Baan Jompra

ชื่อกระทู้: ~ หลวงพ่อใช่ สุชีโว วัดปาลิไลยวัน(วัดเขาฉลาก) ~ [สั่งพิมพ์]

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:08
ชื่อกระทู้: ~ หลวงพ่อใช่ สุชีโว วัดปาลิไลยวัน(วัดเขาฉลาก) ~
[attach]5140[/attach]
ประวัติและปฏิปทา
พระครูวิสุทธิสังวร
(หลวงพ่อใช่ สุชีโว)


วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)
ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี



๏ คำนำ
๏ กิตติกรรมประกาศ
๏ ปฐมบทแห่งตำนานชีวิต  
๏ เฉียดเงามัจจุราช
๏ สัจธรรมแห่งความทุกข์
๏ ออกบวช
๏ ชีวิตพระวัดบ้าน
๏ วัดเขาพระบาทบางพระ
๏ สร้างวัดเขาฉลาก
๏ ความเป็นอยู่ในยุคแรก
๏ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  
๏ ติดความว่าง
๏ ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อสาลี
๏ อุบายธรรมจากส้วมหลุม
๏ ณ เกาะสีชัง  
๏ กลางดงจงอาง
๏ อยู่กระท่อมผี
๏ ถอนอารมณ์
๏ โยมจวน
๏ ใต้ร่มเงาแห่งธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด  
๏ สายสัมพันธ์หนองป่าพง
๏ สุปฏิปันโนแห่งหุบเขาฉลาก
๏ งานด้านการปกครองและสมณศักดิ์
๏ สู่แดนพุทธภูมิ
๏ ความเสื่อมแห่งสังขาร
๏ ล่วงลับลาโลก
๏ บรรณานุกรม


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:09

หลวงพ่อใช่ สุชีโว


คำนำ

พระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งที่ทรงปฏิปทาสมแก่คำว่า “พุทธบุตร” อย่างแท้จริง ท่านได้ดำเนินตามปฏิปทาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางไว้สู่ความหลุดพ้นด้วยความตั้งใจยิ่ง จนสำเร็จประโยชน์ตน แล้วมาเกื้อกูลประโยชน์แก่โลกนี้ต่อไป ปฏิปทาของท่านเป็นที่ยอมรับในบรรดาพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูปด้วยกัน อาทิ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี), พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน), พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เป็นต้น ตลอดจนเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสอย่างสนิทใจ

จากที่กล่าวมาข้างต้น ชีวิตของท่านจึงเป็นคติที่อนุชนรุ่นหลังผู้ใฝ่ต่อทางสู่ความหลุดพ้น สมควรที่จะศึกษา แล้วน้อมนำมาปฏิบัติ ผู้รวบรวมจึงได้รวบรวมประวัติหลวงพ่อจากเอกสารต่างๆ มารวมไว้ในประวัติฉบับนี้ เพื่อหวังประโยชน์แด่สาธุชนผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย

ถ้าประวัติหลวงพ่อฉบับนี้ ก่อให้เกิดผลดีแก่สาธุชนผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลายแล้ว ผู้รวบรวมขอน้อมอุทิศถวายแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะพระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) พระเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้รวบรวมขอน้อมรับไว้เพียงแต่ผู้เดียว และกราบขออภัยทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ด้วย


รพงษ์ เบศรภิญโญวงศ์
ตุลาคม 2548

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:09

หลวงพ่อใช่ สุชีโว


กิตติกรรมประกาศ

การรวบรวมประวัติหลวงพ่อใช่ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จด้วยความเมตตาของบุคคลดังรายนามต่อไปนี้

ท่านอาจารย์อนันต์ อกิญฺจโน วัดมาบจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง

ท่านอาจารย์สมชาย สิริธมฺโม วัดมาบจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง

พระอาจารย์วิชาญ ธมฺมาลโย สำนักสงฆ์โฆษิตตาราม จ.ชลบุรี

ครูบาอาท วัดมาบจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง

คุณพ่อคุณแม่ตลอดจนพี่ๆ น้องๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด

ผู้รวบรวมขอกราบขอบพระคุณและขอบคุณในความเมตตาของทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:11

ขวามือ : หลวงพ่อใช่ สุชีโว


๏ ปฐมบทแห่งตำนานชีวิต

เส้นทางสู่ความหลุดพ้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้วนั้น เป็นของจริงที่ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา ด้วยเหตุนี้แม้พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังมีเหล่าพุทธสาวกผู้เด็ดเดี่ยวในการดำเนินตามทางสู่ความหลุดพ้น ได้ฝาก “ตำนานชีวิต” ในการเป็นพยานแห่งพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เพื่อเป็นคติแก่โลกสืบไป

แม้ในประเทศไทย ก็ได้มีพุทธสาวกผู้ดำเนินตามทางสายประเสริฐสายนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงพระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) วัดปาลิไลยวัน ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พระเถระผู้มีปฏิปทาตรงต่อพระธรรมวินัย จนเป็นที่ยอมรับในหมู่สหธรรมิกผู้เป็นพระสุปฏิปันโน และบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย

ตำนานชีวิตของหลวงพ่อ เริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม ณ หมู่ที่ 1 ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โยมบิดาและโยมมารดาของท่านคือ นายปุย และนางจาก รอดเงิน อาชีพชาวนา ท่านมีพี่น้องรวมตัวท่านเองเป็น 5 คน คือ

1. นางเจียก
2. นายจอก
3. น.ส.ช่วย (เสียชีวิตเมื่ออายุยังรุ่น)
4. พระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว)
5. นายชื่น

เมื่อเด็กชายใช่เจริญวัยพอสมควร ได้เป็นศิษย์วัดภายใต้การปกครองของพระครูอินทโมฬีสังวร (คำ) วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พระมหาเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนวิชาอาคมและการรักษาโรค

ด้านการศึกษา เด็กชายใช่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดหลวงพรหมาวาส อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี  เมื่อปี พ.ศ. 2474


๏ เฉียดเงามัจจุราช

เมื่อเด็กชายใช่อายุได้ 10 กว่าขวบ วันหนึ่งในฤดูร้อน เด็กชายใช่และเพื่อนเด็กวัด ได้พากันเล่นสนุกโดยการเกาะและปีนป่ายรถขนซุงที่กำลังวิ่งช้าๆ อยู่ เล่นบนรถขนซุงจนเบื่อแล้ว ก็ได้พากันไปกระโดดน้ำเล่น ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ผลที่สุด เด็กๆ เหล่านั้นต่างพากันเป็นไข้ โดยเด็กชายใช่และเพื่อนอีกคนหนึ่งมีอาการหนักมาก

ต่อมาได้มีเด็กเสียชีวิตไปสองคน เด็กคนอื่นๆ อาการดีขึ้น เหลือแต่เด็กชายใช่ ที่ต้องทรมานกับแผลพุพองตามร่างกาย เวลากดที่ผิวหนังจะมีเสียงดัง “ฟอดๆ” พร้อมกับมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมา ไม่สามารถสวมเสื้อผ้าได้ ต้องนอนบนใบตอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระครูอินทโมฬีศรีสังวร (คำ) ได้ตรวจดูอาการและจัดการผูกดวงให้แล้ว ท่านได้บอกกับนายปุยและนางจากว่า “มันไม่ตายหรอก” แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคำกล่าวของท่าน อีกไม่กี่วันต่อมา อาการของเด็กชายใช่ก็ทุเลาลงและหายป่วยในที่สุด

ในภายหลัง หลวงพ่อท่านได้ดำริสร้างวิหารถวายท่านพระครูอินทโมฬีศรีสังวร (คำ) และได้สร้างเสร็จก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพ อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดีทั้งหลาย

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:12
๏ สัจธรรมแห่งความทุกข์

กาลเวลาผ่านไป เด็กชายใช่ได้เติบใหญ่เป็นนายใช่ ผู้มีอุปนิสัยใจนักเลง รักความยุติธรรม ไม่รังแกหรือทำร้ายใครก่อน ทั้งยังช่วยเหลือผู้อ่อนแอที่โดนนักเลงคนอื่นรังแกโดยไม่หวั่นเกรงอาวุธใดๆ  ทั้งสิ้น

ในช่วงวัยหนุ่มนี้ นายใช่ได้ประสบกับสัจธรรมแห่งความทุกข์ อันได้แก่ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ และปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

เรื่องความพลัดพรากนั้น ได้เข้ามาในปี พ.ศ. 2479 เมื่อนายใช่อายุได้ 17 ปี ในวันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาที่กลางทุ่งตามปกติ ญาติได้มาตามตัวกลับบ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมแจ้งข่าวการสิ้นใจของมารดาให้ทราบ

หลวงพ่อได้เล่าถึงตอนนั้นให้ฟังว่า

“โยมแม่เขาป่วยมาหลายวัน ก่อนที่จะป่วยก็ออกไปนาตามปกติ วันหนึ่งขณะที่นั่งพักกินข้าวกลางวัน ได้เกิดลมหมุนที่เขาเรียกว่า ลมงวงช้าง ลมนั้นหอบเอาขนำนาหลังหนึ่งขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ โยมแม่ขณะนั้นอยู่คนเดียว พอเห็นเข้าก็ตกใจกลัว แต่นั้นมาก็ได้จับไข้และเสียชีวิตในที่สุด ตอนที่ญาติเขาไปตาม ผมยังไถนาอยู่เลย”

ในเรื่องการไม่ได้สิ่งที่ปรารถนานั้น นายใช่ในวัยหนุ่มได้มีความรักกับสาวชาวจีนซึ่งปลูกผักอยู่แถวบ้าน แต่ถูกพ่อแม่ฝ่ายหญิงกีดกั้น ถึงกระนั้นนายใช่ก็ไม่ย่อท้อ ได้อาศัยเพื่อนหญิงของสาวคนนั้นทำหน้าที่เป็นแม่สื่อ

ในเย็นวันหนึ่ง เพื่อนฝ่ายหญิงได้นำจดหมายมาให้ เนื้อความในจดหมายฉบับนั้น เป็นการนัดแนะของฝ่ายหญิงให้หนีตามไปในตอนเช้าวันนั้น โดยให้ไปเจอกันที่ท่ารถและต่อเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จึงไม่ทันการและไม่สามารถจะทำอะไรได้ ได้แต่เสียใจ

หลวงพ่อสรุปเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“โบราณท่านว่า พ่อสื่อแม่ชัก วัวพันหลัก ทำไปทำมาแม่สื่อก็มาชอบเรา เรื่องก็เลยไปกันใหญ่ สงสารแต่ผู้หญิงคนนั้น ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ คนเดียว ข่าวว่าไปพักอยู่กับญาติ 2-3 วันจึงกลับมา แต่นั่นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก นี่แหละเรื่องของโลก”

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:13

พระครูสุนทรธรรมรส พระอุปัชฌาย์  


พระอธิการบุญมา พระกรรมวาจาจารย์  


๏ ออกบวช

หลังเสร็จจากการเกณฑ์ทหาร นายใช่ได้อุปสมบท เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมี

พระครูสุนทรธรรมรส วัดอ่างศิลา ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี  เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอธิการบุญมา วัดอุทยานนที ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี  เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอธิการบุญยอด (พระอาจารย์ยอด) วัดโพธิ์ ต.บ้านโขด อ.เมือง จ.ชลบุรี  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:14

พระอธิการบุญยอด พระอนุสาวนาจารย์


หลวงปู่เณร (อดีตพระอธิการบุญยอด)


สำหรับพระอธิการบุญยอดนั้น ภายหลังท่านได้ลาสิกขาออกมามีครอบครัว แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2526 เมื่ออายุได้ 74 ปี ท่านได้ไปขอบรรพชากับหลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อได้เมตตาอนุเคราะห์ในการบรรพชาครั้งนี้ โดยเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งจัดหาเครื่องบริขารให้ เมื่อบรรพชาแล้ว หลวงพ่อได้ดูแลอดีตพระอธิการบุญยอด หรือที่เรียกกันว่าหลวงปู่เณร เป็นอย่างดี


๏ ชีวิตพระวัดบ้าน

หลังการอุปสมบท พระใช่ได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์ยอดที่วัดโพธิ์ ท่านได้ใส่ใจอบรมพระใช่เป็นอย่างดียิ่ง ตัวพระใช่เองก็มีความใคร่ต่อการศึกษา ว่านอนสอนง่าย เมื่อพระอาจารย์ยอดสั่งให้พระใช่ท่องมนต์บทไหน พระใช่ก็จะรีบท่องทันที ทั้งยังเป็นผู้ยินดีรับฟังข้อตำหนิและรับแก้ไข ทำให้พระใช่เป็นที่รักใคร่ของพระอาจารย์ยอดและเพื่อนบรรพชิตด้วยกัน

ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม พระใช่สอบได้นักธรรมชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. 2484 และในปีถัดมา คือ พ.ศ. 2485 ก็สอบได้นักธรรมชั้นโท

ในระหว่างที่ศึกษานักธรรมนั้น พระใช่ได้ศึกษาการแปลบาลีควบคู่กัน ระยะแรกก็พอไปไหว แต่ระยะหลัง เนื่องจากการเรียนในสมัยก่อนต้องท่องจำกันให้ได้ทุกตัวอักษร ทำให้พระใช่เกิดอาการเครียดทางสมอง จึงต้องยุติการเรียนพระปริยัติธรรมในที่สุด

หลวงพ่อได้เล่าถึงการเรียนพระปริยัติธรรมของท่านไว้ว่า  “...บวชแล้วก็เรียน เรียนจนเกือบประสาทเป็นบ้า จิตมันรุนแรงไป ทำอะไรมันรุนแรง นิสัยเอาจริง เรียนนักธรรมโทคู่กับบาลี เรียนชวเลขด้วย เอาทุกอย่างไม่ให้ว่างเลย ชอบทำอะไรไม่ให้ว่าง

วันไหนเห็นพระเพื่อนต่างจังหวัดมาหานี่ ใจหายวาบเลย กลัวไม่ได้ดูหนังสือ นี่มันถึงขนาดนั้น แล้วต้องทำเป็นใจดีต้อนรับ ถ้าพูดอย่างนั้นจะสะเทือนใจเพื่อนใช่ไหม นี่ความรู้สึกถึงขนาดนั้น ถ้ารู้ว่าเพื่อนค้างคืนก็ตายแล้ว แสดงไม่ออก บอกไม่ได้ เสียเพื่อนหมด ตายแล้วคืนนี้ไม่ได้ดูอีก มันถึงขนาดนั้น ค้นคว้ามากมีประโยชน์เยอะ เป็นประโยชน์กับพวกเรา ค้นคว้าพระไตรปิฎกตั้งแต่ยังอยู่ในเมือง สมัยนั้นยังเป็นใบลาน ยังไม่มีเป็นเล่ม”

“เดิมทีผมก็ไม่ค่อยเอา ผมฝึกตัวเอง ผมได้ยินเจ้าคุณนิรันดร์ เป็นคนสะพานแดง จ.ชลบุรี เรียน ม.8 แล้วก็ไปบวชเป็นเณรอยู่วัดเขาบางทราย สมเด็จฯ ท่านเอาไปเรียนบาลีที่วัดเทพศิรินทร์ ตั้งแต่เป็นเณรสอบไม่ตกเลย อยู่ใต้ตึกสมเด็จฯ สมเด็จฯ อยู่ชั้นบน สามเณรชั้นล่าง เขาก็จะหาว่าทุจริต สอบไม่ตกเลย แต่ก็เป็นความสามารถ

ทุกวันนี้ก็ยังอยู่เป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดเทพศิรินทร์ (หมายเหตุ : สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นสมเด็จพระวันรัต ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นคนชลบุรีนี่เอง องค์นี้ดูหนังสือเก่ง ไม่ยุ่งกับใครเลย ไม่เข้าสังคม ดูหนังสือติดเลย มีความรู้มาก ผมก็เอาอย่าง ผมได้ยินกิตติศัพท์อย่างนั้น ผมก็ขยันดูหนังสือ เขาว่าแม้แต่เข้าห้องน้ำ ท่านยังถือหนังสือเข้าไปอ่านด้วย ติดถึงขนาดนั้น ผมก็เอาอย่างท่านบ้าง เข้าห้องน้ำ ผมก็เอาหนังสือติดเข้าไปด้วย ผมก็พยายามเลียนแบบท่าน สมัยเรียนยังฉันเพล พอฉันเพลเสร็จก่อนจะนอนจะพักกลางวันสักตื่นหนึ่งนี่ต้องอ่านหนังสือให้ได้ 1 เรื่องก่อน ผมตั้งสัจจะไว้เพิ่มความรู้ คิดดูต้องกี่วัน วันละเรื่องๆ เท่าไรแล้ว

ผมก็เอาอย่างท่านเจ้าคุณนิรันดร์ ผมติดหนังสือ ผมมาสร้างวัดเขาฉลาก ผมมีหนังสือติดมา 100 กว่าเล่มที่ได้มา ใครให้มา เราก็เก็บเรื่อยมา สะสมไว้ ผมก็อยากทำหอสมุด ปลูกต้นสนเว้นที่ไว้จะทำหอสมุด คุณวรากรมา ก็พาเดินเที่ยวดู ก็ถามว่าตรงนี้เว้นว่างไว้ทำไม ก็บอกว่าจะทำหอสมุด ผมจะสร้างถวาย นั่นแหละ หอสมุดไรวา ผมได้หอสมุดสมปรารถนา ตั้งใจตลอดว่าจะทำหอสมุด ผมก็เคารพตำรามาก ก็ดูในหอสมุดซิ เขาส่งหนังสือมาให้ ดูไม่หวัดไม่ไหวเลย ผมก็รู้สึกปิติมาก หนังสือพยายามส่งเข้าหอสมุด”

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:15

พระใช่ สุชีโว


การใช้ชีวิตพระวัดบ้านนั้น พระใช่ต้องผจญกับมารในรูปของอารมณ์ทั้งความรักและความโกรธ แต่ท่านก็สามารถผ่านมาได้ด้วยดี ดังนี้

1) ครั้งหนึ่ง พระใช่ได้ไปอยู่ที่วัดอ่างศิลา ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ วันหนึ่งได้ยินหนุ่ม 2 คน คุยกัน คนหนึ่งบอกว่ากำลังไปจีบสาวคนหนึ่งที่อำเภอพนัสนิคม มีอาชีพอย่างนั้นๆ รูปร่างอย่างนั้นๆ ท่านนึกสังหรณ์ใจว่าจะเป็นแฟนเก่าหรือเปล่า  อยู่มาวันหนึ่งขณะที่อยู่ในวัด ท่านได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินขึ้นมาจากโรงโป๊ะ เมื่อเห็นก็จำได้ทันทีว่า เป็นแฟนเก่านั้นเอง ท่านเล่าว่า ท่านรีบหลบทันทีเลย ไม่รู้ว่าเขาจะทันเห็นท่านหรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยเจอกันอีกเลย

2) ในระหว่างที่อยู่วัดโพธิ์นั้น เวลาพระฉันอาหาร จะฉันรวมกันเป็นหมู่ โดยมีจานอาหารอยู่ตรงกลาง พระที่ร่วมวงฉันกับท่านมีอยู่รูปหนึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่ง เกิดแผลพุพองทั่วร่าง ท่านมีความรังเกียจเป็นอย่างมาก เมื่อพระรูปนั้นตักอาหารอย่างใด ท่านจะไม่ฉันอาหารนั้นเลย ดังนั้น ท่านจึงต้องรีบตักอาหารให้เพียงพอก่อนที่พระรูปนั้นจะตัก จึงทำให้พระรูปนั้นขุ่นเคืองใจ

วันหนึ่ง เมื่อตั้งวงฉันอาหาร พระรูปนั้นจึงถ่มน้ำลายลงในอาหารทุกจาน ทำให้ท่านฉันไม่ได้ ท่านโกรธมาก เดินเข้าไปในกุฏิหยิบมีดขึ้นมาเล่มหนึ่ง กะว่าจะเอาไปแทงพระรูปนั้นให้หายโกรธ แต่ท่านก็พยายามระงับความโกรธอย่างที่สุด ได้นอนคลุมโปง ตัวสั่นเทา ท่านว่าสั่นขนาดกุฎิแทบไหว ได้มีพระรูปหนึ่งนำเรื่องไปกราบเรียนถวายพระอาจารย์ยอด พระอาจารย์ยอดได้เรียกท่านไปอบรมด้วยกุศโลบายอันเยือกเย็น จนท่านคลายโกรธลงไปได้บ้าง ท่านว่า ถ้าไม่ได้พระอาจารย์ยอดแล้ว ท่านคงจะกลายเป็นฆาตกรแน่ๆ เพราะนิสัยของท่านเป็นคนไม่ยอมใคร ไม่กลัวใครง่ายๆ อยู่แล้ว


หนังสือสุทธิของพระใช่ สุชีโว

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:16

พระใช่ สุชีโว


๏ วัดเขาพระบาทบางพระ

เมื่ออาการอาพาธจากโรคเครียดทุเลาลง พระใช่ได้พยายามศึกษาวิธีปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างจริงจัง ต่อมาท่านได้ออกเดินธุดงค์กับคณะพระภิกษุจากวัดใกล้เคียงที่คุ้นเคยกันมาก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน พระบางรูปในคณะได้ประพฤติย่อหย่อนจากพระธรรมวินัย พระใช่กับคณะอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกทางออกเดินธุดงค์เพื่อแสดงหาครูบาอาจารย์ แต่ก็ยังไม่พบที่สอนทางตรง

พ.ศ. 2490 พระใช่พร้อมคณะได้เดินธุดงค์มุ่งหน้ามาทางอำเภอศรีราชา ได้พักปฏิบัติธรรมและจำพรรษาที่วัดเขาพระบาทบางพระ เป็นเวลาสองพรรษา

ที่วัดเขาพระบาทบางพระในสมัยนั้น มีสหธรรมิกร่วมปฏิบัติธรรมกันหลายรูป มีพระเถระอาวุโสเป็นประธานสงฆ์อยู่รูปหนึ่ง รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรมรวมอยู่หลายคนด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นคือ เนื่องจากตนเคยขึ้นกรรมฐานกับพระธรรมยุต เวลามีปัญหาการปฏิบัติก็ให้ท่านช่วยแก้ปัญหาจนมีความก้าวหน้าพอสมควร ในเวลานั้นก็ใกล้พรรษาเข้ามาทุกที โยมแกก็คิดอยากกลับไปอยู่วัดฝ่ายธรรมยุต เพราะเวลาเข้าพรรษา แกก็อธิษฐานเข้าพรรษาด้วย และด้วยความที่แกเชื่อว่า ไม่มีพระมหานิกายที่จะสามารถปฏิบัติเก่งๆ พอจะเป็นอาจารย์ปรึกษาให้แกได้

วันหนึ่ง แกจึงมาปรึกษากับประธานสงฆ์ถึงความในใจของแก เวลานั้นพระใช่นั่งฟังอยู่ด้วย พระเถระรูปนั้นจึงมอบปัญหาให้ท่านแก้ไข

ขณะนั้น โยมผู้นั้นปฏิบัติขั้นกำหนดนาม-รูป แม้ว่าท่านจะผ่านขั้นนี้ไปแล้ว แต่ท่านก็ลองถามโยมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจว่า นามเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร โยมก็ตอบตามภูมิของตนว่านามเป็นอย่างนั้นๆ รูปเป็นอย่างนั้นๆ ก็เป็นอันถูกต้อง ทีนี้ท่านจึงถามว่า ในขณะกำหนดนามรูปอยู่นั้น ถ้าเกิดมีธรรมะของพระพุทธเจ้าขึ้นมา เช่น วิริยะ อย่างนี้ได้ไหม

โยมตอบว่า “ไม่ได้” ท่านจึงได้โอกาสว่า ในขณะนั้นแม้ธรรมโอวาทของพระพุทธองค์ยังเกิดไม่ได้ แล้วธรรมยุตกับมหานิกายจะเกิดขึ้นได้ไหม พอโดนเข้าอย่างนี้ โยมก็จนแต้มบอก “ไม่ได้” เช่นกัน ส่วนพระเถระผู้ใหญ่รูปนั้นก็หัวเราะชอบใจใหญ่ และกล่าวสนับสนุนท่านว่า “ถูกของท่านใช่ ถูกของท่านใช่”


พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน
สหธรรมิกผู้ร่วมสร้างวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)  


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:17
๏ สร้างวัดเขาฉลาก

พ.ศ. 2491 ได้มีการบูรณะถนนสุขุมวิท ทำให้มีเสียงดังรบกวนความสงบ หลวงพ่อใช่จึงปรารภที่จะหาสถานที่ปฏิบัติใหม่ ระหว่างที่ซ่อมถนน ได้มีญาติโยมชวนหลวงพ่อไปดูสถานที่บริเวณหุบเขาฉลาก หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า จนฺทสีโล (ภายหลังลาสิกขาบทไป), พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแตน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี) และญาติโยมอีก 5-6 คน ได้ไปดูสถานที่ ท่านมีความพอใจในความวิเวกเหมาะแก่การภาวนาของหุบเขาฉลากเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492 หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า และพระอาจารย์ชอบ ได้อาศัยอยู่บริเวณสวนของนายเปรม (โป๊) นางกิมซัว สถิตย์เสถียร ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ช่วยเหลือจัดสถานที่พักให้ในระยะแรก และนางพยุง แสงสว่าง น.ส.ชั้นยอด พยนต์ จัดเครื่องบริขารถวายประจำ

นอกจากนี้คณะญาติโยมประกอบด้วย น.ส.สำรอง สถิตเสถียร, นางฮื้อ น.ส.สำเนา บุรีเทศน์, นางตั้ง พยนต์, นางจิว ธาราศักดิ์, น.ส.บุญนารถ พยนต์, นายแดง นายจวน นายพยอม แสงสว่าง, นายละออง นางจำเนียร สุภาโอษฐ์ ร่วมกันปลูกกระต๊อบพื้นไม้หมากหลังคามุงจากขึ้น 3 หลัง และทำทางสำหรับให้พระเดินจงกรมได้ ใช้เวลาก่อสร้าง 1 วัน

หลังจากอยู่ได้นานพอสมควร นางศรีชุน นายศิริ จำปีรัตน์, นางพยุง แสงสว่าง ได้ช่วยกันสร้างศาลาชั่วคราวหลังเล็กขึ้น 1 หลัง ถังเก็บน้ำฝนขนาดเล็กก่ออิฐโบกปูน 1 ลูก ต่อมาได้ปลูกกระต๊อบมุงจากขึ้นอีก 2 หลังที่เชิงเขา เพื่อเป็นที่พักปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา

หลวงพ่อจำพรรษาปีแรกที่เขาฉลากเมื่อปี พ.ศ. 2493 ปรากฏว่า เจ้าคณะอำเภอไม่ยอมอนุญาตให้จำพรรษาที่เขาฉลาก เพราะถือว่าเป็นสำนักปฏิบัติที่ยังไม่ได้ขออนุญาตโดยถูกต้อง นอกเสียจากจะเข้าสังกัดวัดใดวัดหนึ่งในอำเภอศรีราชา ต่อมาท่านอาจารย์นิด วัดรังสีสุทธาวาส (ไร่กล้วย) ได้เมตตารับสำนักหุบเขาฉลากไว้ในปกครอง ในพรรษาแรกนี้ มีพระอยู่จำพรรษา 4 รูป อุบาสก 1 คน อุบาสิกา 5 คน อุบาสิกาชั้นยอด พยนต์ เป็นผู้ทอดผ้ากฐินในพรรษานี้

