วันเทโวโรหณะ หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน ความสำคัญ วันเทโวโรหณะ เป็นวันที่มีการทำบุญตักบาตรที่พิเศษวันหนึ่ง กล่าวคือ ในพรรษาหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา และทรงจำพรรษาที่นั้น พอออกพรรษาก็เสด็จลงจากเทวโลกนั้นมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงที่เมืองสังกัสส์ ใกล้เมืองพาราณสี ชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั้น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก คือ เปิดให้เห็น กันทั้ง 3 โลกนั้นเอง การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่อง ต่อกันมาเป็นประเพณี จนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว ซึ่งคำว่า "เทโว" ย่อมาจาก "เทโวโรหนะ" แปลว่าการเสด็จจากเทวโลก การตักบาตรเทโวจึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศลเนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด จะผิดกันก็เพียงแต่สถานที่ ที่สมมติว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เท่านั้น ระเบียบพิธีและการปฏิบัติตนเมื่อถึงวันเทโวโรหณะ พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการปฏิบัติตนดังนี้ เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์ หลักจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีบ ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับและสรรพสัตว์ |
ใกล้ถึงเทศกาลออกพรรษา สิ่งหนึ่งที่ชวนให้นึกถึงเป็นอันดับแรก นอกจากภาพบรรยากาศงานพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง หรือที่เราเรียกกันว่า “ตักบาตรเทโว” ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแล้ว... สำหรับผู้นิยมชมชอบการท้าพิสูจน์เรื่องราวมหัศจรรย์คงได้ครึก ครื้นตื่นเต้นกันอีกครั้ง กับการเฝ้าดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ซึ่งเชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง เหนือลำน้ำโขงบริเวณพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดหนองคาย ปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” เป็นความเชื่อและศรัทธาอย่างยิ่งของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดหนองคาย ตามพระพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันปวารณาออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จฯ กลับจากการไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลาตลอดพรรษา (3 เดือน) เมื่อทั้งสามโลก ทราบข่าวกำหนดการเสด็จฯ กลับในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ แม้แต่พญานาค ต่างก็มีความยินดีและเตรียมการต้อนรับตามศรัทธาของตน โดยเหล่าเทวดาทั้งหลายได้เนรมิตบันไดทอง เงิน และแก้ว ทอดลงมาส่งเสด็จถึงพื้นโลก ชาวมนุษย์ ได้จัดถวายอาหารคาว หวาน และของแห้ง รวมทั้งดอกไม้ ธูป เทียน ในพิธีทำบุญตักบาตรที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ” ส่วนเหล่าพญานาคที่จำพรรษาอยู่เมืองบาดาล ได้ร่วมกันพ่นลูกไฟถวายเป็นพุทธบูชามีลักษณะเป็นดวงกลมสีแดงอมชมพู พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ไม่มีเสียง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น เหมือนดอกไม้ไฟหรือพลุ วันออกพรรษาปีนี้ ตรงกับ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม หากใครวางโปรแกรมไปเที่ยวจังหวัดหนองคาย แนะนำให้มาถึงจังหวัดอุดรธานีนี้ ให้ได้ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม จากนั้นไปร่วมเดินทางสัมผัสดินแดนมหัศจรรย์ฝั่งโขง อุดร- หนองคาย “ตามรอยบั้งไฟพญานาค” กันโดยจะเริ่มจาก “คำชะโนด” (พรุลอยน้ำแห่งเดียวในอีสาน) หนึ่งใน Unseen Thailand นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานยังคงมีความเชื่อในเรื่อง “พญานาค” อยู่ว่า ที่คำชะโนดแห่งนี้ คือ เมืองบาดาล ซึ่งเป็นที่ตั้งของวังนาคินทร์ที่ประทับของ “ศรีสุทโธ” พญานาคราช และการที่จะเกิด “บั้งไฟพญานาค” มากหรือน้อยในแต่ละปี ผู้เฒ่า ผู้แก่เชื่อว่าจะต้องมาสังเกตดูที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในคำชะโนด ที่ถือกันว่า เป็นปากทางสู่เมืองบาดาล ถ้าปีใดมีสัตว์น้ำลอยคอเป็นจำนวนมาก แสดงว่าปีนั้นจะเกิดบั้งไฟพญานาคมาก เพราะเมืองบาดาลเปิด ภายในสถานที่แห่งนี้จะมีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้ การเดินทางจะอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 101 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางอุดรธานี-สกลนคร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางอำเภอบ้านดุง ศึกษาประวัติศาสตร์พร้อมกราบนมัสการศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธกันเรียบร้อย เตรียมตัวให้พร้อมมุ่งหน้าสู่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งมาถึงที่นี่คง ค่ำมืดพอดี เห็นทีต้องหาที่พักนอนเอาแรงเสียก่อน เพื่อรุ่งเช้าจะได้สดชื่นพร้อมเดินทาง “ตามรอยบั้งไฟพญานาค” กันต่อ จุดเยี่ยมชมถัดไปสำหรับเช้า วันใหม่ นั่นก็คือ “วัดไทยและจุดชมบั้งไฟพญานาค” ซึ่งเป็นบริเวณที่กล่าวกันว่าเห็นได้ชัดเจนที่สุด ถึงตรงนี้หากใครรู้สึกหิว เดินทางต่อไปอีกนิดที่อำเภอปากคาด มีร้านอาหารที่ชื่อว่า “โขงค้ำคูณ” ให้แวะเติมพลังพร้อมชื่นชมบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำโขง มองเห็นทิวทัศน์ฝั่งลาวได้อย่างชัดแจ๋วกันด้วย อิ่มหนำสำราญกันถ้วนทั่ว เดินทางต่อไปยัง วัดอาฮงศิลาวาส ซึ่งเชื่อกันว่า แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลคดเคี้ยวผ่านวัดแห่งนี้เป็น สะดือแม่น้ำโขง เปรียบเสมือนช่องทางเดินทางจาก ปากเมืองบาดาล (คำชะโนด) ถึงแม่น้ำโขง ณ จุดนี้ (กม.115-116 ต.ไกสี อ.บึงกาฬ) โดยบริเวณดังกล่าวจะเป็นช่วงที่มีน้ำวนและลึกมาก ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการแวะไปเที่ยว ศาลาแก้วกู่ เมืองเทพนิมิต และจินตนาการ แดนอัศจรรย์ หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดแขก” ตั้งอยู่ห่าง จากตัวเมืองหนองคายไปประมาณ 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปโพนพิสัย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธ มามกะสมาคม จังหวัดหนองคาย เป็นสถานที่ซึ่งคล้ายพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแสดงรูปปั้นทางศาสนา ทั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รูปเทพฮินดูต่าง ๆ รูปปั้นเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ รูปปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ฯลฯ เก็บเกี่ยวความรู้เรื่องราวที่มาของตำนานบั้งไฟพญานาคกันเต็มอิ่ม คราวนี้ก็ได้เวลารอพิสูจน์ความมหัศ จรรย์ยามค่ำคืนกันแล้ว โดยต้องไม่ลืมปรัชญาที่ว่า...เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ!!! ขอให้มีความสุขกับการท่องเที่ยวตามรอยพญานาค และชมปรากฏการณ์ “บั้งไฟ” มหัศจรรย์เหนือลำน้ำโขงโดยทั่วกัน. ‘ทีมวาไรตี้’ |
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |