Baan Jompra

ชื่อกระทู้: พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า [สั่งพิมพ์]

โดย: รามเทพ    เวลา: 2019-3-26 07:53
ชื่อกระทู้: พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า
พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า


บันทึกความโหดเหี้ยมที่เล่าต่อกันมา


พระนางศุภยาลัต พระราชินีพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อลองพญา พระองค์มีพระนามจริงว่า ศรีสุริยประภารัตนเทวี (Sri Suriya Prabha Ratna Devi) ด้วยความทะเยอทะยานของพระนางศุภยาลัต พระนางจึงได้เป็นพระราชินีในพระเจ้าธีบอ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งพม่า พระประวัติ ประสูติ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2402 สิ้นพระชนม์ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระอิสริยยศ : สมเด็จพระราชินีแห่งพม่า พระนางศุภยาลัตมีพระเชษฐภคินี คือพระนางศุภยาคยี และมีพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงศุภยากเล
พระนางศุภยาลัต ราชินีแห่งพม่า
พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) พระราชินีศุภยาลัต (กลาง) และพระกนิษฐาของพระนาง คือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย) ที่พระราชวังหลวง เมืองมัณฑะเลย์ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1885 // ไม่ทราบผู้ถ่าย
อุปนิสัยพระนางศุภยาลัตพระนางมีลักษณะเหมือนพระราชมารดา (พระนางอเลนันดอ) คือ มีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง เชื้อสายดั้งเดิมเป็นสามัญชน เนื่องจากยายของพระนางเป็นแม่ค้าขายของในตลาดมาก่อน โดยพระเจ้าบาจีดอ (พระเจ้าจักกายแมง) รับเอามาเป็นนางสนม ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าบาจีดอยังดำรงพระยศเป็นเจ้าชาย
พระเจ้ามินดง พระราชบิดาของพระนางศุภยาลัตนั้น มีเจ้าฟ้านยองยาน กับเจ้าฟ้านยองโอ๊กที่พอจะมีความสามารถขึ้นครองราชย์ เพราะทั้งสองพระองค์เรียนจบโรงเรียนฝรั่ง มีความฉลาดและเข้มแข็งพอสมควร แต่พระนางอเลนันดอและขุนนางเห็นว่าจะคุมได้ยาก จึงเลือกเจ้าชายสีป่อที่อ่อนแอกว่า โดยบวชเป็นพระมาตลอด นิสัยเชื่องช้า หัวอ่อน และพระเจ้ามินดงเองก็เกรงพระทัยมเหสีรอง จึงไม่ได้ตั้งเจ้าฟ้าพระองค์ใดเป็นรัชทายาทโดยเด็ดขาด
เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรหนัก..พระนางอเลนันดอ (พระมารดา) จึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าสีป่อเป็นรัชทายาท ไล่จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าและขุนนางในฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเองใส่คุกไปมากมาย ต่อมาเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ให้เจ้าฟ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า

พระราชวังมัณฑะเลย์ ในปัจจุบัน หอคอยแดงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปชมวิว / ค่าเข้าชมพระราชวังแห่งนี้คือ 1 หมื่นย๊าด หรือประมาณ 250 บาท ก่อนเข้าประตูพระราชวังต้องจอดรถและจูงรถเข้าไป มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อ่านได้ที่นี่ค่ะ > พระราชวังมัณฑะเลย์

โดย: รามเทพ    เวลา: 2019-3-26 07:54
การสังหารหมู่ดังกล่าว ใช้เวลาอยู่ 3 วัน
พองานพระบรมศพพระเจ้ามินดงเสร็จสิ้นลง ซึ่งก็ใช้เวลาเพียง 7 วันก็บรรจุพระบรมศพแล้ว พระนางศุภยาลัตทรงโปรดให้จัดงานปอยหลวงขึ้นสามวันสามคืนอย่างครึกครื้น นัยว่าจะให้ชาวเมืองลืมความทุกข์โดยการมาเที่ยวงานให้สนุก อันที่จริงนั้นก็เพื่อจะกลบเกลื่อนกรรมพิธีที่จะเริ่มต้นการสังหารหมู่บรรดาเจ้าพี่และเจ้าน้องของตัวเองทั้ง 30 องค์ รวมถึงเจ้าจอมมารดา ขุนนาง และบริวารรวมทั้งสิ้น 125 คนด้วย เจ้านายองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระภคินีขนิษฐาและบรรดาโอรสธิดาของเจ้านายองค์นั้นก็โดนประหารไปด้วย