ในปีถัดมา ได้เกิดอุปสรรคขึ้นอีก คราวนี้ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากวัดวิเวการาม, ท่านพระครูพิภัทรธรรมคุณ วัดประชุมคงคา (โรงโป๊ะ), ท่านพระครูปรีชานุศาสน์ วัดบึงบวรสถิต และท่านพระครูไพศาลสารคุณ วัดโพธิ์ จ.ชลบุรี ท่านทั้งสามได้ช่วยเจรจากับท่านพระครูพรหมจริยธิมุต วัดบางเป้ง เจ้าคณะอำเภอ จนหลวงพ่อสามารถอยู่จำพรรษาที่เขาฉลากต่อไปได้ ภายใต้สังกัดวัดรังสีสุทธาวาส (ไร่กล้วย) เช่นเดิม

พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2497 อุบาสิกาแฉล้ม แสงสว่าง และอุบาสิกาชั้นยอด พยนต์ มีความศรัทธาถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ให้สร้างเป็นวัดถาวร พร้อมกับถวายเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างกุฎิ หลวงพ่อจึงย้ายสถานที่ปฏิบัติธรรมจากที่ของนายเปรม นางกิมซัว ซึ่งให้อาศัยชั่วคราว มาเริ่มก่อสร้างในที่ดินของอุบาสิกาแฉล้ม และอุบาสิกาชั้นยอด ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ในปัจจุบัน

พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2505 ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์จากคณะสังฆมนตรี เป็นเถรสมาคม คณะวัดเขาฉลากจึงเริ่มขออนุญาตทางราชการเพื่อสร้างวัดอย่างถูกต้อง โดยมีนายวิชัย อุนากูล เป็นผู้ประสานงาน และนางพยุง แสงสว่าง ถวายที่ดินเพิ่มอีก รวมเป็นที่ดินขณะนั้นประมาณ 9 ไร่ 3 งานเศษ ในการขออนุญาตนี้ได้อาศัยเมตตาบารมีของพระครูสุนทรธรรมรส จนทุกอย่างสำเร็จด้วยดี

ในการทอดกฐินสามัคคีเมื่อปี พ.ศ. 2507 หลวงพ่อและคณะศรัทธาอันประกอบด้วย นายวิชัย อุนากูล, อุบาสิกาทองเย็น อุนากูล, อุบาสิกาชั้นยอด พยนต์, นายทองใบ บุรีเทศน์, นายประสิทธิ์ ปัทมดิลก, อดีตพระอาจารย์ยอด ได้ปรึกษาหารือถึงวิธีการขออนุญาตสร้างอุโบสถ คณะผู้ริเริ่มก่อสร้างได้มอบหมายให้นายวิชัย อุนากูล เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต และในการนี้ ผู้ที่มอบที่ดินให้เป็นที่ตั้งพระอุโบสถ คือ นายทองใบ-นางน้อม บุรีเทศน์, นายบุญรอด-นางศรีเชิญ ผลชีวิน

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2508 ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:17

พระอุโบสถวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถเมื่อเวลา 09.39 นาฬิกา

พ.ศ. 2512 จัดงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถ

วันที่ 15 ถึง 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ได้จัดงานผูกพัทธสีมา โดยตัดลูกนิมิตเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2515 เวลา 20.09 นาฬิกา ในงานนี้ได้มีการเททองหล่อระฆัง 9 ลูก หล่อรอยพระพุทธบาทจำลอง 1 รอย ขนาด 39 นิ้ว และปลูกต้นโพธิ์ที่หลวงพ่ออัญเชิญหน่อมาจากเกาะสีชังตรงบริเวณลานโพธิ์

ในงานผูกพัทธสีมาพระอุโบสถนี้ ไม่มีการโฆษณาและไม่มีมหรสพ มีแต่รายการบุญล้วนๆ เช่น มีการแสดงธรรมทุกวัน มีภาพยนตร์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น เช่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับสังเวชนียสถานหรือพุทธประวัติ เป็นต้น ในวันแรกของงานมีการจุดดอกไม้เพลิงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาด้วย

จากสถานที่ปฏิบัติธรรมในหุบเขาที่เต็มไปด้วยความยากลำบากในระยะแรก ได้เจริญเติบโตเป็นวัดฝ่ายกรรมฐานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ผ่านอุปสรรคนานัปการด้วยดี ทั้งนี้เป็นเพราะคุณานุภาพแห่งพระรัตนตรัย และบารมีของหลวงพ่อผู้เป็นพระบูรพาจารย์ที่สถาปนาสร้างอารามแห่งนี้ จนเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใคร่ธรรม และเป็นดั่งอนุสรณ์ที่ประกาศเกียรติคุณหลวงพ่อสืบไปในอนาคต


พระพุทธบาทจำลอง ณ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


ลานโพธิ์ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:18

กุฏิหลวงพ่อใช่ สุชีโว ณ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


๏ ความเป็นอยู่ในยุคแรก

สภาพโดยทั่วไปของเขาฉลากในอดีตนั้นเป็นป่าใหญ่ เชื่อมติดถึงป่าเขาเขียว ความสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ยังมีอยู่มาก ฤดูหนาว อากาศหนาวจัด ฤดูฝน ฝนตกชุก และรู้สึกจะเป็นฤดูที่ยาวนานที่สุด เวลาออกไปบิณฑบาตก็เปียกปอนแทบทุกวัน ทางที่ใช้เดินนั้นเป็นทางเล็กๆ พอเดินได้คนเดียว เวลาฝนตกน้ำจะไหลชะไปตามทางทำให้การเดินทางลำบากยิ่งขึ้น บ่อยครั้งที่พระต้องเดินลุยโคลนทำให้บริขารจีวรเปรอเปื้อนไปด้วย นับเป็นฤดูที่สาหัสเอาการ ทั้งงูก็ชุกชุมในฤดูนี้

ความเป็นอยู่ที่เขาฉลากในยุคแรกลำบากมาก ขาดแคลนปัจจัยสี่ และน้ำสรงน้ำใช้ หลวงพ่อและคณะต้องเดินไปสรงน้ำไกลถึง 2 กิโลเมตรเศษ ขากลับก็ช่วยกันหิ้วน้ำกลับมาคนละถัง พอกลับมาถึงวัดก็เหงื่อโทรมกายเลยทีเดียว จำเป็นต้องอาศัยผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ซึ่งก็พอคลายร้อนได้บ้าง ด้วยความที่เขาฉลากเป็นป่าใหญ่ จึงมีสัตว์ป่ามากมาย เช่น เสือในถ้ำยอดเขา เก้ง กระจง เม่น เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายหลวงพ่อ ทั้งนี้เป็นไปตามพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

หลวงพ่อเคยเล่าว่า เมื่อท่านมาปลูกกระต๊อบหลังเล็กๆ อยู่ที่เชิงดอยสวรรค์ (ด้านหน้าเขาฉลาก) วันหนึ่งขณะนั่งฉันอาหารอยู่ มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมาใกล้ๆ หลวงพ่อจึงโบกมือไล่ไป มันก็ไปโดยดี แต่วันหลังมันก็มาอีก ทำท่าจะขบกัดหลวงพ่อให้ได้ แต่ก็ทำอะไรท่านไม่ได้สักที จนมันเลิกและหายไป หลวงพ่อจึงบอกว่า นี่แหละความโกรธของงูเห่า แค่โบกมือไล่ มันก็โกรธแล้ว ดังนั้นถ้าเห็นงูเห่าให้ทำเฉยๆ อย่าเอะอะหรือทำท่าอะไร

สำหรับเสือนั้น ที่เขาฉลากมีเสืออยู่ตัวหนึ่ง พอเวลาพลบค่ำ เสือตัวนี้จะร้องกระหึ่มไปทั่วเขา และจะเดินไปหากินถึงเขาเขียว สมัยก่อนบริเวณนี้มีบ่อน้ำพุร้อน (ปัจจุบันจมใต้อ่างเก็บน้ำบางพระ) ชาวบ้านจะมาอาบน้ำพุร้อนกันเป็นประจำ ถ้าเกิดกลับออกมาไม่ทันมืด ก็ต้องค้างคืนที่ศาลาซึ่งมีเสาสูงมากเพื่อให้พ้นระยะเสือกระโดด

วันหนึ่ง ขณะที่หลวงพ่อปักกลดบริเวณใกล้กับกุฏิหลวงพ่อในปัจจุบัน ท่านทำสมาธิได้ดีตลอดวัน เมื่อค่ำลงสวดมนต์ก็เป็นสมาธิดีมากผิดจากวันก่อนๆ พอสมควรแก่เวลา หลวงพ่อก็จำวัดในกลด จนรุ่งเช้า ออกจากกลดก็เห็นรอยตะกุยดินของเสือเข้าใส่กลดหลวงพ่อ ท่านบอกว่านั้นแสดงว่ามันพยายามจะกินท่านให้ได้ เมื่อมันเอาไม่ได้ มันจึงตะกุยดินเข้าใส่ แล้วผละไปในที่สุด ต่อมา ชาวบ้านที่ปลูกแตงบริเวณเขาฉลาก ได้มาดูแลสวนตามปกติ เผอิญขณะที่เดินมาตามทางแคบๆ นั้น ก็ได้ประจันหน้ากับเสือ ไม่สามารถจะหลบหนีไปไหนได้ จึงยกปืนขึ้นยิงทันที ตำนานเจ้าป่าที่อยู่คู่เขาฉลากจึงจบลงไป

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:19

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


๏ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลังออกพรรษา เข้าฤดูแล้วในปี พ.ศ. 2492 เนื่องจากหลวงพ่อได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มานานแล้ว ท่านจึงตั้งใจจะเดินทางไปฝากตัวศึกษาปฏิบัติธรรมด้วย ในระหว่างที่จัดแจงเตรียมตัวจะเดินทางพร้อมญาติโยม ท่านก็ได้ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่มั่นเสียก่อน จึงเป็นอันไม่ได้เดินทางไป

ภายหลังท่านได้รับหนังสือมุตโตทัย บันทึกพระธรรมเทศนาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยท่านเจ้าคุณวิริยังค์ เมื่อท่านอ่านจบลงก็เกิดปิติเป็นอย่างมาก ที่หลักธรรมขององค์หลวงปู่ตรงกับหลักธรรมที่ท่านรู้จากการปฏิบัติ ท่านได้ห่มจีวรและก้มลงกราบหนังสืออันเป็นสมมุติแทนองค์หลวงปู่ พร้อมกับขอมอบถวายตัวเป็นลูกศิษย์อีกด้วย

ในคืนนั้นเองท่านได้ฝันว่า หลวงปู่มั่นกำลังเดินบิณฑบาตบริเวณหมู่บ้านชายเขาฉลาก มีอุบาสกตามหลังมาหนึ่งคน พร้อมกับอีกเส้นทางที่ขนานกัน ก็เป็นหลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง จ.ราชบุรี กำลังบิณฑบาตและมีอุบาสกตามหลังหนึ่งคนด้วยเช่นกัน ในระหว่างที่บิณฑบาตอยู่ หลวงปู่มั่นได้บอกโยมที่ใส่บาตรว่า พรรษานี้ท่านจะมาจำพรรษาที่เขาฉลาก  


หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:20
๏ ติดความว่าง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อทำความเพียรภาวนา แล้วไปติดอยู่กับความว่าง ท่านว่าจะพิจารณาภายในส่วนไหนก็ไม่ได้ มีแต่ความว่าง ท่านติดอยู่เป็นแรมเดือน จะหาอุบายแก้ไขอย่างไรก็ไม่ตก เป็นจังหวะพอดีกับที่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ได้เดินธุดงค์ผ่านมาและแวะที่เขาฉลาก

พอหลวงพ่อทราบข่าว ท่านก็ต้อนรับบริเวณที่เป็นศาลาฉันบิณฑบาตหลังเดิม จากนั้นได้อาราธนาหลวงปู่กงมาแสดงธรรม เนื่องจากตอนนั้นท่านเข้าใจว่าหลวงปู่กงมามีพรรษามากกว่า แต่หลวงปู่กงมาท่านชี้ไปที่หลวงปู่ฝั้น

หลวงพ่อจึงหันกลับไปเรียนถามหลวงปู่ฝั้นให้ท่านช่วยแสดงธรรมแก้ปัญหาที่หลวงพ่อท่านติดอยู่ หลวงปู่ฝั้นได้แสดงธรรมอยู่ 2-3 กัณฑ์ ให้หลวงพ่อลองกำหนดพิจารณาดู หลวงพ่อว่ายังไม่ถูกจุด คือ แก้ปัญหาไม่ตก และในกัณฑ์ที่ 5 หลวงปู่ฝั้นให้อุบายธรรมว่า “ถามหาผู้รู้ดู” พอหลวงพ่อนำมากำหนดก็สามารถแก้ปัญหาหลุดได้ ในขณะที่หลวงปู่ฝั้นกับหลวงพ่อสนทนาธรรมกันอยู่นั้น หลวงปู่กงมาได้เข้าที่ภาวนา (บริเวณฝาปิดถังน้ำซีเมนต์ในปัจจุบัน) อยู่ครู่หนึ่งไปพร้อมๆ กันด้วย

ภายหลังหลวงพ่อทราบข่าวจากญาติโยมที่มากราบคารวะท่านว่า หลวงปู่กงมาได้แนะนำให้มา และพูดว่าเขาฉลากสถานที่ดี มีความสัปปายะ ในกาลต่อมา ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ  จ.สกลนคร ได้แวะพักที่เขาฉลาก พร้อมทั้งกราบเรียนหลวงพ่อว่า รู้จักที่นี่เพราะหลวงปู่กงมาซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน ได้เคยสั่งไว้ว่า ถ้าลงมาธุระแถวภาคกลาง ตะวันออก ก็ให้มาพักที่นี่ได้


ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:22

พระครูพรหมสมาจารย์ (สาลี ธมฺมสโร)  


๏ ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อสาลี

ในช่วงแรกๆ ของการตั้งวัดเขาฉลาก หลวงพ่อได้ศึกษาข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจาก พระครูพรหมสมาจาร (หลวงพ่อสาลี ธมฺมสโร) วัดเขาวัง จ.ราชบุรี   ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เภา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี  หลวงพ่อได้เล่าถึงการเจอกับหลวงพ่อสาลีครั้งแรกไว้ว่า

“ที่อ่างศิลา ท่านเที่ยวธุดงค์มา ผมไปพบท่านที่อ่างศิลา (บริเวณวัดโกมุทรัตนารามในปัจจุบัน) เรื่องราวยาวยืด ผมปรารถนากับท่านองค์นี้ว่าผมจะขอเป็นลูกศิษย์ท่าน พบท่านตั้งแต่สมัยผมอยู่ในเมือง นั่งรถจะไปกรุงเทพฯ ท่านมาจากอ่างศิลา จะกลับเขาวัง พอดีท่านนั่งรถคันเดียวกับผม ผมก็จับตามองเรื่อย ท่านนั่งข้างๆ ผมก็นั่งข้างๆ จับตาดู แหม น่าเลื่อมใส บุคลิกก็ดี อัธยาศัยความสำรวมระวังของท่านเงียบ

ผมก็เลื่อมใสท่าน ตั้งปณิธานปรารถนาไว้ว่า ผมจะหาโอกาสมาค้นดูที่กรุงเทพฯ ท่านลงที่ราชประสงค์ ลงรถก็จะจอดฝั่งซ้ายใช่ไหมท่าน ผมไปหาก็เถอะไม่มีทางเจอหรอก ท่านอยู่วัดมะกอกนั้น วัดอภัยทายาราม โรงพยาบาลพระมงกุฎนั้น

ท่านลงตรงสี่แยกราชประสงค์ นั่งรถจากสี่แยกราชประสงค์ไปพญาไท ผมก็กะจะหาแถวนี้ แถวราชประสงค์วัดต่างๆ ถ้าเจอ ผมจะยอมมอบตัวเป็นศิษย์ ถ้าหากเป็นธรรมยุต ขอมอบตัวเป็นศิษย์ ถ้าหากไม่ยอมจะให้ญัตติ ผมก็จะญัตติถึงขนาดนั้น จิตใจมันเลื่อมใสแล้ว...”

