ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม ๒๕๕๘ |
ผู้เขียน | กาญจนี คำบุญรัตน์ |
เผยแพร่ | วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 |
เมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยสะดวกสบายจะเกิดขัดข้องไปหมด เช่น การคมนาคม อาหารการกิน เสื้อผ้า ยารักษาโรค และของใช้บางอย่าง
เรื่องอาหารการกินจะขาดแคลนในสิ่งที่เราผลิตเองไม่ได้ เช่น แป้งสาลี น้ำตาลทราย ทำให้เราไม่มีบะหมี่กินในภาวะสงคราม มีแต่เส้นก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ร้านค้าที่เคยขายบะหมี่ได้ทดลองเอาหน่อไม้มาทำเป็นเส้นบะหมี่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมันต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้มันจะออกสีเหลืองเหมือนกัน แต่รสชาติจะคนละอย่าง เทียบกันไม่ได้เลย
น้ำตาลทราย จะไม่มีกินตลอดเวลาภาวะสงคราม พวกคอน้ำชากาแฟจะเดือดร้อน เพราะไม่มีน้ำตาลทรายใส่กาแฟ ชาวบ้านที่ทำอาหารการกินจะใช้น้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ แทนน้ำตาลทราย ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร
ยารักษาโรค เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของผู้คน ผู้ใดป่วยไข้ก็ใช้ยาสมุนไพรไปตามมีตามเกิด เคราะห์ดีก็หาย เคราะห์ร้ายก็เอาชีวิตไม่รอด แพทย์แผนโบราณต้องทำหน้าที่อย่างหนัก ใช้ยาสมุนไพรรักษากันไปเท่านั้น บรรดาหมอแพทย์แผนปัจจุบันต้องปิดร้านไป เพราะไม่มียารักษา ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว
เครื่องนุ่งห่ม จะไม่มีผ้าต่างประเทศขายตามร้านขายผ้าเลย ผู้คนต้องใช้ผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งชาวบ้านสามารถทำเองได้ แต่ละคนจะมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มน้อยชิ้นมากและทำจากฝ้ายในเมืองไทยเท่านั้น ผ้าต่างประเทศจะหาไม่ได้เลย และถ้าตากผ้าไว้ตอนกลางคืน เช้าขึ้นมาอาจจะถูกสอยไปเสียแล้วก็มี ฉะนั้นในภาวะสงคราม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจะขาดแคลนมากและโดนขโมยกันไม่เว้นแต่ละวัน
เชื้อเพลิง ชาวบ้านทั่วไปที่ใช้หุงต้มอาหารก็ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านที่เผาใช้เองตามปกติ และรถยนต์ที่เคยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่มีน้ำมันใช้ ต้องใช้ถ่านหุงข้าวธรรมดา โดยปรับปรุงเครื่องทำความร้อนหลังรถ สามารถผลักดันให้เกิดความร้อนจนรถสามารถวิ่งได้ด้วยความร้อนจากถ่านหุงข้าวธรรมดา นับว่าชาวบ้านเป็นผู้มีความคิดปรับปรุงถ่านหุงข้าวเป็นพลังงานให้รถวิ่งได้ ฉะนั้นรถยนต์โดยสารแบบสองแถวขณะสงครามจะมีถังใหญ่อยู่หลังรถ แล้วปั่นด้วยมือหมุนจนเกิดพลังงานทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้โดยไม่มีน้ำมัน
บรรยากาศการขาดแคลนสินค้าในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ระหว่างสงคราม คุณพ่อของฉันได้ย้ายไปรับราชการเป็นศึกษาธิการจังหวัดอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ชัยนาทเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่ไม่มีจุดยุทธศาสตร์อะไร จะมีก็กองบินทหารอากาศอยู่ที่อำเภอตาคลี ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ซึ่งบางครั้งจะถูกข้าศึกมาทิ้งระเบิดเสียงดังครืนๆ อยู่ไกลๆ ทำให้เราต้องวิ่งลงหลุมหลบภัยเมื่อได้ยินเสียงไซเรนแจ้งข่าว
ระยะที่เราไปอยู่กันที่ชัยนาทนี้ ทางราชการให้ข้าราชการเลี้ยงหมูเป็นงานเสริม ที่บ้านก็ต้องเลี้ยงหมู ๑๐ กว่าตัว ต้องต้มปลายข้าวด้วยกระทะใบบัวผสมกับผักต่างๆ ที่ต้องเดินไปหาตามริมถนน และผสมกับรำข้าวที่สีด้วยมือ และข้าวที่ต้มสุกด้วยกระทะใบบัวใหญ่ ซึ่งวันดีคืนดีตกกลางดึกก็จะมีขโมยมาลักเอากระทะใบบัวไป โดยทิ้งข้าวกองไว้ข้างเตาไฟ เอาแต่กระทะไป แม้ผ้านุ่งที่ตากไว้บนบ้านมันยังสามารถถูกสอยเอาไปได้ขณะตอนกลางคืน ทำให้ต้องคอยระวังข้าวของที่สามารถนำไปขายเป็นเงินได้ ในระหว่างสงครามจะมีขโมยมากมายเพื่อความอยู่รอดของคนทั่วไป
หมูที่เราเลี้ยงไว้สิบกว่าตัวนั้นปรากฏว่าไม่ได้ขายแม้แต่สักตัว เพราะปรากฏว่ามันดันเป็นโรคตายหมดทั้งเล้า กินก็กินไม่ลง เพราะเราเลี้ยง นึกถึงเวลาที่เราเอาข้าวไปให้มันกิน ยังได้ลูบหัวมันบ่อยๆ ทำให้ไม่มีใครกินลง ต้องแจกจ่ายชาวบ้านที่เขาต้องการ เท่ากับเสียเวลาไปเปล่าๆ เป็นปีที่เริ่มเลี้ยงมัน
และที่ชัยนาทนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเครื่องมือสำหรับปั่นด้ายจากฝ้ายมาให้ทางราชการสอนแก่ชาวบ้านที่สมัครใจมาเรียนรู้ มีชาวบ้านมาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก และสามารถปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้ายพร้อมเอาไปทอเป็นผืนผ้าได้ ฉันไปดูเขาสอนชาวบ้านอยู่ทุกวัน พอเครื่องเขาว่างก็ลองทำดู ปรากฏว่าไม่ยากเย็นอะไรก็เลยสนุกกับการปั่นฝ้ายและเข้าเครื่องปั่นด้ายเป็นเส้น ซึ่งจะนำไปทอเป็นผืนผ้าสำหรับนุ่งห่มได้
จังหวัดชัยนาทในระหว่างสงครามจะมีขโมยเป็นจำนวนมาก ขโมยขโจรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเสือนั่นเสือนี่จะอยู่ที่อำเภอต่างๆ ในชัยนาทนี่เอง และบางครั้งเหิมเกริมถึงกับประกาศว่าจะบุกเข้าปล้นคหบดีในเมือง ทำให้ต้องระแวดระวังตัวโดยไม่ประมาท แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงกระนั้นก็ทำให้เกิดระแวงว่ามันอาจจะบุกเข้ามาเมื่อใดก็ได้ ก็ต้องเตรียมรับมือเป็นอย่างดี ซึ่งโชคดีที่มันไม่บุกเข้ามาตามที่ประกาศ แต่ก็เล่นเอาเดือดร้อนต้องระแวดระวังเป็นอย่างดี
เผอิญคหบดีที่มันจะเข้าปล้นเป็นเพื่อนสนิทของคุณพ่อ ก็เลยรู้ข่าวที่มันจะเข้าปล้นและต้องคอยระวังตัว ในที่สุดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมันอาจจะรู้ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไรจึงไม่มีอะไรเกิดขึ้น
https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_11854
ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://baanjompra.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.2 |