kit007 โพสต์ 2014-2-6 17:46

ความเชื่อและความศรัทธา พญานาค



หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ “หลังหลวงปู่ท่านละสังขาร ๓ ปี (ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๔๙) บ้านเมืองเริ่มวุ่นวายเดือดร้อนให้พวกเจ้าศรัทธา และบูชา พญานาค ก็จะพ้นวิกฤตินั้นได้”

พยากรณ์นี้สอดคล้องกับพยากรณ์โบราณของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (พระครูขี้หอม) ผู้บูรณะพระธาตุพนม ระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๓๓ – ๒๒๓๕
“ปี ๒๕๕๕ เมืองไทยจะเกิดวิกฤติ จนถึงขั้นอาจตกต่ำลงไป”

ยายชีนวล วัดภูฆ้องคำ อายุ ๙๐ กว่าปีอดีตเพื่อนสำเร็จตัน (ศิษย์สำเร็จลุน) ได้ย้ำพยากรณ์นี้ว่า
“เริ่มแล้วนะ (๒๕๔๙) เค้าของความวุ่นวายเดือดร้อนจะปรากฏชัดเจน ขึ้นเรื่อย จนอีก๕ ปีข้างหน้า, ถ้าเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมจะปลอดภัย”

พยากรณ์เหล่านี้ไม่ใช่พุทธทำนายที่ถือเป็นพยากรณ์โลก แต่เป็นแค่พยากรณ์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ทำนายเฉพาะถิ่น คือจำกัดอยู่เพียงบ้านเมืองของเราเท่านั้น

กลัวไหม?
แม้ไม่มีทางทราบว่าพยากรณ์เหล่านี้จะจริงหรือเท็จ, ผมยอมรับว่ากลัว
เมื่อกลัว ก็ควรต้องหาที่ยึดเหนี่ยว อาจกล่าวได้ว่ารูปราชาแห่งนาคองค์ใดนั้นเกิดด้วยความเชื่อ ถือเป็นเครื่องระลึกถึง และบูชาคุณผู้พิทักษ์พุทธศาสนา ความเชื่ออันมั่นคงของชาวพุทธที่ว่า เหล่าพญานาคทั้งปวงเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนานับพันปีนั้น เป็นความจริงที่ปรากฏในเรื่องราวพุทธประวัติมาช้านาน พญานาคเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

kit007 โพสต์ 2014-2-6 17:46

หนึ่งพญานาคปรากฏตัวในพุทธศาสนา เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์แล้วเสด็จออกจากที่นั่นมาประทับที่ใต้ร่มต้นจิก และทรงเสวยวิมุติสุข (สุขจากการหลุดพ้น) อยู่ ๗ วัน ไม้จิกที่พระพุทธองค์ทรง ประทับเสวยวิมุติสุขนั้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา และอยู่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย

“สมัยนั้น อกาลเมฆใหญ่บังเกิดขึ้นแล้ว ฝนตกพรำตลอด ๗ วัน มีลมหนาวมาประทุษร้าย (อกาลเมฆ คือเมฆฝนนอกฤดูกาล) ครั้งนั้นแลพญามุจลินท์นาคราช ออกจากที่อยู่ของตนมาวงรอบพระกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนดหาง ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่เบื้องบนพระเศียร ด้วยตั้งใจว่า ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานอย่าได้สัมผัสพระผู้มีพระภาคเจ้า”
พญามุจลินท์สัตตมัง เป็นพญานาค ๗ เศียร ได้ถวายการอารักขาพระพุทธองค์จนพ้นจากแดด ลม ฝน และสรรพสิ่งที่อาจรบกวนพระองค์ตลอด ๗ วัน อันเป็นการเกิดพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเชื่อว่าเป็นปางที่เป็นที่สุดแห่งความสุขสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็เป็นครั้งแรกสุดของการปวารณาตนของพญานาค เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์พระพุทธศาสนาตลอดมาจนทุกวันนี้
   

พญานาคมีจริงหรือไม่?
บนพื้นฐานของความเชื่อในเรื่องพญานาคนั้น มีพระไตรปิฎกเป็นหลัก ด้วยมีการกล่าวถึงพญานาคอยู่หลายวาระ แม้ผู้ไม่เชื่อในเรื่องพวกนาคก็ยังคงระมัดระวังคำพูดคำจา ไม่กล้าวิจารณ์ในเรื่องนี้เพราะเกรงว่าบางทีพญานาคอาจมีจริง