หลวงพ่อสาลีนั้น นอกจากท่านจะเคร่งครัดในพระวินัยอย่างหาที่ติไม่ได้แล้ว ปฏิปทาในด้านต่างๆ  เช่น การต้อนรับแขก การแสดงธรรม การตัดสินปัญหา และการบริหารหมู่คณะของท่าน ก็ดูงดงามเปี่ยมด้วยลักษณะของบัณฑิต ทั้งท่านเป็นพระที่พูดน้อย พูดเฉพาะถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมจริงๆ

การอยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อสาลี ทำให้หลวงพ่อได้รับความรู้ความเห็น ทั้งในด้านพระธรรมวินัยและสติปัญญาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับหลวงพ่อเป็นผู้มีความอ่อนน้อมและมุ่งมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริง ทำให้ท่านได้รับความรักใคร่และสนับสนุนจากจากหลวงพ่อสาลีอย่างเต็มที่

ขณะที่อยู่เขาวัง ท่านได้มีโอกาสติดตามหลวงพ่อสาลีไปในที่ต่างๆ อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ติดตามหลวงพ่อสาลีไปที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบ่อน้ำลึกมากที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้

วันหนึ่ง เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องชายของพระในวัด ได้วิ่งพลาดตกลงไปในบ่อร้างนั้น พวกเด็กๆ จึงไปบอกพระพี่ชายของเด็กนั้น พอพระพี่ชายมาเห็นน้องชายชักดิ้นชักงออยู่ก้นบ่อ ท่านก็กระโดดลงไปในบ่อ หวังช่วยน้องชาย แต่กว่าพระเณรและชาวบ้านจะช่วยกันนำร่างขึ้นจากบ่อได้ ทั้งสองก็ได้สิ้นชีวิตเสียแล้ว

“ก็บ่อลึกอย่างนั้น จะเอาอากาศที่ไหนเล่ามาหายใจ” หลวงพ่อสาลีเล่าเรื่องจบพร้อมกับหันมาพูดกับหลวงพ่อว่า “นี่แหละ คนโง่เขารักกันอย่างนี้”

นอกจากนี้ ในบางครั้ง หลวงพ่อสาลีได้เดินทางมาพักที่เขาฉลากเป็นเวลาหลายวัน และหลวงพ่อก็ได้ไปมาหาสู่หลวงพ่อสาลีมิได้ขาด แม้ภายหลังหลวงพ่อสาลีท่านได้มรณภาพไปแล้ว แต่ท่านก็จะไปกราบทำวัตรอยู่เป็นประจำทุกปี หลวงพ่อเรียกขานนามหลวงพ่อสาลีด้วยความเคารพว่า “หลวงพ่อใหญ่เขาวัง”

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:23
๏ อุบายธรรมจากส้วมหลุม

ในสมัยก่อนห้องน้ำยังเป็นส้วมหลุมอยู่ ท่านได้จำภาพในส้วมนั้น และค่อยประคองกำหนดนั่งภาวนาในกุฏิ โดยกำหนดให้ตัวหนอนที่จำมาวางไว้บนมือ แล้วให้ค่อยๆ กินขาทีละข้าง พอกินไปหมดข้างหนึ่งเหลือแต่กระดูก ก็ย้ายตัวหนอนให้มากินขาอีกข้างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็กำหนดจิตขาข้างที่เหลือแต่กระดูกไว้ควบคู่กันไปด้วย

พอกินได้สักครึ่งแข้ง จิตก็รวมตัวเกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ ทีนี้ทั้งได้เห็นและได้ยินเสียง จากหนอนตัวเล็กที่ท่านได้กำหนดไว้เดิม ปรากฏในนิมิตตัวใหญ่ขึ้น กำลังกินตับไตไส้พุง เสียงดุบซุบๆ  ซิบๆ และกำลังคลานขึ้นมากินหัวใจซึ่งกำลังเต้นตุบๆ ท่านว่าในขณะนั้นรู้สึกขยะแขยงเป็นที่สุด ถึงขนาดต้องเอามือกดขาที่นั่ง คล้ายกับจะผละออกวิ่งหนีเสียให้ได้ จนแล้วจนรอด ท่านต้องถอนออกจากสมาธิ เพราะทนไม่ได้ ในภายหลังท่านได้บอกเป็นที่เฉพาะว่า ถ้าขณะนั้นสามารถทนพิจารณาและผ่านไปได้ ก็สามารถบรรลุขั้นพระอนาคามี เพราะคุณธรรมในขั้นนี้สามารถละตัวราคะและปฏิฆะได้เด็ดขาด


ท่านพุทธทาสภิกขุ



โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:24
๏ ณ เกาะสีชัง

หลวงพ่อได้ธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานปฏิบัติอย่างเข้มงวดเป็นเวลาหนึ่งเดือน แต่พอล่วงไปได้ยี่สิบกว่าวัน ก็เกิดความฟุ้งซ่านในจิตเป็นอันมากในขณะเดินจงกรมอยู่ จนเกือบจะยอมเสียสัจจอธิษฐาน เลิกล้มความตั้งใจในการปฏิบัติขณะนั้น ท่านได้ออกมาจากที่จงกรม มานั่งห้อยเท้าที่แคร่ แม้ร่างกายท่านจะเลิกปฏิบัติแล้ว แต่จิตใจของท่านที่ได้ผ่านการฝึกฝนมานาน ก็ยังคงทำงานภายในต่อไป

“เมื่อมันฟุ้งจนถึงที่สุด จิตก็มาคิดว่า หลักการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร จิตตอบว่า สอนให้รู้ตัว พลันก็เกิดปัญญาขึ้นว่า งั้นฟุ้งก็ฟุ้งซิ เมื่อกำหนดรู้เช่นนั้น ที่เคยฟุ้งๆ นั้นดับเลย”

ในที่สุดหลวงพ่อก็จับหลักการปฏิบัติได้ว่า เมื่อฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง คือเอาตัวความคิดฟุ้งซ่านนั้นมาเป็นอารมณ์ เป็นที่ระลึกของสติต่อ ท่านสามารถกลับมาเดินจงกรมต่อ

จากประสบการณ์นี้ หลวงพ่อจะสอนเสมอว่า “ฉะนั้น นักปฏิบัติ อย่าทิ้งตัวรู้ อะไรเกิดขึ้นก็กำหนดรู้เรื่อยไป ชอบก็รู้ว่าชอบ ไม่ชอบก็รู้ว่าไม่ชอบ ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง อะไรมาก็ให้กำหนดรู้...” และท่านยังกล่าวอีกว่า นักปฏิบัติเวลาฟุ้งซ่านแล้ว รุนแรงกว่าคนปกติเสียอีก ยิ่งสงบมาก เวลาฟุ้งซ่านก็มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เขาก็ไม่มาเกินกำลังของเราไปได้ คือพอสู้ได้

หลังจากเอาชนะความฟุ้งซ่านในครั้งนั้นได้แล้ว หลวงพ่อได้รับความเย็นใจขึ้นมาก การกระทำความเพียรก็ติดต่อ ผลการปฏิบัติก็ก้าวหน้า ภายหลังท่านได้เล่าผลการปฏิบัติให้หลวงพ่อสาลีทราบ หลวงพ่อสาลีได้กล่าวยกย่องว่า “ที่ท่านใช่พิจารณานั้นเป็นอุบายที่แยบคายดี” ทั้งได้แนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ อีกพอสมควร

อีกครั้งที่เกาะสีชัง ท่านได้หาอุบายในการภาวนา โดยการส่งจิตออกลงไปใต้ท้องทะเล แล้วยกขึ้น วางลง แล้วดึงจิตกลับมา พร้อมกับทำในใจว่า ไม่เอา (อารมณ์) ใดๆ ทั้งนั้น ไม่ให้มีสิ่งใดติดอยู่ในใจ จนจิตสงบรวมตัว แล้วมีคำถามผุดขึ้นมาว่า “อะไรๆ ก็ไม่เอา อย่างนี้จะถูกหรือ” สักพักนึงก็ปรากฏเป็นภาษาบาลีว่า อุปาทานํ ทุกฺขํ โลเก ท่านแปลว่า ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่มีทุกข์ ไม่มีในโลก

และในครั้งนั้น ท่านว่าความเพียรกำลังดำเนินไปด้วยดี สามารถเกิดความรู้ความเห็นต่างๆ และสามารถแต่งเป็นคำกลอน ดังเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ อุบาสิกา ก. เขาสวนหลวง เป็นต้น ท่านได้เก็บบันทึกไว้ บางส่วนก็เขียนเป็นจดหมาย เรื่องราวต่างๆ แต่หลังจากนั้นไม่นาน จิตเกิดเสื่อม ท่านว่า นักปฏิบัติที่ยังไม่มีความแน่นอนมั่นคงในใจ และหลงไปในอารมณ์นั้นๆ จิตจะเสื่อมได้ และเมื่อเสื่อมแล้วจะให้ดีดังเดิมนั้นยาก

จากเรื่องนี้ เป็นเหตุให้ภายหลังเมื่อท่านไปทอดกฐินวัดสาขาของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ซึ่งมีการเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่างเป็นประเพณี และบางครั้งก็เทศน์เพียงรูปเดียว ท่านได้ถวายคำแนะนำหลวงพ่อชาว่า พระที่จะเทศน์อย่างนี้ได้ควรมีธรรมะในใจตนก่อน มิฉะนั้น ผู้ที่เทศน์เก่ง พูดเก่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากเท่านั้น ในงานนั้นพระอาจารย์ที่เทศน์พรรษากว่าสามสิบแล้ว และเทศน์อยู่รูปเดียวยันรุ่ง ปรากฏว่าภายหลังไม่นานมีข่าวว่าสึกเสียแล้ว


อุบาสิกา ก. เขาสวนหลวง


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:25

หลวงพ่อใช่ สุชีโว  


๏ กลางดงจงอาง

เมื่อทำความเพียรอยู่ที่เกาะสีชังเป็นเวลาพอสมควรแล้ว หลวงพ่อได้ข้ามมาพักอยู่ที่แหลมฉบัง (บริเวณท่าเรือน้ำลึกในปัจจุบัน) สมัยนั้นเป็นป่าใหญ่ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทยันชายทะเล โดยอยู่กับโยมจวน  บริเวณนั้นมีงูจงอางชุกชุมมาก เคยมีพระและฆราวาสซุ่มแอบดูงูจงอางผสมพันธ์กัน แต่หลวงพ่อก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ ท่านถือคติว่า ถ้าไม่เคยมีเวรกรรมกันมา ก็จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ในการอยู่ที่แหลมฉบังนั้น ท่านมักปลีกตัวทำความเพียร แล้วให้โยมจวนเป็นคนต้อนรับแขกแทน เวลากลางคืน ท่านเดินจงกรมไปตามชายทะเลตั้งแต่แหลมฉบังไปยังบางละมุง เกือบถึงพัทยา ด้านซ้ายมือเป็นดงป่าทึบ ด้านขวามือเป็นทะเล ตลอดทางไม่มีบ้านคน หลวงพ่อออกเดินตั้งแต่เริ่มค่ำ จนถึงบางละมุง แล้วเดินกลับมาถึงสำนักที่แหลมฉบัง ก็สว่างพอดี ท่านเดินจงกรมอยู่อย่างนี้ประมาณหนึ่งเดือน จึงเอาชนะความง่วงได้ในที่สุด ท่านว่าอยากจะให้นอนหลับก็ไม่ยอมหลับแล้ว

แต่เดิมหลวงพ่อท่านได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในหลายสำนักครูบาอาจารย์ วันหนึ่ง หลังจากที่ท่านได้พักกลางวันแล้ว ก็ลุกขึ้นมาเพื่อจะนั่งทำกิจดังเช่นทุกวัน ก่อนปฏิบัติท่านก็อธิษฐานจิตว่า เราปฏิบัติครั้งนี้เพื่ออะไร เพื่อรู้ธรรมอะไร เห็นธรรมอะไร และเนื่องจากท่านได้ศึกษามาหลายอาจารย์ ทำให้เกิดความลังเลในการปฏิบัติทุกคราวว่า วันนี้เราจะปฏิบัติตามครูอาจารย์ท่านใด เมื่อเลือกเป็นที่พอใจแล้วก็ลงมือปฏิบัติ บางครั้งปฏิบัติแล้วยังไม่ทันเกิดอะไรก็คิดจะเปลี่ยนอาจารย์อีก

ในคราวนี้ ท่านคิดว่า ข้อปฏิบัติสำหรับรวมอาจารย์จะต้องมี เพราะอย่างน้อยก็เพื่อความพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ท่านก็อธิษฐานจิตว่า ขณะนี้ข้าพระองค์มีความลังเลสงสัยในข้อปฏิบัติจากหลายสำนักครูบาอาจารย์ ยังไม่รู้เจตนาจุดมุ่งหมายที่ว่าตรงกัน นั้นได้แก่องค์ธรรมข้อไหน แล้วท่านได้ขอพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ มาเป็นที่พึ่ง

หลังจากนั้น ท่านก็เข้าที่ภาวนากำหนดจิตจนสงบตั้งมั่น เกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ จิตไปสัมผัสกับความทุกข์ พอมีอารมณ์ทุกข์เกิดที่จิต จิตก็เอามาเป็นอารมณ์เฉพาะหน้า เป็นปัจจุบัน ยิ่งกำหนดทุกข์เข้าไปมากเข้า ทุกข์ก็มาปรากฏกว้างขวางออกไปจนไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ

เมื่อตัวจิตตกอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์แล้ว ก็เกิดความกลัวขึ้น คิดจะหาทางออกจากทุกข์ จิตก็ตั้งคำถามว่า “เราต้องการทุกข์หรือ ก็เปล่า ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์แล้ว เหตุใดจึงตกอยู่ในท่ามกลางกระแสแห่งความทุกข์นี้ได้”

จิตก็ค้นหาต้นเหตุ ก็เริ่มพบว่า เพราะจิตไปคบกับชาติคือความเกิดเข้า จิตก็เข้าไปต่อว่าชาติว่า “นี่แนะ ชาติ เสียแรงที่เราคบกับท่าน ทำไมถึงส่งให้เราได้รับความทุกข์มากมายอย่างนี้”

ชาติก็ตอบว่า “เราคือชาติ เราทำตามหน้าที่ หน้าที่ของเราคือให้ไปเกิด ใครมาคบกับเราก็ต้องไปเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องตกไปในกระแสความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งสิ้น ถ้าจะโทษเรา ต้องไปโทษภพ เพราะภพเขาส่งท่านมา”

พอจิตรู้ก็หันไปโทษภพ จิตก็ถามว่า “ภพ เสียแรงที่คบกันมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากมายอย่างนี้เล่า ”ภพก็ตอบว่า“ เราชื่อว่า ภพ เราทำตามหน้าที่ ถ้าใครมาคบเรา เราก็ต้องส่งให้เขาไปสู่ชาติ ถ้าจะโทษเรา ท่านต้องไปโทษอุปาทาน ที่ส่งท่านมา”

จิตก็หันไปโทษอุปาทานว่า “เพราะเหตุใดเมื่อคบกันแล้ว จึงส่งให้เราไปรับทุกข์ขนาดนั้น” อุปาทานตอบว่า “เราชื่อว่า อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น เราทำตามหน้าที่ ใครมาคบเราก็ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น (ในกาม ทิฏฐิ ศีลพรต ตน) เมื่อยึดมั่นถือมั่นก็ต้องมีภพ ถ้าจะโทษเรา ท่านต้องไปโทษตัณหา เพราะเขาส่งท่านมา”

พอจิตรู้ดังนั้นก็ไปต่อว่าตัณหาว่า “นี่ ตัณหา เสียแรงที่เราคบกับท่านมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากมายเช่นนี้” ตัณหาก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าตัณหา คือความทะยานอยาก เมื่อใครคบเราก็ต้องมีความอยาก (ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์) เมื่อมีความอยากก็เป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน ดังนั้นถ้าท่านจะโทษ ก็ต้องโทษเวทนา เพราะเวทนาส่งท่านมา”

จิตฟังดังนั้นก็หันไปโทษเวทนาว่า “นี่แนะ เวทนา เสียแรงที่เราคบกับท่านแล้ว เหตุใดจึงส่งให้เราไปรับทุกข์มากมายอย่างนั้น” เวทนาก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าเวทนา คือความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ อัพยากฤต เมื่อเสวยอารมณ์แล้วก็ต้องเกิดความอยาก ฉะนั้น ถ้าหากจะโทษเรา ท่านต้องโทษผัสสะที่ส่งท่านมา”

จิตก็หันไปโทษผัสสะว่า “ผัสสะ แหม เสียแรงที่เราคบกันมา ทำไมถึงส่งให้เราไปได้รับทุกข์มากขนาดนั้น” ผัสสะก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าผัสสะ คือการกระทบ (ระหว่างอายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก) เมื่อใครมาคบกับเรา ก็ต้องเกิดความกระทบ แล้วก็ต้องเกิดเวทนา ถ้าท่านจะโทษ ต้องโทษสฬายตนะ (อายตนะหก) ที่ส่งท่านมา”

จิตก็ไปต่อว่าสฬายตนะว่า “เสียแรงที่คบกันมา ทำไมถึงส่งให้ไปรับทุกข์มากมายขนาดนั้น” สฬายตนะก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าสฬายตนะ คืออายตนะภายในหก ใครมาคบกับเรา แล้วก็ต้องมีการกระทบหรือผัสสะ ฉะนั้น ถ้าหากจะโทษเราก็ต้องไปโทษนามรูปที่ส่งท่านมา”

จิตได้ยินดังนั้นก็ไปโทษนามรูปว่า “แหมนี่ นามรูป เสียแรงที่คบมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากขนาดนี้” นามรูปก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่านามรูป เมื่อใครมาคบเรา ก็ต้องมีนาม มีรูป (นามได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ รูปได้แก่ มหาภูตรูปสี่ อุปาทายรูป 24 รวมเรียกรูป 28) เมื่อมีนามรูป แล้วก็ต้องมีอายตนะภายในหกขึ้น ถ้าหากจะโทษเรา ก็ต้องโทษวิญญาณที่ส่งท่านมา”

จิตก็เข้าไปต่อว่าวิญญาณ “นี่แนะ วิญญาณ เสียแรงที่เราคบท่านมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากมายอย่างนี้” วิญญาณก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าวิญญาณ คือความรู้แจ้งอารมณ์ทางทวารทั้งหก เมื่อใครมาคบกับเรา ก็ต้องมีความรู้ทางอารมณ์ แล้วก็เกิดนามรูป ถ้าจะโทษต้องโทษสังขารที่ส่งจิตมา”

จิตก็ต่อว่าสังขาร “นี่สังขาร เสียแรงที่เราคบกัน ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากขนาดนั้น” สังขารก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าสังขาร คือ ความคิดนึกปรุงแต่ง (ปุญญาภิสังขาร คิดทางบุญ อปุญญาภิสังขาร คิดทางบาป อเนญชาภิสังขาร กลางๆ) ใครคบเราก็ต้องคิดนึกปรุงแต่งไป เมื่อคิดนึกปรุงแต่งแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้มีวิญญาณ ถ้าจะโทษก็ให้โทษอวิชชา เพราะอวิชชาเขาส่งท่านมา”

ทีนี้จิตก็ไปต่อว่าอวิชชาว่า “อวิชชา เสียแรงเราคบกัน ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากอย่างนั้น” คราวนี้อวิชชาตอบไม่เหมือนตัวอื่น อวิชชาตอบว่า “คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ท่านคบกับเราแล้วท่านก็มาโทษเรา เราชื่อว่าอวิชชา แปลว่าความไม่รู้ เมื่อใครมาคบกับเราก็ต้องเป็นผู้ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เกิดสังขารคิดนึกปรุงแต่ง ส่งต่อไปจนถึงชาติ ให้ได้รับทุกข์มากมายขนาดนั้น ถ้าหากว่าเรามีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดแล้วหละก็ พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันตสาวกก็ดี จะมีได้อย่างไร ท่านเหล่านั้นไม่คบเรา ท่านไปคบกับวิชชา”

อวิชชาสั่งสอนจิตอย่างนี้ พอจิตได้ฟังดังนั้นแล้วก็รู้ตัวเองว่า เป็นผู้ผิด ตนไปคบกับเขาเอง แล้วไปโทษคนอื่นเขา เพราะว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ท่านเหล่านั้นไม่ไปคบกับอวิชชา แต่ท่านไปคบกับวิชชา คือความรู้ ท่านจึงไม่ต้องมารับทุกข์ทรมานอย่างรา ท่านจึงไปพระนิพพานดับทุกข์ทั้งหลายได้

จิตฟังอวิชชาสั่งสอนก็รู้ชัดว่า ทางใดถูก ทางใดผิด จิตก็มองเห็นวิชชา ความรู้เครื่องดำเนินไปถึงความดับแห่งทุกข์ จิตก็จับหลักได้ ต่อนั้นมาจิตก็ตั้งมั่นกำหนดตัวรู้เป็นครูเฉพาะหน้าเรื่อยไป ก็อาศัยตัวรู้ คือรู้ตัวไว้นั่นเอง ดั่งคำที่หลวงพ่อท่านพูดย้ำบ่อยๆ ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้สึกตัว ทางโลกว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา แต่วิชาที่นี้หมายเอาความรู้ตัวชนิดที่ไม่มีความปรุงแต่งนั่นเอง”

หลวงพ่อตั้งใจจะตั้งสำนักสาขาที่แหลมฉบังแห่งนี้ แต่เมื่ออยู่มาระยะหนึ่ง ได้มีนักธุรกิจเข้าไปถางพื้นที่บริเวณใกล้สำนัก หลวงพ่อไปสอบถาม ได้ความว่า เขาจะมาตั้งรีสอร์ท ท่านพิจารณาว่า ถ้ามาตั้งรีสอร์ทจริง ก็จะเกิดความไม่สงบอีกต่อไป คนจะมากันมากขึ้น ท่านจึงทิ้งแหลมฉบังกลับเขาฉลากทันที

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:26
๏ อยู่กระท่อมผี

ต่อมาหลวงพ่อได้ออกจากเขาฉลาก ธุดงค์ไปทางจังหวัดจันทบุรี หาความวิเวกอยู่ที่นั่นพอสมควรแล้ว จึงมุ่งหน้าสู่จังหวัดตราด หาที่บำเพ็ญสมณธรรม ตามถ้ำ ภูเขา ป่า และป่าช้า เมืองตราดในสมัยนั้นยังเป็นป่าใหญ่ประกอบด้วยสัตว์ป่า

บ่ายวันหนึ่ง ท่านเข้าไปปักกลดในป่าช้า ขณะนั้นชาวบ้านเขากำลังเผาศพลูกสาวของเจ้านายคนหนึ่ง เป็นเด็กหญิงอายุประมาณสิบกว่าขวบ ตายเพราะไข้ป่า เขาเอามาเก็บไว้ที่กระท่อมเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากเป็นฤดูฝน ครั้นตกแล้งจึงมาช่วยกันเผา ครั้นเขาเห็นพระธุดงค์ จึงได้นิมนต์ให้มาพัก ณ ที่นั้น ท่านจึงขอให้เขาทำความสะอาดกระท่อมที่เคยเก็บศพนั้น ในตอนแรกเขาจะรื้อกระท่อมเผาเสียด้วย แต่หลวงพ่อขอร้องให้เขาซ่อมแซมเพื่อให้เป็นที่พัก

คืนนั้น หลังจากทำกิจเสร็จ ขณะที่ท่านนอนตะแคงข้างขวา กำหนดสติเพื่อจำวัดอยู่นั้น จู่ๆ ได้มีเสียงคล้ายสัตว์ตัวใหญ่ๆ กระโดดลงมาที่พื้น จนกระท่อมนั้นสั่นสะเทือน มันวิ่งกึกๆ มาที่ตัวท่าน พอถึงกระโดดข้าม แล้วตะกายขึ้นข้างผนังกระท่อม ท่านเกิดความสงสัยว่ามันเป็นตัวอะไร เพราะกระท่อมปิดมิดชิด ไม่มีทางที่สัตว์ตัวใหญ่ขนาดนั้นจะเข้ามาได้

ท่านจึงเอามือตะปบจับสัตว์ที่กำลังไต่ข้างผนังอยู่นั้น ความรู้สึกบอกว่า มันต้องเป็นแมวแน่นอน แต่พอเอื้อมมือหยิบไฟฉาย เจ้าสิ่งนั้นก็ดิ้นหลุดแล้ววิ่งขึ้นเพดาน ท่านรีบฉายไฟตาม แต่นอกจากเพดานกระท่อมที่ตีปิดสนิทแล้ว ก็หามีสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ ท่านจึงมาคิดว่า สิ่งที่ไม่คิดว่าจะมี จะเป็น มันก็มีได้ เพราะอุปาทานความยึดมั่นในสังขารนี่เอง ที่ทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายอยู่ในภพ ท่านได้แผ่เมตตาให้กับดวงจิตนั้น แล้วจึงจำวัดต่อไป


หลวงพ่อใช่ สุชีโว


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:26
๏ ถอนอารมณ์

ประมาณปี พ.ศ. 2500 หลวงพ่อได้ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมที่เขาเจดีย์กลางน้ำ (สวนสัตว์เปิดเขาเขียวในปัจจุบัน) มีโยมจวนเป็นผู้ติดตาม ในการธุดงค์ที่เขาเจดีย์กลางน้ำ ท่านได้อาพาธเป็นมาลาเรีย ท่านได้พยายามใช้ขันติเข้าต่อสู้กับอาการไข้ แต่ก็ไม่สามารถข่มเวทนานั้นลงได้ ท่านจึงไปขอความช่วยเหลือจากโยมจวน เพราะในครั้งที่แล้วๆ มา พลังจิตของโยมจวนนั้นถือว่าใช้ได้ผลชะงัดนัก แต่ครั้งนี้ อาการป่วยของท่านหนักเกินกว่าจะใช้พลังจิตแก้ไขได้

