Baan Jompra

ชื่อกระทู้: หลวงพ่อชื่น เขมจารี วัดกลางคูเวียง นครปฐม [สั่งพิมพ์]

โดย: Sornpraram    เวลา: 2017-11-28 11:27
ชื่อกระทู้: หลวงพ่อชื่น เขมจารี วัดกลางคูเวียง นครปฐม
ประวัติ หลวงพ่อชื่น เขมจารีวัดกลางคูเวียง  จังหวัดนครปฐม



"หลวงพ่อชื่น เขมจารี อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง  อีกทั้งเป็นหมอยาตำรับแผนโบราณ  รักษาให้กับคนทั่วไปโดยไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทน

ประวัติหลวงพ่อชื่น เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.2445 ที่บ้านกลาง หมู่ 3 ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี  จ.นครปฐม เป็นบุตรของนายฝอยและนางวัน ทุยเวียง ประกอบอาชีพทำนา

เมื่ออายุ 21  ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสัมปตาก ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดกลางคูเวียง เมื่อวันที่ 14  พ.ค.2465 โดยมีพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขันธโชติ) วัดกลางบางแก้ว  เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดหล่อ วัดกลางบางแก้ว เป็นพระกรรม วาจาจารย์  และพระอธิการมา วัดลานตากฟ้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า  เขมจารี

หลังจากนั้น ท่านได้มาจำพรรษาอยู่วัดกลางคูเวียง  โดยได้ศึกษาพระปริยัติธรรม พร้อมกับศึกษาการแพทย์แผนโบราณ ท่านมีความรู้ทางอักษรไทย  และภาษามคธ แตกฉานในอรรถธรรม ต่อมาได้ไปศึกษาภาษาขอมและวิทยาคมกับหลวงปู่บุญ  วัดกลางบางแก้ว ได้เรียนคู่กับ หลวงพ่อเพิ่ม วัดกลางบางแก้ว

นอกจากนี้  ยังมีความรู้พิเศษในทางวิปัสสนาธุระเป็นอย่างดียิ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2472  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียง และเริ่มก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ  รวมทั้งเริ่มรักษาโรคให้ชาวบ้านที่ได้รับความเจ็บป่วย  โดยมิได้เรียกค่ารักษาใดๆ

สำหรับตำรับตำรายารักษาโรคเหล่านั้น  ท่านศึกษาเล่าเรียนจาก "หมอเทียนสาลีเวียง"  หมอโบราณที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการรักษาโรค การดูฤกษ์ยาม  ทำนายโชคชะตา

ครั้นถึง พ.ศ.2479 ท่านได้หาเงินสร้างอุโบสถใหม่แทนหลังเดิม  ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ทำด้วยไม้กระดาน ชำรุดจนไม่สามารถใช้ทำสังฆกรรม  พร้อมกับสร้างพระประธานองค์ใหม่ พระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ  พระสารีบุตร

ต่อมาท่านซื้อที่ดินขยายเขตวัดออกไปอีกทางด้านเหนือ  เพื่อใช้เป็นที่ปลูกสร้างโรงเรียนประชาบาล คือ โรงเรียนวัดกลางคูเวียง  (พันธุลาภอนุสรณ์) ซึ่งแต่เดิม  ต้องอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน

อีกทั้ง  ท่านยังได้ก่อสร้างกุฏิขึ้นอีกหลายหลัง โดยเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด  และลงมือทำเองอีกด้วย

หลวงพ่อชื่น เริ่มสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2479  ซึ่งเป็นปีที่ท่านสร้างโบสถ์หลังใหม่ทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่เป็นไม้  โดยสร้างวัตถุมงคลเนื้อชินผสมดีบุกใช้มวลสารหลักจากเงินเก่าที่อยู่ในหลุมลูกนิมิตโบสถ์หลังเดิม  สร้างขึ้น 4 รูปแบบ คือ พระปิดตา พระนางพญา พระปางลีลา  และนางกวัก