ผู้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแม้ไม่เชื่อหรือไม่รู้จักพญานาคย่อมรู้จักอัตรายิกธรรมทุกคน อัตรายิกธรรมคือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ซึ่งมีอยู่ ๘ ข้อ อันพระอุปัชฌาย์จะต้องถามผู้ขอบวช ๘ คำถาม คือ

“ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่”
ความจริงของเรื่องนี้มีปรากฏชัดเจนในพระไตรปิฎก พญานาคตนหนึ่งฟังธรรมของพระพุทธองค์จนบังเกิดความเลื่อมใส คิดออกบวชเพื่อติดตามพระพุทธองค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นห้วงครึ่งพุทธกาล อันพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้คณะสงฆ์เป็นคณะอุปสมบทผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้พญานาคตนนั้นสบโอกาส จึงขอบวชกับคณะสงฆ์ และได้เป็นพระภิกษุสมใจปรารถนา
          หลังจากบวชแล้ว พญานาคตนนั้นได้พำนักในวัดที่พระพุทธองค์ประทับอยู่เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธองค์ แต่ความที่เป็นพญานาคจึงมีความเป็นอยู่แตกต่างไปจากมนุษย์ คือในขณะหลับโดยไร้สติในกุฏิของตนนั้น ร่างเดิมของพญานาคก็จะปรากฏขึ้น บังเอิญมีพระภิกษุรูปหนึ่งมาเห็นเข้าจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระพุทธองค์ และได้ทรงเรียกพญานาคตนนั้นเข้าเฝ้าให้พญานาคสิ้นสุดความเป็นภิกษุ แล้วทรงเมตตาประทานโอวาทธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติแก่พญานาค
         พญานาคผิดหวังในการบวชเป็นอย่างมาก จึงทูลขอถวายคำว่า นาคให้แก่ผู้ขอบวชเพื่อเป็นอนุสรณ์ พระพุทธองค์ทรงเมตตาตามคำทูลขอนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดคำว่า บวชนาค และเกิด อัตรายิกธรรมเป็นต้นมา
         
บางทีการที่ทรงประทานอนุญาตนามนาคก่อนบวชเป็นพระภิกษุ อาจด้วยเหตุอีกประการหนึ่งหนุนอยู่ นั่นคือ สมัยอดีตชาติหนึ่งของพระพุทธองค์ ทรงเคยเสวยชาติเป็นพญานาคชื่อว่า ภูริทัตต์ รวมถึงพุทธสาวกอีกหลายองค์ ที่มีอดีตชาติเป็นพญานาค อย่างเช่น พระสารีบุตร และ พระอานนนท์ซึ่งเคยเป็นพญานาคชื่อว่าเทวทัตนาคราช
พญานาคเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นและลึกซึ้งกับพระพุทธศาสนาเช่นนี้จึงไม่มี ปัญหาอะไรกับการประทานนาม นาค เอาไว้เป็นเครื่องรำลึกถึง



kit007 โพสต์ 2014-2-6 17:47

พญานาคคืออะไร
เมื่อพูดถึงความเป็นพญานาค ต้องรับว่าเกิดจากความเชื่อ ซึ่งยากจะหาข้อบ่งชี้ หรือพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เปรียบเสมือนเรื่องผี ที่มีทั้งผู้เชื่อว่ามี และไม่เชื่อว่ามี แต่พญานาคก็มีเรื่องราวกล่าวถึงมากมายทั้งในตำรา และคำบอกเล่าของผู้รู้ ผู้เคยสัมผัส

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงกำเนิด ๔แห่งพญานาคเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
๑.พญานาคเกิดจากไข่
๒.พญานาคเกิดจากครรภ์
๓.พญานาคเกิดจากเถ้าไคล หรือที่ชื้นแฉะ
๔.พญานาคเกิดขึ้นเองคล้ายเทวดา

ในที่นี้จะกล่าวถึงการเกิดขึ้นเองอย่างเทวดา พญานาคเป็นชาติภพอีกชั้นหนึ่ง มีความละเอียดและพิเศษกว่าสัตว์โลกหรืองูทั่วไป คือ มีสภาวะเป็นทิพย์มีกำเนิดในลักษณะเดียวกับเทวดา เป็นการเกิดแบบที่เรียกว่าโอปปาติกะ โดยมีบุพกรรมเป็นตัวกำหนด

ภพภูมิของพญานาค คือหนึ่งในภพภูมิของเทวดา ซึ่งมีอยู่ ๑๖ ชั้น (ดังที่ปรากฏในบทสวดธรรมจักกัปปวัตนสุตตัง) โดยแบ่งเป็นกามาวจรภพ ๖ ชั้น และ อกามาวจรภพ ๑๐ ชั้น เหตุที่แบ่งออกมาเป็น ๒ กลุ่ม ก็เพราะว่าทั้ง ๒กลุ่ม มีความแตกต่างกัน คือ กลุ่มแรกที่มี ๖ ชั้นนั้น เป็นภพภูมิที่ยังติดอยู่ในสุข ยังเสพย์กามกามาวจรภพ เป็นภพภูมิของเทวดาชั้นต่ำ ส่วนกลุ่มหลังที่มี ๑๐ ชั้นนั้น ไม่ติดอยู่ในกามแล้วเรียกว่า อกามาวจร เป็นภพ ภูมิของเทวดาชั้นสูง
         
๖ ชั้นของกามาวจรภพ มีดังนี้
๑. ภุมมานัง (ชั้นต่ำสุด)
๒. จาตุมมะหาราชิกาโดยมีชั้นละเอียดกว่าซ้อนอยู่อีกชั้น เรียกว่า จาตุมะหาราชิกานังแต่ก็ถือว่าเป็นชั้นที่ ๒ ด้วยกัน
๓. ตาวะติงสา เรานิยมเรียกชั้นนี้ว่า ดาวดึงส์ จนถึงชั้นเปรียบเทียบว่ามีความสุขเหมือนขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และในชั้นนี้ยังมีรายละเอียดเข้าไปอีก คือ ตาวะติงสานัง
๔. ยามา ก็มีซ้อนกันอีกชั้นหนึ่งที่ละเอียดกว่าคือ ยามานัง
๕. ตุสิตา ที่เรียกว่าสวรรค์ชั้นดุสิต ก็ยังมีที่ละเอียดเข้าไปอีกคือ ตุสิตานัง
๖. นิมมานะระตี ซึ่งละเอียดประณีตเข้าไปอีกเป็น นิมมานะระตีนัง, ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี และ ปะระนิมมิตะวะสะวะตีนัง
      
กล่าว คือ ๖ ชั้นภพภูมิแรกนี้เป็นภูมิของเทวดาชั้นหยาบ จากชั้นที่ ๗ ขึ้นไปเป็นชั้นละเอียดและสูงกว่าจนถึงชั้นสุดท้าย คือชั้นที่ ๑๖ ที่เรียกว่าชั้นอะกะนิฏฐะกา รวมแล้วเรียก ๑๐ ชั้นนี้ว่าชั้นพรหมหรือสวรรค์ชั้นพรหมส่วน ๖ ชั้นแรกเป็นชั้นต่ำ และไม่ถือว่าเป็นพรหม ภพภูมิของพญานาคนั้นอยู่ชั้นแรกสุดคือ ชั้นภุมมานัง ซึ่งไม่มีความโลภ แต่ยังมีราคะ และโทสะ พญานาคจึงมีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัว

ภพภูมิชั้นภุมมานัง ยังคงเป็นภพภูมิของเทวดาที่มีทิพยอำนาจเหนือธรรมดา และอยู่ใกล้ชิดภพภูมิของมนุษย์มากที่สุดแหล่งกำเนิดของพญานาค มีทั้งบนบกและในน้ำเรียกตามพระไตรปิฎกว่า ถลชะ เกิดบนบกและชลชะ เกิดในน้ำ
กำเนิดพญานาคในแบบอุบัติขึ้นเอง ที่เรียกว่า แบบโอปปาติกะนั้น เกิดได้ทั้งบนบกและในน้ำคือนอกจากจะอาศัยบุพกรรมเป็นตัวกำหนดแล้วยังอาศัย สัญญาเป็นตัวพาให้เกิดด้วย
พญานาคที่เกิดบนบกและในน้ำ มีการดำเนินชีวิตเหมือนกัน คือเป็นไปด้วยอำนาจทิพย์ สุดแต่จิตปรารถนา โดยมีเรือนกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๓ คือธาตุน้ำ, ธาตุลม และธาตุไฟสามารถไปไหนมาไหนได้ทุกที่ และเสวยสมบัติทิพย์เหมือนเทวดา
ส่วนฤทธิ์และอำนาจของพญานาคจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกรรมที่เคยสร้าง ไว้ในอดีตชาติเป็นตัวส่งผลดลให้ รวมทั้งรูปลักษณ์ของพญานาคเท่าที่มีผู้พบเห็นก็จะแตกต่างกันไปด้วยพญานาคตนใดบำเพ็ญเพียรภาวนาสร้างกุศลจะยิ่งมีลักษณะงดงาม และสามารถเนรมิตกายได้หลายรูปแบบ ด้วยความที่เป็นเพียงภพภูมิแรกสุดของเทวดา พญานาคจึงมีหลากหลายสายพันธุ์ และหลายอุปนิสัย ทั้งใจดีและดุร้าย ดังเช่นความเชื่อของชาวหลวงพระบาง ยังเชื่อว่าหลวงพระบางเป็นแดนแห่งพญานาค และมีพญานาคอยู่ที่นั่นมากถึง ๑๕ ตระกูล ถ้าจะเปรียบกับภพภูมิของมนุษย์ก็จะเหมือนชาติพันธุ์ของมนุษย์มีหลายเผ่าพันธุ์ มีทั้งไทย เขมร จีน ฝรั่ง แขก และคนผิวดำ เป็นต้น



kit007 โพสต์ 2014-2-6 17:47

พญานาคก็คงจะแตกต่างทางสายพันธุ์เช่นเดียวกันนี้ สายพันธุ์ของพญามุจลินท์นาคราช คือพญานาค ๗ เศียรสืบสายพันธุ์มาจนถึงพญาศรีสัตตนาคราช(นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว ส่วนฝั่งไทยคือพญาศรีสุทโธนาคราช(นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย แต่เป็นพญานาคเศียรเดียว ซึ่งกล่าวกันว่า ทั้ง ๒ ราชาพญานาคนี้เป็นสหายกัน

เรื่องราชาแห่งนาคทั้ง ๒ นี้ หลวงปู่คำพันธ์ เคยเล่าไว้ว่า ในผืนแผ่นน้ำของประเทศไทยของเรานั้น มีพญานาคราชเป็นใหญ่นามว่าพญาศรีสุทโธ ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่า พญานาค ๖ อำมาตย์ ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา
   
หลวงปู่คำพันธ์ เอ่ยชื่อ ๖ อำมาตย์ แห่งพญานาคไว้เพียง ๓ คือ
๑. พญาจิตรนาคราช เป็นพญานาคที่รักสวยรักงาม มีเขตแดนปกครองของตนตั้งแต่ ตาลีฟู ถึง จังหวัดหนองคาย ตามแนวแม่น้ำโขง โดยมีที่สุดแดนอยู่วัดหินหมากเป้ง
๒. พญาโสมนาคราช มีเขตแดนปกครอง ตั้งแต่วัดหินหมากเป้ง มาจนถึงวัดพระธาตุพนม สุดเขตแดนที่แก่งกะเบา พญาโสมนาคราช มีอุปนิสัยคล้ายพญาศรีสุทโธนาคราช คือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจ และโปรดปรานแก่พญาศรีสุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่น ๆ
๓. พญาชัยยะนาคราช มีเขตแดนจากแก่งกะเบา เรื่อยไปจนสุดแดนที่ปากแม่น้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการรณรงค์ทำสงคราม คือชอบการต่อสู้เป็นนิสัย

ส่วนฝั่งลาวนั้น มีพญาศรีสัตตนาคราช เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวง เป็นพญานาคที่ทรงฤทธิ์ ทรงอำนาจเหนือกว่าพญานาคทั้งหลายใน ๒ แผ่นดินนี้ แต่ท่านเป็นพญานาคที่ชอบจำศีลและประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนพญาศรีสุทโธนาคราช โดยชอบมาที่วัดพระธาตุพนมเหมือนกัน จนถึงกับมีการให้พันธะสัญญาแก่กันว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการความช่วยเหลือก็จะช่วยกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง สามารถ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้อยใหญ่ประการใด
      
พญาศรีสัตตนาคราช มีความเด่นสง่าด้วยมี ๗ เศียร ซึ่งถือได้ว่าเป็นตระกูลพญานาคที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความใกล้ชิดพระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนา จนอาจถือว่าเป็นต้นตระกูลแห่งพญานาคทั้งหมด

หลวงปู่คำพันธ์ยังได้กล่าวอีกว่า ส่วนใดที่อยู่ใกล้ต้นน้ำลำธาร หรือหากมีพิธีกรรมอันใดเกิดขึ้น ให้อัญเชิญบอกกล่าวแก่เหล่าพญานาค พิธีกรรมนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเกี่ยวกับพญานาคที่วัดธาตุพนม มีเรื่องราวบันทึกไว้ว่า ในคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี ๒๕๐๐ (วันออกพรรษา) คืนนั้นมีฝนตกหนัก นายไกฮวดและภรรยา ได้ลุกขึ้นมารองน้ำฝนไว้ดื่มกินตอนกลางดึก บังเอิญเห็นลำแสงแปลกประหลาดสว่างเป็นลำโต ขนาดต้นตาล๗ ลำแสง และมีสีสันแตกต่างกัน ๗ สี สวยงามมาก โดยที่ลำแสงทั้ง ๗พุ่งมาจากฟากฟ้าทิศเหนือ ด้วยลักษณะแข่งกัน คือแซงกันไปแซงกันมา จนพุ่งเข้าซุ้มประตูวัดธาตุพนมแล้วก็หายไป
         มีสามเณรรูป หนึ่งในขณะนั้นประทับทรงบอกนายไกฮวดและภรรยาว่าลำแสงทั้ง ๗ คือ พญานาค มาจากเทือกเขาหิมาลัย มาเพื่อปกปักรักษาพระธาตุพนม และช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก แต่หลวงปู่คำพันธ์ บอกว่า นั่นเป็นพญาศรีสุทโธนาคราช และอำมาตย์ทั้ง ๖แสดงฤทธิ์

ในโอกาสที่ท่านได้บอกกล่าวเรื่องพญานาคนี้ หลวงปู่คำพันธ์ ท่านจึงได้กล่าวพยากรณ์ดังข้างต้นว่าพญานาคจะช่วยผู้ที่บูชาศรัทธาในพญานาคให้ผ่านพ้นอันตรายจากภัยพิบัติที่จะ เกิดขึ้นหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ๓ ปี
นี่ก็ก้าวเข้าปีที่ ๖ แล้ว ครบตามกำหนดในพยากรณ์ ซึ่งท่านบอกว่าจงสังเกตดูให้ดีจะเห็นความวุ่นวายเดือดร้อนจะปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เกิดขึ้นจริง หลวงปู่คำพันธ์มรณภาพ เมื่อ ๒๔พฤศจิกายน ๒๕๔๖

อย่างไรก็ตามพญานาคก็หาได้มีแต่ในพุทธศาสนา หรือเพิ่งเกิดมีขึ้นในสมัยพุทธกาล พญานาคมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าโคดมและปรากฏตัวอยู่ในศาสนาอื่นๆหลายศาสนา เฉกเช่นมนุษย์ก็ยังคงนับถือศาสนาไม่เหมือนกัน

ชาวฮินดูถือว่าพญานาคเป็นสะพานเชื่อมโลกกับแดนเทพเทวา การสร้างเทวสถาน เช่น ปราสาทขอมทุกปราสาท จะมีสะพานนาค หรือบันไดนาคทอดยาวรับมนุษย์เข้าไปสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ข้างในปราสาท

kit007 โพสต์ 2014-2-6 17:48

มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎก(มหาวรรค) ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ที่ตำบลอุรุเวลา คือ อุรุเวลากัสสป, นทีกัสสและ คยากัสสปซึ่งชฎิลทั้ง ๓ นี้   มิได้รู้จักพระพุทธองค์ ไม่ได้นับถือพระพุทธองค์ แต่พวกเขานับถือบูชาพญานาคมาช้านาน พญานาคที่ชฎิล ๓ พี่น้อง นับถือบูชาก็ไม่รู้จักและนับถือพระพุทธองค์เช่นกัน พุทธองค์ทรงขอเข้าพำนักในโรงบูชาไฟของพวกตนมีพญานาคดุร้าย อาศัยอยู่ พระพุทธองค์หาได้หวั่นเกรงไม่ พญานาคเห็นพระพุทธองค์เข้ามาก็ไม่พอใจ จนในที่สุดแสดงฤทธิ์สู้ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพระพุทธองค์ ถึงกับถูกพระพุทธองค์จับพญานาคนั้นขดไว้ในบาตร และทรงแสดงแก่ชฎิลทั้ง ๓ ว่า
“ดูกร กัสสปนี่พญานาคของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราแล้ว”