โยมจวนจึงแนะนำให้หลวงพ่อเข้าโรงพยาบาล นอกจากอาการที่หนักแล้ว ท่านยังได้รับยาที่แพ้มาอีกด้วย ท่านว่าธาตุขันธ์ทำท่าจะทรงอยู่ไม่ไหว ท่านจึงให้พระอุปัฏฐากห่มจีวรให้ท่านในขณะที่นอนอยู่ และปลงอาบัติ ซึ่งเป็นไปอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาร่วมชั่วโมงจึงเสร็จ

ท่านได้ขอให้พระอุปัฏฐากจับตัวท่านให้นอนในท่าตะแคงขวา และไม่ให้ผู้ใดแตะกายท่าน ท่านได้กำหนดจิตตภาวนาอย่างเต็มที่ ปรากฏว่าขณะนั้นจิตท่านไปจับเอาอาการในการถอนบริขารต่างๆเป็นอารมณ์ (ในพระวินัย ผ้าที่ใช้ต่างๆ รวมทั้งบาตร ภิกษุต้องนำมาอธิษฐานใช้เสียก่อน เวลาเลิกใช้ก็ถอนอธิษฐาน หรือเรียกว่าปัจจุทธรณ์) ซึ่งจิตก็ทำงานของเขาเอง

ในขั้นแรกที่ยังเป็นสัญญา ท่านก็เริ่มถอนบริขารใกล้ตัวก่อน โดยถอนบาตรเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ถอนไตรจีวร แล้วส่งจิตไปถอนบริขารเล็กน้อยที่เขาฉลาก หลังจากถอนบริขารของใช้ทุกชิ้นที่ท่านนึกได้แล้ว จิตก็คอยจ้องว่าจะถอนอะไรอีก ทีนี้ก็เกิดอารมณ์ขึ้น จิตก็ถอนอารมณ์ “อิมํ อารมฺณํ ปจฺจุทฺธรามิ” แรกๆ อารมณ์ก็ยังมีมาก ต่อไปก็ค่อยๆ น้อยลงตามลำดับ จนจิตรวมตัวเกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ

ต่อมาจิตก็เข้ามาถอนธรรมะ คือสติปัฏฐานสี่ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยถอนทีละตัว จากนั้นจิตก็เข้ามาถอนญาณทัสสนะนี้เองว่า “ญาณทัสสนะนี้ก็สักว่าเป็นญาณทัสสนะ เครื่องรู้ มิใช่สัตว์ บุรุษ บุคคล ตัวตน เรา เขา สมมุติบัญญัติทั้งหมด” ในขณะที่จิตกำลังทำงานภายในนี้เอง ก็เป็นเวลาเดียวกับแพทย์นำยาแก้แพ้มาฉีดถวายท่าน จากนั้นจึงค่อยๆ รู้สึกฟื้นตัวรอดตายมาได้  เมื่อท่านหายดีแล้ว ก็ได้กราบเรียนถึงธรรมะที่เกิดขึ้นถวายหลวงพ่อสาลี ท่านได้รับคำชมว่า ได้อุบายแยบคายดีมาก


หลวงพ่อใช่ สุชีโว


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:27
๏ โยมจวน

โยมจวน เป็นอุบาสกที่อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อในสมัยแรกๆ แกเป็นคนมีพื้นฐานทางจิตดี มีสมาธิเข้มแข็ง โดยได้กสิณสีขาวเป็นอารมณ์ หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า กสิณแกได้แล้วไม่เสื่อม แม้ตอนกินข้าว แกก็ประคองดวงกสิณไว้เฉพาะหน้าตลอด ตาแข็ง มือก็ตักข้าวกินไปโดยแทบไม่มองในจานเลย

แกเป็นคนไม่ห่วงเรื่องกินเรื่องอยู่เท่าไหร่นัก บางครั้งหลวงพ่อก็ไปธุดงค์ด้วยกัน เวลาไปพักที่ไหนใหม่ๆ แกก็แทบไม่ได้หลับได้นอนเลย แม้หลวงพ่อเองซึ่งสมัยนั้นยังหนุ่มแน่นกว่าแกมากนัก เมื่อเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ก็แค่สวดมนต์ทำวัตรนิดหน่อย คิดว่าจะพักผ่อนเอาแรงเสียก่อน พอมีกำลังตื่นขึ้นมา ค่อยภาวนาจริงๆ จังๆ ก่อนพักท่านก็เห็นโยมนั่งภาวนาอยู่ พอตื่นขึ้นก็ยังเห็นโยมนั่งอยู่ที่เดิม ครั้นมีโอกาสสนทนากับโยมจวน เพราะท่านไม่เห็นโยมพักผ่อนเลย แกตอบว่า “ไม่ได้หรอกขอรับท่านอาจารย์ เราเพิ่งจะมาถึงใหม่ๆ เจ้าของสถานที่เขาจะต้อนรับเราแค่ไหน เราก็ไม่รู้ จะประมาทไม่ได้”

ก่อนที่ท่านจะเดินทางขึ้นมาปฏิบัติบนเขาเขียวครั้งแรก ท่านก็บอกให้โยมจวนช่วยพิจารณาดูว่าจะมีอุปสรรคอะไรไหม โยมแกก็กำหนดอยู่ครู่หนึ่ง ก็กราบเรียนว่า “นิมนต์ท่านอาจารย์เดินทางตามสบายเลยขอรับ กระผมพิจารณาภูเขาทุกลูกทะลุปรุโปร่งหมด ไม่เห็นมีอุปสรรคอันตรายใดๆ ขัดขวาง มีก็แต่เห็นเมฆฝนตั้งเค้าอยู่”

แต่แรกที่ท่านได้ยินดังนั้นก็ไม่ใคร่เชื่อมากนัก เพราะเพิ่มจะแค่กลางเดือนสี่ ลมว่าวก็ยังพัดอู้ๆ อยู่ ครั้นพอหลวงพ่อเดินทางขึ้นไปก็เอาญาติโยมไปกัปปิยะทางด้วยหลายคน ขากลับเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ ต่างคนต้องตัดเอาใบก้านกล้วยมาเป็นร่มกันฝน ท่านจึงได้นึกเลื่อมใสโยมจวน

อย่างไรก็ตาม ท่านได้พิจารณาแล้วว่า แม้โยมจวนจะเป็นผู้มีสมาธิจิตเข้มแข็ง แต่ก็เป็นแค่ขั้นโลกียฌานเท่านั้น ท่านจึงคิดจะอนุเคราะห์โดยการแนะนำให้โยมไปปรึกษากับท่านอาจารย์ถวิล วัดวิเวการาม

ท่านอาจารย์ถวิลได้พิจารณาดูก็ได้ให้อุบายโยมจวนให้รู้จักใช้สมาธิที่ได้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาน้อมธรรมเข้ามาในตัว หกวันแรกผ่านไปไม่ได้ผล พอวันที่เจ็ด ท่านได้แนะอุบายสุดท้ายคือ ให้โยมกำหนดดวงกสิณ ค่อยๆ จับหันเข้าหาตัว แล้วก็ผ่าเข้ามาในตัวโยมจวน เมื่อโยมนำมาปฏิบัติก็บังเกิดผลทันที และด้วยพื้นฐานสมาธิจิตที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ก็ทำให้โยมจวนเห็นแจ้งในอริยสัจสี่ทันที  ภายหลังไม่นาน โยมจวนก็เสียชีวิต หลังฌาปนกิจแล้ว หลวงพ่อได้เก็บอัฐิของแกไว้บูชาบนหิ้งพระในห้องส่วนตัวท่าน ท่านสังเกตดูเรื่อย ก็เห็นว่า อัฐินั้นทำท่าจะรวมตัวเป็นพระธาตุเหมือนกัน

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:53

พระประธานภายในศาลาวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี


พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)


๏ ใต้ร่มเงาแห่งธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด


หลวงพ่อได้พบกับ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) เป็นครั้งแรกที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ องค์หลวงตาได้ทักหลวงพ่อว่า “สีจีวรท่านเหมือนพ่อแม่ครูจารย์มั่นเลย” หลวงพ่อได้กราบเรียนว่า จำสีจีวรหลวงปู่มั่นมาจากความฝัน และได้เล่าเรื่องที่ท่านเคยฝันเห็นหลวงปู่มั่นให้องค์หลวงตาฟัง

องค์หลวงตาท่านจึงว่า “นี่แสดงว่าท่านมีนิสัยกับองค์ท่านอยู่ จึงได้มีนิมิตให้เห็นอย่างนั้น” แล้วองค์หลวงตาได้ซักถามประวัติหลวงพ่อต่อไป

“ใครเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานของท่าน”

“อาจารย์ถวิล ขอรับ”

“อาจารย์ถวิลเป็นลูกศิษย์ใคร”

อาจารย์เกิ่ง ขอรับ”

“อาจารย์เกิ่งเป็นคนจังหวัดอะไร”

“จังหวัดสกลนครขอรับ”

พอถามเท่านี้ องค์หลวงตาก็รู้ว่าเป็น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ศิษย์รุ่นอาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ต่อมาท่านได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับองค์หลวงตาที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งในช่วงนั้นมีครูบาอาจารย์อยู่ที่นั้นมาก รวมทั้ง พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เนื่องจากในสายปฏิบัติมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าพระอาคันตุกะมาขออยู่ด้วย หากยังไม่คุ้นเคยในข้อวัตรปฏิบัติของกันและกันแล้ว แม้พระอาคันตุกะจะมีพรรษามากก็ตาม ต้องนั่งต่อท้ายพระผู้มีพรรษาน้อยที่สุดในสำนักนั้น จนกว่าครูบาอาจารย์เห็นสมควร จึงนั่งตามลำดับพรรษาได้ ดังนั้น ในช่วงแรกหลวงพ่อได้ถูกจัดให้นั่งอาสนะสุดท้ายเพื่อศึกษาข้อปฏิบัติก่อน

หลังจากที่หลวงพ่อได้มีโอกาสสนทนาธรรมและรับอุบายจากองค์หลวงตา วันรุ่งขึ้น พระลูกวัดก็มาจัดบาตรและอาสนะของหลวงพ่อให้นั่งติดกับองค์หลวงตา เป็นรูปที่สองรองจากองค์หลวงตาตามลำดับพรรษา หลวงพ่อบอกกับพระรูปนั้นว่า ให้ท่านนั่งที่เก่าก็ดีอยู่แล้ว พระรูปนั้นได้ตอบไปว่า ทำตามคำสั่งขององค์หลวงตา นับเป็นความเมตตาอย่างยิ่งขององค์หลวงตา แม้ในภายหลัง หลวงพ่อมักกล่าวสรรเสริญองค์หลวงตาให้คณะศิษย์ฟังเสมอ

ครั้นได้อยู่ศึกษาธรรมและข้อปฏิบัติจากองค์หลวงตาเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้กราบลาองค์หลวงตากลับชลบุรี พร้อมกันนั้นได้นิมนต์องค์หลวงตาแวะเยี่ยมวัดเขาฉลาก ซึ่งท่านรับที่จะมา หากได้โอกาสอันเหมาะสม และในกาลต่อมา องค์หลวงตาได้เมตตาแวะมาเยี่ยมวัดเขาฉลาก ตามคำนิมนต์ ยังความปิติแก่หลวงพ่อและคณะวัดเขาฉลากยิ่งนัก

โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:53

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก


พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


๏ สายสัมพันธ์หนองป่าพง

ช่วงบ่ายวันหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้มากิจธุระทางจังหวัดชลบุรี และได้แวะเยี่ยมวัดเขาฉลาก หลังจากทักทายปราศรัยกันแล้ว จึงได้ทราบว่า หลวงพ่อชาอายุมากกว่าหลวงพ่อหนึ่งปี ด้านพรรษาก็ต่างกันหนึ่งพรรษาเช่นกัน

ช่วงหนึ่งของการสนทนา หลวงพ่อชาได้ถามหลวงพ่อว่า ศึกษาด้านข้อปฏิบัติและพระธรรมวินัยจากสำนักไหน หลวงพ่อได้ตอบว่า ศึกษามาจากหลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง จ.ราชบุรี ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่เภา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี หลวงพ่อชายิ้มและอุทานว่า “งั้นเราก็เค้าเดียวกัน ผมก็ศึกษามาจากวัดเขาวงกฎเหมือนกัน”

หลวงพ่อได้เล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อชาไว้ตอนหนึ่งว่า “...เป็นวาสนาของเรากับหลวงพ่อชา เกิดจากต้นตอเดียวกัน สำนักปฏิบัติสายหลวงพ่อเภาเหมือนกัน เราก็เลยสบาย อาจารย์ทวีจะให้ผมไปเป็นสาขา ไปช่วยติดต่อหลวงพ่อชาให้รับเขาฉลากเป็นสาขา พอท่านทราบจากผมว่า ผมเป็นลูกศิษย์สายหลวงปู่เภา ท่านว่าไม่ได้ ให้เป็นสาขาไม่ได้ ต้องร่วมกัน ท่านว่าอย่างนี้ มันระดับเดียวกัน...”

จากสายสัมพันธ์ครูบาอาจารย์ พระเณรทั้งสองสำนักจึงมีการไปมาหาสู่ ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติร่วมกัน อาทิเช่น พระอาจารย์ผัส จารุธมฺโม เจ้าอาวาสวัดหนองเลง สาขาวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

พระอาจารย์ผัส จารุธมฺโม มีนามเดิมว่า นายผัส ภูมิสา เกิดที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ต่อมาได้อุปสมบทที่จังหวัดอุดรธานี เมื่ออายุได้ 33 ปี แล้วไปจำพรรษาที่วัดหนองป่าพงกับหลวงพ่อชา สุภทฺโท ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่สาขาวัดหนองป่าพง ในอ.เชียงคำ จ.พะเยา และจังหวัดเพชรบุรี

ท่านอยู่กับหลวงพ่อชาได้ 8 พรรษา เมื่อพรรษาท่านมากขึ้นต้องนั่งหัวแถวของหมู่สงฆ์ และจำเป็นต้องแสดงธรรม แต่ท่านไม่ถนัดการเทศนา ท่านจึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อชาไปจำพรรษากับหลวงพ่อที่เขาฉลาก 2 ครั้งแรกหลวงพ่อชาบอกให้รอไปก่อน ครั้งที่ 3 ท่านบอกว่า “อยากไปก็ไปเถอะ ถ้าไม่ถึง 10 ปี อย่ากลับมา” ด้วยเหตุนี้ พระอาจารย์ผัสจึงมาอยู่กับหลวงพ่อที่เขาฉลากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2525  ต่อมาหลวงพ่อได้เริ่มสร้างวัดหนองเลงในปี พ.ศ. 2530 และในปี พ.ศ. 2531 ท่านได้ส่งพระอาจารย์ผัสมาประจำที่นี่


หลวงพ่อชา สุภทฺโท


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:55

หลวงพ่อใช่ สุชีโว ขณะอยู๋ในกุฏิของท่าน


๏ สุปฏิปันโนแห่งหุบเขาฉลาก

กาลเวลาที่ผ่านมาได้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อ แม้ว่าจะลำบากสักเพียงใด ท่านก็ยังมั่นคงในข้อวัตรปฏิบัติเสมอมา กระทั่งในช่วงวัยชรา หากท่านไม่ติดธุระที่จำเป็นหรือเจ็บป่วยจริงๆ ท่านจะเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยมทุกเช้า ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านเคยอบรมเสมอว่า “การบิณฑบาตนั้น เป็นนิสัยของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฉะนั้น พวกเราที่เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยของพระองค์ท่าน ต้องดำเนินตามนิสัยของท่าน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องจริงๆ”

หลวงพ่อเป็นพระที่สันโดษ ไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญ ได้เคยมีลูกศิษย์บางคนติดตั้งเครื่องปรับอากาศถวายหลวงพ่อ ท่านได้ฉลองศรัทธาเจ้าภาพเพียงคืนเดียว แล้วท่านก็ไม่ใช้อีกเลย ท่านไม่เรี่ยไรใครและไม่อนุญาตให้ตั้งตู้บริจาคภายในวัด ท่านกล่าวว่า ถ้าใครศรัทธาเขาบริจาคเอง กุศลจะเกิดกับตัวเขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ตอนที่วัดไทยกุสินาราสร้างเสร็จ ได้มีพระผู้ใหญ่มาชักชวนให้หลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาสที่นั่น แต่ท่านได้ปฏิเสธไป แม้แต่หนังสือประเภทปาฏิหาริย์ จะมาสัมภาษณ์ท่านเพื่อเอาประวัติลงหนังสือ ท่านได้กล่าวกับพวกเขาว่า “พวกโยมเที่ยวไปเขียนกันว่าพระองค์นั้นองค์นี้เป็นพระอริยะ พวกโยมทราบได้อย่างไร และจะทำให้พระพวกนั้นเสื่อมเสียไปด้วย ไม่ควรเขียนเพื่อขายหนังสืออย่างเดียว” พวกนั้นก้มลงกราบ และกล่าวว่าไม่เคยมีพระรูปไหนพูดกับพวกเขาอย่างนี้เลย

หลวงพ่อเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เมื่อตั้งวัดเขาฉลากได้ระยะหนึ่ง ท่านได้รับเอาโยมบิดามาอยู่ด้วย และได้บำรุงโยมบิดาด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน ตลอดจนให้คำแนะนำในข้อธรรมปฏิบัติ ซึ่งโยมบิดาก็ปฏิบัติตามด้วยดีและอยู่ ณ วัดเขาฉลาก ตราบจนสิ้นอายุขัย

สำหรับอดีตพระอาจารย์ยอด ซึ่งเคยอบรมหลวงพ่อเมื่อครั้งอยู่ที่วัดโพธิ์ จ.ชลบุรี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรที่เขาฉลาก เมื่อายุได้ 74 ปี หลวงพ่อได้ดูแลเป็นอย่างดี ดังที่หลวงปู่เณร (อดีตพระอาจารย์ยอด) ได้เล่าใน “หลวงปู่เณรอาลัย” ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อ ความว่า

“ส่วนฉันเอง ต่อมาเมื่อปี 2526 ฉันพิจารณาดูแล้วว่าหลวงพ่อใช่องค์นี้ เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พอจะเป็นที่พึ่งแก่ฉันได้ ฉันอายุ 74 ปี ใกล้ตายแล้ว จึงตัดสินใจสละลูกเมียสมบัติทั้งหมด ไปหาท่านขอบรรพชา ท่านก็เมตตาอนุเคราะห์เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เครื่องอัฏฐบริขารทั้งหมดท่านเมตตาจัดให้ นับว่าเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูง เมื่อบวชแล้วท่านก็แนะนำสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติให้ แล้วยังเมตตาอีก ท่านเห็นว่าฉันแก่แล้ว ก็บอกว่าไม่ต้องลงไปบิณฑบาตที่ตีนเขา มันเดินไกล ให้บิณฑบาตที่โรงครัว ให้แม่บ้านเขาใส่ให้ แล้วยังมีเมตตาอีกตั้งมากมาย...”

คุณธรรมประการหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของหลวงพ่อ คือความเมตตา ทั้งในหมู่ศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไป ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย อย่างทั่วถึงกัน

พระภิกษุสามเณรนั้น หากท่านรูปใดอาพาธ หลวงพ่อจะดูแลให้กำลังใจ แนะนำวิธีบำบัดรักษา ถ้ามีอาการรุนแรงจนถึงกลับต้องนอนโรงพยาบาล หลวงพ่อก็จะเมตตาไปเยี่ยมไข้อยู่เสมอๆ ทำให้พระเณรที่กำลังอาพาธ มีกำลังใจสู้กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น

ในส่วนของฆราวาสญาติโยม ท่านเมตตาให้คำปรึกษาเวลาพวกเขาเหล่านั้นประสบปัญหาชีวิต ตลอดจนให้ความช่วยเหลือตามควร แม้กระทั่งพวกพ่อค้า แม่ค้าขายยา ขายน้ำผึ้งที่เดินทางมาไกลๆ มาขอร้องให้ท่านช่วยอุดหนุน ด้วยความเมตตา ท่านจะสั่งให้แม่ชีซื้อแบบเหมาหมด โดยไม่สนใจว่าจะเป็นยาดีหรือน้ำผึ้งปลอม ถ้ามีหลายเจ้าก็จะเฉลี่ยซื้อเท่าๆกันหมดทุกคนเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ

พลเอกสุเมธ ภวมนตรี ได้เล่าถึงความเมตตาของหลวงพ่อใน “สร้างเหตุให้ดี แล้วผลจะดี” ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อไว้ว่า

“หลวงพ่อมีความเมตตาแก่ผู้มีความทุกข์ มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อคนหนึ่งทำกิจการค้า แต่มีหนี้สินมาก คิดจะหนีเจ้าหนี้ หลวงพ่อไม่ให้หนี แนะนำให้ทำบุญ ให้มีสติ และหลวงพ่อได้แผ่เมตตาให้ จนปัจจุบันนี้มีกิจการดีมาก อีกรายหนึ่ง ถูกฟ้องเกี่ยวกับหุ้นส่วนโรงแรม เมื่อหลวงพ่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นฝ่ายถูก ท่านก็แนะนำเช่นเดียวกันกับคนแรก หลวงพ่อแผ่เมตตาช่วยจนชนะคดี ปัจจุบันนี้มีฐานะดีมาก

หลวงพ่อมีเมตตาช่วยเหลือทุกคน ท่านให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะมีหรือจนเพียงใด แม้แต่บางคนที่ไม่เคยรู้จักกับหลวงพ่อมาก่อน ท่านก็ช่วยเหลือ เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่งในตอนเช้า ข้าพเจ้าและคุณพงศ์สวัสดิ์ รัตนะเหลี่ยมได้ไปพบหลวงพ่อซึ่งกำลังฉันอาหารเช้าอยู่ สตรีมีครรภ์ผู้หนึ่งได้เข้ามากราบหลวงพ่อและพูดอะไรกับท่าน ข้าพเจ้าได้ยินไม่ถนัด หลวงพ่อได้ถามคุณพงศ์สวัสดิ์ว่า “เจี๊ยบมีสตางค์ไหม” หลวงพ่อบอกให้เจี๊ยบมอบเงินให้แก่สตรีผู้นั้นไป 300 บาท ข้าพเจ้าเรียนถามหลวงพ่อว่า สตรีผู้นั้นเป็นใคร หลวงพ่อตอบว่า “ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นมาก่อน สงสารเด็กในท้อง”...”

แม้พวกสัตว์ทั้งหลาย หลวงพ่อก็มีเมตตาต่อพวกมัน หากสัตว์ตัวใดผอมโซหรือได้รับบาดเจ็บ ท่านจะให้ความช่วยเหลือทันที ในวันหนึ่ง ท่านเห็นตัวด้วงเกาะอยู่ที่ล้อรถ ท่านยังเข้าไปจับมันออก กลัวรถจะทับมัน

ในด้านการอบรมศิษยานุศิษย์นั้น ท่านก็ทำได้เป็นอย่างดียิ่ง ท่านคอยเอาใจใส่พระบวชใหม่ให้มีความเข้าใจในเรื่องของศีล วินัย และข้อวัตรต่างๆ ท่านสอนผู้บวชใหม่ว่า “เมื่อบวชแล้ว เธอจะต้องเป็นพระ พระในที่นี้คือเป็นพระตามพระธรรมวินัย หมายถึงต้องนั่งอย่างพระ เดินอย่างพระ พูดอย่างพระ ฉันดื่มอย่างพระ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอย่างพระ” คำว่าอย่างพระในที่นี่ ก็คืออย่างพระธรรมวินัย ตามเสขิยวัตรนั่นเอง ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า “อุปัชฌาย์อาจารย์เขามีไว้เพื่ออบรมสั่งสอนกัน ไม่ใช่มีไว้เพื่อเรียกขานกันเฉยๆ”

หลวงพ่อเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ที่กุฏิท่านจะมีหนังสือมากมาย และท่านยังทุ่มเทให้กับการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร โดยการสอนนักธรรม ท่านมีความละเอียดในเรื่องพระวินัยและธรรมะ สามารถอธิบายให้เข้าใจง่าย

จากความเป็นพระสุปฏิปันโนผู้เอื้อประโยชน์แก่หมู่ชนทั้งหลาย ได้เป็นดั่งกลิ่นหอมทวนลมไปในทิศทั้งสี่ ประกาศเกียรติคุณของหลวงพ่อให้สาธุชนได้รับรู้ แม้ป่าเขาจะหนาทึบเพียงใด ก็ไม่อาจปิดกั้นเกียรติคุณของหลวงพ่อผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งเขาฉลากได้เลย

“พระหลงใหลยศศักดิ์ผิดหลักพระ
ต้องมุ่งละทุกข์โทษโลภโกรธหลง
จึงจะชอบระบอบบุตรพุทธองค์
พระถ้าหลงลาภยศก็หมดงาม”

ลิขิตหลวงพ่อใช่


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:56

พัดยศสมณศักดิ์ที่พระครูวิสุทธิสังวร  


๏ งานด้านการปกครองและสมณศักดิ์

วันที่ 25 สิงหาคม 2508 รักษาการเจ้าอาวาสวัดปาลิไลยวัน

วันที่  30 มิถุนายน 2509 เจ้าอาวาสวัดปาลิไลยวัน

วันที่  7 กันยายน 2522 เจ้าคณะตำบลบางพระ

วันที่  16 กุมภาพันธ์ 2524 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

วันที่  5 ธันวาคม 2525 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวิสุทธิสังวร ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ


พัดยศสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา


วันที่  15 พฤษภาคม 2531 ได้รับพัดยศสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา


หลวงพ่อกับคณะศิษยานุศิษย์ ถ่ายที่ประเทศอินเดีย  


๏ สู่แดนพุทธภูมิ

หลวงพ่อท่านเคยกล่าวถึงการไปสังเวชนียสถานว่า “ไปแล้วเกิดจิตเกิดใจที่สงบลึกซึ้งปีติมากกว่ากราบไหว้พระองค์ที่อยู่เมืองไทยหลายเท่านัก เสมือนได้เข้าไปกราบนมัสการอยู่แทบฝ่าพระบาทของพระองค์ ใครได้ไปเป็นกำไรของชีวิต” และท่านยังได้พูดให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกว่า “ไหว้พระพุทธเจ้าที่เมืองไทย สมมุติเราพูดพระพุทธคุณได้ 100 คำ แต่ถ้าไปไหว้พระองค์ที่อินเดีย จะเกิดปีติ เกิดจิตเกิดใจ พูดถึงพระพุทธคุณได้ถึง 500 คำ”

จากคำปรารภตรงนี้เอง ท่านจึงได้นำคณะศรัทธาญาติโยมไปนมัสการสังเวชนียสถาน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2538 จำนวน 8 ครั้งด้วยกัน ระหว่างที่ไป ท่านได้มีเมตตาแสดงธรรมโปรดคณะศิษยานุศิษย์ แม้ว่าในช่วงครั้งหลังๆ ท่านจะอาพาธก็ตาม


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:57


๏ ความเสื่อมแห่งสังขาร

ร่างกายนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สำหรับสุขภาพของหลวงพ่อในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านได้อาพาธหลายโรคด้วยกัน โดยโรคประจำตัวของท่านคือ โรคเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้อักเสบ ท่านเป็นโรคนี้นานมาก และได้เคยปรารภว่าอาการของโรคนี้เป็นวิบากกรรมจากสมัยที่ท่านเป็นเด็ก ได้ร่วมกับเพื่อนเด็กวัด นำข้าวก้นบาตรมาคลุกกับลูกสลอดให้กากิน พอกากินแล้วเกิดอาการถ่ายท้อง ไม่สามารถบินไปไหนได้ ท่านและเพื่อนๆ ได้ตีกาตัวนั้นจนตาย และนำไปให้บึ้งกิน

