Baan Jompra
ชื่อกระทู้:
ตำนานผีล้านนาตอนผีครู
[สั่งพิมพ์]
โดย:
Sornpraram
เวลา:
2013-9-6 09:08
ชื่อกระทู้:
ตำนานผีล้านนาตอนผีครู
ตำนานผีล้านนาตอนผีครู
ลูกศิษย์ที่เรียนศิลปะวิทยาจากครูต้องมีผีครูเพื่อรักษาและให้ความมั่นใจ
ทุกคนที่เกิดมาต้องมีครูเริ่มแต่ในครอบครัวมีพ่อแม่ ญาติพี่น้องเป็นครูเรามาตั้งแต่เรายังเล็กแต่ผีครูที่จะเล่านี้เป็นผีครูที่สั่งสอนศิลปะวิชาการแก่ลูกศิษย์โดยเฉพาะวิชาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน วิชาที่ต้องใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่นว่า ศิลปะการขับซอ การป้องกันตัว การทำให้ผู้อื่นเคารพนับถือ เป็นต้น
ผู้คนสมัยก่อนจะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ไปหาวิชาที่ตนเองต้องการ บางคนไปเรียนเป็นช่างซอ(ศิลปินซอพื้นบ้านล้านนา) บางคนชอบการต่อสู้ก็ไปเรียนศิลปะการรำเจิง(เชิงการต่อสู้) ทั้งเจิงดาบ เจิงมวย เจิงฆ้อนสองหัว เจิงมือเปล่า เป็นต้น บางคนไม่อยากเจ็บตัวก็ไปเรียนวิชามหาเสน่ห์(มหานิยม)ขั้นตอนการเรียนเริ่มจาก
ลูกศิษย์นำข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนตามจำนวนครูกำหนดไปไหว้สาครูฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขั้นตอนนี้เรียกกันกันว่าการ
"ขึ้นครู"
คือเริ่มขึ้นต้นให้ครูได้สอนวิชาการตามที่ต้องการเมื่อเรียนไปกับครูอยู่นั้น ถึงเวลาที่ครูจะต้องเลี้ยงผีครูของตนเอง ครูจะบอกลูกศิษย์เตรียมข้าวของเครื่องสังเวยมาร่วมกับครูช่วยกันประกอบพิธีเลี้ยงครูขั้นตอนนี้เรียกกันว่า
"เลี้ยงผีครู"
ทำให้ลูกศิษย์ได้ประสบการณ์ในพิธีการเลี้ยงครูเป็นความรู้ติดตัวเมื่อตนเองจะต้องเลี้ยงผีครูในอนาคต
ในขณะที่เรียนอยู่ ลูกศิษย์อาจมีอาการป่วยไข้ หรือมีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นแก่ศิษย์ระหว่างเรียนเช่น ศิษย์อาจล่วงเกินครูโดยไม่ตั้งใจ โดยการเผลอ ฯลฯ. ถึงตอนนี้ลูกศิษย์ต้องทำการ
"ยื่นโยงผีครู"
โ
ดยการนำเครื่องสักการะบูชามาบอกกล่าวยื่นโยงขอโทษผีครูขอให้ผีครูยกโทษ หรือช่วยรักษาอาการป่วยไข้ให้แก่ลูกศิษย์ผู้ที่ประกอบพิธีก็คือครูผู้สอนนั่นเอง
เมื่อศิษย์เรียนจบครูผู้สอนก็จะทำการแบ่งปันเครื่องสักการะบูชาได้แก่ สวยดอกไม้ หมากพลู ธูปเทียนแล้วแต่ละครูจะกำหนด การแบ่งเครื่องสักการะนี้ถือว่าศิษย์เรียนจบแล้วครูจึงแบ่งเครื่องสักการะแก่ศิษย์นำไปตั้งขันครูของตนเองขั้นตอนนี้เรียกกันว่า
"แบ่งครู "
