สันนิษฐานว่า ตำบลบ้านเชี่ยนเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถวัดพิชัยนาวาส ที่ขนานนามเรียกติดปากว่า “หลวงพ่อโตวัดบ้านเชี่ยน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ยังสร้าง ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะยังขาดลิงกับช้าง โดยสาเหตุที่สร้างไม่สมบูรณ์แบบเนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเกิดการพิพาทกับพม่า พม่าจึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาโดยผ่านตำบลบ้านเชี่ยนแห่งนี้ พอกองทัพพม่ามาถึงยังบริเวณวัดโคก (ปัจจุบันคือที่ตั้งสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านเชี่ยน) จึงพักกองทัพเพื่อรวมกำลังพลไปตีเมืองแพรกศรีราชา (อำเภอสรรคบุรี) ต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงกระจายอำนาจในการปกครอง จึงแบ่งเขตการปกครองขึ้นซึ่งบ้านเชี่ยน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอบ้านเชี่ยน เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2433 ซึ่งอำเภอบ้านเชี่ยนได้ดำรงฐานนะเป็นอำเภออยู่นานถึง 39 ปีเศษ จนในปี 2472 ทางราชการจึงย้ายอำเภอบ้านเชี่ยนไปตั้งที่บ้านหันคา โดยมีชื่อเรียกใหม่ว่าที่ว่าการอำเภอหันคา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
|