ต่อมาในปี พ.ศ.2481 สร้างวัตถุมงคล "รุ่นอินโดจีน"  ซึ่งถือว่าเป็นรุ่น 2 เพื่อนำรายเป็นทุนสร้างศาลาการเปรียญ  และซื้อที่ดินขยายเขตวัดเพิ่ม วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมีเสื้อยันต์ ผ้ายันต์วัวธนู  พระสมเด็จผงพุทธคุณ พระหลวงพ่อโตซุ้มเถาวัลย์เนื้อดิน และเครื่องรางรูปเสือ  เนื้อผงพุทธคุณ

หลังจากปี พ.ศ.2481  ท่านสร้างวัตถุมงคลอีกหลายรูปแบบโดยเจตนาเพื่อบรรจุกรุ อาทิ เครื่องรางรูปเสือ  สิงห์ พระสมเด็จ พระสมเด็จทรงสิงห์ โดยสร้างด้วยเนื้อผงเป็นหลัก แต่ท่านได้แกะพิมพ์  และกดพิมพ์พระด้วยตัวเอง

ในปี พ.ศ.2506  สร้างเหรียญรูปเหมือนด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ ท่านได้จารด้วยตัวเองทุกเหรียญ  ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียว

กล่าวขวัญกันว่า เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลของหลวงพ่อชื่น มีพุทธคุณโดดเด่นในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพัน

พ.ศ.2506  หลวงพ่อชื่น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่  "พระครูโสภณสาธุการ"

ในช่วงท้ายของชีวิต  ท่านเผยแผ่พระธรรมวินัยให้แก่พุทธบริษัท นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการปลูกศรัทธา  ตลอดจนได้รักษาโรคให้กับผู้เจ็บป่วยอย่างมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  กระทั่งหลวงพ่อชื่น มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2514 เวลา 20.05 น.  สิริอายุ 69 ปี พรรษา 49

ในช่วงเวลาที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล  มีผู้มีจิตศรัทธาและและเคารพเลื่อมใสท่าน จับจองเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมเกินกว่า  100 วัน

กาลต่อมา หลวงพ่อเชิญ ในฐานะศิษย์เอก  เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงพ่อชื่น ด้วยการก่อสร้างกุฏิโสภณสาธุการ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี พร้อมกับสร้างเจดีย์ทองบรรจุศพหลวงพ่อชื่น ภายในกุฏิ  เพื่อให้บรรดาผู้ที่เคารพเลื่อมใสได้มากราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคล  โดยได้ทำพิธีบรรจุศพหลวงพ่อไว้ในพระเจดีย์ทอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ส.ค.2524 เวลา 09.29 น.

ทุกปีในวันที่ 21 เม.ย. วัดกลางคูเวียง จัดงานคล้ายวันมรณภาพของหลวงพ่อชื่น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและรำลึกถึงคุณงามความดี


โดย: Sornpraram    เวลา: 2017-11-28 11:28
เปิดประวัติ'หลวงพ่อชื่น' ตำนานเครื่องรางเสือเนื้อผง(1)
ที่มา : ข่าวสดรายวัน -17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7658


เปิดประวัติ'หลวงพ่อชื่น' ตำนานเครื่องรางเสือเนื้อผง(1)


คอลัมน์ มุมพระเก่า
อภิญญา

วัดกลางคูเวียง เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในเขต ต.สัมปทวน อ.นคร ชัยศรี จ.นครปฐม เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถิ่นฐานเดิมบริเวณบ้านสัมปทวน ในละแวกวัดเป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ ที่รัชกาลที่ 2 กวาดต้อนชาวลาว มาตามลุ่มแม่น้ำท่าจีน จนถึงบ้านสัมปทวน ชาวลาวที่อพยพมาในครั้งนี้มีเจ้านายคนสำคัญร่วมขบวนมาด้วย คือเจ้าเมืองซ้าย และพระชายาหม่อมเจ้าโสภี

หลังจากที่ตั้งถิ่นฐานเรียบ ร้อยแล้ว เจ้าเมืองและพระชายา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการบูรณะวัดร้างที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดกลาง" ที่อยู่ในละแวกชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ เพื่อให้ชาวลาวที่อพยพมาประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาตามประเพณีของชาวลาว แต่เพราะเหตุที่วัดอยู่ท่ามกลางชาวลาวที่อพยพมา จึงเรียกชื่อวัดที่บูรณะใหม่ว่า "วัดกลางลาว" โดยอาราธนา "พระครูบุญชูโต" มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดกลางคูเวียง" ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีคูน้ำล้อมรอบบริเวณวัด ลำดับเจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 1.พระอาจารย์บุญชูโต 2.พระอาจารย์ปลี 3.พระอาจารย์น้อย 4.พระอาจารย์มี 5.พระอาจารย์โลง 6.พระอาจารย์อ่อน 7.พระอาจารย์อ่อนตา 8.พระอาจารย์เทียน 9.พระอาจารย์จั่น 10.พระครูโสภณสาธุการ (ชื่น เขมจารี) 11.พระครูโสภณสาธุการ (เชิญ โกสโล)