ที่ต้องใช้เวลาอยู่ถึง 3 วันในสังหารผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมด ก็เพราะต้องลงมือฆ่าเฉพาะในเวลากลางคืน เมื่อแดดร่มลมตกผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวงาน ละครเริ่มออกโรง ดนตรีปี่พาทย์บรรเลงดังที่เข้าที่แล้วก็จะช่วยกลบเสียงโหยหวลของมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับความตาย พระเจ้าสีป่อเองก็ถูกมอมให้เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนเมามายลืมโลก จะได้ไม่ต้องสนใจการสังหารหมู่ครั้งนั้น

ครั้นได้เวลาประมาณ 7 วัน ซากที่อยู่ข้างใต้ก็ขึ้นอืดเต็มที่ เกิดแกสดันดินที่กลบหลุมอูดขึ้น ส่งกลิ่นผีเน่าตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง พระนางศุภยาลัตทรงโกรธกริ้วเป็นอย่างยิ่ง สั่งให้เอาช้างหลวงทั้งโขลงมาเดินเหยียบย่ำ ดินก็ยุบลงไปชั่วคราว พอแกสสะสมตัวได้ใหม่ก็ดันดินอูดขึ้นใหม่ กลิ่นผีเน่าก็ฟุ้งออกมาอีก ต้องเอาช้างมาเหยียบอัดกันอย่างนี้อยู่หลายวัน จนในที่สุดพระนางศุภยาลัตก็ทนกลิ่นไม่ได้ สั่งให้ขุดเอาซากที่เหลือทั้งหมดนั้นใส่เกวียนไปฝังเสียยังนอกเมือง ความลับทั้งปวงก็แตก ชาวบ้านชาวเมืองรู้กันทั่วทันทีที่เกวียนออกจากประตูวังผ่านไป ข่าวรั่วออกไปถึงหูอังกฤษที่วางสปายไว้ทั่ว หลังจากนั้นไม่นานสถานทูตอังกฤษในย่างกุ้งก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะช่วยชาวพม่ากำจัดอธรรม และเริ่มบีบกรงเล็บทีละน้อยๆ :> รูปพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่า

*ขณะเดียวกันในประวัติศาสตร์พม่านั้น เชื่อว่าพระนางอเลนันดอ และเกงหวุ่นเมงจีอยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าโอรสธิดา



การสูญสิ้นอำนาจ พระนางศุภยาลัต…
พระนางศุภยาลัตและแตงดาวุ่นกี้ ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่า ประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบตัดไม้ เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี อังกฤษก็ไม่พอใจยื่นประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่ต่อมาเกิดเรื่องเข้าจริงๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด และพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมดฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า ซึ่งขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าได้ทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญายันดาโบ
พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสี จึงสั่งให้เตรียมพลไปรบ อังกฤษก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งฝรั่งและอินเดียเคลื่อนพลเข้ารบ จากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิรวดีถึงมัณฑะเลย์ ใช้เวลาแค่ 14 วันก็ยึดเมืองหลวงได้
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ติด.. แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือราษฎรไม่คิดจะต่อสู้ เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมืองจึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก เนื่องจากกษัตริย์และมเหสี ไม่เคยทำตนให้เป็นที่รักของประชาชนพม่าของพระองค์เอง


บรรยากาศท่าเรือ ขณะคุมตัวกษัตริย์พม่า

โดย: รามเทพ    เวลา: 2019-3-26 07:55
พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตจึงถูกเชิญให้ไปยังเมืองรัตนคีรี ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเอกราชของพม่า และการปกครองโดยราชวงศ์อลองพญาที่มีอย่างยาวนาน