นอกจากนี้ ท่านยังมีอาการปวดหลัง ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหลอดลมอักเสบ ไขมันในโลหิตสูง โรคหัวใจ ท่านต้องเดินทางไปให้แพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำ


๏ ล่วงลับลาโลก

วันที่ 3-4 ตุลาคม พ.ศ. 2538 เป็นวันสอบธรรมะประจำปีของพระนวกะ หลวงพ่อยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าคณะตำบล และเจ้าของสนามสอบอย่างบริบูรณ์

5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ได้มีญาติโยมมาทำบุญที่วัด พร้อมทั้งได้นิมนต์พระจากวัดสาขาของวัดเขาฉลากมาร่วมด้วย เมื่อพิธีเสร็จลง พระภิกษุสามเณรที่มาจากวัดสาขาต่างขอโอกาสลาท่านกลับ โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อยว่า เป็นการกราบลาครั้งสุดท้าย

ต่อจากนี้จะขอนำบันทึกของ พระวันชัย กิตฺติโสภโณ จากวิสุทธิสังวรบูชา หน้า 223-226 ซึ่งท่านได้ลำดับเหตุการณ์เอาไว้ ดังนี้

“พระเดชพระคุณหลวงพ่อ มีโรคประจำตัวท่านหลายโรค เช่น ท่านเคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดลมอักเสบ และมีไขมันในหลอดเลือดสูงเป็นบางครั้ง โรคที่ท่านเป็นอยู่ประจำคือ โรคหลอดลมอักเสบ ไปตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ โดยเป็นคนไข้ของคุณหมอสมศักดิ์

ปรากฏว่าความดันปกติ โรคหลอดลมอักเสบก็ใกล้จะปกติแล้ว คุณหมอสมศักดิ์สั่งยาเพิ่มจากเดิมนิดหน่อย และนัดวันที่จะไปตรวจอีกครั้งในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 แต่ยังไม่ถึงวันที่คุณหมอนัด เหตุการณ์อันเศร้าสลดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อต้องมามรณภาพละสังขารไปเสียก่อน ดังจะได้ลำดับความไว้เป็นที่ระลึกพระคุณท่าน ดังต่อไปนี้

เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. (ตีสองครึ่ง) ได้ยินเสียงหลวงพ่อท่านเรอเบาๆครั้งหนึ่ง อาตมาจำวัดอยู่ใต้ถุนกุฏิท่านจึงได้ยินเสียง ตอนนี้หลวงพ่อลุกออกมาจากที่พักของท่านแล้ว ซึ่งปกติช่วงระยะเวลานี้ถ้าท่านปกติดี ท่านจะลุกขึ้นมาเดินจงกรม อีกสักครู่ได้ยินเสียงท่านเรออีกครั้ง คราวนี้เสียงดังผิดปกติ คล้ายๆ เหมือนคนแน่นหน้าอก

อาตมารีบลุกออกจากกลดวิ่งขึ้นไปบนกุฏิ พบท่านกำลังนั่งที่พื้นไม้หน้าโซฟาที่ท่านนั่งรับแขกญาติโยมเป็นประจำ มีเหงื่อออกโทรมทั้งกาย ท่านเห็นอาตมาเลยเรียกเข้าไปช่วยท่าน บอกให้อาตมากดหลังท่านเบาๆ อาตมามองดูเหมือนท่านจะแน่นหน้าอก อยากจะอาเจียน แต่อาเจียนไม่ออก มีแต่เสียงเรอลมออกเท่านั้น

ท่านบอกว่าปวดขาข้างซ้ายมาก ให้อาตมาเอามือขวากดแรงๆ สักครู่ท่านบอกปวดแขนซ้ายมากตั้งแต่หัวไหล่ไปตลอดแขนถึงปลายนิ้วมือ เดี๋ยวท่านก็บอกให้กดหัวไหล่ขวาให้ท่านหน่อย กดแรงๆ อาตมาก็เอามือซ้ายกดให้ท่าน ท่านบอกว่าแขนขวาของท่านชาไปหมดเป็นอาการของคนที่จะเป็นอัมพาต ท่านให้กดแรงๆ ค่อยดันเลื่อนมือไปจนสุดปลายนิ้ว ท่านบอกปวดนิ้วมือมาก ก็กดบนนิ้วมือท่าน

อาตมาสังเกตดูที่ใบหน้าท่านตลอด ท่านจะกัดฟันและเป่าลมปากออกมา เนื่องจากคงจะปวดมาก ท่านบอกปวดต้นขาซ้ายและแขนขวามาก อาตมานวดกดตรงที่ท่านปวดสักครู่ใหญ่ ท่านถามว่า “อุ้มประคองผมเข้าไปที่ในกลดไหวหรือเปล่า” อาตมาตอบว่า “ไหวครับหลวงพ่อ” อาตมาเอามือสอดใต้รักแร้ของท่าน ประคองท่านไปที่กลด นอนลงพักบนที่นอนและบีบนวดกดตรงที่ท่านปวดอีก ถ้าความปวดเบาลงบ้างท่านก็นอนสงบ ถ้ามีความปวดเกิดขึ้นท่านก็พลิกไปพลิกมา กัดฟันเป่าปาก เป็นแบบนี้จนได้ยินเสียงพระตีระฆัง ประมาณ 03.30 น. (ตีสามครึ่ง) เป็นเวลาที่พระจะต้องตื่นลงมาทำวัตรเช้าตี 4 และครองผ้า

ท่านบอกอาตมาให้ไปเรียกหลวงพี่แสงชัยมาช่วยนวดด้วย อาตมายังไม่ไปเรียกทันที รอสักครู่เพื่อให้พระลงทำวัตร อาตมาก็กราบเรียนท่านว่า “หลวงพ่อครับ เดี๋ยวกระผมจะไปตามหลวงพี่แสงชัยมาช่วยนวดครับ” ท่านบอกว่า “ไปแล้วท่านจะลงมาทำวัตรหรือ” ความจริงวันนั้นหลวงพี่แสงชัยก็ไม่ได้ลงมาทำวัตรจริงๆ ด้วย อาตมาก็เลยเงียบ

ท่านให้บีบนวดกดตรงที่ท่านปวดต่อไป บางทีท่านเอามือท่านกุมอาตมากดแรงๆ ให้กำมือทุบเบาๆ บ้าง สับเบาๆ บ้าง ช่วงนี้อาตมาคิดในใจว่า ในราตรีนี้อาตมาจะไม่ครองผ้ายอมขาดครองผ้าเพื่อดูแลปรนนิบัติท่าน สักครู่ท่านบอกว่า “วันชัย ลงไปเอาผ้าครองแล้วรีบขึ้นมา” อาตมาก็ลุกขึ้นแล้วรีบลงไปเอาผ้าครองขึ้นมาแล้วบีบนวดท่านต่อ ตอนนี้อาตมาซึ้งใจท่านมาก ท่านมีเมตตากับอาตมามาก ไม่ยอมให้อาตมาขาดครองผ้า ถ้าขาดครองผ้าต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แสดงว่าท่านเคารพพระธรรมวินัยมาก ถึงแม้ท่านจะเจ็บป่วยถึงขนาดนี้ ยังไม่ยอมผิดพระธรรมวินัยเลย เคารพพระธรรมวินัยจริงๆ

ตอนที่ท่านปวดมากๆ จะมีเหงื่อออกมาก ท่านบอกว่า “ผมก็ภาวนาสู้เหมือนกัน” อาตมาก็นวดและคอยเช็ดเหงื่อท่านไปด้วย ท่านนอนตะแคงข้างขวา บอกให้อาตมาตบหลังท่านเบาๆ สามครั้ง ดูอาการท่านเหมือนกับแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก อยากจะอาเจียนแต่อาเจียนไม่ออก ท่านพูดว่า “ออกสิๆ” แต่ไม่ออก และต่อมาให้อาตมาตบหลังท่านเบาๆ อีกสามครั้ง อาการปวดเริ่มมากขึ้นๆ สักครู่ก็ค่อยๆ เบาลงๆ ท่านบอกอาตมาว่าปวดปัสสาวะ “ปัสสาวะลงในกระโถนได้ไหม” อาตมาตอบว่า “ได้ครับ” ท่านก็ลุกขึ้นนั่งปัสสาวะลงในกระโถนแล้วส่งให้อาตมา อาตมาก็นำออกไปเทในห้องน้ำท่านแล้วล้างกระโถน เช็ดกระโถน

ปกติท่านจะลุกนั่งเองไม่ไหว มีบางเวลาท่านให้อาตมาประคองท่านลุกขึ้นนั่ง ท่านยังนั่งไม่ไหว ต้องลงนอนตามเดิมอีก แต่ตอนปัสสาวะท่านกลับลุกขึ้นนั่งเองไหว อาตมาคิดว่าท่านคงจะค่อยยังชั่วขึ้นแล้ว ขณะมองนาฬิกาเป็นเวลา 05.55 น. รีบลงมารับประเคนเครื่องดื่มใต้กุฏิให้ท่าน แล้วบอกโยมแม่ชีว่า “หลวงพ่อป่วยหนักนะ ไม่รู้จะไหวหรือเปล่า” แล้วรีบขึ้นมาบนกุฏิท่าน ต้มน้ำร้อนให้ท่าน เพราะท่านบอกว่าให้ต้มน้ำร้อนให้ท่านด้วย

พอเสียบปลั๊กกาน้ำร้อน ได้ยินเสียงท่านครางครืดๆ อาตมารีบไปที่มุ้งกลดของท่าน เห็นมือท่านเกี่ยวมุ้งกลดดึงไปแนบที่หน้าอีก อาตมาเลยรีบเข้าไปในมุ้งกลด เห็นท่านเอามือประกบหน้าอก อาตมารีบเข้าไปประคอง แล้วเรียกท่านสามครั้ง ตอนนี้ท่านไม่รู้สึกตัวเสียแล้ว มีแต่เพียงลมปุดๆออกจากปากท่านจนหมดลมสุดท้าย ท่านละสังขารไปด้วยอาการอันสงบในเวลาประมาณ 05.59 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สมกับที่ท่านเคยบอกพระว่า ผมเป็นอะไรจะไม่ร้องสักแอะเดียว” โดยคำสอนของท่านที่ตราตรึงในจิตใจเสมอ ก็คือ

“เยือกเย็นเหมือนดั่งน้ำฝน
อดทนเหมือนดั่งผาหิน”


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:58

สรีระสังขารของหลวงพ่อใช่ สุชีโว


การจากไปของหลวงพ่อได้นำความอาลัยมาสู่คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง จากนั้นได้มีการบำเพ็ญกุศลเรื่อยมา ในการสวดพระอภิธรรม 7 คืนแรก ได้อาราธนาครูบาอาจารย์มาแสดงพระธรรมเทศนารูปละคืน



12 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ทำบุญเลี้ยงพระเมื่อสวดครบเจ็ดวัน



24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ทำบุญเลี้ยงพระเมื่อครบห้าสิบวัน



13 มกราคม พ.ศ. 2539 ทำบุญเลี้ยงพระเมื่อครบ 100 วัน



7 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานเพลิงศพ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เสด็จทรงเป็นองค์ประธาน ณ เมรุชั่วคราว วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แม้ธาตุขันธ์ของหลวงพ่อจะแตกสลายไปตามกฎของธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ความดีทั้งหลายที่ท่านได้กระทำบำเพ็ญไว้ จะยังคงเป็นอนุสรณ์ถึงท่าน และเป็นคติแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

“ถึงบิดามารดาคณาญาติ
อีกโอวาทของครูผู้สงสาร
จะเตือนเราเช้าค่ำประจำการ
ฤๅจะปานตัวเราเฝ้าเตือนตัว”

ลิขิตหลวงพ่อใช่



โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 19:59

เครื่องบริขาร พัดยศ และรูปภาพของหลวงพ่อใช่ สุชีโว


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 20:00
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-10-22 20:01

• รวมภาพเกี่ยวกับหลวงพ่อใช่-วัดปาลิไลยวัน •


อัฐิธาตุหลวงพ่อใช่ สุชีโว


อัฐิธาตุและรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อใช่ สุชีโว


อัฐิธาตุหลวงพ่อใช่ สุชีโว


ภายในกุฏิหลวงพ่อใช่ สุชีโว


ศาลาไม้ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


โดย: kit007    เวลา: 2013-10-22 20:03
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-10-22 20:04

บรรณานุกรม

(1) สุชีโวรำลึก อาจาริยบูชาแด่พระครูวิสุทธิสังวร (ใช่ สุชีโว)

(2) ทรง จิตประสาท, นที ลิ้มประสิทธิ์ศักดิ์, อรรณพ ดิษริยกุล และคณะ. วิสุทธิสังวรบูชา

(3) พระครูวิสุทธิสังวร (ใช่ สุชีโว). วิสุทธิสังวรธรรม, 2541

(4) อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูวิสุทธิสังวร (ใช่ สุชีโว)

(5) บันทึกประวัติบางส่วนของหลวงพ่อ โดยลูกศิษย์ท่านหนึ่ง



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.geocities.com/dharmapage/
                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22809

โดย: นาคปรก    เวลา: 2013-10-23 09:41
“ถึงบิดามารดาคณาญาติ
อีกโอวาทของครูผู้สงสาร
จะเตือนเราเช้าค่ำประจำการ
ฤๅจะปานตัวเราเฝ้าเตือนตัว”


ลิขิตหลวงพ่อใช่





โดย: Metha    เวลา: 2013-12-11 00:26

ขอบคุณครับ
โดย: Sornpraram    เวลา: 2018-8-16 06:42
“พระหลงใหลยศศักดิ์ผิดหลักพระ

ต้องมุ่งละทุกข์โทษโลภโกรธหลง

จึงจะชอบระบอบบุตรพุทธองค์

พระถ้าหลงลาภยศก็หมดงาม”


ลิขิตหลวงพ่อใช่






ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2