ลูกศิษย์จะนำเครื่องสักการะที่แบ่งมาจัดตั้งขัน(พาน)ครูของตนเอง ใส่ไว้บนหิ้งผีครูบนบ้านทำการบูชา เปลี่ยนเครื่องสังเวยตามที่ครูผู้สอนกำหนด อย่างเช่นของลุงหนานพรหมมาต้องทำการบูชาครูเมื่อวันพญาวัน(วันเถลิงศก)ของปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษาทุกปี สรุปแล้วลุงหนานต้องทำการบูชาครูปีละสามครั้ง อย่างนี้เป็นต้น เมื่อทำการแบ่งปันครูนั้นก่อนที่จะออกจากบ้านครูผู้สอนท่านจะกำหนดให้ก๋ำ(ถือปฏิบัติ)ตนให้กระทำ หรือยกเว้นการกระทำเช่นว่า วิชาข่ามคง(คงกระพัน)จะต้องไม่กินแกงฟักหม่น(ฟักเขียว) ห้ามลอดปื๊นขี้หม่า(ใต้ถุนครัวไฟ)ห้ามลอดแร้ว ห้ามลอดต้นกล้วย ห้ามกินอาหารบ้านศพ เป็นต้น หากเป็นครูศิลปินซอขับขาน รำฟ้อน บางครูห้ามผิดศีลห้า ห้ามขับซอโดยไม่มีปี่เป่าให้ทำนองห้ามสอนคนต่อไปหากยังไม่ผ่านเวลาสิบปี เป็นต้น หากเป็นครูสะหล่า(ช่าง) ห้ามให้ผู้อื่นทำพิธีขึ้นเสามงคล(เสาเอก)คือเมื่อจะสร้างบ้านตนเองนั่นแหละเป็นผู้กระทำพิธี ห้ามให้ผู้อื่นมากระทำพิธี เป็นต้น
ข้อห้ามต่างๆเหล่านี้ลูกศิษย์ต้องก๋ำ(ถือปฏิบัติ)ได้หากผิดข้อกำหนดแล้วถือว่าผิดครู เกิดอาการบ้าคลั่ง บางคนร้องจ๊อยๆ(อารมณ์เศร้า)ซอๆ(อารมณ์ดี) พูดกันง่ายๆคือเดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะอย่างนี้เห็นมาแล้วหลายๆๆๆๆๆๆราย จำเป็นต้อง ทำพิธี
"ฟายครู "
คือการนำสวยดอกไม้เครื่องสักการะมาขอขมาครู
เมื่อจะทำการใดๆเช่นการต่อสู้ การแสดงต่างๆ การออกจากบ้านไปทำงาน ค้าขายต้องทำการเชิญครูเข้ามาสู่กระหม่อมให้ความมั่นใจเรียกกันว่า
"เฮียกผีครู"
มาคุ้มครองให้งานสำเร็จ
หากปกติสุขอยู่สบายดี เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเครื่องบูชาครูเมื่อกระทำพิธีก็มีคำเชิญผีครูมารับเครื่องสักการะบูชาจะเชิญผีครูที่สิ้นชีพไปแล้วแต่โบร่ำโบราณโดยเฉพาะวันพญาวันปี๋ใหม่เมืองล้านนาก็จะดำหัวผีครูเรียกกันว่า
ดำหัวผีครู
ในพิธีนี้อาจมีการทบทวนวิชาการต่อสู้ ทดลองพระคาถาข่ามคงกระพันเช่น การ เป่าเสกมีดฟัน แทง เป็นต้น
การดำหัวผีครูกับดำหัวครูคนละอย่างกัน การดำหัวครูหมายถึงการนำเครื่องสักการะดำหัวไปดำหัวครูที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ดำหัวผีครูคือพิธีการสักการะผีครูที่สิ้นชีพไปดังกล่าวแล้วพิธีการดำหัวคนล้านนาจะมอบขันน้ำให้ครูเอามือชุบน้ำขมิ้นส้มป่อยแล้วลูบหัวตนเอง ไม่นิยมรดมือครูถือว่า
รดน้ำศพ
ในล้านนาจึงมีแต่คำว่า
"ดำหัว"
ไม่มีคำว่า
รดน้ำ
ดำหัวเหมือนภาคกลางเรื่องผีครูคนล้านนาก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ เต้าอี้แล ลุงหนานขอลาไปก่อนแล
บันทึกนี้เขียนที่
GotoKnow
โดย
NIKHOM
โดย:
sriyan3
เวลา:
2013-9-6 10:12
ขอบคุณครับ
โดย:
matmee2550
เวลา:
2013-9-6 12:04
เยี่ยม
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/)
Powered by Discuz! X3.2