ถูกเชิญออกนอกประเทศ
ขณะที่พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตถูกเชิญออกนอกประเทศเชิงกักกัน ที่เมืองมัทราส ราว 2-3 เดือน ภายหลังจึงส่งไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรี พระนางศุภยลัตเกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอ (พระมารดา) จนพระนางอเลนันดอต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับ โดยคุมตัวไว้ที่เมืองเมาะลำเลิง จนสิ้นพระชนม์
พระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยาลัต ถูกเนรเทศอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอจึงสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง พระนางจึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ย่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้นฝังไว้ที่อินเดีย



พระราชวังธีบอ ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ที่ประทับของพระเจ้าธีบอหลังสิ้นสุดอำนาจ เป็นเมืองเล็กๆ ทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) / Thebaw Palace, Ratnagiri India. Cr : www.mouthshut.com
ภาพเพิ่มเติม พระราชวังธีบอ อินเดีย ที่ประทับของพระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัต

โดย: รามเทพ    เวลา: 2019-3-26 07:56
พระนางศุภยาลัต คืนสู่พม่า…ต่อมาพระนางได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง ทรงเคียดแค้นขุนนางพม่าที่ไปเข้ากับอังกฤษ ตรัสบริภาษอยู่เป็นประจำ
มีฝรั่งเขียนเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า เมื่อพระนางแก่ตัวเข้าและรู้สำนึกในชีวิตแล้ว ทรงสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร ทรงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน และเสียพระทนต์ทั้งหมด
พระนางอยู่ในตำหนัก ที่อังกฤษจัดถวายให้ในเมืองย่างกุ้ง 10 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระศพก็เป็นไปตามยถากรรม ไม่ได้มีพิธีรีตองมากมายไม่ต่างจากคนทั่วไป
ปัจจุบันยังมีที่ฝังพระศพอยู่ในย่างกุ้ง โดยรัฐบาลอังกฤษจัดการพระศพให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระศพขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑปบรรจุพระอัฐิเท่านั้น

กู่มณฑปบรรจุพระอัฐิของพระนางศุภยาลัต และพระนัดดา
ปัจจุบันนี้อยู่ที่ ถนนเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda Rd.) ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากองมาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในกรุงมัณฑะเลย์ ที่ฐานล่างมีแผ่นจารึกแผ่นเล็กของตอปยากะเล (Taw Payar Kalay) หรือออง ซาย (Aung Zay) ซึ่งเป็นพระราชนัดดา

หลุมฝังศพ พระเจ้าธีบ่อ ที่อินเดีย


พระบรมศพพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยา : Tombs of Thibaw and Suphayagale in India.
ภาพจาก บทความ Returning the king who never came home : > tonywheeler.com.au/ratnagiri-king-thibaw : >อ่านเพิ่มเติม , พระบรมศพพระเจ้าสีป่อ

โดย: รามเทพ    เวลา: 2019-3-26 07:58
ภาพเก่าเล่าเรื่อง..

พระเจ้าสีป่อกับพระมเหษีทั้งสองศรีพี่น้อง ภาพจาก www.reurnthai.com



พระราชธิดาทั้งสี่ของพระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัต

จากซ้าย : พระราชธิดาองค์ที่สี่ เจ้าหญิงเมียะพยากเล, พระราชธิดาองค์ที่หนึ่ง เจ้าหญิงเมียะพยาจี, พระราชธิดาองค์ที่สาม เจ้าหญิงเมียะพยา และพระราชธิดาองค์ที่สอง เจ้าหญิงเมียะพยาลัต หรือ เจ้าหญิงมยะพะยาละ ภาพจาก Myanmar Historical Archive



