๑๐. อาคารกิจกรรม หลังตึกวชิรญาณวงศ์ โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
๑๒. มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง หลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
๑๓. โพธิฆระ (เรือนโพธิ์) หลังพระวิหารพระศาสดา
๑๔. ศาลาวชิรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร ๑๕๐ ปี
๑๕. ศาลาหน้าศาลาวชิรญาณ
๑๖. กุฏิตึกหน้ากุฏิใหญ่คณะเขียวรังษี


ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร ณ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ส่วนเสนาสนะและถาวรวัตถุอื่นๆ ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร
ก็ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งพระอาราม ที่สำคัญคือ


๑. ปิดทองเจดีย์ใหญ่ด้วยโมเสกสีทองตลอดทั้งองค์
๒. ประดับหินอ่อนพระอุโบสถตลอดทั้งหลัง

การก่อสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ ภายนอกวัด
ตลอดถึงการอุปถัมภ์การก่อสร้างวัดต่างๆ นั้นก็มีจำนวนมาก ที่สำคัญคือ



ป้ายชื่อตรงปากทางเข้าวัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี


๑. สร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สำหรับเป็นตึกสงฆ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
๒. สร้างตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร ณ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สำหรับเป็นตึกสงฆ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
๓. ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
๔. ทรงสร้างวัดสันติคีรี  ณ ดอยแม่สลอง บ้านสันติคีรี
ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
๕. ทรงอุปถัมภ์การสร้างโรงเรียนมัธยมญาณสังวร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
๖. ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
๗. ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดพุมุด อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
๘. สร้างวัดญาณสังวราราม ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี


อาคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี



๙. สร้างโรงเรียน และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต
ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
๑๐. ทรงอุปถัมภ์การสร้างตึก ภ.ป.ร.
(ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)
๑๑. ทรงอุปถัมภ์การสร้างโรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม
ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
๑๒. ทรงจัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทรามหาสันติคิรี
ณ ดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย


ตึกวชิรญาณวงศ์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


นอกจากนี้ ก็ยังทรงอุปถัมภ์การก่อสร้างวัดในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ

๑. วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ ณ นครซิดนีย์ รัฐนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และเปิดวัดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
๒. วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
๓. พระอุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร
ณ เมืองกิรติปูร กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑
๔. วัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม
ณ เมืองโบลิเวีย รัฐแคโรไลนาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑


พระอุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร ณ เมืองกิรติปูร ประเทศเนปาล

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:13

พระพุทธคยาเจดีย์ วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี


พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี





วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย


พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประดิษฐาน ณ วัดประดู่ ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ สามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้



  “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีลักษณะเป็นทรงไทย ๒ ชั้น ๔
หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทองฝาสกล สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึง
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยมวัดประดู่ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
แล้วได้เสด็จทอดพระเนตร “พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕”


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:14

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏  การสาธารณสงเคราะห์

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นสาธารณสงเคราะห์
เพื่อสุขประโยชน์ของสาธารณชนเป็นเอนกประการ
ทั้งในด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข และด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ

เป็นต้นว่า ประทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน
ทั้งในโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในต่างจังหวัดจำนวนมาก

ทรงจัดสร้างสถานศึกษา เช่น
โรงเรียนสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต
อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
เป็นต้น
เพื่ออำนวยให้เยาวชนมีที่ศึกษาเล่าเรียนได้โดยสะดวก

ทรงจัดสร้างโรงพยาบาล
สำหรับเป็นที่รักษาพยาบาลทั้งแก่ประชาชนทั่วไป
และพระภิกษุสามเณรอาพาธ เช่น
โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต
อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
เป็นต้น

ที่นับว่าสำคัญก็คือเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
ทรงพระดำริให้จัดสร้าง “ตึกสกลมหาสังฆปริณายก”
สำหรับสงฆ์อาพาธในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร
เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม ๑๙ พระองค์


ในถิ่นที่ขาดแคลนสถานพยาบาล
กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศ

พร้อมทั้งโปรดให้สร้างพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชทั้ง ๑๙ พระองค์
ประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาประจำโรงพยาบาล
ที่สร้างถวายเป็นพระอนุสรณ์แต่ละแห่ง
และเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนสืบไป ดังนี้

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑”
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๒”
ณ โรงพยาบาลละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๓”
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๔”
ณ โรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๕”
ณ โรงพยาบาลแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๖”
ณ  โรงพระปริยัติธรรมวัดพระบาทมิ่งเมือง จังหวัดแพร่
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๗”
ณ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  

“ตึกสกลมหาสังปริณายก ๘”
ณ โรงพยาบาลหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปัญญาอคฺคโต) วัดบวรนิเวศวิหาร

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๙”
ณ โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๐”
ณ โรงพยาบาลนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๑”
ณ โรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๒”
ณ โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวราราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๓”
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๔”
ณ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๕”
ณ โรงพยาบาลตราด จังหวัดตราด
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๖”
ณ โรงพยาบาลภูกระดึง จังหวัดเลย
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๗”
ณ โรงพยาบาลลานสะกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๘”
ณ โรงพยาบาลไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๙”
ณ โรงพยาบาลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
(เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร



โรงพยาบาลท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:15

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ พระนิพนธ์

ทางด้านงานพระนิพนธ์ หรือตำรับตำรานั้น
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้เริ่มเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเปรียญ
โดยการเป็นเจ้าหน้าที่แผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
และเป็นเจ้าหน้าที่หนังสือธรรมจักษุ เป็นต้น

ได้เรียบเรียงเรื่องต่างๆ ไว้มาก
บางเรื่องก็ได้พิมพ์ออกเผยแพร่มาแล้วหลายครั้ง
บางเรื่องก็ยังไม่เคยได้พิมพ์เผยแพร่
กล่าวเฉพาะเรื่องที่เคยพิมพ์มาแล้ว
ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นประเภท ดังนี้

ประเภทตำรา

พ.ศ. ๒๔๙๒ เรียบเรียงอธิบายวากยสัมพันธ์ ภาค ๑-๒
เป็นหนังสืออธิบายบาลีไวยากรณ์
สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาของนักเรียนบาลี

และ พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงเป็นผู้อำนายการในการจัดทำปทานานุกรม
บาลี ไทย อังกฤษ และสันสกฤต
ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พิมพ์ขึ้นในงานทำบุญอายุ ๖๐ ปี ของหม่อมหลวงบัว กิตติยากร
พระชนนีของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒







ประเภททั่วไป

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเรียบเรียงไว้มาก เช่น
๑.        แนวความเชื่อ
๒.        บัณฑิตกับโลกธรรม
๓.        บวชดี
๔.        การนับถือพระพุทธศาสนา
๕.        คำกลอนนิราศสังขาร
๖.        บุพพการี-กตัญญูกตเวที
๗.        อาหุเนยโย
๘.        ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร (เล่ม ๒)
๙.        หลักพระพุทธศาสนา
๑๐.        พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเลิศล้ำ
๑๑.        แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน
๑๒.        ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
๑๓.        พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร ไทย-อังกฤษ
๑๔.        วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ
๑๕.        ศีล ไทย-อังกฤษ
๑๖.        เรื่องกรรม
๑๗.        สันโดษ
๑๘.        อวิชชา
๑๙.        หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมทางจิต
(ทางลม-อาหารใจ-ปริญญา-บันทึกกรรมฐาน)
๒๐.        พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
๒๑.        การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่

(เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ รวมพิมพ์เป็นเล่มใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์
เนื่องในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา
ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕)





โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:16
ประเภทพระธรรมเทศนา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเรียบเรียงไว้มาก และพิมพ์เป็นเล่มแล้ว
เช่น ปัจคุณ ๕ กัณฑ์ ทษพลญาณเทศนา ๑๐ กัณฑ์
มงคลเทศนาถึงมงคลคาถาที่ ๖ โอวาทปาฏิโมกข์เทศนา ๓ กัณฑ์
สังฆคุณ ๙ กัณฑ์ พระมงคลวิเสสกถา
และพระธรรมเทศนาในการพระราชกุศล รวม ๑๐๙ กัณฑ์ เป็นต้น

ประเภทริเริ่มให้มีการรวบรวมและแปล

เนื่องในการจัดงานมหาสมณานุสรณ์ครบ ๕๐ ปี นับแต่วันสิ้นพระชนม์ของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงดำริให้รวบรวมพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
อันนอกเหนือไปจากที่ใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก อยู่แล้ว
ซึ่งบางเรื่องนั้นยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน
และบางเรื่องเคยพิมพ์แล้วแต่หายาก หรือกระจัดกระจายอยู่
ให้เป็นหมวดหมู่ตามประเภท เป็นหนังสือขนาดใหญ่
(เท่าที่พิมพ์เสร็จแล้วในขณะนั้น) ๑๗ เล่ม
โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่

และต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๕
ทางวัดได้จัดงานวชิรญาณวงศานุสรณ์ครบ ๑๐๐ ปี
นับแต่วันที่ประสูติของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ได้ทรงดำริให้รวบรวมพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น
พิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือชุดรวม ๖ เล่ม
โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่เช่นเดียวกัน

และได้ให้มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จัดรวบรวมและพิมพ์พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ออกเผยแพร่ด้วย
โดยจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุดแบ่งตามประเภทของเรื่อง
ขณะนี้ได้จัดพิมพ์แล้ว ๔ เล่ม (ส่วนที่เหลือจะจัดพิมพ์ต่อไป)


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ)
ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ



นอกจากนี้ ยังได้ให้รวบรวมประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร
จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษด้วย


ในด้านการริเริ่มในการแปลตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษนั้น
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้จัดให้พระภิกษุไทยร่วมกับพระภิกษุชาวต่างประเทศ
ที่บวชจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารช่วยกันแปลหนังสือขึ้น
เป็นคู่มือในการศึกษาพระพุทธศาสนา

ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ  
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นภาษาอังกฤษหลายเล่ม เช่น

๑. นวโกวาท ซึ่งเป็นหนังสือหลักในการศึกษาพระวินัยของพระภิกษุ
๒. วินัยมุข เล่ม ๑-๓ ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายขยายความนวโกวาทให้เข้าใจง่ายขึ้น
๓. พุทธประวัติ เล่ม ๑-๒-๓ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ทรงริเริ่มให้มีการแปลหนังสือพุทธศาสนาที่สำคัญๆ
จากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ
เพื่อเป็นการเผยแพร่และเป็นคู่มือการศึกษาพระพุทธศาสนา
สำหรับชาวต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก

เช่น หนังสือภิกขุปาติโมกข์ อุปสมบทวิธี ทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น
แล้วโปรดให้มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จัดพิมพ์เผยแพร่

ในระยะเดียวกันนี้
โปรดให้จัดตั้งแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาต่างประเทศ
ของมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ขึ้นด้วย

เพื่อให้เป็นศูนย์หนังสือทางพระพุทธศาสนา
สำหรับชาวต่างประเทศที่สนใจจะศึกษาพระพุทธศาสนา
ตลอดถึงชาวไทยที่ต้องการหนังสือพระพุทธศาสนา
ในภาษาต่างประเทศไว้ประกอบการศึกษา
ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒
และเจริญก้าวหน้ามาด้วยดีจวบจนทุกวันนี้


ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:18

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

• พ.ศ. ๒๕๒๙

มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา

• พ.ศ. ๒๕๓๒

มหาวิทยาลัยมหิดล
ถวายปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาเปรียบเทียบ

• พ.ศ. ๒๕๓๓

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
ถวายปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

• พ.ศ. ๒๕๓๗

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

• พ.ศ. ๒๕๓๘

มหาวิทยาลัยนเรศวร
ถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา

• พ.ศ. ๒๕๓๙

มหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ
ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

• พ.ศ. ๒๕๔๑

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย

•  พ.ศ. ๒๕๔๓

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

•  พ.ศ. ๒๕๔๕

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


ภาพทรงฉายร่วมกับคณะสงฆ์ของวัดบวรนิเวศวิหาร
เนื่องวันวันคล้ายวันประสูติ ๙๒ พรรษา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘



๏ ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน

๑.        เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
๒.        เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
๓.        เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
๔.        รักษาการเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์
๕.        เป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
                      มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๖.        เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระสังฆาธิการคณะธรรมยุต
๗.        เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์
๘.        เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา
                     เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา
๙.        เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
๑๐.        เป็นประธานกรรมการมูลนิธิพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๑๑.        เป็นประธานกรรมการมูลนิธิวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์


เนื่องในมงคลวโรกาสคล้ายวันประสูติ ๙๕  พรรษา วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:19


๏ ชีวิตและปฏิปทาแบบอย่าง

ชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น
ก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่วๆ ไป
คือมีทั้งผิดหวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ

แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรมหลายประการ
ที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต
ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวังมากกว่าผิดหวัง
มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว
และมีความดีใจมากกว่าเสียใจ

กล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าว
พระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ
หรือทรงเจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด
ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้


หากวิเคราะห์ตามที่ปรากฏในพระประวัติ
ก็จะเห็นได้ว่าพระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ก็คือ
อดทน
ใฝ่รู้         
กตัญญู
ถ่อมตน
คารวธรรม



ความอดทน (ขันติ : พระคุณธรรมประการแรก)

ที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ)
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย
และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร

พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน
พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนัก
จึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้
ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ
ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น
เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่นในเวลานั่งสอบ

นอกจากจะต้องอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว
ยังต้องงอดทนต่อเสียงค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ

แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง
แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น


ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) : พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอด
แม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ก็ไม่เคยจืดจาง
ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ
ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว
ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า

“เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”

พระคุณธรรมข้อกตัญญูดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด
และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์
แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ


พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


‘พระรูปเขียนสี’ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-25 23:20
ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนา
เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร
เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

เพราะหากไม่มี สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑
ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒

ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา
จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูป สมเด็จพระญาณสังวร (สุก)
ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์
และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔)

คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)  วัดสระเกศ
ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า

“เจ้าคุณ จะอยู่เอาวัดบวรได้อยู่หรือ”

ซึ่งหมายความว่า จะปกครอง วัดบวรนิเวศวิหาร
ที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า
อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ

ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงถือว่า
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์
จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นอยู่เสมอ

เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) พระองค์นั้น
นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้



สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)  


พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น
เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน

ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน
พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใครๆ
แต่มักตรัสว่า

“แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า
เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ

“ใครๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์
ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”


อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม
มาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย

ในการประชุมมหาเถรสมาคมแต่ละครั้ง
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ

กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม
ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น
ทรงทักแบบสัพยอกด้วยพระเมตตาว่า

“เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”

พระคุณธรรมข้อคารวธรรม

คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ

คารวธรรม ประการแรกของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย



ความเคารพในพระพุทธเจ้า

ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์
ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า
การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวัน
ทำให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม

ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ
พระพุทธรูปไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ
หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น

ความเคารพต่อพระธรรม

ก็ทรงแสดงออก
ด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง
พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ
ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน

แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา
ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น
หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า

“นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”

ความเคารพในพระสงฆ์

ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ
พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่าพระกรรมฐานเป็นพิเศษ

เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็นอาคันตุกะมาสู่พระอาราม
แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ

พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ
ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป
ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์อะไร
หากมีอาวุโสพรรษามากกว่า
พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ

เมื่อมีพระสงฆ์จากที่ต่างๆ มาเข้าเฝ้า
หากมีพระเถระผู้เฒ่ามาด้วยก็จะทรงถามก่อนว่า

“ท่านพรรษาเท่าไร”

หากมีอายุพรรษามากกว่า
จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่างภาษาชาวโลกก็คือ

เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ
เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้สำหรับทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทางโลกหรือชีวิตทางธรรม




การกล่าวถึงพระคุณธรรมในชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ข้างต้นนั้น
เป็นการมองชีวิตของ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในภาพรวม
เช่นกับชีวิตของคนทั่วไปว่า

ทรงมีอะไรบ้าง ทรงทำอะไรบ้าง
แต่ถ้ามองชีวิตของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง
ก็จะเห็นแบบอย่างของชีวิตในทางธรรมที่ชัดเจนอีกภาพหนึ่ง

นั่นคือ ปฏิปทาอันควรค่าแก่การเป็นแบบอย่าง
สำหรับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั่วไป
พระปฏิปทาอันเป็นแบบอย่างดังกล่าวก็คือ


ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ
ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย
ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15226                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/ ... 4218a6865e&start=15


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-26 21:43
พระอาการประชวร

สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเสด็จประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2545 เป็นต้นมา เช้าวันที่ 14 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระสังฆราชฯ ประชวร และทรงมีความดันพระโลหิตต่ำ เนื่องมาจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต คณะแพทย์ตรวจพบว่า พระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ขาดพระโลหิตและมีแผลติดเชื้อ จึงถวายการรักษาด้วยการผ่าตัดพระอันตะและพระอันตคุณบางส่วนออก ภายหลังการผ่าตัดปรากฏว่าพระอาการโดยรวมดีขึ้น ไม่ทรงมีไข้ ความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถลดปริมาณพระโอสถ เพิ่มความดันพระโลหิตได้ตามลำดับ ไม่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะ เพื่อควบคุมการติดเชื้อต่อไป และในวันที่ 15 ต.ค.2556 คณะแพทย์ได้เชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จออกจากหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) กลับมาประทับ ณ ห้องที่ประทับตึกวชิรญาณ

วันที่ 20 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จทรงมีความดันพระโลหิตลดต่ำลง และอัตราการเต้นของพระหทัยผิดปกติตั้งแต่ตอนบ่าย ผลการตรวจพระโลหิตพบว่า เม็ดพระโลหิตขาวเพิ่มสูงขึ้น เกล็ดพระโลหิตลดต่ำลง และมีความผิดปกติของการแข็งตัวของพระโลหิต ผลการตรวจการทำงานของพระยกนะ (ตับ) พบความผิดปกติเพิ่มขึ้น พระโลหิตมีภาวะเป็นกรด ผลการตรวจภาพรังสีคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่พระอุระ (อก) และพระนาภี (ท้อง) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ คณะแพทย์จึงปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะถวาย กับถวายสารน้ำ รวมทั้งถวายพระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต และควบคุมการเต้นของพระหทัย โดยแพทย์และพยาบาลได้ถวายการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.

ค่ำวันที่ 22 ต.ค.2556 คณะแพทย์ที่ทำการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จฯ มีพระอาการทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตต่ำลงอีก ไม่ตอบสนองต่อพระโอสถเพิ่มความดันที่ถวาย การเต้นของพระหทัยที่ไม่สม่ำเสมอ คณะแพทย์ได้ปรับเปลี่ยนพระโอสถปฏิชีวนะ พระโอสถเพิ่มความดันพระโลหิต รวมทั้งถวายโลหิตและสารน้ำทางหลอดพระโลหิตดำ วันที่ 23 ต.ค.2556 สมเด็จฯ มีอาการโดยรวมทรงตัว ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะ และพระโอสถเพิ่มความดันโลหิต และเฝ้าถวายการตรวจ และติดตามการรักษาตลอด 24 ชม.

วันที่ 24 ต.ค.2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จฯ มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ระดับความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำลง คณะแพทย์และพยาบาลยังคงถวายพระโอสถและเฝ้าถวายการตรวจรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

ล่าสุด ค่ำวันที่ 24 ต.ค. 2556 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จฯ ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 น. ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-10-26 21:49
กราบท่านครับ
โดย: sriyan3    เวลา: 2013-10-28 09:01
สาธุ ขอบคุณคร้าบ
โดย: Nujeab    เวลา: 2013-10-28 10:14

น้อมกราบสักการะพระองค์ท่าน ด้วยจิตเคารพยิ่ง
โดย: ตถตา    เวลา: 2013-10-28 11:48
ขอแสดงความอาลัยแด่ สมเด็จพระญาณสังวร ผมบวชที่วัดบวรฯ และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายสักการะ และทำวัดเย็นกับท่านในระหว่างที่บวช ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ ท่านถือเป็นครูบาอาจารย์องค์แรกของผมครับ

ขอขอบคุณคุณ kit007 ที่สละเวลารวบรวมข้อมูลได้มากขนาดนี้
โดย: morntanti    เวลา: 2013-10-29 07:31
ภาพหายาก : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในวาระโอกาสที่เสด็จมาเยือนสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุขอโอกาสกราบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่เพราะท่านพุทธทาสภิกขุมีอายุพรรษาแก่กว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงทรงห้ามไว้ แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ไม่ยอม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงกราบท่านพุทธทาสภิกขุกลับ




โดย: morntanti    เวลา: 2013-10-30 07:20
แปลกแต่จริง


โดย: Metha    เวลา: 2013-12-11 00:33

ขอบคุณครับ
โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:26
100 คำสอน สมเด็จพระสังฆราช
พระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม พ.ศ.2556 นับเป็นมหามงคลสมัยที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้แสดงความสํานึกในพระเมตตาและพระบารมีธรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ที่ทรงมีต่อพระบวรพุทธศาสนาและประชาชนเป็นเอนกประการ ทรงเป็นแบบอย่างอันดีงามในพระจริยวัตรและพระคุณธรรมที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้น้อมนําหลักธรรมจากหนังสือพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คําสอนต่างๆ และแบบอย่างอันดีงามจากพระจริยวัตร หลักปฏิบัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ในอันที่จะยังให้เกิดประโยชน์สุข ความสุขสงบในจิตใจ ทั้งแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์และสันติ อีกทั้งยังเป็นการ จรรโลงพระบวรพระพุทธศาสนาให้ธํารงสถาพรสืบไป

     ตัวเลข 100 มาจาก ต้องการจะล้อกับพระชันษาของสมเด็จพระสังฆราชครบ 100 ปี ในเดือนตุลาคม 2556 จัดทำเป็นหนังสือของกิจกรรมจัดหาทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลพหลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดพระชาติภูมิของสมเด็จพระสังฆราช

     คำสอนของสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นคำสอนที่ใช้ภาษาเรียบง่าย และงดงาม ชวนให้น้อมนำเข้ามาสู่จิตใจ  100 คำสอนที่รวบรวมมา แต่ละคำสอนเป็นข้อความสั้น ๆ ไม่เกินหนึ่งหน้า จัดแบ่งเป็น 8 หมวด ว่าด้วย ชีวิต, คน, คนดี, กรรม, ความสุข, ความดี, เมตตา และชัยชนะ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:27
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช ที่ 1 ชีวิต

     มนุษย์ ที่ แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีจิตใจสูง คือ มีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่าคนเรามีพื้นปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานมากมาย สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดี ความชั่ว ความควรทำไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์ที่เรียกว่าวัฒนธรรม อารยธรรม ศาสนา เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะปัญญาเป็นรัตนะ ส่องสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นก็ยังมีความมืดที่มากำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั่นก็คือ กิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:27
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 2

   คำว่า ชีวิต มิ ได้มีความหมายเพียงแค่ความเป็นอยู่แห่งร่างกาย แต่หมายถึงความสุข ความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม ของบุคคลในทางต่างๆ ด้วยบางคนมีปัญหาว่า จะวาดภาพชีวิตของตนอย่างไรในอนาคต หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และจะไปถึงจุดหมายนั้นหรือที่นึกที่วาดภาพไว้นั้นด้วยอะไร ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้ น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคลตามที่กรรมกำหนดไว้เป็นอย่างไร และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตนที่จะพึงถึง แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ ก็จะเกิดความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่ หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่พึงได้พึงถึง แต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้น ก็ยากอีกเหมือนกันที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:27
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 3

     เรา เกิดมาด้วยตัณหา ความอยากและกรรมเพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เราเกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือ ตัวเอง เพราะตนเองเป็นผู้อยากเองและเป็นผู้ทำกรรม ฉะนั้นตนนี้เองแหละเป็นผู้สร้างให้ตนเองเกิดมาอนุมาน ดูตามคำของผู้ตรัสรู้นี้ในกระแสปัจจุบัน สมมติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้งและหาเสียง เมื่อชนะคะแนนก็เป็นผู้แทนราษฎร นี่คือความอยากเป็นเหตุให้ทำกรรม คือทำการต่างๆ ตั้งแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผล คือ ได้เป็นผู้แทน

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:28
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 4

     ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต หรือของโลกเป็นทุกข์ประจำชีวิตหรือประจำโลกไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใด เมื่อจะสรุปกล่าวให้สั้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสี่นี้ย่อลงเป็นสอง คือความเกิดและความดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สกัดหน้าสกัดหลังของโลก ของชีวิตทุกชีวิตนี่เรียกคติธรรมดา แปลว่า ความเป็นไปตามธรรมดา ความไม่สบายใจ ทุกๆ อย่าง พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าเป็นทุกข์ ทุกคนคงเคยประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง เกิดทุกข์โศกต่างๆ นี่แหละพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นทุกข์โลกหรือชีวิต ประกอบด้วยทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นความจริงที่โลกหรือทุกชีวิตต้องเผชิญ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:28
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 5

     ชีวิตคนเรา เติบโตขึ้นมาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความเมตตากรุณาจากผู้อื่นมาตั้งแต่เบื้อง ต้น คือ เมตตา กรุณา จากบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหาย ถ้าไม่ได้รับความเมตตา ก็อาจจะสิ้นชีวิตไปแล้วเพราะถูกทิ้ง เมื่อเราเติบโตมาจากความเมตตากรุณา ก็ควรมีความเมตตากรุณาต่อชีวิตอื่นต่อไป
วิธีปลูกความเมตตากรุณา คือ ต้องตั้งใจปรารถนาให้เขาเป็นสุข ตั้งใจปรารถนาให้เขาปราศจากทุกข์ โดยเริ่มจากเมตตาตัวเองก่อน แล้วคิดไปถึงคนใกล้ชิด คนที่เรารัก จะทำให้เกิดความเมตตาได้ง่าย แล้วค่อยๆ คิดไปให้ความเมตตาต่อคนที่ห่างออกไปโดยลำดับ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:29
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 6

     ตนรักชีวิตของตน สะดุ้งกลัวความตายฉันใด สัตว์อื่นก็รักชีวิตตนและสะดุ้งกลัวความตายฉันนั้น ฉะนั้น จึงไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นฆ่า อนึ่ง ตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น จึงไม่ควรสร้างความสุขให้ตนเองด้วยการก่อความทุกข์ให้แก่คนอื่น

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:29
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 7

     คติธรรมดาที่ไม่มีใครเกิดมาในโลกนี้ จะหนีไปให้พ้นได้ ก็คือ ความแก่ ความตาย แต่คนโดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างว่าไม่แก่ ไม่ตาย น่าที่จะรีบทำความดี แต่ก็ไม่ทำ กลับไปทำความชั่ว ก่อความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ต่างต้องเผชิญทุกข์เพราะกรรมที่ต่างก่อให้แก่กันอีกด้วย ฉะนั้น ก็น่าจะนึกถึงความแก่ ความตายกันบ้าง เพื่อจะได้ลดความมัวเมา และทำความดี

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:29
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 8

    การฆ่าตัวตาย เป็น การแสดงความอับจนพ่ายแพ้หมดหนทางแก้ไข หมดทางออกอย่างอื่น สิ้นหนทางแล้ว เมื่อฆ่าตัวก็เป็นการทำลายตัว เมื่อทำลายตัวก็เป็นการทำลายประโยชน์ทุกอย่างที่พึงได้ในชีวิต ในบางกลุ่มบางหมู่เห็นว่าการฆ่าตัวตายในบางกรณีเป็นเกียรติสูง แต่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นโมฆกรรม คือกรรมที่เปล่าประโยชน์ เรียกผู้ทำว่า คนเปล่า เท่ากับว่าตายเปล่าๆ ควรจะอยู่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ ก็หมดโอกาส

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:30
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 9

     การแก้ปัญหาของคนเรา ถ้า ป้องกันไว้ก่อนแก้ไม่ทัน ก็แก้เมื่อปัญหายังเล็กน้อยจะง่ายกว่า เหมือนอย่างดับไฟกองเล็กง่ายกว่าดับไฟกองโต ถ้าเป็นผู้ที่สนใจธรรมะบ้าง ก็จะหาหนทางปฏิบัติได้ถูกต้อง ดังที่พระพุทธเจ้ายกขึ้นแสดงว่า ธรรมะพันเกี่ยวข้องกับตัวเราเอง ทุกๆ คนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง ถ้าตั้งมั่นในการประพฤติธรรมให้พอเหมาะแก่ภาวะของตนเอง ก็จะทำให้พ้นจากความทุกข์ภัยพิบัติได้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็อาจจะเผลอพลั้งพลาด และถ้าไม่รู้วิธีแก้ปัญหาด้วยธรรมะก็อาจจะทำให้หลุดพ้นจากบ่วงปัญหาได้ยาก ฉะนั้น ถ้าสนใจพระธรรมบ้างก็จะมีเครื่องป้องกันแก้ไขให้พ้นจากความทุกข์ ดังคำกล่าวที่ว่า พระธรรมคุ้มครอง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:30
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 10

     มารดา บิดา เป็นทิศเบื้องหน้า ครู อาจารย์ เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยา เป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหาย เป็นทิศเบื้องซ้าย คนรับใช้หรือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน ถ้าทิศทั้งหลายดังกล่าวไม่ดีเสียโดยมาก ก็ยากที่จะให้ใครๆ ที่อยู่ระหว่างกลางดีอยู่ฝ่ายเดียว

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:30
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 11

     เมื่อมองไปเบื้องหน้า ไม่มีบิดา-มารดาเป็นที่ยึดเหนี่ยว มองไปเบื้องขวาก็ไม่พบครู-อาจารย์ที่จะอบรมแนะนำ มองไปเบื้องหลังก็ไม่พบญาติพี่น้องผู้หวังดี มองไปเบื้องซ้ายก็ไม่มีสหายที่เป็นกัลยาณมิตร มองไปเบื้องล่างก็ไม่พบผู้ที่รับใช้ให้ความช่วยเหลือ มองไปเบื้องบนก็ไม่พบสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกให้ ตรงกันข้าม มองไปทางทิศไหนก็พบแต่โรงหนัง โรงละคร สถานอบายมุขต่างๆ และบุคคลต่างๆ ที่ชักนำไปทางเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุชักจูงกันไปในทางเสื่อมเสียต่างๆ แต่ถ้าทิศทั้งหลายดีอยู่โดยมากก็ยากจะเสื่อมเสียได้

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:31
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 12

     การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโต ควร ทำความเข้าใจว่ามี 2 อย่าง คือเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงดูจิตใจ เพราะความเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ จะมุ่งเลี้ยงร่างกายทอดทิ้งทางจิตใจ ย่อมเป็นความบกพร่องอย่างสำคัญ ไม่ควรถือตามคำปัดว่าเลี้ยงกันได้แต่กาย ใจเลี้ยงไม่ได้ ใจที่อาจเลี้ยงไม่ได้ คือใจที่แข็งหรือเติบโตเป็นตัวของตัวเองในทางที่ถูกหรือผิดเสียแล้ว แต่จิตใจที่ยังอ่อน ยังจะเติบโตต่อไป ถ้าผู้ปกครองบำรุงเลี้ยงให้อาหารใจที่ดีอยู่เสมอแล้ว ภาวะทางจิตใจของเด็กก็จะเติบโตขึ้นในทางที่ดี ทั้งนี้เกี่ยวแก่การอบรมดี ให้เด็กได้เสวนา คือซ่องเสพคบหา คุ้นเคยกับบุคคล และสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ชอบ ถูกต้อง เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูให้มีร่างกายจิตใจเติบโตขึ้นสมดุลกันก็จะเติบโต ดีขึ้นเรื่อยๆ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:31
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 13

     ในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญๆ ทุกฝ่ายของเยาชน แต่ละคนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริง ไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่างๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อแตกต่างต่างกันอยู่ว่า สำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้น ยังเป็นผู้เยาว์สติปัญญาจำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็ก และช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:31
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 14

     คนวัยรุ่น กำลังเจริญด้วยพลัง กำลังทะยานกายทะยานใจ เหมือนน้ำตกแรง เมื่อไม่สมหวัง มักจะทำอะไรแรง จึงมักพลาดได้ง่าย และเมื่อพลาดลงไปในห้วงอะไรที่แรงๆ แล้ว ก็อันตรายมาก เหมือนอย่างไปเล่นสนุกกันที่น้ำตก อาจเผลอพลาดตกลงไปกับน้ำตกที่โจนลงไปจากหน้าผาสูงชัน

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:32
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 15

     ไม่ควรเชื่อใจตนเองเกินไป เพราะอาจไม่มีเหตุผล ถ้าใจนั้นถูกบังคับหรือท่วมทับเสียแล้ว ควรหารือกับท่านผู้สามารถให้เหตุผลที่ถูกต้องได้ ทั้งเมื่อสนใจในพระธรรมอยู่ พระธรรมอาจให้เหตุผลแก่ตนได้กระจ่างพร้อมทั้งชี้ทางปฏิบัติได้ถูกต้อง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:32
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 16

     ผู้ที่มีความคิดน้อย ย่อมนิยมชมชื่นในปัญญาแห่งมนุษย์ในปัจจุบัน และเหยียดดูถูกบรรพชนของตนเอง แต่ผู้ที่มีวิจารณญาณย่อมพินิจนับถือบูรพชนหรือโบราณชนเป็นอย่างดี โดยฐานะที่เป็นผู้ร่วมก่อกำเนิดศิลปวิทยาและประดิษฐ์วัตถุหรือในศิลปวิทยา นั้นๆ ได้ มนุษย์อีกคนหนึ่งไม่สามารถคิดเช่นนั้นได้ เมื่อเห็นว่าเหมาะดีแล้วก็นำเอาไปใช้ศึกษาและปฏิบัติตาม กล่าวโดยเฉพาะศิลปวิทยา หมู่หรือคณะ หรือว่าบุคคลที่บรรลุความเจริญจำต้องนับถือความรู้ของกันและกัน จำต้องศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ของกันและกัน เพราะเหตุนี้ ผู้มุ่งความเจริญจึงพากันพยายามศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศตามกำลังความ สามารถ เหล่านี้เป็นข้อแสดงถึงความเอาอย่างหรือความตามกันในความรู้ แม้ในทางความประพฤติก็เช่นเดียวกัน

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:33
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 17

     คนเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้อง ทำต้องพูดอยู่ทุกๆ วัน เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีสติ เมื่อทำอะไรพูดอะไรไปแล้ว ก็ระลึกได้ว่าได้ทำอะไรหรือพูดอะไรผิดหรือถูกเรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อย เป็นต้น จะทำจะพูดอะไรก็มีความระลึกนึกคิดก่อนว่าดีหรือไม่ดี อย่างโบราณสอนให้นับสิบก่อน คือ ให้นึกให้รอบคอบก่อนนั่นเอง ในขณะที่กำลังทำกำลังพูดก็รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่หลงลืมตัวไม่เผลอตัว บางคนมีปัญญาความรู้ดีแต่ขาดสติ ทำพูดอะไรผิดพลาดได้ อย่างที่พูดกันฉลาดแต่ไม่เฉลียว จึงสมควรหัดให้มี สติรอบคอบ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:33
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 18

     คนที่เมา ประมาทขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ อาจผิดศีลได้ทุกข้อ อาจทำชั่วทำผิดได้ทุกอย่าง และเมื่อประมาทเสียแล้วก็เป็นคนหลงอย่างเต็มที่ ไม่รู้จักเหตุผลความควรไม่ควร ไม่รู้จักดีชั่ว ผิดถูก จะพูดชี้แจงอะไรกับคนเมาหาได้ไม่ คนเมาประมาทจึงเป็นผู้ที่ควรเมตตากรุณาหรือสงสาร เหมือนคนตกน้ำที่ทิ้งตัวเองลงไปช่วยตัวเองก็ไม่ได้ หรือเหมือนดื่มยาพิษฆ่าตัวเอง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:34
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 19

    คนที่ถือกำเนิดเป็นคนนั้น ยังไม่จัดเป็นคนโดยสมบูรณ์ เพราะเหตุเพียงเกิดมามีรูปร่างเป็นคน ต่อเมื่อมีการปฏิบัติ ประกอบด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสมกับความเป็นคน จึงเรียกว่าเป็น คนโดยธรรม เมื่อมีธรรมของคนสมบูรณ์ จึงจะเชื่อว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์ แม้คำในหิโตประเทศก็กล่าวว่าการกิน การนอน ความกลัวและการสืบพันธ์ของคนและดิรัจฉานเสมอกัน แต่ธรรมของคนและดิรัจฉานเหล่านั้นแปลกกว่ากัน เว้นจากธรรมเสีย คนก็เสมอกับดิรัจฉาน

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:34
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 20

     คนเราโดยมาก มีภายนอกและภายในไม่ตรงกัน เช่นภายนอกรักษามารยาทอันดีต่อกัน แต่ภายในคิดไม่ดีต่อกัน เช่นคิดทำร้ายประหัตประหารกัน หรือบางทีภายในใจไม่มีวัฒนธรรมเลย ทั้งที่ภายนอกแสดงว่ามีวัฒนธรรมต่อกัน เป็นการตีหน้าซื่อแต่ใจคด เรื่องเช่นนี้มีมานานแล้ว จนมีคำกล่าวมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ว่า สัตว์ดิรัจฉานอ่านง่าย ส่วนมนุษย์อ่านยาก เพราะมีชั้นเชิงมากนักเหมือนอย่างป่ารกชัฏ ไม่รู้ว่าสิงสาราสัตว์ซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:34
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 21

    คนที่มุ่งประโยชน์เฉพาะตน เท่านั้น ไม่เกื้อกูลใคร เป็นจำพวกเห็นแก่ตนโดยส่วนเดียว เป็นคนคับแคบ ไม่ประพฤติการเป็นคุณประโยชน์แก่ใคร อาจเจริญด้วยประโยชน์ปัจจุบัน มีทรัพย์เฉพาะตน แต่เป็นคนไม่มีประโยชน์แก่คนอื่นหรือแก่หมู่คณะ เรียกว่าเป็นคนมีความคิดแคบสั้น เพราะหลักของการอยู่ร่วมกัน เมื่อคนอื่นพากันเป็นทุกข์เดือดร้อนจะเป็นสุขอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้น คนฉลาดจึงมีความคิดยาวและกว้างออกไป เมื่อตนเองได้ประโยชน์มีความสุข ความเจริญ ก็ทำการที่เป็นประโยชน์แผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่น ตามที่เกี่ยวข้องและตามสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ในภายหน้า

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:35
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 22

      โดยปกติคนเรา ย่อมมีหมู่คณะและถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน จึงต้องมีการปลูกไมตรี ผูกมิตรไว้ในคนดีๆ ด้วยกันทั้งหลาย เมื่อมีไมตรี มีมิตรก็เชื่อว่ามีผู้สนับสนุน ทำให้ได้รับความสะดวกในกิจที่พึงทำ ผู้ขาดไมตรี ขาดมิตร ก็เท่ากับขาดผู้สนับสนุน แม้จะมีทรัพย์ มีความรู้ความสามารถ แต่ก็คับแคบเหมือนอย่างมีแต่ตนผู้เดียว ยากที่จะได้รับความสะดวกในกิจการ อย่าว่าแต่บุคคลต่อบุคคลเลย แม้แต่ประเทศต่อประเทศก็จำต้องมีไมตรีต่อกัน

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:35
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 23

     คนที่ฉลาด ย่อมมีความคิดยาวออกไปถึงกาลข้างหน้า ทำในสิ่งที่ให้ประโยชน์สำหรับเด็กๆ โดยปกติ ย่อมมีอนาคตของชีวิตอยู่อีกมาก การศึกษาเล่าเรียนในบัดนี้ก็เพื่อสร้างอนาคตของชีวิตให้มีความสุขความเจริญ ถ้าทุกคนไม่มีอนาคตภายหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียน แต่เพราะทุกคนต่างมีอนาคตจึงต้องพากันศึกษาเล่าเรียนและทำให้กิจการต่างๆ เพื่อมีความสุขความเจริญในอนาคต

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:37
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 24

     คนหนึ่งๆ มีหน้าที่หลายอย่าง เมื่อเรารู้จักหน้าที่ของตนดีอยู่และปฏิบัติให้เหมาะแก่หน้าที่ ก็จะรักษาไว้ได้ ทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งศาสนา ทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่น สามารถรักษาปกติภาพซึ่งเป็นศีลตามวัตถุประสงค์และรักษาปกติสุขซึ่งเป็น อานิสงส์ของศีล โดยสรุป ศีลนี้แหละเป็นมนุษยธรรม เพราะทำให้ผู้มีศีลได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์โดยธรรม คิดดูว่าคนไม่มีหิริโอตัปปะ ไม่รู้จักผิดชอบ ประพฤติต่ำทราม จะควรเรียกว่ามนุษย์ได้อย่างไร

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:38
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 25

    ไม่ควรมองออกไปแต่ภายนอก แต่ ควรมองเข้ามาดูภายในด้วย คือภายในครอบครัว เพราะเด็กต้องจำเจอยู่ในครอบครัว จึงเสวนากับบุคคลและสิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นส่วนมาก ถ้ามีพี่เลี้ยงก็ควรเลือกพี่เลี้ยงที่ดี โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ของเด็ก เช่น บิดามารดาต้องประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก เด็กย่อมเฝ้าผูกปัญหาสงสัยและคิดแก้ปัญหาในบุคคลและสิ่งรอบๆ ตัวอยู่เสมอ และคอยลอกเลียนดำเนินตามสิ่งที่ตนได้เห็นและผู้ใหญ่นั่นเองเป็นตัวอย่าง เมื่อประสงค์จะให้เด็กดีจึงจำต้องทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กด้วย