หลังจากนั้น ทรงแสดงปาฏิหาริย์หลายอย่างจนคลายทิฐิมานะของชฎิลทั้ง ๓ ได้ และสุดท้ายชฎิล ๓ พี่น้อง ได้ขอบวชพร้อมทั้งบริวารหลายร้อยคน

อีกครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จพร้อมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป สู่เทวโลก ได้เสด็จผ่านวิมานของเหล่านาคที่กำลังรื่นเริงสนุกสนานกัน วิมานนี้มีนันโทปะ นันทะนาคราชเป็นใหญ่เกิดความไม่พอใจในการเสด็จผ่านคราวนั้น จึงแสดงฤทธิ์เป็นนาคขนาดใหญ่พันโอบรอบเขาพระสุเมรุ ปิดบังทางผ่านไปสู่เทวโลกไว้ (ดาวดึงส์)แล้วร้องด่าท้าทายพระพุทธองค์อย่างสาดเสียเทเสีย
พระอรหันต์สาวกรูปหนึ่งกราบทูลพระพุทธองค์ว่าให้ทรงเรียกพญามุจลินท์ นาคราชมาปราบนันโทนาคราช แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ โดยตรัสบอกว่า เวลานี้ พญามุจลินท์กำลังทรงฌานอยู่ ไม่ทรงอยากเรียก ทรงเกรงจะเป็นบาปกรรม ซึ่งถือเป็นตัวอย่าง ต่อมาในภายหลังว่าเวลาพระภิกษุกำลังบำเพ็ญเพียร สมาธิภาวนาอยู่ไม่ควรรบกวน เพราะจะเป็นบาปนั่นเอง พญามุจลินท์ก็กำลังอยู่ในสมาธิภาวนาเช่นกันในที่สุดทรงอนุญาต พระโมคคัลลาน์ ให้เป็นผู้ปราบนันโทนาคราชจนสิ้นฤทธิ์
เรื่องพญานาคเกเรที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพญานาคนั้นมีอยู่แล้ว และเป็นพญานาคที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอีกด้วย พญานาคทั้งปวงจะเลื่อมใสศรัทธา และกลายเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนานั้นไม่ง่ายเลย

เดชานุภาพ คุณานุภาพของพระพุทธองค์มีเป็นล้นพ้น เมื่อพญานาคหันหน้าสู่พุทธศาสนาแล้ว พญานาคก็อยู่คู่กับพุทธศาสนาตลอดมาและยังเป็นผู้เลื่อมใสในภารกิจพิทักษ์พระ ศาสนาที่ไม่เคยคลอนแคลนศรัทธา



kit007 โพสต์ 2014-2-6 17:49

Sarayut

เดชานุภาพ คุณานุภาพ พุทธบารมี

ของพระพุทธองค์มีเป็นล้นพ้น
เมื่อพญานาคหันหน้าสู่พุทธศาสนาแล้ว
พญานาคก็อยู่คู่กับพุทธศาสนาตลอดมา
และยังเป็นผู้เลื่อมใสในภารกิจพิทักษ์
พระศาสนาที่ไม่เคยคลอนแคลนศรัทธา

นาคปรก โพสต์ 2014-2-6 19:12

เมื่อกลัว ก็ควรต้องหาที่ยึดเหนี่ยว อาจกล่าวได้ว่ารูปราชาแห่งนาคองค์ใดนั้นเกิดด้วยความเชื่อ ถือเป็นเครื่องระลึกถึง และบูชาคุณผู้พิทักษ์พุทธศาสนา ความเชื่ออันมั่นคงของชาวพุทธที่ว่า เหล่าพญานาคทั้งปวงเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนานับพันปีนั้น เป็นความจริงที่ปรากฏในเรื่องราวพุทธประวัติมาช้านาน พญานาคเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด{:7_360:}

Nujeab โพสต์ 2014-6-29 04:10

สาธุ สาธุ สาธุ

Sornpraram โพสต์ 2015-10-15 07:28

http://www.baanjompra.com/webboard/data/attachment/forum/201411/21/021326kgxzjs3g8wasw613.jpg

Metha โพสต์ 2015-11-5 15:35

{:5_166:}{:5_166:}{:5_166:}
หน้า: [1] 2
ดูในรูปแบบกติ: ความเชื่อและความศรัทธา พญานาค