หุ่นจำลอง พระเจ้ามินดง-พระนางอเลนันดอ




บันทึกเกี่ยวกับการสังหารหมู่ .. ที่แตกต่าง
อันแรกเป็นของฝรั่ง กล่าวว่า คนสั่งเชือดคือศุภยาลัต ฝรั่งใช้เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในข้ออ้างเข้ายึดพม่าเป็นเมืองขึ้นเนื่องจากถูกปกครองโดยคนร้ายๆ แรงๆ ส่วนมากเราจะได้ยินเรื่องราวจากฉบับแรกเนื่องจากแพร่หลายกว่า
อันหลังเป็นของพม่า กล่าวว่าคนลงมีดจริงๆ เป็นแม่ของศุภยาลัตจับมือกับขุนนางในนั้น ไล่เชือดเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ แล้วยกเจ้าสีป่อขึ้นมา มีคนอ้างว่า เจ้าสีป่อกับพระนางศุภยาลัต ยังไปขอแม่ให้ไว้ชีวิตเจ้านายที่ยังเด็กๆ แดงๆ อยู่เลย (อันนี้ค่อนข้างมีมูล เพราะการไล่ฆ่าคนค่อนวังเป็นงานใหญ่ ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตเพิ่งจะ 19-20 ไม่น่ามีกำลังภายในขนาดนั้น)
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายพูดเหมือนกันอยู่เรื่อง คือเรื่องความอภิมหาหึงพระสวามีของพระนาง ความขี้หงุดหงิดด่ากราดประหนึ่งมนุษย์เมนส์ (เหตุการณ์ไล่กรมวังไปนุ่งโสร่งนี่เรื่องจริงนะ) และวีรกรรมการกันซีนนางเล็กนางน้อยตลอดเวลาที่อยู่ในราชสมบัติ​ ถ้าเธอเป็นชะนีและอยู่ชายคาเดียวกับฉัน เธอคือศัตรู / โดย สมาชิกหมายเลข 2757855 26 กันยายน 2560 เวลา 23:32 น.

โดย: รามเทพ    เวลา: 2019-3-26 07:59
พระนางอเลนันดอ
พระนางชินพยูมาชิน (Hsinbyumashin ; นางพญาช้างขาว) หรือที่รู้จักกันในนามพระนางอเลนันดอ
พระนางศุภยาจิ พระขนิษฐา และพระราชมารดา พระนางอเลนันดอ* พระมเหสีของพระเจ้ามินดงกษัตริย์องค์ก่อน ที่ว่ากันว่าพระราชมารดานี่แหละ ที่เป็นผู้วางแผนชิงอำนาจราชบัลลังก์พม่า ที่ทำให้ต้องมีการปลงพระชนม์เจ้านาย ซึ่งเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าสีป่อ ทั้งลูกเมียรวมร้อยกว่าศพ แต่คนปวงเห็นว่าเป็นบาปของพระนางศุภยาลัต อ่านเรื่องราวพระนางเพิ่มเติม : > พระนางอเลนันดอ พระมารดาของพระนางพระนางศุภยาลัต <: ได้ที่นี่ ภาพจาก www.reurnthai.com
อ่านเพิ่มเติม : [รากนครา] เรื่องเล่าจากนางกำนัลตัวจริงที่เคยรับใช้พระราชินีศุภยาลัต (เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย)

-ประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกเรื่องราวในอดีต บางอย่างข้อมูลอาจถูกบิดเบือน บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้เราต้องค้นคว้าจากหลายๆ แหล่งข้อมูลเพื่ออ้างอิง เรื่องราวที่บันทึกในวิกิพีเดียอาจจะไม่ใช่เรื่องถูกต้อง หรือผิดไปเสียทั้งหมด ข้อมูลที่เรานำมาเสนอวันนี้เป็นข้อมูลที่ได้ค้นคว้าหาจากในอินเตอร์เน็ตเช่นกัน ดังนั้นขอให้อ่านกันด้วยการคิดวิเคราะห์และพิจารณา ก่อนปักใจเชื่อในเรื่องเหล่านั้น ทั้งนี้หากมีผิดพลาดประการใด เราขออภัยมา ณ ที่นี้ และพร้อมจะแก้ไขตามคำแนะนำค่ะ

ที่มา wikipedia.org/wiki/พระนางศุภยาลัต

ภาพประกอบ : burmabooks.webs.com , ภาพประวัติศาสตร์พม่า , www.nirvanapeace.com


เรียบเรียงโดย Campus-Star.com
บทความแนะนำ
ที่มา...https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/83573.html





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2