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:38
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 26

    คนโดยมาก มักเข้าใจผิดในผลของความดี คือมักไปเข้าใจผลพลอยได้ว่าเป็นผลโดยตรง และมักมุ่งผลพลอยได้เป็นสำคัญ เมื่อไม่ได้ผลเป็นวัตถุจากการทำความดีก็จะบ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร รักษาศีลไม่เห็นร่ำรวยอะไร เป็นเพราะไม่เข้าใจว่า ผลของความดีคืออะไร ผลของความดี คือความหลุดพ้น
ผู้ทำความดี ย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว มีจิตกว้างขวางออกไปโดยลำดับและเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ และย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อผลตอบแทนใดๆ เป็นสำคัญ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:38
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 27

      ผู้ให้อภัยง่าย ก็คือ ไม่โกรธง่ายนั่นเอง ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาจะฝึกจิตให้ไม่โกรธง่าย จึงควรต้องฝึกตนให้เป็นผู้มีเหตุผล เคารพเหตุผล นั่นคือให้คิดหาเหตุผลเพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ตนอยากจะโกรธ เมื่อเห็นอกเห็นใจด้วยเหตุผลแล้วจะได้ไม่โกรธ จะได้อภัยให้ในความผิดพลาดหรือบกพร่องของเขา กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้คิดหาเหตุผลเพื่อให้เกิดเมตตาในผู้ที่ตนอยากจะโกรธนั่นเอง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:38
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 28  คนดี

    อันคนที่ทำงานที่เป็นคุณให้ เกิดประโยชน์ย่อมจะต้องประสบถ้อยคำถากถาง หรือการขัดขวางน้อยหรือมาก ผู้มีใจอ่อนแอก็จะเกิดความย่อท้อ ไม่อยากจะทำดีต่อไป แต่ผู้ที่มีกำลังใจย่อมจะไม่ท้อถอย ยิ่งถูกค่อนแคะก็ยิ่งจะเกิดกำลังใจมากขึ้น คำค่อนแคะกลายเป็นพาหนะที่มีเดชะแห่งการทำความดี แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกคนที่ริษยามุ่งร้ายจ้างคนให้ตามด่าว่าในบางครั้ง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:39
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 29

     การที่จะให้ใครช่วยเหลือทำอะไร ต้องเลือกคนที่มีปัญญา ที่รู้จักผิดถูก ควรไม่ควร มิใช่ว่าถ้าเขามุ่งดีปรารถนาดีแล้ว เป็นมอบการงานให้ทำเรื่อยไป เพราะถ้าเป็นคนขาดปัญญา แม้จะทำด้วยความตั้งใจช่วยจริง แต่ก็อาจจะทำการที่เป็นโทษแม้อย่างอุกฤษฏ์ก็ได้

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:39
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 30

    คนเรานั้น นอกจากจะมีปัญญาแล้ว ยังต้องมีความคิดอีกด้วย จึงจะเอาตัวรอดได้จากอันตรายต่างๆ ในโลก วิสัยของบัณฑิตคือคนที่ฉลาดนั้น ย่อมไม่ยอมแพ้หรืออับจนต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่รัดรึงเข้ามา ย่อมใช้ความคิดคลี่คลายเอาตัวรอดปลอดภัยให้จงได้ และเป็นธรรมดาอยู่ที่คนฉลาดกว่า ย่อมเอาชนะคนที่ฉลาดน้อยกว่าได้

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:40
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช ที่ 31

     คนโง่นั้น เมื่อยังยอมอาศัยปัญญาของคนฉลาดอยู่ ก็ยังพอรักษาตนอยู่ได้ แต่เมื่อโง่เกิดอวดฉลาดขึ้นมาเมื่อใด ก็เกิดวิบัติเมื่อนั้น และเมื่อถึงคราวคับขันซึ่งจะต้องแสดงวิชาเอง คนโง่ก็จะต้องแสดงโง่ออกมาจนได้ ฉะนั้น ถึงอย่างไรก็สู้หาวิชาใส่ตนให้เป็นคนฉลาด ขึ้นเองไม่ได้ ทั้งคนดีมีวิชาถึงจะมีรูปร่างไม่ดี ก็จะต้องได้ดีในที่สุด

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:40
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 32

   คนที่อ่อนแอ ย่อมแพ้อุปสรรคง่ายๆ ส่วนคนที่เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไปรักษาการงานหรือสิ่งมุ่งจะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ถืออุปสรรคเหมือนอย่างสัญญาณไฟแดงที่จะต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวจะต้องพบสัญญาณไฟแดงตามถนนซึ่งจะต้องหยุดรถ ก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้การดำเนินชีวิตก็ฉันนั้น ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรค ก็ทำอะไรไม่ได้

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:41
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 33

     ธรรมดาผู้เป็นปุถุชน ความปรารถนาต้องการย่อมบังเกิดขึ้นได้เสมอ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เมื่อความปรารถนาต้องการเกิดขึ้นเมื่อใด ให้ทำสติพิจารณาใจตนเองอย่างผู้มีปัญญา อย่าคิดเอาเองว่าใจเป็นอย่างไร จะต้องพบความจริงแน่นอนว่า ใจเป็นทุกข์ ใจเร่าร้อน ด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการที่เกิดขึ้นนั้น ใจจะไม่สงบเย็นด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการที่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:41
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 34

     วิธีดับความปรารถนาต้องการ ก็คือ หัดเป็นผู้ให้บ่อยๆ ให้เสมอๆ การให้กับการดับความปรารถนาต้องการ จะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ ถ้าการให้นั้นเป็นการให้เพื่อลดกิเลสคือความโลภในใจตน มิได้เป็นการให้เพื่อหวังผลตอบแทนที่ยิ่งกว่า

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:41
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 35

     มีคนไม่ใช่น้อยที่เรียนรู้มากมาย อะไรดีอะไรชั่ว รู้ทั้งนั้น แต่ไม่ทำดี หรือทำก็ทำสิ่งไม่ดี เรียกว่า ใช้ความรู้นั้นช่วยตนเองไม่ได้ ก็เพราะขาดความเคารพในธรรมที่รู้ คือไม่ปฏิบัติให้สมควรแก่ ความรู้นั่นเอง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:42
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 36

     พระพุทธศาสนา สอนให้คนเข้าใจในกรรมนั้นไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรมหรืออยู่ไต้อำนาจกรรม แต่สอนให้ รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน กรรมคือการอะไรทุกอย่างที่คนทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือ ความจงใจ

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:42
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 37

     ทุกคนในโลกต่างต้องถ้อยทีต้องพึ่งอาศัยกันในทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น จึงควรปฏิบัติตน ในทางที่จะชื่อว่ารักษาไว้ทั้งตนทั้งผู้อื่น คือด้วยวิธีที่แต่ละคนตั้งใจปฏิบัติกรณียะคือกิจของตน ควรทำ หน้าที่เป็นตนให้ดีและด้วยความมีน้ำใจที่อดทนไม่คิดเบียดเบียนใคร มีจิตเมตตา มีเอ็นดูอนุเคราะห์ เมื่อตั้งใจปฏิบ้ติกรณียะ กอปรด้วยน้ำใจดังกล่าว ก็ชื่อว่ารักษาทั้งตนทั้งผู้อื่นเป็นผู้รักษาไว้ได้ทั้งหมด

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:42
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 38

    หน้าที่ของคนเรา ที่จะพึงปฏิบัติต่อชีวิตร่างกาย คือบริหารรักษาให้ปราศจากโรค ให้มีสมรรถภาพและรีบประกอบประโยชน์ให้ เป็นชีวิตดี ชีวิตที่อุดม ไม่ให้เป็นชีวิตชั่ว ชีวิตเปล่าประโยชน์ (โมฆชีวิต)และในขณะเดียวกัน ก็ให้กำหนดรู้คติธรรมดาของชีวิต เพื่อ ความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้ทำลายชีวิตร่างกาย ถ้าจะเกิดความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ในอันที่จะทำลายชีวิต ร่างกายก็ให้ทำลายความอยาก ความโกรธความเกลียดนั้นเสีย

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:43
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 39

     คนที่มีบุญนั้น บุญย่อมคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว เพียงแต่เปิดโอกาสให้เข้าช่วย คือเปิดใจรับนั่นเอง การเปิดใจรับก็คือเปิด อารมณ์ที่หุ้มห่อออกเสียแม้ชั่วขณะหนึ่ง ด้วยสติที่กำหนดทำใจตามวิธีของพระพุทธเจ้า เมื่อบุญได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาถึงใจ หรือ โผล่ขึ้นมาได้แล้ว จิตใจจะกลับมีความสุข อย่างยิ่ง อารมณ์ทั้งหลายที่เคยเห็นว่าดีหรือร้าย ก็จะกลับเป็นเรื่องธรรมดาโลก

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:43
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 40

     คนที่ทำดีไม่น้อย เป็นทุกข์เพราะการทำดีของตน ที่ไม่กล้าที่จะทำดีก็มี แต่คนทำดีที่ยังเป็นทุกข์ดังกล่าว ก็เพราะยังทำไม่ถึง ความดีแห่งจิตใจของตนเอง จิตใจจึงทำไม่ถึงความดีแห่งจิตใจของตนเองจิตใจจึงยังมีความยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จากคนทั้งหลาย หากได้เล็งเห็นว่าเรื่องของคนทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องของโลก ถ้าตนเองมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเรื่องของคนอื่นการปฏิบัติทำจิตใจของตนให้มั่นคงดังนี้ เป็นการสร้างความดีให้แก่จิตใจ เป็นตัวความดีที่เป็นแก่นแท้ ของความดีทั้งหลาย ซึ่งจะป้องกันความทุกข์กระทบกระเทือนใจได้ทุกอย่าง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:44
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช ที่ 41

     ความดีนั้น เกิดจากกรรม (การงาน) ที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ความว่า คนเป็นคนดีเพราะกรรมเป็นคนถ่อยก็เพราะกรรม ฉะนั้น เมื่อละเลิกกรรมที่ชั่วผิด ทำกรรมที่ดีที่ชอบ ก็ได้เป็นคนดีแล้ว แต่คนที่ทำกรรมชั่วผิด แม้จะได้รับบัญญัติ (แต่งตั้ง) ว่าดีอย่างไร ก็หาชื่อว่าเป็นคนดีไม่ ผู้ที่รู้และค้านเป็นคนแรกก็คือตนนั่นเอง เว้น ไว้แต่จะมีตาใจบอดไปเสียแล้ว ด้วยความหลงตนไปอย่างยิ่งนั้นแหละ จึงจะไม่รู้

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:44
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 42

   อันความดีนั้นย่อมเป็นอาภรณ์ เป็นอิสริยยศ (ยศคือความเป็นใหญ่) ของคนดี เพราะคนดี ย่อมเห็นความดีนี้แหละเป็นยศอันยิ่งใหญ่ และย่อมพอใจประดับความดีเป็นอาภรณ์ จึงกล่าวได้ว่าความ ดีนั้นเป็นอิสริยาภรณ์ของคนดี

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:44
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 43

     กรรม แปลว่า กิจที่คนกระทำ คำว่า ทำ หมายถึงทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่ากายกรรม ทั้งด้วย วาจาคือพูด อันเรียกว่าวจีกรรม ทั้งด้วยใจคือคิด อันเรียกว่ามโนกรรม บางทีเมื่อพูดกันว่าทำก็หมายถึง ทำทางกายเท่านั้น ส่วนทางวาจาเรียกว่าพูด ทางใจเรียกว่าคิด แต่เรียกรวมได้ว่าเป็นการกระทำทุกอย่าง เพราะจะพูดก็ต้องทำคือทำการพูด จะคิดก็ต้องทำคือทำการคิด จึงควรเข้าใจว่าคำว่าทำใช้ได้ทุกทาง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:45
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 45

     ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ทุกๆ คนพิจารณาให้ทราบหลักกรรมเนืองๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทพยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่ กรรมดี เพราะทุกๆ คนสามารถละกรรมที่ชั่ว ประกอบแต่กรรมที่ดีได้การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณา ให้รู้ตระหนักในหลักกรรม และไม่เชื่อกรรมไม่เชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท และมีศรัทธา ความเชื่อดังกล่าวจึงจะละกรรมชั่ว ทำกรรมดีได้ตามสมควร

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:45
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 46

     ทุกๆ คนทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นย่อมให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง ในเวลาต่อๆ ไปบ้างตามแต่กรรมนั้นๆ จะหนักเบาอย่าง ไร ท่านเปรียบเหมือนอย่างยืนอยู่บนที่สูงและโยนสิ่งต่างๆ มีก้อนหิน ก้อนดิน กิ่งไม้ ใบหญ้าลงมา ของที่มีน้ำหนักมากย่อมตกลงสู่ พื้นดินก่อน ส่วนกรรมที่หนักน้อยกว่าหรือเบากว่าจะให้ผลตามหลัง

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:46
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 47

     คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าจะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่ว แน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา สัจจาธิษฐาน เป็นต้น อันเป็นส่วนจิต และศีลอันหมายถึงตั้งเจตนา เว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ ควรทำในขอบเขตอันควร

โดย: Metha    เวลา: 2013-12-15 09:46
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 48

    ผู้ที่ทำกรรมดีอยู่มากเสมอๆ จึงไม่ต้องกลัวกรรมชั่วในอดีตหากจะมี กุศลของตนก็จะชูช่วยให้มีความสุขความเจริญสืบต่อไป และถ้าได้แผ่เมตตาจิตอยู่เนืองๆ ก็จะระงับคู่เวรอดีตได้อีกด้วย ระงับได้ตลอดถึงปัจจุบัน





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2