วัดกลางคูเวียง เป็นวัดหนึ่งที่มีตำรับตำรายาแผนโบราณหรือยาต้ม ที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยให้กับผู้ที่มาขอรับการรักษา ตำรับตำรานี้เป็นมรดกตกทอดกันมานานแล้ว และเริ่มแพร่หลายเมื่อสมัยหลวงพ่อชื่น ท่านรักษาให้กับคนทั่วไปโดยไม่ได้เรียกร้องค่ายาแต่ประการใด สุดแล้วแต่คนไข้จะถวายเพื่อช่วยค่ายา ซึ่งท่านได้รักษาคนไข้จนหายเป็นปกติหลายร้อยหลายพันคน จึงนับได้ว่าท่านเป็นที่พึ่งของคนเจ็บป่วยอย่างแท้จริง และตำรับตำราเหล่านี้ท่านถ่ายทอดให้กับ หลวงพ่อเชิญ โกสโล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันซึ่งเป็นหลานชาย เป็นผู้สืบทอดภารกิจที่ต้องรักษาคนเจ็บป่วยต่อไป

หลวงพ่อชื่น เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2445 ปีขาล ที่บ้านกลาง หมู่ 3 ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นบุตรของนายฝอย นางวัน นามสกุล ทุยเวียง ประกอบอาชีพทำนา เมื่ออายุ 21 ปี บรรพชาอุปสมบทที่วัดสัมปตาก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดกลางคูเวียง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2465 โดยมี พุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขันธโชติ) วัดกลางบางแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดหล่อ วัดกลางบางแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการมา วัดลานตากฟ้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "เขมจารี"

หลังจากนั้นท่านได้มาจำพรรษาอยู่ยังวัดกลางคูเวียง โดยได้ศึกษาพระปริยัติ ธรรม พร้อมวิชาแพทย์แผนโบราณ

ต่อมาได้ไปศึกษาภาษาขอมและวิชาอาคมต่างๆ กับหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว โดยได้เรียนคู่กับ หลวงพ่อเพิ่ม วัดกลางบางแก้ว นอกจากนั้น ท่านยังมีความรู้พิเศษในทางวิปัสสนาธุระเป็นอย่างดียิ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2472 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางคูเวียง

เริ่มก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ รวมทั้งเริ่มรักษาโรคต่างๆ ชาวบ้านที่ได้รับความเจ็บป่วย โดยมิได้เรียกค่ารักษาใดๆ สำหรับตำรับตำรายารักษาโรคเหล่านั้น ท่านศึกษาเล่าเรียนจาก "หมอเทียนสาลีเวียง" หมอโบราณที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการรักษาโรค และเวทมนต์คาถา การดูฤกษ์ยาม ทำนายโชคชะตา

ครั้นถึง พ.ศ.2479 ท่านได้หาเงินสร้างพระอุโบสถใหม่แทนหลังเดิม ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ทำด้วยไม้ หลังคามุงจาก ฝาเป็นไม้กระดานชำรุดจนไม่สามารถใช้ทำสังฆกรรมได้ พร้อมกับสร้างพระประธานองค์ใหม่ พระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร นอกจากนั้นยังได้สร้างกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ส่วนทางด้านเหนือพระอุโบสถได้สร้างพระวิหารเล็กไว้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบุญชูโต ซึ่งถือกันว่าเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ศักดิ์สิทธิ์มีอภินิหารต่างๆ

จนเป็นที่เคารพสักการะนับถือของบรรดาสาธุชนโดยทั่วกัน

โดย: majoy    เวลา: 2017-12-1 08:44

โดย: Sornpraram    เวลา: 2018-1-30 06:41





ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2